มีดราม่าเกิดขึ้นทีไรก็ตามส่องจนไม่ได้หลับไม่ได้นอนทุกครั้งไป เอ๊ะ...เราเสพติดดราม่ามากไปไหม แล้วทำไมเรื่องดราม่ามันน่าสนใจจัง !
* เสพติดดราม่าจริงจัง ทำไมเราเป็นอย่างนั้นไปได้
ประเด็นนี้สามารถอธิบายตามหลักการทำงานของร่างกายได้ว่า เมื่อเรากำลังเสพข่าวดราม่า หรือเสพเรื่องฉาว ๆ อยู่ ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนความเครียดหรือฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ออกมา แล้วส่งผลให้ร่างกายเกิดความตึงเครียดอ่อน ๆ เกิดความรู้สึกว้าวุ่นใจและพารานอยด์เล็ก ๆ ซึ่งทุกความรู้สึกที่เกิดจะอยู่ในระดับที่กระตุ้นความพึงพอใจต่อการเสพข่าวดราม่าไปได้เรื่อย ๆ ทำให้เกิดความรู้สึกสนุก และนี่คือเหตุผลว่าทำไมเราถึงตามส่องดราม่ากันอย่างไม่หยุดไม่หย่อนเลย
* เสพติดดราม่ามากเกินไป ส่งผลเสียต่อร่างกายมากกว่าที่คิด
นอกจากจะอดตาหลับขับตานอนเพราะมัวแต่ตามส่องข่าวดราม่าแล้ว การติดตามแต่ประเด็นข่าวที่มีเนื้อหาในแง่ลบยังจะผลักดันให้เกิดความรู้สึกดิ่งไปเรื่อย ๆ ได้ เพราะส่วนใหญ่แล้วประเด็นดราม่ามักจะไม่มีความคิดเห็นเชิงบวกสักเท่าไร มีแต่ขุดคุ้ยประเด็นฉาว ๆ มาซ้ำเติมกันซะมากกว่า ทำให้เราได้รับสารที่เป็นพิษมากกว่าเป็นประโยชน์ต่อชีวิตนั่นเอง
มากไปกว่านั้น งานวิจัยเมื่อปี 2012 จาก University of Pennsylvania ยังพบด้วยว่า เพียง 2-3 นาทีที่เราเสพข่าวดราม่าในตอนเช้า อาจจะส่งผลต่ออารมณ์เราไปได้ทั้งวันเลยนะ โดยในการวิจัยเขาได้แบ่งอาสาสมัครออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกได้ดูข่าวดราม่านาน 3 นาที ก่อนไปทำงาน กลุ่มที่ 2 ได้ดูข่าวเชิงบวกนาน 3 นาที ก่อนไปทำงาน จากนั้นก็มาวัดผลกัน ปรากฎว่า 27% ของกลุ่มที่เสพข่าวดราม่า ใช้ชีวิตอีก 6-7 ชั่วโมงหลังจากนั้นอย่างไม่มีความสุข เมื่อเทียบกับกลุ่มที่เสพข่าวเชิงบวกไป
* เสพติดดราม่ามากเกินไป ปกติไหมล่ะเนี่ย
จากข้อมูลข้างต้นก็ดูเหมือนว่า การเสพข่าวดราม่าจะเป็นของชอบของคนทั่วไป เนื่องจากกลไกทางร่างกายส่งเสริมให้เราชอบอ่านข่าวดราม่าชนิดที่แบบ EP นี้ ต่อ EP หน้า ไม่จบไม่สิ้น ดังนั้นหากมีพฤติกรรมชอบตามข่าวดราม่าอยู่เนือง ๆ แต่ไม่หนักถึงขั้นเสียงาน เสียการ เสียสุขภาพแบบแทบไม่ได้นอน ก็คงไม่น่าเป็นห่วงเท่าไร เว้นแต่หากมีอาการเสพติดข่าวดราม่าแบบไม่ยั้ง ที่สำคัญการเสพข่าวดราม่านั้นยังส่งผลเสียไปถึงการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ไปเรียน ไปทำงานไม่ได้ หรือส่งผลให้เครียดจนนอนไม่หลับติด ๆ กันหลายวัน วนเวียนคิดแต่ดราม่านั้น แบบนี้แนะนำให้ไปปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์จะดีที่สุด
เอาเป็นว่าเรื่องดราม่าอ่านแล้วสนุกดีก็จริง แต่ก็อย่าส่องแต่ดราม่าจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และการใช้ชีวิตประจำวันเลยดีกว่าเนอะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Psychologytoday, Harvard Business Review, huffpost