ชงโค ประโยชน์ดีต่อสุขภาพ เป็นไม้ประดับก็สวย

          ไม้ดอกอย่างชงโคไม่ได้มีดีแค่หน้าตา แต่สรรพคุณทางยาและประโยชน์ต่อสุขภาพก็ไม่น้อย มาดูสรรพคุณของชงโคกันเลย
ชงโค

          ของบางอย่างสวยแต่รูป จูบไม่หอม แต่ไม่ใช่กับชงโคแน่ ๆ ค่ะ เพราะนอกจากชงโคจะเป็นไม้ประดับหน้าตาดีแล้ว ประโยชน์ทางสุขภาพของชงโคก็มีไม่น้อย โดยเฉพาะสรรพคุณทางยาของชงโค เอาเป็นว่าเรามาทำความรู้จักชงโคกันดีกว่า

ชงโค ไม้ประดับเสริมสิริมงคล

          ชงโคมีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินเดีย พม่า ไทย กัมพูชา มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยชงโคยังเป็นต้นไม้มงคลตามความเชื่อของชาวฮินดู โดยเชื่อว่าชงโคเป็นต้นไม้ของสวรรค์ขึ้นอยู่ในเทวโลก อีกทั้งชงโคยังเป็นต้นไม้ของพระลักษมี พระชายาของพระนารายณ์ จึงจัดว่าชงโคเป็นไม้มงคลที่ควรปลูกเอาไว้เพื่อความเป็นสิริมงคล

          มีการสันนิษฐานว่า ชงโคเข้ามาในไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะชงโคมีชื่อปรากฏอยู่ในวรรณคดีไทย ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ พ.ศ. 2416 ซึ่งอธิบายเกี่ยวกับชงโคไว้ว่า "ชงโคเป็นชื่อต้นไม้อย่างหนึ่งเหมือนอย่างต้นกาหลง แต่สีมันแดง"

ชงโค

ชงโค ชื่อวิทยาศาสตร์และลักษณะทางพันธุศาสตร์

          ชงโคมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Bauhinia Purpurea Linn. อยู่ในวงศ์ Leguminosae เช่นเดียวกับกาหลง ทำให้มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ที่คล้ายกัน และนอกจากชื่อชงโคแล้ว ยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น เสี้ยวหวาน เสี้ยวดอกแดง หรือชงโคในภาษาอังกฤษว่า Orchid Tree

          ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของชงโคเป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อม ความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร กิ่งอ่อนมีขนปกคลุม ผลัดใบช่วงสั้น ๆ ใบเป็นใบเดี่ยวออกสลับ รูปร่างใบมนเกือบกลม ปลายของใบเว้าลึกมาก คล้ายรูปหัวใจ ใบกว้าง 8-16 เซนติเมตร ยาว 10-14 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ

          ดอกชงโคมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ โดยดอกจะออกช่อตามปลายกิ่ง แต่ละช่อมีดอกประมาณ 6-10 ดอก แต่ละดอกมีกลีบ 5 กลีบ ดอกมีสีชมพูถึงม่วงอมแดง ลักษณะดอกคล้ายดอกกล้วยไม้ ตรงกลางของดอกจะมีเกสรตัวผู้เป็นเส้นยาว 5 เส้น และมีเกสรตัวเมียอยู่ตรงกลาง 1 เส้น ยาวเด่นกว่าเกสรตัวผู้

ชงโค

ชงโค สรรพคุณโอ้โห...ดีงาม

          ตามตำราแพทย์แผนไทย ชงโคมีสรรพคุณด้านสมุนไพร ดังนี้

1. แก้ไอ

          ใบชงโคสามารถนำไปต้มแล้วจิบเป็นชาแก้อาการไอได้

2. ยาระบาย

          ตำรับยาแผนไทยใช้รากชงโคล้างสะอาด ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาระบาย แก้อาการท้องผูก ถ่ายยาก และยังมีฤทธิ์ช่วยขับลมในร่างกายอีกด้วย

3. รักษาแผล ฝี

          ใบชงโคล้างสะอาดตำให้แหลกแล้วนำมาพอกฝี รักษาแผลได้ แต่ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสติดเชื้อที่แผล แนะนำว่าอย่าโปะใบชงโคลงไปบนแผลโดยตรงจะดีกว่า

ชงโค

4. แก้ท้องเสีย แก้บิด

          เปลือกต้นชงโคมีสรรพคุณช่วยแก้ท้องเสีย แก้ปวดบิด

5. แก้พิษร้อน แก้ไข้

          ดอกชงโคไม่ได้งามตาเท่านั้น แต่ยังมีสรรพคุณแก้พิษร้อนจากเลือดและน้ำดี แก้ไข้

          นอกจากนี้ชงโคยังมีสรรพคุณช่วยขับปัสสาวะ ช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร ได้ด้วยนะคะ บอกแล้วว่าชงโคเป็นต้นไม้ที่มีสรรพคุณทางยาไม่น้อยหน้าดอกไหน ๆ เลยล่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

โครงการศูนย์การเรียนรู้และฐานข้อมูลการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชในท้องถิ่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
องค์การสวนพฤกษศาสตร์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ชงโค ประโยชน์ดีต่อสุขภาพ เป็นไม้ประดับก็สวย อัปเดตล่าสุด 21 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 17:01:47 54,978 อ่าน
TOP
x close