ทำความรู้จักโรคไขกระดูกบกพร่อง-ไขกระดูกฝ่อ ต้นตอของจุดช้ำตามตัว

         ไขกระดูกบกพร่อง คืออะไร ทำไมถึงทำให้เกิดรอยช้ำไม่ทราบสาเหตุบนผิวหนัง อาการของโรคไขกระดูกบกพร่อง เป็นอันตรายหรือไม่ มาหาคำตอบกัน

โรคไขกระดูกบกพร่อง

          ไขกระดูกอยู่ในโพรงกระดูกทั่วร่างกาย เป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่สร้างเซลล์เม็ดเลือด คือ เม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด และเม็ดเลือดขาว แต่หากไขกระดูกทำงานบกพร่อง ก็จะเกิดความผิดปกติได้ อย่างโรคไขกระดูกบกพร่อง เป็นโรคที่ไขกระดูกไม่สามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดได้ แต่เพราะอะไรที่ทำให้ไขกระดูกทำงานผิดปกติ เราลองมาทำความรู้จักโรคนี้กันเลย

โรคไขกระดูกบกพร่อง คืออะไร

          โรคไขกระดูกบกพร่อง จะมีอยู่ 2 โรค ก็คือ

          1. โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ (Aplastic anemia) มักพบในคนที่ยังอายุน้อย

          2. โรคไขกระดูกเสื่อม หรือโรคเอ็มดีเอส (Myelodysplastic Syndrome : MDS) มักพบในผู้สูงอายุ

          ทีนี้ เราลองมารู้จักโรคไขกระดูกบกพร่องแต่ละประเภทกันให้มากขึ้น

*โรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ (Aplastic anemia)

โรคไขกระดูกบกพร่อง

          โรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ เกิดจากสเต็มเซลล์ไม่สร้างเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือด ทำให้ผู้ป่วยมีภาวะโลหิตจาง เกล็ดเลือดต่ำ และเม็ดเลือดขาวต่ำ ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย โดยอุบัติการณ์โรคนี้ในไทยพบอัตราการเกิดโรค 4 คนต่อประชากรล้านคนต่อปี มักพบในคนที่ยังอายุไม่มาก
 
โรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ เกิดจากอะไร

          สาเหตุของโรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ อันเกิดจากไขกระดูกทำงานบกพร่อง มีสาเหตุ 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

     1. โรคทางพันธุกรรม

          เช่น โรคโลหิตจางแฟนโคนี (Fanconi anemia) โรคดิสเคอราโตสิสแต่กำเนิด (Dyskeratosis Congenita) กลุ่มอาการชะวอชแมน ไดมอนด์ (Shwachman Diamond Syndrome) เป็นต้น

     2. ปัจจัยที่เกิดภายหลัง

          พบได้บ่อยกว่าสาเหตุทางพันธุกรรม โดยปัจจัยที่เสี่ยงให้เกิดโรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ มีดังนี้

               - การได้รับสารเคมีต่าง ๆ เช่น ยาฆ่าแมลง เบนซิน ยาฉีดยุง สารหนู กาว ยากลุ่มคลอแรมเฟนิคอล ยากลุ่มฟีนิลบิวตาโซน ยากลุ่มซัลฟา เป็นต้น

               - การได้รับรังสีขนาดสูง

               - การใช้ยาเคมีบำบัด หรือการฉายแสงเพื่อรักษามะเร็ง

               - การกินยาบางชนิด เช่น ยาแก้อักเสบข้อ ยากันชัก ยาฆ่าเชื้อบางชนิด ยารักษาไทรอยด์เป็นพิษ ยาแก้อักเสบชนิดที่ไม่ใช้สเตียรอยด์ เป็นต้น

               - การติดเชื้อต่าง ๆ เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ หรือเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในเด็กหลาย ๆ ตัว การติดเชื้อ HIV เป็นต้น

โรคไขกระดูกบกพร่อง

โรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ อาการเป็นอย่างไร

          การที่เซลล์เม็ดเลือดลดต่ำลงจากความบกพร่องของไขกระดูก จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการ ดังนี้

               * ซีด ถ้าโลหิตจางมากจะมีอาการอ่อนเพลียร่วมด้วย

               * หอบ เหนื่อยง่ายเวลาออกแรง

               * เป็นไข้ ป่วยง่าย เพราะติดเชื้อได้ง่าย

                * มีจุดเลือดออกตามตัว เป็นรอยช้ำเลือดเป็นจ้ำ ๆ 

               * เลือดออกง่าย อาจมีเลือดออกในปาก เลือดกำเดาไหล

               * ในผู้หญิงอาจมีอาการประจำเดือนมามากผิดปกติ

               * บางรายอาจอาเจียนเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด
              
               * ชีพจรเต้นเร็ว หายใจเร็ว 

               * หากโลหิตจางมาก ๆ อาจส่งผลให้การทำงานของหัวใจล้มเหลว

โรคไขกระดูกบกพร่อง

โรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ รักษาอย่างไร

          การรักษาโรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ จะแบ่งออกเป็น 2 วิธีใหญ่ ๆ ดังนี้

     1. การรักษาโดยการให้เลือด

          - ให้เม็ดเลือดแดงกับผู้ป่วยที่มีภาวะซีด และเหนื่อยจากภาวะโลหิตจาง

          - ให้เกล็ดเลือดในกรณีผู้ป่วยมีเกล็ดเลือดต่ำกว่า 10,000/µL

     2. การรักษาโรคไขกระดูกฝ่อโดยตรง

          - การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ จากพี่น้องท้องเดียวกัน หรือบุคคลอื่นที่เข้ากันได้ โดยแพทย์จะเลือกวิธีนี้ในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 40 ปี ที่มีภาวะโรคค่อนข้างรุนแรง

          - หากผู้ป่วยอายุมาก ไม่สามารถรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกได้ แพทย์จะให้ยาแอนติบอดี หรือยากดภูมิคุ้มกัน คล้ายกับการทำเคมีบำบัดที่ต้องให้เป็นรอบ ๆ ไป

          - การให้ Anabolic hormone ในผู้ป่วยที่ระดับความรุนแรงของโรคไม่มากนัก

โรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ อันตรายแค่ไหน

          ความรุนแรงของโรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อจะขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย ทว่าหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที ภาวะเซลล์เม็ดเลือดที่ต่ำลง ๆ ก็อาจเป็นเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

*โรคไขกระดูกเสื่อม เอ็มดีเอส (Myelodysplastic Syndrome : MDS)

โรคไขกระดูกบกพร่อง

          โรคไขกระดูกเสื่อม เอ็มดีเอส (MDS) คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของไขกระดูกในการสร้างเม็ดเลือด ทำให้ไม่สามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดได้เพียงพอ แต่สเต็มเซลล์ยังไม่ฝ่อเหมือนกับโรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ

          ผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการคล้ายโรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ คือ ผิวหนังซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย มีจ้ำเลือดผิดปกติ มีอาการฟกช้ำได้ง่าย  เลือดออกง่าย หยุดยาก แต่สามารถรักษาได้ด้วยการให้เลือด รวมทั้งปลูกถ่ายไขกระดูกเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การเป็นโรคเอ็มดีเอส จะมีโอกาสเปลี่ยนเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน หรือลูคีเมียได้ ซึ่งเป็นอันตรายกว่า เราลองมาทำความเข้าใจโรคเอ็มดีเอสกันเลย

          - รู้จักโรคไขกระดูกเสื่อม MDS ภาวะเลือดผิดปกติ ภัยเงียบที่น่ากลัว
 
          ทั้งนี้ โรคไขกระดูกบกพร่องทั้ง 2 ประเภท ไม่สามารถป้องกันการเกิดได้ 100% เราจึงควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของตัวเองให้ดี ๆ ว่ามีสัญญาณเตือนจากร่างกายหรือเปล่า โดยเฉพาะหากมีอาการเลือดออกง่าย หยุดไหลยาก เกิดจ้ำเลือดบ่อย ๆ หรือมีเกล็ดเลือดต่ำเป็นเวลานาน ที่สำคัญก็ควรไปตรวจสุขภาพทุกปีเพื่อเช็กการทำงานของไขกระดูกและเซลล์เม็ดเลือดด้วยนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทำความรู้จักโรคไขกระดูกบกพร่อง-ไขกระดูกฝ่อ ต้นตอของจุดช้ำตามตัว อัปเดตล่าสุด 30 มิถุนายน 2563 เวลา 14:24:57 103,354 อ่าน
TOP
x close