5 ปัญหาจากวัยแสบสาแหรกขาด 2 ที่ละครสะท้อนให้เข้าใจ

          เป็นเด็กใช่ว่าชีวิตจะมีแต่ความสดใส เพราะสถานการณ์รอบข้างก็อาจเป็นพิษต่อเด็ก ๆ จนทำให้มีปัญหาต่อไปนี้ก็เป็นได้

          ด้วยสภาพสังคมในปัจจุบัน การแข่งกันในด้านต่าง ๆ บางทีอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กมีความผิดปกติเกิดขึ้นในจิตใจจนกลายเป็นปัญหาก็ได้ และเด็กที่มีปัญหาเหล่านี้เขาไม่ได้ต้องการเรียกร้องความสนใจ แต่เขาแค่ต้องการคนที่เข้าใจในสิ่งที่พวกเขาเป็น อย่างที่ละครวัยแสบสาแหรกขาด โครงการ 2 สะท้อนให้เราได้รู้จัก 5 ปัญหาที่แฝงอยู่ในตัวของเด็ก ๆ เราลองมาดูกันค่ะว่าจะมีปัญหาในรูปแบบไหนบ้างที่ละครวัยแสบสาแหรกขาด โครงการ 2 นำมาเสนอเพื่อให้เรามอง “เด็กมีปัญหา” อย่างเข้าใจ

 

1. The Perfectionism มนุษย์สายท็อป

          วีหนึ่ง เด็กสาวผู้แบกความหวังของครอบครัวไว้บนบ่า จนตัวเองต้องไขว่คว้าหาความสมบูรณ์แบบในแทบจะทุก ๆ เรื่อง และความกดดัน ความเครียดนั้นส่งผลให้วีหนึ่งป่วยเป็น Perfectionism หรือภาวะนิยมความสมบูรณ์แบบ ต้องเป็นที่ 1 ในด้านการเรียน ต้องเป็นตัวท็อปในทุก ๆ เรื่อง ซึ่งด้วยความคาดหวังที่สูงลิ่วขนาดนี้ก็ทำให้วีหนึ่งเครียดจนมือจีบ ชักเกร็งเมื่อรู้สึกกดดันมาก ๆ เลยทีเดียว

 

สาเหตุ

          สาเหตุของภาวะนิยมความสมบูรณ์แบบส่วนใหญ่มักจะเกิดจากสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูง จึงต้องการเป็นที่ 1 เพื่อให้ทุกคนพอใจ หรือในบางบ้านอาจมาจากความคาดหวังของบุคคลที่มีอิทธิพลต่อผู้ป่วย เช่น พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ทำให้ผู้ป่วยพยายามทำทุกอย่างออกมาให้ดีที่สุด เพื่อไม่ให้ใครรู้สึกผิดหวังในตัวเอง

 

อาการ

          - มาตรฐานสูง มักจะตั้งเป้าหมายของตัวเองไว้สูงมากในแทบจะทุกเรื่อง

          - ใส่ใจในรายละเอียดจนถึงขั้นหมกมุ่น ทำให้เหนื่อยเกินความจำเป็น และมักจะไม่พอใจผลงานตัวเองสักที เนื่องจากกลัวดีไม่พอ

          - ไม่มีความยืดหยุ่น เมื่อคิดอะไรแล้วจะต้องทำอย่างที่คิดทางเดียว เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ทำให้ร่วมงานกับผู้อื่นยาก

          - วัดคุณค่าตัวเองจากผลงาน ซึ่งมักจะไม่พอใจงานของตัวเองเท่าไร จึงทำให้ชีวิตขาดความสุข

          - มักจะรู้สึกผิดหวังในตัวเอง เนื่องจากงานที่ตั้งใจทำมาก ๆ จนมากเกินไป ส่วนใหญ่จะไม่ได้เพอร์เฟกต์อย่างที่หวังเอาไว้

 

การรักษา

          ผู้ป่วยสามารถฝึกฝนตัวเองให้หายจากอาการที่เป็นอยู่ได้ โดยเลิกเปรียบเทียบตัวเองกับใคร ๆ ถ้าคิดเปรียบเทียบเมื่อไรให้กลับมาอยู่กับปัจจุบันให้ได้ หายใจเข้า-ออก ลึก ๆ ตั้งสติและคิดว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ หรือพูดกับตัวเอง ให้กำลังใจตัวเองว่าเราทำได้ดีที่สุดแล้ว ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับใคร ใช้ชีวิตให้สนุกดีกว่า

 

          ทั้งนี้หากไม่สามารถเอาชนะภาวะนิยมความสมบูรณ์แบบได้ด้วยตัวเอง แนะนำให้ปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เพื่อหาทางออกที่เหมาะสม

 

2. ภาวะร้อง อาละวาด หรือเด็กกรี๊ด
(Temper Tantrum)

          พีท เด็กชายชั้น ป.1 น้องเล็กในแก๊งเด็กแสบที่มีปัญหาในด้านควบคุมอารมณ์ มีนิสัยชอบกรี๊ดและอาละวาดเมื่อถูกขัดใจ โดยจะมีผู้ปกครองคอยหนุนหลัง คอยตามใจ และไม่ดุกล่าวเวลาที่เด็กมีท่าทีก้าวร้าวใส่

 

สาเหตุ

          การร้องอาละวาดเป็นปัญหาการควบคุมอารมณ์ตามวัย โดยพบได้ในร้อยละ 5 ของเด็กทั่วไป มักเริ่มมีอาการตั้งแต่อายุ 12 เดือน พบบ่อยในช่วงอายุ 2-3 ขวบ แต่พออายุมากขึ้นอาการจะค่อย ๆ หายไป ส่วนใหญ่พออายุ 4 ขวบ จะเริ่มควบคุมอารมณ์ได้ แต่ทั้งนี้การร้องอาละวาดในเด็กบางคนก็พบว่า ตัวเด็กอาจมีปัญหาพฤติกรรมอื่น ๆ รวมไปถึงปัญหาในการเลี้ยงดู ปัญหาพ่อ-แม่ ที่ใช้ความรุนแรง จนทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะใช้อารมณ์และความรุนแรงในการแก้ปัญหา

 

อาการ

          - กรีดร้อง ตะโกน ร้องไห้รุนแรง เมื่อถูกขัดใจ โกรธ หงุดหงิด

          - หากไม่พอใจมาก ๆ จะเหวี่ยงแขน ขา กระทืบเท้า ทิ้งตัวลงนอนและดิ้นกับพื้น

          - อาจมีการทำร้ายตัวเองและผู้อื่น เช่น ตีอก ชกหัวตัวเอง หรือตีผู้อื่น

          - ทำลายข้าวของ เขวี้ยงปาสิ่งของเมื่อไม่พอใจ

 

การรักษา

          แนวทางในการรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การป้องกันก่อนเกิดอาการ เช่น หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น ให้เด็กได้ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันอย่างสม่ำเสมอ มีการวางกิจกรรมประจำวันอย่างมีแบบแผน และฝึกให้เด็กทำกิจวัตรประจำวันตามที่วางแผนเอาไว้ นอกจากนี้ พ่อแม่ควรมีพฤติกรรมที่ดีในการจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง ไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ลูกด้วย

 

          ส่วนการรับมือเมื่อเด็กมีอาการ ผู้ปกครองและคนรอบข้างไม่ควรให้ความสนใจต่ออาการดิ้นรนของเด็ก (ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย) และพยายามไม่ตามใจเมื่อเด็กร้องอาละวาดขึ้นมา เพื่อสอนให้เด็กเข้าใจว่าแม้จะร้องอาละวาดก็ยังต้องทำ หรือห้ามทำในสิ่งนั้นอยู่ เช่น ถึงจะร้องอาละวาดก็จะไม่ซื้อของเล่นให้เด็ดขาด ไม่เช่นนั้นเด็กจะเรียนรู้ถึงการต่อรอง ทำให้มีพฤติกรรมอาละวาดเกิดขึ้นเรื่อย ๆ เมื่ออยากได้สิ่งไหน ควรรอให้เด็กสงบลงก่อนจึงค่อยพูดคุยกัน และทางที่ดีควรให้เด็กได้พูดคุยกับนักจิตวิทยาเพื่อหาทางรักษาที่เหมาะสมกับช่วงวัยด้วยนะคะ

 

3. ออทิสซึ่ม (Autism)

          ใบพัด นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ฐานะครอบครัวดี แต่อาภัพเพราะพ่อแม่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ สมบัติทุกอย่างของครอบครัวจึงตกเป็นของใบพัด ทว่าใบพัดเป็นเด็กที่มีความผิดปกติทางการเรียนรู้ หรือเป็นเด็กออทิสติก โดยที่ทางครอบครัวไม่มีใครรู้ว่าใบพัดเป็นเด็กพิเศษ ดังนั้นปัญหาของใบพัดคือต้องทำความเข้าใจคนปกติให้ได้ และคนรอบข้างก็ต้องปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับเด็กออทิสติกอย่างใบพัดให้ได้เช่นกัน

 

สาเหตุ

          ภาวะออทิสติกเกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้การทำงานของสมองส่วนนั้นมีปัญหา ทว่าจากสถิติพบว่า ครอบครัวที่มีเด็กออทิสติกมีโอกาสจะมีลูกออทิสติกได้มากกว่าคนทั่วไป ดังนั้นกลุ่มอาการออทิสติกก็อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ด้วย

 

อาการ

          - พัฒนาการด้านสังคมผิดปกติ โดยมักจะชอบเล่นคนเดียว พูดคนเดียว ไม่กล้าสบตาผู้คน ไม่สนใจคนรอบข้าง ไม่พยายามจะผูกมิตรกับผู้อื่น บ่อยครั้งเด็กออทิสติกจึงกลายเป็นตัวประหลาดในสายตาคนทั่วไป เพราะมีทักษะการเข้าสังคมที่ต่างจากคนปกตินั่นเอง

          - พัฒนาทางการสื่อสารผิดปกติ มีอาการพูดช้า ยานคาง หรือพูดไม่สมวัย ใช้ภาษาแปลก ๆ ฟังไม่รู้เรื่อง หรือมีพฤติกรรมพูดซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ แต่เด็กบางคนอาจมีทักษะการพูดที่ไหลลื่น เพียงแต่มักจะพูดแต่เรื่องของตนเอง ไม่สนใจผู้ฟังเลยแม้แต่น้อย

          - มีความสนใจสิ่งรอบตัวอย่างจำกัด กล่าวคือ มักจะสนใจเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างหมกมุ่น และเขาจะสามารถทำสิ่งนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี โดยบางคนอาจสนใจเล่นเปียโน และเล่นได้เก่ง บางคนสนใจการร้องเพลง และสามารถร้องเพลงได้ดี หรือบางคนสนใจเรื่องที่ซับซ้อนกว่านั้น อย่างดาราศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ซึ่งความสนใจของเด็กออทิสติกจะเปลี่ยนแปลงยาก ชอบอะไรก็จะชอบอยู่อย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลง

 

การรักษา

          การบำบัดเด็กออทิสติกควรเริ่มทำตั้งแต่ระยะแรก ๆ โดยส่วนมากจะตรวจพบภาวะออทิสติกได้เมื่อเด็กอายุ 2-3 ขวบ และเมื่อพบว่าเด็กมีภาวะผิดปกติ ควรบำบัดด้วยการกระตุ้นพัฒนาส่งเสริมทักษะที่เด็กจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ทักษะการพูด ทักษะการเข้าสังคม เป็นต้น

 

รู้ทันโรคออทิสติก สังเกตอย่างไรว่าลูกป่วย ?

4. ติดเกม (Gaming Addiction)

          บุ๊ค เด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่ติดเกมอย่างบ้าคลั่ง ชนิดที่ไม่ยอมกิน ไม่ยอมนอน ไม่ยอมมาโรงเรียน ทั้งนี้ครอบครัวของบุ๊คค่อนข้างไม่อบอุ่น แม่แยกไปทำงานต่างประเทศ ส่วนพ่อก็ทำแต่งาน และเลี้ยงลูกด้วยการซื้อคอมพิวเตอร์มาให้ลูกเล่นเกม จนบุ๊คติดเกมหนักมากถึงขั้นทำร้ายพ่อเมื่อพ่อไม่ยอมให้เล่นเกม !

 

สาเหตุ

            ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสาเหตุของอาการติดเกมคืออะไรกันแน่ ทว่ามีการสันนิษฐานถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการติดเกม เช่น ปัญหาทางด้านครอบครัวและสังคม โดยเฉพาะเด็กที่ขาดความอบอุ่น ผู้ปกครองไม่ค่อยใส่ใจดูแล หรือผู้ปกครองปล่อยให้เล่นเกมตั้งแต่ยังเด็ก รวมไปถึงเด็กที่มีปัญหาในการเข้าสังคมกับกลุ่มเพื่อน ทำให้ชอบปลีกตัวมาเล่นเกมตามลำพัง ทำให้มีอาการเสพติดเกมและพึงพอใจกับการเป็นผู้ชนะในเกมมากกว่าเรื่องอื่น ๆ

 

อาการ

          - มักใช้เวลาเล่นเกมนาน เนื่องจากต้องการเอาชนะในเกม และเมื่อชนะแล้วก็ยังอยากได้ชัยชนะมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้เล่นเกมต่อเนื่องได้นาน ๆ แบบไม่สนใจรอบข้างเลย

          - รู้สึกกระวนกระวาย หงุดหงิดที่ไม่ได้เล่นเกม หรือไม่พอใจเมื่อโดนห้ามไม่ให้เล่นเกม โดยเด็กบางคนอาจแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว ทำลายข้าวของ ทำร้ายคนที่ห้ามเล่นเกม หรือด่าทอหยาบคาย

          - อยากเล่นเกมตลอดเวลา อย่างไม่สามารถหักห้ามใจตัวเองได้ ไม่สามารถควบคุมตัวเองไม่ให้เล่นเกมได้ ทำให้ขาดเรียน ขาดกิจวัตรประจำวันอย่างการกินข้าว อาบน้ำ ทำสิ่งต่าง ๆ

          - ทุ่มเทกับเกมมากกว่ากิจกรรมอื่น หรือในขณะที่ทำกิจกรรมอื่นก็ยังคิดวางแผนการเล่นเกมไปด้วย

          - มีพฤติกรรมก้าวร้าว กลายเป็นคนขี้หงุดหงิด โดยอาจมีพฤติกรรมเลียนแบบจากเกมที่เล่น เป็นต้น

          - อาจมีพฤติกรรมที่ไม่ดีอื่น ๆ ตามมา เช่น โกหก ขโมย เล่นพนัน หนีออกจากบ้าน

          - ในบางคนอาจหมกมุ่นกับเกมอย่างหนัก ไม่กิน ไม่นอน จนถึงขั้นเสียชีวิต ดังที่ปรากฏข่าวให้เห็นมาแล้วทั้งในและต่างประเทศ

 

การรักษา

          ควรเริ่มจากการปรับพฤติกรรมทั้งเด็กและผู้ปกครอง เช่น ใส่ใจบุตรหลานให้มากขึ้น มีเวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน เพื่อกันเขาให้ออกห่างจากเกม และกำหนดเวลาให้เขาเล่นเกมได้วันละ 1-2 ชั่วโมง โดยเวลาที่เหลือให้ไปทำกิจกรรมอย่างอื่นแทน นอกจากนี้หากพบว่าเด็กมีอาการทางจิตอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคซึมเศร้า ควรเข้ารับการรักษาโรคจิตเวชไปพร้อมกันด้วย

 

5. ความหลากหลายทางเพศ (Gender Creative)

          อุ่น เด็กสาวที่มีปัญหาความหลากหลายทางเพศของตัวเอง อุ่นเป็นเด็กที่พ่อแม่แยกทางกัน ฝ่ายพ่อค่อนข้างมีฐานะ ส่วนฝ่ายแม่เป็นผู้หญิงที่อ่อนแอ ทำอะไรก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ทำให้พ่อมักจะดูถูกแม่เสมอ อุ่นจึงกลายเป็นเด็กที่ไม่ภูมิใจกับความเป็นผู้หญิงของตัวเอง เธอเลยสับสนทางเพศอยู่ไม่น้อย

 

สาเหตุ

           ความหลากหลายทางเพศไม่ถือเป็นความผิดปกติหรือเป็นโรค แต่นับเป็นรสนิยมทางเพศของบุคคลมากกว่า ซึ่งถ้าจะกล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดความหลากหลายทางเพศ ก็อาจมีอยู่หลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งสภาพแวดล้อมในครอบครัว เช่น ในบ้านมีแต่ผู้หญิง โตมากับเพศหญิงตลอด หรือโตมากับเพศชายตลอด จนอาจมีลักษณะที่ต่างจากเพศสภาพแรกเกิด ความกดดันจากสังคมบางอย่างที่ทำให้มีความชอบ มีรสนิยมที่หลากหลาย เป็นต้น

 

อาการ

          ในปัจจุบันมีการเปิดกว้างในเรื่องเพศสภาพมากขึ้น คนที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็น ทอม ดี้ เกย์ ไบเซ็กชวล จึงใช้ชีวิตและมีการแสดงตัวตนอย่างเสรีมากขึ้น แต่สำหรับตัวละครในเรื่องนี้ “อุ่น” ที่ยังไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็นเพศไหนกันแน่ จึงมีความสับสนและลังเลในการแสดงออก อีกทั้งสภาวะแวดล้อมที่กดดันก็ทำให้อุ่นยิ่งสับสนมากขึ้น เนื่องจากกลัวพ่อ-แม่ไม่ยอมรับ เพื่อนไม่ยอมรับ กลัวถูกล้อเลียน กลั่นแกล้ง เป็นต้น ทำให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศแบบอุ่นเกิดความเครียด มีความรู้สึกกดดัน และไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร กลายเป็นเด็กมีปมที่ควรต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน

 

รับมืออย่างไรเมื่อลูกมีความหลากหลายทางเพศ

          เมื่อลูกมีรสนิยมเบี่ยงเบนทางเพศไปแล้ว สิ่งที่คนในครอบครัวควรต้องทำคือ ทำความเข้าใจในสิ่งที่เขาเป็น เพราะการจะเปลี่ยนรสนิยมใครก็ตาม ควรทำตั้งแต่เขาอายุยังน้อย ๆ ในวัย 3-5 ขวบ ที่จะเริ่มจับสังเกตอาการเบี่ยงเบนทางเพศของเด็กได้ ซึ่งถ้าความหลากหลายทางเพศมาเกิดกับลูกหลานของเราตอนเขาโตแล้ว การจะเปลี่ยนเขาให้เป็นอย่างใจเราอาจนำมาซึ่งปัญหาที่หนักหนายิ่งกว่า เช่น เกิดการต่อต้าน บางคนถูกกดดันมาก ๆ ก็ทำร้ายตัวเอง เห็นคุณค่าตัวเองลดลง กลายเป็นเด็กมีปัญหา หนีออกจากบ้าน หรือมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าได้

 

          ดังนั้นก็อยากให้คนรอบข้าง โดยเฉพาะคุณพ่อ คุณแม่ ยอมรับในตัวลูก ยอมรับในสิ่งที่ลูกเลือก อาจไม่ต้องถึงขั้นสนับสนุน แค่ไม่ดุด่า ว่ากล่าวด้วยถ้อยคำรุนแรง หรือแสดงความรังเกียจ ไม่ยอมรับอย่างชัดเจน นอกจากนี้ก็อยากให้ผู้ปกครองมองในความดี ชื่นชมในสิ่งที่เขาทำออกมาได้ดีอย่างไม่มีอคติ ให้เขารู้สึกว่าตัวเองก็มีคุณค่าไม่ต่างจากใคร แม้จะมีรสนิยมทางเพศที่หลากหลายก็ตาม

 

          อย่างไรก็ตาม ทุกปัญหาหรือปมของเด็ก ๆ จะสามารถแก้ไขให้เข้าร่องเข้ารอยได้ก็ด้วยการเปิดใจคุยกันอย่างเข้าใจ เพื่อที่จะได้หาทางออกร่วมกันอย่างมีความสุขทั้งสองฝ่ายนะคะ

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
5 ปัญหาจากวัยแสบสาแหรกขาด 2 ที่ละครสะท้อนให้เข้าใจ อัปเดตล่าสุด 21 สิงหาคม 2562 เวลา 16:39:36 31,182 อ่าน
TOP
x close