ชอบเรียกร้องความสนใจ แสดงเก่ง แอ็คติ้งเว่อร์ เผลอ ๆ อาจป่วยฮิสทีเรีย

          ฮิสทีเรีย ไม่ใช่โรคติดเซ็กส์ หรือขาดผู้ชายไม่ได้ แต่เป็นโรคของคนชอบเรียกร้องความสนใจ ลองมาเช็กอาการว่าคนรอบข้างป่วยไหม ?
โรคฮิสทีเรีย

          ถ้าเอ่ยถึงชื่อโรคฮิสทีเรีย น่าจะมีคนเข้าใจผิดอยู่เยอะว่าฮิสทีเรียเป็นโรคขาดผู้ชายไม่ได้ เป็นอาการของคนที่มีความต้องการทางเพศสูง ทั้งที่จริงแล้ว อาการขาดผู้ชายไม่ได้นั้น หมายถึง นิมโฟมาเนีย ส่วนโรคฮิสทีเรียเป็นอาการของคนที่ชอบเรียกร้องความสนใจ จัดเป็นโรคบุคลิกภาพแปรปรวนอันเป็นผลมาจากความผิดปกติของสุขภาพจิตใจ และวันนี้เรามาทำความเข้าใจโรคฮิสทีเรียกันให้มากขึ้นดีกว่า

ฮิสทีเรียคือโรคอะไร

          โรคฮิสทีเรีย ภาษาอังกฤษคือ Hysteria จัดเป็นโรคทางจิตเวชในกลุ่ม Somatoform Disorders ซึ่งเป็นอาการทางประสาทชนิดหนึ่ง ทั้งนี้โรคฮิสทีเรียจะแบ่งออกได้ 2 ลักษณะ ดังนี้

     1. โรคประสาทฮิสทีเรีย (Conversion Reaction)

          ผู้ป่วยจะมีความเครียด ความกังวล หรือมีความขัดแย้งทางจิตใจอย่างรุนแรงจนส่งผลให้เกิดความผิดปกติในกระบวนการเคลื่อนไหวหรือรับรู้ เช่น เป็นอัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนแรง พูดไม่ได้ ไม่ได้ยินเสียง มองไม่เห็น กล้ามเนื้อกระตุก หรือชัก เมื่อเกิดความเครียดหรือมีความขัดแย้งทางจิตใจหนัก ๆ อย่างไรก็ตาม อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นจะไม่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของร่างกาย เมื่อตรวจร่างกายแล้วอาจไม่พบความผิดปกติใด ๆ เพราะเป็นผลทางจิตใจของผู้ป่วยเอง

     2. บุคลิกภาพผิดปกติแบบฮิสทีเรีย (Histrionic Personality Disorder)

โรคฮิสทีเรีย

          โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบฮิสทีเรียจะพบได้บ่อยกว่าโรคประสาทฮิสทีเรีย โดยผู้ป่วยจะมีบุคลิกภาพชอบทำตัวเด่น มีพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจ หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่าแสดงเก่ง อาจดูมีจริตมารยาที่มากกว่าปกติ ทำให้หลายคนคิดว่ามีพฤติกรรมชอบยั่วยวนเพศตรงข้าม ทั้งที่จริงแล้วผู้ป่วยต้องการให้คนสนใจไม่ว่าจะเพศไหนก็ตาม

          ทั้งนี้ เคสที่จะเจอได้บ่อยก็คือโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบฮิสทีเรีย งั้นเรามาเช็กกันหน่อยว่าอาการฮิสทีเรียที่ว่านี้เกิดจากอะไร อาการชัด ๆ เป็นยังไง แล้วรักษาได้ไหมนะ

บุคลิกภาพผิดปกติแบบฮิสทีเรีย เกิดจากอะไร

          บุคลิกภาพผิดปกติแบบฮิสทีเรีย หรือ HPD จัดเป็นความผิดปกติทางจิตในกลุ่มความผิดปกติทางบุคลิกภาพกลุ่มบี (Cluster B: Dramatic Personality Disorders) อาจเกิดจากการขาดความรักในช่วงที่เขาต้องการความรักอย่างมาก แต่กลับต้องพบเจอกับความผิดหวัง ทำให้ความรู้สึกผิดหวังนั้นฝังใจจนก่อให้เกิดความรู้สึกโหยหาความรักอยู่ตลอดเวลา แต่ผู้ป่วยฮิสทีเรียจะต้องการแค่ความรัก ความสนใจ ไม่ได้ต้องการความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง และไม่ได้คิดไปถึงการมีเพศสัมพันธ์เลยด้วย

          นอกจากนี้ สาเหตุของฮิสทีเรียยังอาจเกิดจากพันธุกรรม หรือได้รับการอบรมสั่งสอนที่ไม่เหมาะสมในวัยเด็ก เช่น ตอนเป็นเด็กไม่เคยได้รับการเอาใจใส่ หรือถูกสปอยล์มากเกินไป ทำผิดแล้วไม่เคยถูกลงโทษ รวมทั้งพ่อแม่บ้านไหนมีอารมณ์แปรปรวน เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย หรือแยกกันอยู่ อาจทำให้ลูกมีปัญหา และก่อให้เกิดบุคลิกภาพผิดปกติแบบฮิสทีเรียได้

โรคฮิสทีเรีย

ฮิสทีเรีย อาการเป็นอย่างไร

     อาการฮิสทีเรียแบบ HPD จะสังเกตได้ ดังนี้

          - มีความเป็นเด็กอยู่สูงมาก คือหากอยู่ในจุดที่ไม่มีใครให้ความสนใจ จะรู้สึกอึดอัด ขาดความมั่นใจ ไม่ได้ดั่งใจ จนต้องแสดงพฤติกรรมบางอย่างให้ดูโดดเด่น และหลายครั้งที่พฤติกรรมเหล่านั้นกลายเป็นพฤติกรรมยั่วยุอารมณ์ หรืออาจทำให้คนภายนอกที่มองเข้ามาคิดว่า คนป่วยโรคนี้ที่เป็นเพศหญิงจะชอบยั่วยวนเพศตรงข้าม ทั้งที่จริง ๆ แค่พยายามจะแสดงออกเพื่อหวังให้คนอื่นหันมาสนใจตัวเองบ้างเท่านั้น แต่ความสัมพันธ์กับผู้อื่นมักเป็นแบบผิวเผิน

           - อารมณ์แปรปรวนไม่คงที่ เอาแน่นอนไม่ได้ อ่อนไหวง่าย คล้อยตามผู้อื่นได้ง่าย

           - ไม่ควบคุมอารมณ์ มีพฤติกรรมแสดงออกในอารมณ์ในทันที เช่น ร้องไห้เมื่อผิดหวังแม้กับเรื่องเล็ก ๆ ก็ตาม หรือแสดงอารมณ์โกรธอย่างรุนแรงกับเรื่องที่เล็กน้อย เป็นต้น

          - อาจใช้รูปลักษณ์ภายนอก ทำให้ตัวเองเป็นจุดสนใจของคนอื่น 

          - ชอบแสดงท่าทีที่โอเว่อร์แอ็คติ้ง เหมือนเล่นละคร หรือแสดงทางอารมณ์เกินจริง โดยเฉพาะลักษณะการพูดการจา

          - มีพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจมาก ๆ โดยที่ไม่สนว่าการกระทำที่เรียกร้องความสนใจนั้นจะผิด จะถูก หรือกระทบกับใครบ้าง

          - ในกรณีที่เรียกร้องความสนใจไม่สำเร็จ อาจมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง หรือขู่ทำร้ายตัวเองเพื่อให้ผู้อื่นสนใจเลยก็ได้

โรคฮิสทีเรีย

ฮิสทีเรีย รักษาได้ไหม

          โรคฮิสทีเรียเป็นโรคความผิดปกติทางบุคลิกที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้ป่วยเท่าไร ซึ่งทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าตัวเองมีอาการป่วย หรือมีความผิดปกติที่ควรต้องรักษา ทั้งที่จริงแล้วหากผู้ป่วยยอมรับและยอมเข้ารับการรักษา แพทย์จะมีวิธีการรักษาโรคฮิสทีเรีย 3 แนวทางด้วยกัน ดังนี้

          1. จิตบำบัดอย่างลึก

          2. จิตบำบัดเฉพาะตัว

          3. จิตบำบัดแบบกลุ่ม

          ทั้งนี้การรักษาโรคฮิสทีเรียจะมุ่งเน้นการบำบัดจิตใจ ด้วยขั้นตอนการรักษาของจิตแพทย์และนักจิตวิทยา แต่หากมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีอาการซึมเศร้า แพทย์จะใช้ยาบำบัดร่วมด้วย อย่างไรก็ดี การรักษาฮิสทีเรียจะได้ผลก็ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ป่วยเองด้วยนะคะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา
VOICE TV
verywellmind

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ชอบเรียกร้องความสนใจ แสดงเก่ง แอ็คติ้งเว่อร์ เผลอ ๆ อาจป่วยฮิสทีเรีย อัปเดตล่าสุด 11 กันยายน 2563 เวลา 16:43:38 121,357 อ่าน
TOP
x close