Sadfishing ตัวจริงเรื่องดราม่าของคนชอบโพสต์เศร้า เรียกยอด Like

          Sadfishing คืออะไร พฤติกรรมนี้ คนเล่นโซเชียลพบได้บ่อย ๆ แล้วรู้ไหมว่า อาจนำไปสู่การถูก bully หรือส่งผลเสียต่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและกลุ่มวัยรุ่นได้เลย

Sadfishing

          สังคมออนไลน์หรือโซเชียลเป็นโลกที่ทุกอย่างรวดเร็วและมีกระแสเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ อย่างเมื่อไม่นานมานี้ก็มีคำศัพท์คำใหม่เกิดขึ้นเพื่อเรียกพฤติกรรมดราม่าคิง ดราม่าควีน ของชาวเน็ตทั้งหลาย ที่โพสต์เรื่องเศร้าเรียกร้องความสนใจบนโลกออนไลน์ โดยคำศัพท์คำนั้นคือ Sadfishing ที่เป็นการรวมกันของคำว่า Sad และ Fishing แสดงให้เห็นถึงการตักตวงความเศร้าเอาไว้กับตัว ซึ่งพฤติกรรมนี้ไม่ใช่แค่พฤติกรรมเบ ๆ บนโลกออนไลน์ แต่หลายฝ่ายก็มองว่า Sadfishing อาจเป็นพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบไปถึงผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และอาจนำไปสู่การ Bully กันในกลุ่มวัยรุ่นด้วย

Sadfishing คืออะไร

         Sadfishing คือคำอธิบายถึงพฤติกรรมของชาวเน็ตที่ชอบโพสต์ความรู้สึกเศร้า ๆ บนโซเชียล เพื่อต้องการความสนใจจากเพื่อนในโลกออนไลน์ หรืออาจต้องการแค่ยอดไลก์ ยอดคอมเมนต์ก็ได้ ซึ่งการโพสต์เรื่องเศร้านั้นอาจไม่ใช่ความรู้สึกจริง เป็นการแต่งเติมอารมณ์ความรู้สึกที่เกินกว่าความจริงเพื่อให้ดูน่าสนใจมากขึ้นก็เป็นได้

          ทั้งนี้ประโยคที่เข้าข่าย Sadfishing ก็ เช่น “ทนไม่ไหวแล้ว”, “ไม่รู้จะอยู่ไปเพื่ออะไรอีก” , “สิ่งที่เจอมาวันนี้มันแย่มาก ๆ” เป็นต้น  

Sadfishing

Sadfishing ส่งผลกระทบยังไง

          ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า หากการโพสต์เรื่องเศร้านั้นมีจุดประสงค์บางอย่าง อย่างชัดเจน เช่น การโพสต์เศร้า ๆ ของเหล่าดารา เซเลบ หรือบล็อกเกอร์ เพื่อจะรีวิวสินค้า ยกตัวอย่างเช่น โพสต์ถึงเรื่องปัญหาผิวที่ทำให้โดนล้อมาต่าง ๆ นานา จนจะเป็นปมด้อยของตัวเองอยู่แล้ว แต่ในความจริงกำลังจะเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับสถาบันเสริมความงาม เป็นต้น ซึ่งการ Sadfishing แบบมีจุดประสงค์แบบนี้อาจไม่ส่งผลกระทบต่อคนทำมากนัก เพราะอาจทำไม่บ่อย ทำไม่กี่ครั้งก็จบไป เรียกว่าสร้างดราม่าแต่ก็พอรับมือกับผลที่จะตามมาได้

          ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งน่าเป็นห่วงกว่า ซึ่งก็คือกลุ่มวัยรุ่นทั้งหลาย ที่อาจจะใช้การ Sadfishing เพื่อเรียกร้องความสนใจ โพสต์เรื่องเศร้าเรียกยอดไลก์ เรียกคอมเมนต์ให้กำลังใจ และอาจจะรู้สึกเสพติดไปกับการแสดงดราม่าบ่อย ๆ จนติดเป็นนิสัยเอาได้ และหากวันไหนการโพสต์เรื่องเศร้าไม่ให้ผลลัพธ์ที่พอใจ ก็อาจส่งผลกระทบในแง่ลบต่อความรู้สึกของตัวเองได้

          นอกจากนี้การ Sadfishing ของเด็กวัยรุ่นในต่างประเทศยังอาจเป็นเรื่องที่จะถูก bully ได้ง่าย ๆ โดยจากการสำรวจของ Digital Awareness UK พบว่า เด็กวัยรุ่น (ช่วงอายุ 11-16 ปี) มักจะมีพฤติกรรม Sadfishing เพื่อเรียกร้องความสนใจ และส่วนใหญ่จะเรียกความสนใจในโลกออนไลน์สำเร็จ แต่ในโรงเรียน ในชีวิตจริง กลับถูกเพื่อนจับได้ว่าโพสต์เศร้าไปงั้น ๆ แต่ไม่ได้เศร้าจริง ๆ จนโดนล้อเลียนไปต่าง ๆ นานา

Sadfishing กับโรคซึมเศร้า

          ในมุมกลับกัน หากเป็นผู้ป่วยซึมเศร้า ที่โพสต์ความรู้สึกเศร้าจริง ๆ โพสต์ถึงการดิ่งและจมอยู่กับความรู้สึกแย่ ๆ ที่เป็นอยู่ แต่กลับถูกมองว่าแสดงดราม่าเพื่อเรียกร้องความสนใจ การที่เป็นแบบนี้ก็อาจทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ายิ่งรู้สึกแย่กันไปใหญ่ และอาจทำให้คนรอบข้างรู้ไม่เท่าทันความเป็นไปของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้เลย ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยอย่างมาก

Sadfishing

Sadfishing ป้องกันได้ไหม

          พฤติกรรมดราม่าเรียกร้องความสนใจในโลกออนไลน์เป็นเรื่องที่ป้องกันได้ไม่ยาก เพียงแต่ต้องอาศัยความใส่ใจของผู้ปกครองและคนรอบข้าง ที่ต้องคอยพูดคุยกับบุตรหลานอยู่เสมอ ถามไถ่ความเป็นไป ให้ความใส่ใจ และคอยสังเกตอาการหรือพฤติกรรมที่ดูแปลกจากปกติ ถ้าเห็นว่าบุตรหลานดูแปลก ๆ ไป ก็ลองพูดคุยทำความเข้าใจกับเขาดู

          การเล่นโซเชียลก็เหมือนดาบสองคม ที่ให้ทั้งประโยชน์และโทษ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยต่อร่างกายและจิตใจ ก็อยากให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติกันด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
huffingtonpost
metro
mirror

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Sadfishing ตัวจริงเรื่องดราม่าของคนชอบโพสต์เศร้า เรียกยอด Like อัปเดตล่าสุด 29 สิงหาคม 2566 เวลา 18:01:47 13,291 อ่าน
TOP
x close