ยาแก้แพ้ รักษาอะไรได้บ้าง กินบ่อย ๆ อันตรายไหม

          เพราะเราสามารถซื้อยาแก้แพ้มากินเองได้ เวลาใครมีอาการแพ้ก็จะจัดยาแก้แพ้เม็ดสีเหลือง เม็ดสีขาว ตามที่เคยกินเป็นประจำ แต่ถ้ากินยาแก้แพ้บ่อย ๆ จะอันตรายไหมนะ

ยาแก้แพ้

          เวลาที่แพ้อากาศ จาม น้ำมูกไหล แพ้ฝุ่น แพ้เกสรดอกไม้ หรือแพ้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย จนมีผื่นคันขึ้นตามร่างกาย ยาแก้แพ้จะเป็นสิ่งแรก ๆ ที่เรานึกถึง และหลายคนก็ไปซื้อยาแก้แพ้มากินบรรเทาอาการป่วยด้วย หรือแม้แต่ตอนเป็นหวัดแล้วไปหาหมอ ก็จะได้ยาแก้แพ้และยาลดน้ำมูกมาพร้อมกัน ทำให้เกิดความสงสัยว่า ยาแก้แพ้ต่างจากยาลดน้ำมูกยังไง เอาเป็นว่าลองมาทำความรู้จักยาแก้แพ้กันหน่อยดีกว่า

ยาแก้แพ้ คืออะไร

          ยาแก้แพ้ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Antihistamines เป็นกลุ่มยาต้านสารฮิสตามีน ซึ่งเป็นสารที่มีอยู่ในเซลล์ทั่วร่างกาย เมื่อร่างกายถูกกระตุ้นด้วยสารที่ก่ออาการแพ้ จะทำให้ฮิสตามีนถูกหลั่งออกมาจนเกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น มีอาการคัน เกิดผื่น น้ำมูกไหล หายใจลำบาก ฯลฯ ดังนั้น การกินยาแก้แพ้จะไปช่วยบรรเทาอาการคัน ไอ จาม น้ำมูกไหล หรือหายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งเกิดจากการแพ้ได้ ทั้งนี้ ยาแก้แพ้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่

ยาแก้แพ้

     1. ยาแก้แพ้แบบที่ทำให้ง่วง หรือยาแก้แพ้กลุ่มดั้งเดิม (Conventional antihistamines)

          เป็นยาแก้แพ้กลุ่มดั้งเดิม เช่น คลอเฟนิรามีน (chlorpheniramine), ไดเฟนไฮดรามีน (diphenhydramine), ไดเมนไฮดริเนต (dimenhydrinate), ไฮดรอไซซีน (hydroxyzine), ทริโปรลิดีน (triprolidine), บรอมเฟนิรามีน (brompheniramine), คีโตติเฟน (ketotifen) และออกซาโทไมด์ (oxatomide)

          ยาแก้แพ้กลุ่มนี้สามารถใช้รักษาอาการภูมิแพ้อากาศ ที่มีอาการเยื่อจมูกอักเสบ คัน จาม น้ำมูกไหล ผื่นลมพิษ ภูมิแพ้ผิวหนัง อาการคันจากพิษแมลง พิษพืช หรือสารเคมีบางชนิด รวมไปถึงบรรเทาอาการเมารถหรือเมาเรือได้

          ทว่าด้วยตัวยาที่ผ่านเข้าสู่เซลล์สมองไปกดประสาท ก็จะทำให้รู้สึกง่วงซึมเมื่อกินยาแก้แพ้ชนิดนี้เข้าไป และอาจพบอาการกระวนกระวาย ไม่อยู่นิ่ง นอนไม่หลับ จมูกแห้ง ปากแห้ง คอแห้ง ตาพร่า ปัสสาวะคั่ง น้ำหนักตัวเพิ่ม ในเด็ก คนชรา หรือผู้ที่ได้รับยาแก้แพ้ชนิดนี้ในปริมาณสูง ดังนั้น การกินยาแก้แพ้แบบง่วงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร ไม่ควรซื้อมารับประทานเอง

นอกจากนี้ยังมีข้อควรระวังคือ

          - ไม่ใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน
          - ผู้ที่ต้องทำงานเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องจักร ขับรถ ไม่ควรใช้ยาแก้แพ้ชนิดนี้
          - ห้ามใช้ร่วมกับยากล่อมประสาท ยานอนหลับ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
          - ระวังการใช้ในเด็กเล็ก โดยเฉพาะที่อายุต่ำกว่า 6 ขวบ เพราะอาจทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
          - หญิงมีครรภ์ และหญิงให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยา

 
     2. ยาแก้แพ้ชนิดไม่ง่วง (Non-sedating antihistamines)

          จัดเป็นยาแก้แพ้รุ่นใหม่ ที่ปรับให้ตัวยายังคงออกฤทธิ์ได้เทียบเท่ากับตัวเก่า แต่ตัวยาจะผ่านเข้าสมองได้น้อยมาก จึงทำให้กินแล้วไม่ง่วงซึมเท่ายาแก้แพ้แบบดั้งเดิม ยาแก้แพ้ชนิดไม่ง่วงในปัจจุบันก็เป็นยาเซทิริซีน (cetirizine), เลโวเซทิริซีน (levocetirizine), เฟโซเฟนาดีน (fexofenadine) และลอราทาดีน (loratadine) เป็นต้น

          โดยรวมแล้วยาแก้แพ้ชนิดไม่ง่วงสามารถรักษาอาการแพ้ได้คล้าย ๆ กับยากลุ่มดั้งเดิม แต่บรรเทาอาการลมพิษแบบเฉียบพลันได้ดีกว่า และลดอาการคันได้เร็วกว่า แต่สำหรับอาการน้ำมูกไหล เมารถ เมาเรือ อาจช่วยได้ไม่ดีเท่ายาแก้แพ้ชนิดง่วงนอน

          อย่างไรก็ตาม ยาแก้แพ้ชนิดไม่ง่วงจะพบอาการง่วงซึม จมูกแห้ง ปากแห้ง คอแห้ง ตาพร่า น้อยกว่ายาแก้แพ้กลุ่มดั้งเดิม ทว่าการใช้ยาแก้แพ้ชนิดไม่ง่วงก็ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่กินยาอื่นร่วมด้วยอย่างยาฆ่าเชื้อบางชนิด ที่อาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยาขึ้นได้ นอกจากนี้ในผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ป่วยคลื่นหัวใจผิดปกติ ควรใช้ยาแก้แพ้ชนิดนี้อย่างระมัดระวังด้วย

ยาแก้แพ้ รักษาโรคอะไรได้บ้าง

ยาแก้แพ้

          เราอาจจะรู้ว่ายาแก้แพ้ช่วยรักษาอาการแพ้ต่าง ๆ ได้ แต่ลองมาเช็กกันอีกนิดว่าแท้จริงแล้ว ยาแก้แพ้สามารถรักษาอาการอะไรได้อีกบ้าง

     บรรเทาอาการแพ้ต่าง ๆ ดังนี้
 
          - อาการคัน

          - อาการอักเสบ

          - อาการบวม

          - เป็นผื่นหรือตุ่มแดง คัน

          - ตาแดง ตาแฉะ

          - อาการจาม

          - น้ำมูกไหล

          - คลื่นไส้ อาเจียน

          - อาการเวียนหัว คลื่นไส้ เนื่องจากเมารถ เมาเรือ เมาเครื่องบิน

     ยาแก้แพ้ช่วยเสริมประสิทธิภาพในการรักษาโรค ดังนี้

          - โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้

          - โรคหวัด

          - ไข้หวัดใหญ่

          - แพ้อาหาร

          - ไข้ละอองฟาง

          - ลมพิษ

          - อาการแพ้ยา

          - แพ้พิษแมลง

          - ผึ้งต่อย

ยาแก้แพ้ VS ยาลดน้ำมูก ต่างกันอย่างไร

ยาแก้แพ้

          หลายคนสงสัยว่า ทำไมเวลามีน้ำมูกไหล เภสัชกรหรือแพทย์จึงจ่ายยาแก้แพ้มาให้ หรือในบางคนอาจได้รับยาลดน้ำมูก นั่นเพราะอาการน้ำมูกไหลของคนเราอาจเกิดได้จากการแพ้อากาศ แพ้ฝุ่น ไร และอาจมีสาเหตุจากหวัดได้ด้วย จึงต้องวินิจฉัยและจ่ายยาให้ตรงกับอาการของโรค เนื่องจากกลไกการทำงานของยาแก้แพ้ และยาลดน้ำมูก ก็มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง คือ

          - ยาแก้แพ้ จะใช้ในกรณีมีน้ำมูกไหลจากอาการแพ้ เมื่อสัมผัสกับสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ต่าง ๆ โดยน้ำมูกจะค่อนข้างใส ไหลเยอะ แต่ไม่ค่อยมีอาการคัดจมูกเท่าไร ยาแก้แพ้จะไปต้านสารฮิสตามีน ทำให้น้ำมูกลดลง แต่หากมีน้ำมูกเหนียวข้น แพทย์จะไม่จ่ายยาแก้แพ้ให้ เพราะยิ่งกินจะยิ่งทำให้น้ำมูกเหนียวข้นกว่าเดิม

          - ยาลดน้ำมูก จะใช้ในกรณีมีอาการคัดจมูก หรือจามมาก ๆ จนเยื่อบุจมูกบวม ยาลดน้ำมูกจะเข้าไปลดการบวมของเส้นเลือดในจมูก ลดการสร้างน้ำมูก จึงช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก จมูกตัน หายใจไม่ออกได้
 
ผลข้างเคียงของยาแก้แพ้ กินบ่อย ๆ อันตรายนะ

          บางคนอาศัยฤทธิ์ทำให้ง่วงของยาแก้แพ้ช่วยให้นอนหลับ แต่หากกินยาแก้แพ้เพื่อจุดประสงค์นี้บ่อย ๆ อาจทำให้ระบบประสาทเคยชิน จนต้องเพิ่มปริมาณ เพราะกินเท่าเดิมไม่ค่อยช่วยให้ง่วงนอนเท่าไรแล้ว และการกินยาแก้แพ้ต่อเนื่องนาน ๆ อาจส่งผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจและหลอดเลือด ทำให้หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ใจสั่น มีผลต่อระบบทางเดินอาหาร รู้สึกปวดท้องเกร็ง คลื่นไส้ อาเจียนได้ นอกจากนี้ยาแก้แพ้อาจมีผลต่อหัวใจและตับหากกินติดต่อกันนาน ๆ ด้วย

          ยาแก้แพ้หรือยารักษาอาการป่วยแบบไหนก็ตาม แม้จะเป็นอาการป่วยไม่มาก ไม่ถึงกับต้องไปโรงพยาบาล แต่อย่างน้อยก่อนซื้อยามากินควรปรึกษากับเภสัชกรก่อนทุกครั้ง เพราะขึ้นชื่อว่ายาก็มีผลต่อการทำงานของร่างกาย และอาจก่อให้เกิดอันตรายได้หากใช้ไม่ถูกต้อง

ขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
นิตยสารชีวจิต
นิตยสารชีวจิต
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ยาแก้แพ้ รักษาอะไรได้บ้าง กินบ่อย ๆ อันตรายไหม อัปเดตล่าสุด 16 ตุลาคม 2563 เวลา 21:59:35 186,302 อ่าน
TOP
x close