รู้จักโรคไขกระดูกเสื่อม MDS ภาวะเลือดผิดปกติ ภัยเงียบที่น่ากลัว

          โรคเลือดอีกหนึ่งโรคที่มีอาการแสดงออกไม่ชัดเจนนัก ทำให้กว่าจะรู้ตัวว่าป่วยไขกระดูกเสื่อม MDS ก็อาจสายเกินไป ดังนั้นทำความรู้จักโรคนี้ไว้ดีกว่า

โรคเอ็มดีเอส

          ถ้าระบบเลือดมีความผิดปกติ สุขภาพร่างกายเราก็คงไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าไรนัก และที่น่ากังวลไปกว่านั้นก็คือ กว่าเราจะรู้ตัวว่าเม็ดเลือด เกล็ดเลือดของเราไม่ได้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี ก็เมื่อตอนที่มีอาการป่วยอย่างมึนหัว หน้ามืดบ่อย ๆ หรือก็ตอนตรวจสุขภาพประจำปีไปเลย ซึ่งนั่นทำให้เราไม่ได้ระมัดระวังหรือตั้งรับกับโรคบางโรคได้ อย่างโรคเอ็มดีเอส (MDS) ก็เช่นกัน โรคนี้ก็จัดเป็นภัยเงียบ ที่เสี่ยงต่อคนสูงอายุ ดังนั้นเราจึงอยากให้ทุกคนมาทำความรู้จักโรค MDS เอาไว้สังเกตอาการของตัวเองและคนรอบข้างกันค่ะ

โรคเอ็มดีเอส

โรค MDS คืออะไร

          โรคไขกระดูกเสื่อม เอ็มดีเอส (MDS) หรือชื่อเต็ม ๆ ว่า Myelodysplastic Syndrome (ไมอีโลดิสพลาสติก ซินโดรม) คือ กลุ่มโรคซึ่งเกิดจากความผิดปกติของไขกระดูกในการสร้างเม็ดเลือด เป็นผลให้ไม่สามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดได้เพียงพอ ทำให้เกิดภาวะซีดหรือโลหิตจาง เสี่ยงต่อการติดเชื้อง่าย และมีภาวะเลือดออกง่าย หยุดยาก


โรค MDS สาเหตุเกิดจากอะไร

          ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสาเหตุของโรค MDS เกิดจากอะไรกันแน่ แต่มีการสันนิษฐานกันว่า โรค MDS น่าจะเกิดจากการได้รับยา อย่างยาเคมีบำบัด สารเคมี เช่น เบนซิน ยาฆ่าแมลง การสูบบุหรี่ หรือการฉายรังสี รวมไปถึงปัจจัยทางพันธุกรรม โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีประวัติโรคเลือดมาก่อน นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคไขกระดูกฝ่อก็เพิ่มความเสี่ยงโรค MDS ได้เช่นกัน

โรค MDS

โรค MDS พบได้บ่อยแค่ไหน แล้วใครเสี่ยงบ้าง
    
          มีรายงานในต่างประเทศพบโรค MDS 3-5 คน ต่อประชากร 1 แสนคน โดยพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย โดยส่วนใหญ่พบในคนที่มีอายุ 70 ปี โดยเฉลี่ย ทั้งนี้ โอกาสในการพบโรค MDS ในคนอายุ 70 ปี จะสูงประมาณ 20 คน ต่อ 1 แสนคน โดยกลุ่มเสี่ยงโรค MDS ก็มีดังนี้


- พบได้บ่อยในคนอายุมากกว่า 60 ปี

- พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง

- พบในคนผิวขาวมากกว่าคนเชื้อชาติอื่น

- คนที่ทำงานกับสารเคมี เช่น เกษตรกรที่ใช้ยาฆ่าแมลง นักเคมี พนักงานโรงงานทอผ้าที่มีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต คนงานในโรงงานอุตสาหกรรม และคนที่ทำงานในปั๊มน้ำมัน



โรค MDS อาการเป็นอย่างไร


          โรค MDS มีอาการแสดงออกของโรคหลากหลาย โดยอาจสังเกตอาการ MDS ได้ ดังนี้

* ผิวหนังซีด

* มีภาวะโลหิตจาง

* อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย

* เวียนศีรษะ ใจสั่น

* มีจ้ำเลือดผิดปกติ

* มีอาการฟกช้ำได้ง่าย

* เลือดออกง่าย และหากมีเลือดออกจะหยุดยาก

* ติดเชื้อง่าย ป่วยบ่อย เพราะเม็ดเลือดขาวต่ำ ทำให้ภูมิคุ้มกันโรคลดลง

* เจ็บป่วยเรื้อรัง

          อย่างไรก็ตาม โรค MDS มักจะมีอาการแสดงออกไม่ชัดเจนเท่าไร ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์ด้วยอาการเม็ดแดงเลือดต่ำ อันเป็นเหตุให้มีอาการหน้ามืด เหนื่อยง่าย หรือมาพบแพทย์ด้วยภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำมาก ซึ่งมักจะตรวจพบจากการตรวจเลือดประจำปี และที่อันตรายก็คือ เม็ดเลือดที่ผิดปกติมีโอกาสพัฒนาเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน (acute leukemia) ได้ถึง 30% ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตมากกว่า ดังนั้น ถ้าจะบอกว่าโรค MDS เป็นภัยเงียบที่น่ากลัวก็ไม่ผิดนัก

โรค MDS

โรค MDS รักษาอย่างไร

* ให้เลือดและเกล็ดเลือดในกรณีที่มีภาวะซีดจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

* รักษาด้วยการให้ฮอร์โมนกระตุ้นเม็ดเลือดแดง

* ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (ปลูกถ่ายไขกระดูก)

* เคมีบำบัดขนาดต่ำ หรือให้ยาใหม่ซึ่งออกฤทธิ์ต่อหน่วยพันธุกรรม

          ทั้งนี้ การรักษาผู้ป่วยโรค MDS จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา เพราะแพทย์จำเป็นต้องวินิจฉัยความรุนแรงของอาการในผู้ป่วยแต่ละราย อย่างการใช้วิธีปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด หรือเคมีบำบัดรักษาก็มีข้อจำกัดว่าต้องใช้รักษาผู้ป่วยอายุน้อย ไม่มีโรคประจำตัวใด ๆ เพราะการรักษาดังกล่าวมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก


ปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อป่วยโรค MDS

          ถ้าหากพบว่าป่วยโรค MDS ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์ตามนัด หลีกเลี่ยงการทำงานหนัก เล่นกีฬาหนัก ๆ เพื่อป้องกันร่างกายเกิดบาดแผลที่ทำให้เลือดออก รวมทั้งต้องระมัดระวังตัวเองให้ดี ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะในคนที่มีภาวะซีด
 
          นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นโรค MDS จะมีภูมิคุ้มกันต่ำ จึงไม่ควรใกล้ชิดผู้ป่วยโรคติดเชื้อต่าง ๆ และไม่ควรเข้าไปอยู่ในสถานที่แออัด หรือเสี่ยงต่อเชื้อโรค พยายามเลี่ยงสารเคมี หรือมลพิษที่กระตุ้นให้เกิดโรคนี้ พร้อมทั้งดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ และควรรับประทานอาหารที่สุก สะอาด ปลอดภัย


          เนื่องจากโรค MDS มักจะตรวจเจอในระยะที่ความรุนแรงของโรคมีมาก ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยควรหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ โดยเฉพาะการตรวจเลือด หากพบว่ามีภาวะเม็ดเลือดผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็วที่สุด

* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 18 มีนาคม 2562

ขอขอบคุณข้อมูลจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จักโรคไขกระดูกเสื่อม MDS ภาวะเลือดผิดปกติ ภัยเงียบที่น่ากลัว อัปเดตล่าสุด 19 กรกฎาคม 2562 เวลา 08:17:13 41,190 อ่าน
TOP
x close