กาฬโรค โรคระบาดร้ายแรงแห่งมนุษยชาติ มรณะสีดำที่อาจทำถึงตาย

          โควิด 19 ยังไม่ซาก็มีกาฬโรคกลับมาระบาดในจีนอีก มาทำความรู้จักโรคระบาดเจ้าเก่าในอดีตที่วนกลับมาสร้างความตระหนกให้เราอีกครั้ง ว่าโรคนี้อันตรายแค่ไหน ติดต่อได้ยังไง

กาฬโรค

           กาฬโรค หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกกว่า Plague เป็นโรคติดต่อที่มีมานานแล้ว และมักจะระบาดเป็นระลอก ๆ โดยในปี 2020 กาฬโรคก็กลับมาอีกครั้งที่ประเทศจีน ในช่วงเวลาที่โควิด 19 ยังลูกผีลูกคนอยู่ โดยจีนประกาศยกระดับเตือนภัยโรคระบาด หลังจากพบผู้ป่วยกาฬโรครายแรกของปี (อ่านข่าว Black Death ! จีนเตือนภัยระดับ 3 หลังพบผู้ป่วย กาฬโรค เร่งสืบหาแหล่งแพร่เชื้อ) แล้วโรคนี้อันตรายแค่ไหน เราต้องมาทำความรู้จักกาฬโรคกัน

กาฬโรค คือโรคอะไร 

         กาฬโรค เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยเป็นโรคที่มีการระบาดมาช้านาน อย่างไทยในอดีตก็จะรู้จักกาฬโรค ในชื่อว่า โรคห่า ซึ่งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ตามพระราชบัญญัติสำหรับโรคระบาด ปี พ.ศ. 2456 ระบุโรคห่าไว้ 3 โรค คือ กาฬโรค อหิวาตกโรค และไข้ทรพิษ โดยคาดว่าเกิดการระบาดครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีการแพร่ระบาดในยุโรป จึงสันนิษฐานกันว่า โรคห่าที่ระบาดครั้งนั้น ก็คือ กาฬโรค

          อย่างไรก็ตาม รายงานการระบาดของกาฬโรคอย่างเป็นทางการครั้งแรกในไทย เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2447 ที่มีการระบาดเริ่มต้นจากฝั่งธนบุรี แพร่กระจายมายังฝั่งพระนคร และกระจายไปยังจังหวัดต่าง ๆ ที่มีการติดต่อค้าขายกับกรุงเทพฯ โดยทางบก ทางเรือและทางรถไฟ แต่ครั้งนั้นไม่ได้เก็บสถิติจำนวนผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตที่แน่นอน ปัจจุบันถือเป็นโรคติดต่ออันตรายที่ต้องแจ้งความ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558

          ขณะที่คนทั่วโลกต่างหวาดผวาโรคนี้ เพราะนับเป็นโรคระบาดที่ร้ายแรงที่สุดของมนุษยชาติ เนื่องจากเคยเกิดการระบาดครั้งใหญ่ ถึง 3 ครั้ง และคาดว่าได้คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกเกือบ 200 ล้านคน นั่นคือ

กาฬโรค

         - การระบาด ครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 1084-1085 เรียกการระบาดครั้งนั้นว่า Plague of justinian (กาฬโรคแห่งจัสติเนียน) โดยเริ่มระบาดจากประเทศอียิปต์ไปสู่ทวีปยุโรป โดยเฉพาะที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล ทำให้มีคนเสียชีวิตถึงวันละหมื่นคน และมีการระบาดติดต่อกันเป็นระยะเวลาประมาณ 50 ปี ทำให้มีคนเสียชีวิตหลายล้านคน

         - การระบาดครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 14 เรียกการระบาดครั้งนั้นว่า The Black Death (กาฬมรณะ หรือ มรณะสีดำ) โดยการระบาดเริ่มต้นจากทางตอนใต้ของประเทศอินเดียและจีน ผ่านประเทศอียิปต์เข้าสู่ประเทศทางยุโรป จนมีการระบาดในอิตาลี เมื่อปี  พ.ศ. 1889 เรียกการระบาดครั้งนั้นว่า  "Great Mortality" และมีการระบาดเป็นระยะ ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 15, 16, 17 ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2208 จะเกิดการระบาดใหญ่ที่กรุงลอนดอน ทำให้มีคนตายกว่า 60,000 คน จากประชากร  450,000 คน เรียกการระบาดครั้งนั้นว่า The  Great Plague of London การระบาดในยุโรปครั้งนั้น ส่งผลให้มีประชากรประมาณ 25 ล้านคน ต้องตายด้วยโรคนี้

         - การระบาดครั้งที่ 3 เป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลกปี  พ.ศ. 2439 โดยมีการระบาดเข้าสู่สิงคโปร์ ไทย ฟิลิปปินส์ ฮาวาย อาระเบีย เปอร์เซีย ตุรกี อียิปต์ และแอฟริกาตะวันตกเข้ารัสเซีย และในทวีปยุโรป ก่อนเข้าสู่อเมริกาเหนือและเม็กซิโก โดยมีรายงานระหว่างปี  พ.ศ. 2443-2444 ว่า กาฬโรคได้คร่าชีวิตคนในภาคตะวันออกของจีน ประมาณ 60,000 คน  และในปี พ.ศ. 2453-2454 ที่แมนจูเรีย มีคนเสียชีวิตประมาณ 10,000 คน จากนั้นก็ยังมีรายงานการระบาดของกาฬโรคที่รัฐแคลิฟอร์เนียและประเทศรัสเซียอีกด้วย

กาฬโรค เกิดจากอะไร

         กาฬโรคเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Yersinia pestis ที่พบในหมัดของสัตว์จำพวกฟันแทะ เช่น หนู กระรอก เป็นต้น โดยการติดต่อของโรคจะเกิดจากถูกหมัดหนูที่มีเชื้อกัด เช่น เมื่อหนูตาย หมัดที่มีเชื้อก็จะกระโดดไปเกาะสัตว์อื่น หรือคน และหากโดนหมัดเหล่านี้กัดเข้า ก็จะได้รับเชื้อจนก่อโรคกาฬโรคได้ ทั้งนี้จะพบการเกิดโรคได้บ่อยในช่วงฤดูหนาว และบริเวณที่มีกลุ่มประชากรอยู่อย่างแออัด ขาดสุขอนามัยที่ดี

กาฬโรค

กาฬโรค ติดต่อได้อย่างไร

         นอกจากการโดนหมัดหนูกัดโดยตรงแล้ว การติดต่อของกาฬโรคยังติดต่อได้ ดังนี้

         - การสูดหายใจเอาละอองเสมหะที่มีเชื้อของผู้ป่วยที่ไอ จาม หรือจากสัตว์ที่มีเชื้อโรค เช่น แมว และหายใจเอาเชื้อเข้าไปทางปาก จมูก

         - การรับเชื้อเข้าทางบาดแผลจากการโดนหนู หรือสัตว์ที่มีเชื้อกัด

         - หากเป็นการติดเชื้อกาฬโรคที่ปอด คนที่เป็นกาฬโรคปอดจะสามารถแพร่กระจายเชื้อไปให้ผู้อื่นผ่านการหายใจได้ด้วย

         อนึ่ง เชื้อกาฬโรคเมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะสามารถเจริญเติบโตภายในร่างกายได้หลายจุด โดยเริ่มจากต่อมน้ำเหลือง กระแสเลือด และปอด ซึ่งอาการก็จะแตกต่างกันไป 

กาฬโรค อาการเป็นยังไง

         อาการกาฬโรคจะแสดงออกหลังถูกหมัดหนูที่มีเชื้อกัดแล้วประมาณ 2-8 วัน โดยเริ่มแรกเชื้อกาฬโรคจะเข้าไปอยู่ในต่อมน้ำเหลืองที่ใกล้ที่สุด ทำให้มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ และหากเชื้อยังอยู่ในร่างกาย ก็อาจก่อให้เกิดอาการ ดัง 3 ลักษณะนี้

กาฬโรค

         1. กาฬโรคชนิดต่อมน้ำเหลืองอักเสบ (Bubonic Plague)
         เป็นรูปแบบที่พบได้บ่อยที่สุด ตำแหน่งที่พบมักจะเป็นขาหนีบหรือรักแร้ โดยต่อมน้ำเหลืองบริเวณดังกล่าวจะบวม แดง กดเจ็บ ซึ่งอาจบวมมาก จนขยับแขนหรือขาไม่ได้ มักจะมีอาการหลังได้รับเชื้อ 2-6 วัน

         2. กาฬโรคชนิดเชื้อในกระแสเลือด (Septicemic Plague)
         มักจะลุกลามมาจากกาฬโรคชนิดต่อมน้ำเหลืองอักเสบ อาการจะมีไข้สูง ความดันเลือดต่ำ ช็อก หัวใจเต้นเร็ว กระสับกระส่าย เพ้อ หมดสติ เลือดออกในอวัยวะต่าง ๆ เนื้อตายจากเลือดแข็งตัวผิดปกติ และอาจเสียชีวิตภายใน 3-5 วัน หรือภายในไม่กี่ชั่วโมง

         3. กาฬโรคชนิดปอดบวม (Pneumonic Plague)
         เป็นชนิดที่พบได้น้อยที่สุด แต่อาการรุนแรงและอันตรายที่สุด โดยกาฬโรคชนิดนี้มักจะเกิดตามหลัง 2 ชนิดแรก หรือติดเชื้อจากคนที่ไอ จาม รดกัน โดยอาการแสดงคือ ปอดบวม ไอเป็นน้ำ เสมหะไม่เหนียว ต่อมาจะมีเลือดปนออกมากับเสมหะ อ่อนเพลีย มีไข้ หากไม่ได้รับการรักษาจะตายเร็วมากภายใน 1-3 วัน (กาฬโรคปอดมีระยะฟักตัวประมาณ 2-4 วัน)

กาฬโรค รักษายังไง

         ยาที่ใช้รักษากาฬโรคจะเป็นยาปฏิชีวนะ เช่น สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) คลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol) เตตร้าไซคลิน (Tetracycline) ยาซัลฟาไดอะซีน (Sunfadiazine) โดยตลอดการรักษาต้องแยกผู้ป่วยออกจากคนอื่น และบุคลากรทางการแพทย์เองก็ต้องระมัดระวังการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อโรค

กาฬโรค

กาฬโรค ป้องกันได้ไหม

         โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ดังนั้น เราสามารถป้องกันการติดเชื้อกาฬโรคได้ ดังนี้

         - กำจัดแหล่งขยะมูลฝอย และปิดฝาให้มิดชิด เพื่อไม่ให้กลายเป็นแหล่งของหนูและเชื้อโรค
         - รักษาสุขอนามัยในที่พักอาศัย
         - หากเลี้ยงสัตว์ก็ควรฉีดยาฆ่าหมัดเป็นระยะ ๆ
         - ไม่สัมผัสสัตว์ตายหรือป่วย หรือหากจำเป็นก็ต้องสวมถุงมือยาง และล้างมื้อด้วยน้ำและสบู่หลังจับสัตว์เลี้ยงทันที
         - สวมหน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างทางสังคม เมื่อต้องออกไปยังที่ชุมชน
         - หมั่นล้างมือบ่อย ๆ
         - กินร้อน ช้อนใครช้อนมัน
         - เฝ้าระวังพาหะนำโรค โดยเฉพาะหนู
        
         แม้ในประเทศไทยยังไม่มีการระบาดของกาฬโรค แต่ไม่ประมาทไว้จะดีที่สุดนะคะ และต้องขอย้ำว่า การล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย และการเว้นระยะห่างทางสังคม ยังไงก็เป็นหลักปฏิบัติที่ดีในการป้องกันการติดเชื้อจากโรคติดต่อแทบทุกชนิด ดังนั้นแม้จะไม่มีโควิด 19 ก็อยากให้ยึดมั่นการป้องกันตัวเองแบบนี้อีกต่อไปเรื่อย ๆ

ขอบคุณข้อมูลจาก

   
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กาฬโรค โรคระบาดร้ายแรงแห่งมนุษยชาติ มรณะสีดำที่อาจทำถึงตาย อัปเดตล่าสุด 8 กรกฎาคม 2563 เวลา 13:47:40 27,371 อ่าน
TOP
x close