x close

เดินเซบ่อย เท้าไม่ตรงกับใจ ต้องสงสัย กำลังป่วย Ataxia ?!

          สังเกตได้ว่าตัวเองเดินเซบ่อย ๆ บางครั้งก้าวพลาดแบบที่ไม่น่าพลาดเพราะใจไปก่อนเท้า หรือนี่เราป่วยภาวะ Ataxia อยู่
โรค ataxia

        การทรงตัวของคนเราบางทีก็เกิดความไม่สมดุล อยู่ ๆ ก็เดินเซ เดินเป๋ไปเป๋มาทั้งที่เหล้าก็ไม่ได้แตะ หรือก้าวขึ้นบันไดก็สะดุดง่าย ๆ ทั้งที่เล็งไว้อย่างดีแล้ว อาการผิดปกติเล็ก ๆ ทางร่างกายแบบนี้อาจเป็นสัญญาณของบางโรคอยู่ก็ได้นะคะ อย่าง Ataxia หรือภาวะการเคลื่อนไหวที่ไม่ประสานกัน เรามาทำความรู้จักภาวะ  Ataxia ว่า มีสัญญาณบ่งชี้แบบไหน อาการเป็นอย่างไรบ้าง

ภาวะ Ataxia คืออะไร


        Ataxia คือ ภาวะการเคลื่อนไหวที่ไม่ประสานกัน หรือภาวะที่กล้ามเนื้อเสียการประสานงานในขณะที่มีการเคลื่อนไหวแบบตั้งใจ เช่น การเดิน การหยิบจับสิ่งของ การพูด หรือแม้กระทั่งการกลอกตา ทำให้ลักษณะการเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่เป็นปกติอย่างที่ใจคิด เช่น เดินเซ หยิบจับของไม่อยู่มือ หรือเขียนหนังสือไม่ได้ พูดไม่ชัด เป็นต้น

โรค ataxia

Ataxia สาเหตุเกิดจากอะไร

          Ataxia อาจเป็นผลจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในส่วนต่าง ๆ ของระบบประสาทเอง เช่น การทำงานของสมองส่วนเซรีเบลลัม (cerebellum) ระบบไขประสาทสันหลัง และการทำงานของเส้นประสาทส่วนปลาย ซึ่งทำหน้าที่ติดต่อสื่อสารระหว่างประสาทส่วนกลางกับอวัยวะภายนอก เช่น กล้ามเนื้อ ผิวหนัง และสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว ทำให้การควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อให้ประสานกันมีปัญหา

          ทั้งนี้ Ataxia อาจเกิดจากความผิดปกติในส่วนของร่างกายโดยตรง เช่น เกิดจากการบาดเจ็บของข้อและกระดูก การอักเสบของไขข้อ หรือกล้ามเนื้อที่ได้รับบาดเจ็บได้เช่นกัน นอกจากนี้การดื่มแอลกอฮอล์มากเกิน การขาดวิตามินบี12 และวิตามินอี ภาวะสมองขาดเลือด เนื้องอกในสมอง หรือพันธุกรรมก็มีผลให้เกิดอาการ Ataxia ได้ด้วยนะคะ  ซึ่งภาวะ Ataxia ยังแยกย่อยออกได้อีกหลายประเภท เช่น

          - Friedreich\'s Ataxia เกิดจากความผิดปกติของยีน ทำให้เซลล์ประสาทบางอย่างเสื่อมสภาพ จนกล้ามเนื้อเสียการประสานงาน

          - Spinocerebellar Ataxia (SCA) โรคสูญเสียการทรงตัวที่เกิดจากสมองน้อย (cerebellum) ไขสันหลัง (spinal cord) และระบบประสาทนอกส่วนกลาง (peripheral nervous system) ซึ่งอยู่บริเวณไขสันหลังของผู้ป่วยทำงานผิดปกติ เพราะมีการฝ่อลีบลงและจะเสื่อมลงไปเรื่อย ๆ จนสูญเสียความสามารถในการควบคุมการเคลื่อนไหว

          - Ataxia Telangiectasia โรคกล้ามเนื้อเสียการประสานงานที่ทำให้หลอดเลือดขยายใหญ่

          - Idiopathic late onset cerebellar ataxia (ILOA) อาการเซที่เกิดจากสมองถูกทำลายเป็นเวลานานโดยไม่ทราบสาเหตุ มักพบในคนอายุ 50 ปีขึ้นไป

โรค ataxia

Ataxia ใครเสี่ยงบ้าง

          ภาวะ Ataxia พบได้ไม่บ่อย แต่ก็มีอัตราการเกิดโรคนี้อยู่ไม่น้อยเช่นกัน โดยกลุ่มเสี่ยงมีดังนี้

          1. ผู้ที่ครอบครัวมีประวัติเป็น Ataxia หรือมีอาการเดินเซมาแต่กำเนิด

          2. ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก มีอาการติดสุรา เบียร์

          3. ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงโรคสมองขาดเลือด เช่น ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง เป็นต้น

โรค ataxia

Ataxia อาการเป็นอย่างไร

          เมื่อระบบประสาทส่วนที่ออกคำสั่งให้ร่างกายเคลื่อนไหวมีความผิดปกติไป อาการแสดงของคนไข้อาจจะมีลักษณะ ดังนี้

          - ไม่สามารถเดินตัวตรงได้

          - เดินเซ

          - เดินสะดุด

          - หกล้มง่าย

โรค ataxia

          - ไม่สามารถทรงตัวบนบันได

          - ไม่สามารถทรงตัวบนพื้นลาดชัน

          - เขียนหนังสือลำบาก

          - ตักอาหารลำบาก

          - ติดกระดุมเสื้อผ้าไม่ถนัด

          - เปิดขวดน้ำไม่ได้ ทั้งที่เคยทำได้มาตลอด

โรค ataxia

          - ไม่สามารถใช้มือบังคับเครื่องเล่น (เกม) หรือพวงมาลัยรถได้

          - จังหวะการพูดผิดปกติ

          - พูดไม่ชัด

          - กลืนอาหารลำบาก

          - สำลักอาหาร (โดยเฉพาะพวกน้ำ)

โรค ataxia

          - มองเห็นภาพซ้อน สายตาพร่ามัว

          - ไล่สายตาอ่านหนังสือจากตัวหนึ่งไปสู่ตัวหนึ่งก็ทำยาก

          - มีปัญหาในการมองดูภาพเคลื่อนไหว

          - ลักษณะการมองสิ่งต่าง ๆ จะทำได้ช้าลง

          - กลั้นปัสสาวะ/อุจจาระไม่อยู่

        อย่างไรก็ดี ภาวะ Ataxia ที่เกิดจากสมองส่วนเซรีเบลลัม (cerebellum) ถูกทำลาย หรือเรียกว่า Cerebellar Ataxia อาจส่งผลให้คนไข้มีความผิดปกติด้านการเรียนรู้ การรับรู้ และด้านอารมณ์อีกด้วย โดยคนไข้บางคนอาจไม่สามารถลำดับความคิดได้ หรือไม่สามารถจดจำสิ่งที่เพิ่งเรียนรู้ไปได้

Ataxia รักษาอย่างไรดี

        การรักษา Ataxia จำเป็นต้องรักษาที่ต้นเหตุที่ทำให้เกิดโรค ซึ่งในเคสที่เกิดจากสมองถูกทำลาย ก็อาจทำได้แค่ประคับประคองอาการไป ทั้งนี้แพทย์จะเลือกวิธีรักษา Ataxia ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด และเป็นวิธีที่ได้ผลกับผู้ป่วยมากที่สุดเช่นกัน เรียกได้ว่าการรักษา Ataxia ต้องดูอาการผู้ป่วยเป็นหลักนั่นเองค่ะ

          อย่างไรก็ตาม วิธีรักษาที่นิยมใช้กับผู้ป่วย Ataxia ก็คือการกายภาพบำบัด การฝึกเขียน ฝึกพูด และการบำบัดการเคลื่อนไหวต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติที่สุด

โรค ataxia

Ataxia ป้องกันได้นะ

          แม้ส่วนใหญ่โรคนี้จะเกิดจากกรรมพันธุ์ แต่อย่างน้อยหากเราดูแลตัวเองให้ดี ก็จะลดความเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้ แค่เพียงปฏิบัติตามนี้ค่ะ

          - หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์

          - พยายามอย่าเครียด

          - หมั่นออกกำลังกาย

          - รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

          - พักผ่อนให้เพียงพอ

          การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสิรฐ ดังนั้นอยากให้ทุกคนดูแลสุขภาพร่างกายตัวเองให้ดี จะได้ห่างไกลโรคภัยใด ๆ นะคะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
นพ.มานิตย์ วัชร์ชัยนันท์, mayoclinic, ataxia

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เดินเซบ่อย เท้าไม่ตรงกับใจ ต้องสงสัย กำลังป่วย Ataxia ?! อัปเดตล่าสุด 12 มีนาคม 2562 เวลา 16:01:09 31,064 อ่าน
TOP