x close

สารคัดหลั่ง คืออะไร ในร่างกายเรามีสารคัดหลั่งเป็นอะไรบ้าง

          สารคัดหลั่งคืออะไร จะใช่น้ำลาย น้ำมูก เสมหะ เลือด หรืออสุจิที่พบในช่องคลอดผู้หญิงไหม เรามาทำความเข้าใจคำนี้กันค่ะ

สารคัดหลั่ง

          หลายคนคงอยากทราบคำว่า สารคัดหลั่ง แบ่งออกได้เป็นอะไรบ้าง เพราะเอาจริง ๆ เราก็มักจะได้ยินคำนี้กันบ่อยทั้งเวลาไปพบแพทย์ หรือแม้แต่ได้ยินข่าวอาชญากรรม คดีความดัง ๆ ต่าง ๆ และเพื่อความกระจ่าง วันนี้เราจะมาทำความรู้จักสารคัดหลั่งในร่างกายของเรากัน

สารคัดหลั่ง คืออะไร

          สารคัดหลั่ง ภาษาอังกฤษเรียกว่า Secretion คือ สารที่มีลักษณะเป็นของเหลวในร่างกาย สารคัดหลั่งมีได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง มีประโยชน์หลายอย่าง ทั้งเพื่อให้ความชุ่มชื้น ช่วยในการหล่อลื่น เป็นอาหาร เป็นสารที่สร้างขึ้นมาเป็นภูมิต้านทาน หรืออาจเป็นของเสียที่ร่างกายต้องกำจัดทิ้ง เป็นต้น

          ขณะที่สารคัดหลั่งในความหมายทางนิติวิทยาศาสตร์ จะหมายถึงคราบที่ตกค้างหรืออยู่บนร่างกายของมนุษย์ ซึ่งอาจเห็นด้วยตาเปล่าได้ หากสารคัดหลั่งนั้นอยู่บนเสื้อผ้าสีดำหรือสีเข้ม แต่ในกรณีที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ก็จำเป็นต้องใช้แสงอัลตราไวโอเลตส่องในห้องมืด เพื่อค้นหาสารคัดหลั่งต่อไป เพราะในสารคัดหลั่งมีดีเอ็นเอที่สามารถใช้ยืนยันตัวผู้กระทำผิดด้วย ตำรวจจึงใช้สารคัดหลั่งเป็นหลักฐานในการสืบค้นคดี

สารคัดหลั่ง

สารคัดหลั่ง ได้แก่อะไรบ้าง

          สารคัดหลั่งอาจอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ ที่เป็นส่วนประกอบหนึ่งของร่างกาย เช่น

     1. น้ำลาย

          ของเหลวที่ผลิตมาจากต่อมน้ำลาย มีหน้าที่ในกระบวนการรับรส การย่อย การกลืนอาหาร และให้ความชุ่มชื้นกับช่องปาก ซึ่งหากร่างกายเกิดการติดเชื้อ หรือได้รับสารแปลกปลอมเข้าไปในร่างกาย สารคัดหลั่งที่เป็นน้ำลายก็อาจตรวจพบเชื้อเหล่านั้นได้ด้วย

     2. เลือด

สารคัดหลั่ง

          ทั้งเซลล์เม็ดเลือด น้ำเลือด เซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว ต่างก็จัดเป็นสารคัดหลั่งด้วยเช่นกัน และเมื่อใดก็ตามที่ร่างกายเราติดเชื้อ สารคัดหลั่งในรูปแบบเลือดก็จะมีสารแปลกปลอมนั้นปนเปื้อนได้

     3. น้ำเหลือง

          ระบบน้ำเหลืองจะมีอยู่ทั่วร่างกายเช่นเดียวกับเส้นเลือด โดยมีท่อน้ำเหลืองทำหน้าที่ลำเลียงน้ำเหลืองเข้าสู่หัวใจ มีลักษณะคล้ายพลาสมาของเม็ดเลือด แต่มีโปรตีนต่ำกว่าพลาสมาในเลือด ซึ่งหากระบบน้ำเหลืองมีปัญหา อักเสบ หรือติดเชื้อ ก็จะมีสารคัดหลั่งจากน้ำเหลืองที่ไหลออกมาจากอวัยวะที่มีต่อมน้ำเหลืองอยู่ เช่น น้ำเหลืองไหลออกจากหัวนม ในเคสผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม เป็นต้น

     4. น้ำไขสันหลังและน้ำหล่อสมอง

          น้ำไขสันหลังและน้ำหล่อสมองเป็นของเหลวที่อยู่รอบสมองและบริเวณไขสันหลัง ทำหน้าที่รับแรงกระแทกต่อสมองและไขสันหลัง นอกจากนี้ยังเป็นเส้นทางในการขนส่งอาหารให้กับสมองและไขสันหลังด้วย

5. เสมหะ

สารคัดหลั่ง

          เสมหะหรือที่บางคนเรียกว่าเสลด เป็นสารคัดหลั่งที่ร่างกายสร้างออกมาจากต่อมสร้างสารคัดหลั่งที่อยู่ในเยื่อบุทางเดินหายใจ เมื่อร่างกายเกิดการติดเชื้อ เป็นหวัด ก็อาจมีเสมหะในลำคอได้

     6. สารคัดหลั่งจากอวัยวะเพศชาย

สารคัดหลั่ง

          จะได้ยินกันบ่อย ๆ ว่าคราบอสุจิก็เป็นสารคัดหลั่งที่ตรวจสอบได้ในทางนิติวิทยาศาสตร์ แต่จริง ๆ แล้วอสุจิที่ว่าจะไม่ใช่แค่เชื้ออสุจิเพียว ๆ แต่เป็นสารหล่อลื่นที่ร่างกายจะสร้างขึ้นมาเมื่อเกิดอารมณ์ทางเพศ ซึ่งน้ำหล่อลื่นที่ว่าจะประกอบไปด้วยสารอื่น ๆ อีกหลายตัว เช่น เซลล์เยื่อบุ เม็ดเลือดขาว สารคัดหลั่งจากต่อมต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น เอนไซม์เอซิดฟอสฟาเทส ที่เป็นเอนไซม์จากต่อมลูกหมาก และจะมีอสุจิปะปนมากับสารคัดหลั่งด้วย ซึ่งหากปริมาณอสุจิมีมาก ก็มีโอกาสมีบุตรง่าย แต่หากปริมาณอสุจิมีน้อย โอกาสในการมีบุตรก็จะน้อยลงไปด้วย

          และนอกจากนี้ สารคัดหลั่งยังมีอีกหลายอย่างในร่างกาย คือ

               - น้ำตา

               - น้ำในลูกตา

               - น้ำเหลืองจากเลือด

               - เหงื่อ

               - ไขมันจากต่อมเหงื่อ

               - หนอง

               - น้ำมูก

               - ขี้หู

               - น้ำนม

               - อาเจียน

               - น้ำดี

               - น้ำจากช่องคลอด

               - ตกขาว

               - น้ำในโพรงอวัยวะต่าง ๆ เช่น น้ำในช่องท้อง น้ำในปอด เป็นต้น

               - ปัสสาวะ

               - อุจจาระ

          อย่างไรก็ตาม สารคัดหลั่งที่ออกมาจากร่างกายอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนและอาจเป็นพาหะนำโรคติดต่อมาสู่เราได้ ดังนั้นพยายามอย่าสัมผัสกับสารคัดหลั่งโดยตรง โดยเฉพาะสารคัดหลั่งของผู้ป่วยโรคอะไรก็ตามแต่ ทั้งนี้สำหรับน้ำนมแม่ หากปั๊มน้ำนมเก็บไว้ก็ควรแช่ในตู้แช่แข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่า -10 ถึง -20 องศาเซลเซียส เพื่อรักษาคุณภาพน้ำนมและป้องกันน้ำนมเน่าเสีย และเพื่อความปลอดภัยของเด็กก็ไม่ควรให้เด็กกินนมของแม่คนอื่น เพราะอาจมีสารหรือเชื้อโรคปนเปื้อนมากับการขนส่งได้

          สำหรับสารคัดหลั่งที่ทำให้เกิดโรคติดต่อทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัดใหญ่, COVID-19 จะเป็นสารคัดหลั่งที่ออกมาทางลมหายใจ เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ อย่างไรก็ตาม สำหรับโรค COVID-19 ยังมีข้อมูลบางส่วนที่บอกว่า อาจมีโอกาสติดต่อผ่านทางน้ำตา หรืออุจจาระได้เช่นกัน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สารคัดหลั่ง คืออะไร ในร่างกายเรามีสารคัดหลั่งเป็นอะไรบ้าง อัปเดตล่าสุด 18 มีนาคม 2563 เวลา 09:15:23 121,982 อ่าน
TOP