อุณหภูมิปกติของร่างกายอยู่ที่เท่าไร พร้อมวิธีวัดไข้ให้คลาดเคลื่อนน้อยที่สุด

          รู้สึกตัวอุ่น ๆ เลยลองวัดไข้ด้วยตัวเอง แต่ตัวเลขที่ออกมาก็ไม่ชัวร์ว่าอุณหภูมิของร่างกายคือปกติหรือมีอาการป่วยกันแน่ สรุปแล้วอุณหภูมิปกติร่างกาย อยู่ที่เท่าไรนะ

อุณหภูมิปกติของร่างกาย

          ช่วงนี้หลายคนสงสัยว่าอุณหภูมิปกติของร่างกายมนุษย์ควรอยู่ที่เท่าไรโดยเฉลี่ย แค่ไหนที่เรียกว่าเป็นไข้ หรือมีอาการตัวเย็นผิดปกติ เพราะตอนนี้แค่รู้สึกตัวอุ่น ๆ ก็กังวลใจแล้วใช่ไหมว่าเป็นไข้หรือเปล่า เอาเป็นว่าจับปรอทวัดไข้ หรือเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายไว้ให้มั่น จากนั้นมาเช็กกันว่าอุณหภูมิปกติของร่างกายคือเท่าไรกันแน่

อุณหภูมิปกติร่างกาย อยู่ที่เท่าไร

          โดยปกติแล้วอุณหภูมิของร่างกายมนุษย์จะค่อนข้างคงที่ ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง แม้อุณหภูมิภายนอกจะเปลี่ยนแปลงก็ตาม เพราะมนุษย์เรามีกลไกการรักษาสมดุลในร่างกาย กล่าวคือ หากเจออากาศร้อน ร่างกายจะขับเหงื่อ หรือกระตุ้นให้รู้สึกหิวน้ำ หรือหากเจอสภาพอากาศที่เย็น ขนจะลุก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็คือกลไกที่ร่างกายพยายามจะรักษาสมดุลในตัวเองเอาไว้ เพื่อให้อุณหภูมิในร่างกายของเราอยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งก็คือประมาณ 36.2-37.5 องศาเซลเซียส

อุณหภูมิปกติของร่างกาย

อุณหภูมิเท่านี้ มีไข้แน่ ๆ

          ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (CDC) ให้ข้อมูลว่า เมื่อร่างกายมีอุณหภูมิประมาณ 38 องศาเซลเซียส ร่วมกับมีอาการตัวร้อนที่สัมผัสได้ ซึม หน้าแดง ตัวแดง หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ที่สำคัญวัดไข้ภายใน 48 ชั่วโมงก็ยังมีอุณหภูมิร่างกายที่สูงกว่าปกติ ก็จัดว่ามีอาการไข้แล้ว

          แต่ทั้งนี้เกณฑ์การวัดไข้ทั่วไปก็มีหลายระดับ อย่างที่เราเคยได้ยินกันว่า ไข้ต่ำ ไข้สูงนั่นเอง โดยระดับของการมีไข้ มีดังนี้

               - อุณหภูมิ 37.6-38.3 องศาเซลเซียส คือมีไข้ต่ำ

               - อุณหภูมิ 38.4-39.4 องศาเซลเซียส คือมีไข้ปานกลาง

               - อุณหภูมิ 39.5-40.5 องศาเซลเซียส คือมีไข้สูง

               - อุณหภูมิ 40.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป คือมีไข้สูงมาก

           หากร่างกายมีอุณหภูมิสูงหรือต่ำกว่าระดับปกติ ก็ถือว่าร่างกายอาจมีภาวะผิดปกติอยู่ก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับบริเวณที่วัดอุณหภูมิด้วย หากวัดอุณหภูมิทางปาก รักแร้ หู ได้เกิน 37.5 องศาเซลเซียส จะถือว่ามีไข้ แต่หากวัดอุณหภูมิทางทวารหนัก จะต้องเกิน 38 องศาเซลเซียส จึงบอกได้ว่าเป็นไข้

วิธีวัดไข้ที่ถูกต้อง

          เราสามารถวัดอุณหภูมิของร่างกายได้หลากหลายรูปแบบ โดยอุปกรณ์วัดไข้ที่นิยมใช้ในทุกวันนี้ ได้แก่

     1. ปรอทแก้ว

อุณหภูมิปกติของร่างกาย

          ปรอทวัดไข้แบบธรรมดาที่หาซื้อได้ง่าย ราคาถูก และสามารถใช้วัดไข้ได้หลายส่วนในร่างกาย โดยวิธีวัดไข้ที่ถูกต้องสำหรับการใช้ปรอทแก้ว มีดังนี้

          - ควรทำความสะอาดปรอทแก้วด้วยแอลกอฮอล์ก่อนใช้ทุกครั้ง

          - สะบัดปรอทแก้วเบา ๆ และเช็กดูว่าอุณหภูมิของปรอทแก้วต่ำกว่า 35 องศาเซลเซียส

          และอย่างที่บอกว่า การใช้ปรอทแก้ววัดไข้ สามารถวัดไข้ได้หลายส่วนของร่างกาย ได้แก่

               * วัดทางปาก (อมใต้ลิ้น) ให้คาปรอทไว้ประมาณ 2-3 นาที  การวัดไข้ใต้ลิ้นจะให้ค่าที่แม่นยำกว่าส่วนอื่น ๆ

               * วัดทางรักแร้ ให้คาปรอทไว้ประมาณ 5 นาที และบวกเพิ่มจากการอ่านค่า 0.5 องศาเซลเซียส เผื่อกรณีมีเหงื่อออก เพิ่งอาบน้ำเสร็จ ใต้วงแขนมีความชื้นจากน้ำหรือเหงื่อ ผลอาจคลาดเคลื่อนได้

               * วัดทางทวารหนัก ให้คาปรอทไว้ประมาณ 1-2 นาที กรณีนี้มักจะใช้วัดไข้ในเด็กแรกเกิด หรือเด็กเล็กที่อาจจะไม่ยอมอมปรอท หรือดิ้นจนปรอทใต้รักแร้ไม่สามารถวัดอุณหภูมิในร่างกายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ


          อย่างไรก็ตาม การวัดไข้ด้วยปรอทแก้วก็อาจมีข้อเสียอยู่บ้าง เช่น ปรอทแก้วแตกหักง่าย และใช้ยากในเด็กเล็ก ๆ คนที่อาจมีอาการชัก ที่สำคัญต้องอ่านค่าจากขีดในปรอทเอง ซึ่งอาจมีการคลาดเคลื่อนจากความไม่ชำนาญตรงนี้ได้

     2. ปรอทวัดไข้ดิจิทัล

อุณหภูมิปกติของร่างกาย

          ลักษณะคล้ายปรอทแก้ว แต่ปรอทวัดไข้แบบดิจิทัลจะมีหน้าจอแสดงค่าอุณหภูมิให้เห็นเป็นตัวเลขดิจิทัล ไม่ต้องอ่านค่าเอง อีกทั้งยังมีเสียงแจ้งเตือนเมื่อวัดอุณหภูมิร่างกายได้สำเร็จ ความแม่นยำให้การวัดไข้ด้วยปรอทดิจิทัลจึงมีมากกว่าปรอทแก้ว โดยวิธีใช้ปรอทดิจิทัลวัดไข้ก็มีขั้นตอน ดังนี้

          - ควรทำความสะอาดปรอทด้วยแอลกอฮอล์ก่อนใช้ทุกครั้ง

          - ตรวจสอบให้แน่ใจว่ารีเซตปรอทให้พร้อมวัดไข้แล้ว ไม่มีค่าอุณหภูมิค้างอยู่ในตัวปรอท

          นอกจากนี้ยังสามารถใช้ปรอทดิจิทัลวัดไข้ได้หลายส่วนเหมือนปรอทแก้วเลย โดยการใช้ก็มีตามนี้

               * วัดทางปาก (อมใต้ลิ้น) ให้ปลายปรอทอยู่ใต้ลิ้น จากนั้นรอเสียงสัญญาณดัง จึงเอาออกมาอ่านค่า ซึ่งการวัดไข้ใต้ลิ้นจะให้ค่าที่แม่นยำกว่าส่วนอื่น ๆ

               * วัดทางรักแร้ ให้เสียบปรอทที่รักแร้ รอจนเสียงสัญญาณดังขึ้น และบวกเพิ่มจากการอ่านค่า 0.5 องศาเซลเซียส เผื่อกรณีมีเหงื่อออก เพิ่งอาบน้ำเสร็จ ใต้วงแขนมีความชื้นจากน้ำหรือเหงื่อ ผลอาจคลาดเคลื่อนได้

               * วัดทางทวารหนัก ให้เสียบปลายปรอทที่ทวารหนัก โดยควรใช้ความระมัดระวัง ยิ่งหากใช้วัดไข้ในเด็กแรกเกิด หรือเด็กเล็ก เพราะอาจเกิดการบาดเจ็บได้


          สำหรับปรอทวัดไข้แบบดิจิทัลก็มีข้อเสียอยู่บ้าง คืออาจพังง่าย หากตกพื้น หรือโดนน้ำ ดังนั้นการทำความสะอาดควรเช็ดด้วยแอลกอฮอล์เฉพาะที่ปลายปรอทที่ใช้วัดไข้เท่านั้น

     3. เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรด

อุณหภูมิปกติของร่างกาย

          เครื่องวัดอุณหภูมิที่นิยมใช้ในโรงพยาบาล โดยสามารถวัดไข้ทางหู หรือหน้าผากก็ได้ ให้ค่าที่ค่อนข้างแม่นยำ วัดไข้ได้เร็ว แต่ก็มีราคาค่อนข้างแพงกว่าปรอทวัดไข้ 2 แบบข้างบน ส่วนวิธีวัดไข้ด้วยอุปกรณ์นี้ก็ทำได้ง่าย ๆ

               * กรณีวัดไข้ทางหู ให้ใส่เครื่องเข้าไปในรูหู แล้วทำการดึงใบหูเพื่อให้เครื่องวัดอุณหภูมิอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม โดยควรวัดซ้ำ 2-3 ครั้งเพื่อหาค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิ

               * กรณีวัดไข้ทางหน้าผาก เพียงหันปลายที่วัดไข้ไปทางหน้าผาก จากนั้นกดปุ่มวัดอุณหภูมิ แล้วอ่านค่าที่แสดงบนหน้าจอ


          ทั้งนี้การดูแลเครื่องวัดอุณหภูมิดิจิทัลอาจมีความยุ่งยากกว่าปรอทแก้วและปรอทแบบดิจิทัลอยู่บ้าง และควรใช้เครื่องวัดอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันการเสียหายจนใช้งานไม่ได้

ข้อควรระวังในการวัดอุณหภูมิ

          การวัดไข้ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้การวัดอุณหภูมิในร่างกายคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด ควรปฏิบัติ ดังนี้

                - ไม่ควรวัดไข้หลังจากทำกิจกรรมหนัก ๆ ที่ทำให้ร่างกายรู้สึกเหนื่อย เช่น การวิ่ง เพราะในขณะนั้นร่างกายจะมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ โดยถ้าจะวัดไข้ให้วัดหลังจากเสร็จกิจกรรม 1 ชั่วโมง

               -  หากวัดอุณหภูมิด้วยปรอทที่ปาก ไม่ควรดื่มน้ำเย็นหรือของร้อน รวมถึงอาหารใด ๆ ก่อนวัดอุณหภูมิ 30 นาที เพราะค่าที่วัดได้อาจคลาดเคลื่อน

               - ไม่ควรวัดอุณหภูมิทันทีหลังจากสูบบุหรี่

          นอกจากนี้การวัดอุณหภูมิร่างกายควรคำนึงถึงความสะอาดของอุปกรณ์ที่ใช้วัดไข้ด้วยนะคะ โดยควรอ่านวิธีทำความสะอาดและการใช้งานของอุปกรณ์วัดไข้แต่ละแบบให้ดี และทำความสะอาดอุปกรณ์วัดไข้ทั้งก่อนและหลังใช้ ด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์ ตามวิธีที่เหมาะสมกับอุปกรณ์วัดอุณหภูมิร่างกายแต่ละแบบ
 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อุณหภูมิปกติของร่างกายอยู่ที่เท่าไร พร้อมวิธีวัดไข้ให้คลาดเคลื่อนน้อยที่สุด อัปเดตล่าสุด 2 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 11:56:32 126,853 อ่าน
TOP
x close