หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาการเป็นอย่างไร รู้ก่อนสาย สาเหตุการตายเฉียบพลัน !

          หัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดขึ้นได้กับทุกวัย แม้แต่ในคนที่ดูแข็งแรงดีก็ตาม แล้วอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดจากอะไรได้บ้าง อยากให้ทุกคนรู้จักภาวะนี้กันสักนิด


หัวใจเต้นผิดจังหวะ

          ขึ้นชื่อว่าโรคหัวใจ หรือภาวะหัวใจทำงานผิดปกติ ยังไงก็ดูอันตรายต่อชีวิต ที่สำคัญโรคที่เกี่ยวกับหัวใจยังไม่ค่อยจะมีสัญญาณแจ้งเตือนแบบชัด ๆ นึกจะเกิดก็เกิดปุบปับ จนเป็นเหตุให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตกะทันหัน อย่างอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นภาวะที่เกิดได้กับทุกคนโดยไม่รู้ตัว แม้ว่าจะมีอายุน้อย มีร่างกายแข็งแรงก็ตาม หากรู้ไม่เท่าทัน ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Arrhythmia ก็อันตรายถึงชีวิตได้เหมือนกัน ดังนั้นเราลองมาเช็กอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ เพื่อประเมินอาการตัวเองในเบื้องต้นดีกว่า

หัวใจเต้นผิดจังหวะ คืออะไร

          หัวใจเต้นผิดจังหวะ จะแบ่งออกได้ 3 ภาวะ คือ หัวใจเต้นช้า หัวใจเต้นเร็ว และหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ อาการดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยกันทั้งนั้น และภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดได้กับทุกวัย อันตรายกับทุกคน

หัวใจเต้นผิดจังหวะ

หัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดจากอะไร

          หัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดจากกระแสไฟฟ้าบางตำแหน่งในหัวใจผิดปกติ หรือมีการลัดวงจรของไฟฟ้าในหัวใจ ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดในบริเวณที่เกิดกระแสไฟฟ้าผิดปกติ โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ก็สามารถจำแนกได้ ดังนี้

          * ภาวะหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด ลิ้นหัวใจรั่ว ผนังหัวใจหนาผิดปกติ หรือภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นต้น

          * เกิดจากหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายและเกิดการเต้นที่ผิดปกติตามมา

          * โรคหรือภาวะผิดปกติประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ไทรอยด์เป็นพิษ อิเล็กโทรไลต์ในร่างกายผิดปกติ เป็นต้น

          * ผลข้างเคียงจากยาหรือสารบางชนิด เช่น ยาที่มีส่วนประกอบของแอมเฟตามีน หรือคาเฟอีนที่อยู่ในชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง

          * ความผิดปกติของเกลือแร่บางอย่าง

          * ความเครียด ความวิตกกังวล

          * การอดนอน พักผ่อนไม่เพียงพอ

หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาการเป็นยังไง
   
          หัวใจเต้นผิดจังหวะสามารถเกิดได้ทันทีทันใดโดยที่เราไม่รู้ตัวว่าหัวใจมีความผิดปกติอยู่ แต่เมื่อถูกกระตุ้น เช่น เครียดจัด อ่อนเพลียมาก ๆ ก็อาจเกิดอาการขึ้นมาได้ ทั้งนี้ เรายังพอสังเกตภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ได้จากอาการ ดังนี้
 
หัวใจเต้นผิดจังหวะ
       
          - เจ็บหน้าอก
          - วิงเวียน
          - หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
          - หัวใจเต้นช้าผิดปกติ
          - หน้ามืด ตาลาย
          - ใจสั่น
          - หายใจติดขัด
          - เป็นลม หมดสติ
          - ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจทำให้มีเลือดตกค้าง และเกิดลิ่มเลือดขึ้นในช่องหัวใจ ซึ่งลิ่มเลือดอาจหลุดไปอุดตันเส้นเลือดแดงในร่างกาย ทำให้เกิดภาวะผิดปกติในบริเวณที่อุดตันได้เฉียบพลัน
 
          ทั้งนี้ หากเจอผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ถ้ารีบทำการ CPR และใช้เครื่อง AED กระตุ้นหัวใจ จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้มากกว่า 50%


หัวใจเต้นผิดจังหวะ

หัวใจเต้นผิดจังหวะ รักษาได้ไหม
   
          วิธีรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยมากแพทย์จะพยายามรักษาจากสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น หากเกิดจากโรคหัวใจอื่น ๆ ที่เป็นอยู่ก่อน แพทย์ก็จะทำการรักษาที่ต้นเหตุ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะก็มีแนวทางในการรักษาอยู่หลายทางเลือก ดังนี้

* รักษาด้วยยา

           ยาที่ใช้รักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ จะเป็นยาที่ช่วยควบคุมจังหวะของหัวใจ ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของอาการได้ แต่จะไม่สามารถรักษาให้หายขาด

* ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker)
   
          จะเป็นการฝังเครื่องมือเล็ก ๆ ไว้ใต้ผิวหนัง บริเวณกระดูกไหปลาร้า เพื่อตรวจจับจังหวะการเต้นของหัวใจ จากนั้นก็จะสอดสายนำไฟฟ้าไปยังหัวใจ เพื่อควบคุมและกระตุ้นให้หัวใจเต้นตามอัตราที่เหมาะสม

* การใช้ไฟฟ้ากระตุกเพื่อปรับการเต้นของหัวใจ (Cardioversion)
   
          วิธีนี้มักจะใช้รักษาอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ โดยแพทย์จะใช้กระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ จากเครื่องส่ง แปะบริเวณหน้าอกของคนไข้ เพื่อให้กระแสไฟฟ้านั้นช่วยปรับจังหวะการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ

* การใช้สายสวน (Ablation Therapy)
   
          จัดเป็นวิธีรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะที่ค่อนข้างได้ผลดี และอาจช่วยให้โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดหายขาดได้ โดยวิธีนี้จะเป็นการรักษาต่อเนื่องจากการตรวจระบบการนำไฟฟ้าในหัวใจ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สอดสายสวนไปยังตำแหน่งที่เชื่อว่าน่าจะเป็นสาเหตุของความผิดปกติได้ จากนั้นแพทย์จะปล่อยคลื่นวิทยุความถี่สูงเป็นจุดเล็ก ๆ เพื่อทำลายเนื้อเยื่อหัวใจที่เป็นสาเหตุของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

* การฝังเครื่องกระตุกหัวใจ (Implantable Cardioverter Defibrillator)
   
          แพทย์จะใช้วิธีนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงหัวใจห้องล่างเต้นผิดปกติ ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายต่อชีวิต โดยเมื่อหัวใจเต้นช้าเกินไป เครื่องมือที่ฝังไว้ในร่างกายคนไข้จะทำหน้าที่กระตุ้นหัวใจ แต่เมื่อหัวใจเต้นเร็ว เครื่องมือจะปล่อยพลังงานไฟฟ้าในระดับที่เหมาะสมเพื่อกระตุกหัวใจให้กลับมาเต้นในจังหวะปกติ

* จี้ด้วยคลื่นไฟฟ้า
   
          วิธีนี้ก็สามารถรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะให้หายขาดได้ โดยแพทย์จะทำการเจาะเส้นเลือดบริเวณต้นขาของคนไข้ แล้วสอดสายสวนหัวใจเข้าไปหาตำแหน่งไฟฟ้าในหัวใจที่ลัดวงจร จากนั้นจะปล่อยกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ เข้าไปทำให้อุณหภูมิที่ปลายสวนหัวใจสูงขึ้น จาก 37 องศาเซลเซียส เป็น 50-60 องศาเซลเซียส เพื่อทำลายไฟฟ้าหัวใจที่เกิดการลัดวงจรในขณะนั้น เรียกว่าเป็นการรักษาที่ต้นเหตุเลยทีเดียว

หัวใจเต้นผิดจังหวะ ป้องกันได้นะ
   
หัวใจเต้นผิดจังหวะ

          ในกรณีที่เราไม่ได้เป็นโรคหัวใจใด ๆ มาก่อน เราก็สามารถดูแลตัวเองให้ห่างไกลความเสี่ยงโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ ตามนี้เลย

          - พยายามอย่ากินอาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง หรือช็อกโกแลต มากเกินไป
          - งดสูบบุหรี่
          - งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
          - รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
          - พักผ่อนให้เพียงพอ
          - ไม่เครียด
          - ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
          - ตรวจสุขภาพประจำปี

          อย่างไรก็ตาม ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นภัยเงียบที่อาจเกิดขึ้นกับเราและคนที่เรารักเมื่อไรไม่รู้ได้ ดังนั้นอย่าลืมดูแลสุขภาพให้ดี อย่าหักโหมกับการเรียน การงานจนอดหลับอดนอนด้วยนะคะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาการเป็นอย่างไร รู้ก่อนสาย สาเหตุการตายเฉียบพลัน ! อัปเดตล่าสุด 2 ธันวาคม 2562 เวลา 14:59:47 25,646 อ่าน
TOP
x close