สมุนไพรอย่างการบูรนอกจากกลิ่นจะหอมสดชื่นแล้ว การบูรยังมีสรรพคุณทางยาและประโยชน์อีกหลายอย่างเลยล่ะ
เชื่อว่าหลายคนติดใจกลิ่นของการบูรเข้าอย่างจัง และมักจะสูดดมการบูรบ่อย ๆ เพื่อเพิ่มความสดชื่น แต่รู้ไหมคะว่าการบูรมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่านั้น และยังมีสรรพคุณทางยาที่น่าสนใจอีกพอตัว เอาเป็นว่ามาทำความรู้จักการบูรให้มากขึ้นกันเถอะ

การบูรมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cinnamomum camphora (L.) J. Presl. เป็นพืชในวงศ์ Lauraceae ส่วนชื่อภาษาอังกฤษของการบูรสามารถเรียกว่า Camphor หรือ Menthol ก็ได้ ส่วนในไทยนอกจากจะเรียกว่าการบูรแล้ว ยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ เช่น อบเชยญวน พรมเส็ง หรือเจียโล่ (คนไทยเชื้อสายจีน)
การบูร ลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นอย่างไร

การบูรเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ความสูงตั้งแต่ 9-30 เมตร ลำต้นและกิ่งเรียบ ทุกส่วนของต้นการบูรมีกลิ่นหอม โดยเฉพาะที่รากและโคนต้นจะมีกลิ่นหอมมากกว่าส่วนอื่น ๆ ใบการบูรเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับเป็นรูปไข่หรือรูปรี กว้าง 2-7 เซนติเมตร ยาว 5-11 เซนติเมตร โดยประมาณ ปลายใบเรียวแหลม อยู่เรียงตรงข้ามกัน ใบมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ และยอดอ่อนจะมีใบสีเหลืองแกมน้ำตาลหุ้มอยู่
ดอกออกเป็นช่อแบบแยกแขนง ดอกจะออกเป็นกระจุกตามง่ามใบ ดอกเล็กสีขาวเหลืองหรืออมเขียว ออกดอกในช่วงมิถุนายนถึงกรกฎาคม ผลการบูรเป็นรูปทรงไข่ค่อนข้างกลม ในผลมีเนื้ออยู่เล็กน้อย มีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด ขนาดของผลยาว 6-10 มิลลิเมตร สีเขียวเข้ม เมื่อสุกจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีดำ
ทั้งนี้เกล็ดสีขาวของการบูรที่เราเคยเห็นและรู้จัก จะเป็นผลึกที่แทรกอยู่ในเนื้อไม้ของต้นการบูร ซึ่งจะมีอยู่ทั่วทั้งต้น อยู่ตามรอยแตกของเนื้อไม้ แต่จะมีมากที่สุดในส่วนแก่นของรากและแก่นของต้น โดยส่วนที่อยู่ใกล้โคนต้นจะมีการบูรมากกว่าส่วนที่อยู่สูงขึ้นมา ผงการบูรจะเป็นเกล็ดกลมเล็ก ๆ สีขาว แห้ง อาจจับกันเป็นก้อนร่วน ๆ แตกง่าย และหากทิ้งไว้ในอากาศจะระเหิดไปหมด ส่วนเปลือกรากและกิ่งสามารถนำไปสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยได้

ประโยชน์ของการบูร ช่วยบำรุงสุขภาพได้
1. แก้เคล็ดขัดยอก
การบูรมีรสร้อนปร่าเมา ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก แก้เท้าแพลง แก้ปวดข้อ โดยใช้ขัดถูตามตัว ทว่าส่วนใหญ่จะนำการบูรไปผสมเป็นตำรับยาทาแก้เคล็ดขัดยอกแถมด้วยสรรพคุณต่าง ๆ เช่น ตำรับ "ยาแก้ลมอัมพฤกษ์" ที่มีการบูรผสมสมุนไพรอื่น ๆ ช่วยบรรเทาอาการปวดตามเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ มือ เท้า ตึงหรือชา
2. แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย

ในยาหม่องหรือน้ำมันแก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อยส่วนใหญ่จะมีการบูรเป็นส่วนผสมอยู่ด้วย เนื่องจากการบูรมีฤทธิ์ถอนพิษแมลงสัตว์กัดต่อย
3. ขับลม ขับเสมหะ
ตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 (ฉบับที่ 1) ระบุว่า หากเป็นส่วนประกอบของยาใช้ภายใน การบูรมีสรรพคุณบำรุงธาตุ ขับลม ขับเสมหะ แก้ธาตุพิการ บรรเทาอาการจุกเสียด ปวดท้อง และช่วยกระจายลม
4. แก้อาการหน้ามืด วิงเวียน

ตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 (ฉบับที่ 1) ระบุด้วยว่า การบูรมีสรรพคุณแก้อาการหน้ามืด ปวดศีรษะ แก้วิงเวียน ช่วยกระตุ้นหัวใจ และแก้คันได้ โดยใช้การบูรเป็นส่วนประกอบในยาใช้ภายนอก
5. บำรุงหัวใจ
การบูรมักจะถูกนำไปปรุงเป็นยาหอมต่าง ๆ เช่น ยาหอมเทพจิตร มีสรรพคุณบำรุงหัวใจ บำรุงธาตุ ขับลม ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ และแก้ไข้หวัดคัดจมูก
6. แก้ปวดท้อง

ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พบว่ามีการใช้การบูรร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ โดยปรุงเป็นยาธาตุบรรจบ มีสรรพคุณแก้ปวดท้อง แก้ท้องเสียชนิดไม่ติดเชื้อ บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เป็นต้น
7. บรรเทาอาการปวดประจำเดือน
ตำรับยาเลือดงาม และยาประสะไพล ซึ่งมีส่วนประกอบของการบูรร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาปกติ ขับน้ำคาวปลาในหญิงหลังคลอดบุตร และรักษาอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือประจำเดือนมาน้อย
8. แก้ปวดฟัน

9. ต้านเชื้อแบคทีเรีย
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้เผยผลการทดลองฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของการบูรโดยพบว่า สาร pinoresinol ในการบูรออกฤทธิ์ยับยั้งและฆ่าเชื้อ B. subtilis ได้ดีที่สุด รองลงมาคือเชื้อ P. aeruginosa ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้อาหารบูดเสีย โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ซึ่งสาร pinoresinol ในการบูรมีศักยภาพในการนำไปพัฒนาเป็นสารกันเสียที่ได้จากธรรมชาติต่อไป
10. ต้านการอักเสบ
มีงานวิจัยสรรพคุณของการบูรในด้านต้านอาการอักเสบ ซึ่งผลวิจัยพบว่า การบูรมีฤทธิ์ต้านการอักเสบโดยยับยั้งเซลล์ที่เหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบ ยับยั้งไม่ให้เกิดการรวมกลุ่มของโมเลกุล และเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันที่จะมารวมตัวกันในบริเวณที่เกิดการอักเสบ แต่ทั้งนี้การทดลองดังกล่าวเป็นการศึกษาในสัตว์ทดลอง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของการบูรในคนต่อไป
นอกจากนี้หากนำการบูรไปวางในห้อง หรือตู้เสื้อผ้า การบูรจะช่วยไล่แมลงและไล่ยุงได้ด้วยนะคะ

การบูร มีโทษเหมือนกันนะ
ส่วนใหญ่เราจะเห็นการบูรในลักษณะยาใช้ภายนอก ซึ่งแสดงว่าการบูรเป็นสมุนไพรที่ไม่ควรรับประทานเข้าไป โดยมีรายงานว่า การรับประทานการบูร ขนาด 3.5 กรัม อาจทำให้เสียชีวิตได้ และหากรับประทานการบูรเกินครั้งละ 2 กรัม ก็จะทำให้หมดสติ และเป็นพิษต่อระบบทางเดินอาหาร ไต และสมอง อาจทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ กล้ามเนื้อสั่น เกิดการชัก กระตุก สมองทำงานบกพร่อง สับสน
อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้วร่างกายมีกลไกขับสารจากการบูรออกทางปัสสาวะ คล้ายกับการกำจัดแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย ดังนั้นหากไม่ได้รับการบูรเกินขนาด ก็จะไม่ตกค้างจนเกิดอันตรายต่อตับและไต
ติดยาดม ดมการบูรบ่อย ๆ อันตรายไหม

การสูดดมการบูรที่ทำเป็นยาดมอาจไม่เป็นอันตราย เพราะผ่านการเจือจางสารการบูรให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย ทว่าในกรณีสูดดมการบูรที่มีความเข้มข้นในอากาศมากกว่า 2 ppm (2 ส่วนในล้านส่วน หรือ 2 mg/m3) อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองจมูก ตา และลำคอ
อย่างไรก็ตาม ความเป็นพิษของการบูรที่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตคือการบูรที่มีความเข้มข้น 200 mg/m3 และส่วนใหญ่ความเป็นพิษของการบูรจะเกิดก็ต่อเมื่อเรารับประทานการบูรเข้าไป ดังนั้นแนะนำให้ใช้การบูรเป็นยาภายนอก และใช้การบูรในขนาดที่เหมาะสมจะปลอดภัยกว่าค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ