ด่างทับทิม ประโยชน์หลายอย่าง แต่โดนผิวหนังมาก ๆ ก็อันตราย

          มาทำความรู้จักด่างทับทิมให้ชัด ไม่ว่าจะใช้ประโยชน์ของด่างทับทิมในด้านต่าง ๆ รวมถึงโทษของด่างทับทิมหากใช้อย่างไม่เหมาะสม
          เราอาจจะรู้สรรพคุณของด่างทับทิมในด้านล้างสารพิษมาบ้าง เพราะใช้ล้างผักหรือผลไม้มาแต่ไหนแต่ไร นอกจากนี้ยังอาจเคยเห็นคนใช้ด่างทับทิมกับการรักษาโรคบางอย่าง เช่น ริดสีดวงทวาร และอีกกระแสของด่างทับทิมที่ถูกนำไปขัดผิวขาว ว่าแต่ประโยชน์ของด่างทับทิมดีอย่างที่กล่าวมาจริงไหม แล้วโทษของด่างทับทิมล่ะมีอันตรายกับสุขภาพอย่างไร
ด่างทับทิม

ด่างทับทิม คืออะไร
          ด่างทับทิม คือสารโพแทสเซียมเปอร์แมงกาเนต (KMnO4) มีคุณสมบัติเป็นเกลือที่เป็นเบสอ่อน ๆ มักถูกนำไปใช้กำจัดเชื้อโรค เชื้อราบนพืชผลต่าง ๆ หรือใช้ทำความสะอาดตู้ปลา บ่อเลี้ยงปลา หรือใช้ด่างทับทิมเป็นสารฟอกขาวในทางอุตสาหกรรมได้

ด่างทับทิมกับประโยชน์ด้านสุขภาพ

          ประโยชน์ด้านสุขภาพของด่างทับทิม นิยมนำมาใช้ ดังนี้
ด่างทับทิม

1. ล้างผัก ผลไม้ ลดสารตกค้าง

          อย่างที่บอกไปว่าด่างทับทิมมีคุณสมบัติในการชำระล้างผัก ผลไม้ โดยสูตรคือ ใช้ด่างทับทิม 20-30 เกล็ด ผสมน้ำสะอาด 4 ลิตร แล้วนำผัก ผลไม้ไปแช่นาน 10 นาที จากนั้นล้างผัก ผลไม้อีกครั้งด้วยน้ำสะอาด ด่างทับทิมจะช่วยลดปริมาณสารตกค้างได้ 35-43%

2. ด่างทับทิมรักษาริดสีดวงทวาร

          ด่างทับทิมใช้รักษาริดสีดวงทวารที่โป่งพองอักเสบ โดยด่างทับทิมจะช่วยให้ริดสีดวงฝ่อลงได้ ส่วนวิธีใช้ให้ผสมด่างทับทิมลงในน้ำอุ่นให้เป็นสีชมพูจาง ๆ จากนั้นนั่งแช่ประมาณ 15-30 นาที ทั้งก่อนขับถ่ายอุจจาระและหลังขับถ่ายอุจจาระ

3. ด่างทับทิมทำความสะอาดโรคน้ำกัดเท้า

          การแช่เท้าในน้ำด่างทับทิมเจือจางสามารถทำความสะอาดเชื้อโรคและสิ่งสกปรกบนแผลน้ำกัดเท้าได้ โดยใช้ด่างทับทิม 2-3 เกล็ด ละลายน้ำจนได้สีชมพูจาง ๆ แล้วแช่เท้าอย่างน้อย 15 นาที หรือหยดยาใส่แผลโพวิโดน-ไอโอดีนลงในน้ำ 8 หยด แล้วแช่เท้า ก่อนเช็ดเท้าให้แห้ง

4. ด่างทับทิมรักษาหิด

          โรคหิดที่เป็นหนอง เป็นแผลจากการเกา สามารถแช่น้ำด่างทับทิมเจือจาง (น้ำสีชมพูอ่อน ๆ) นาน 15-30 นาที เพื่อฆ่าเชื้อก่อนทายารักษาหิดตามปกติ

5. ด่างทับทิมล้างแผลพุพอง

          ด่างทับทิมสามารถใช้ล้างแผล และชะล้างสะเก็ดแผลพุพองได้ โดยหลังจากใช้สบู่ฟอกทำความสะอาดผิวหนังแล้ว ให้ผสมด่างทับทิมกับน้ำจนเป็นสีชมพูอ่อน ๆ เพื่อล้างเอาสะเก็ดแผลออก
ด่างทับทิมขัดผิวขาวได้จริงไหม
           แม้สรรพคุณของด่างทับทิมจะเป็นสารฟอกขาวชนิดหนึ่ง แต่ใช้ฟอกขาวในอุตสาหกรรมเท่านั้น ไม่ควรนำมาใช้กับผิวหนังโดยเด็ดขาด เพราะด่างทับทิมอาจระคายเคืองกับเนื้อเยื่อและทำลายเซลล์ผิวหนังจนมีอาการแสบ คัน หรือหากใช้ในความเข้มข้นมาก ๆ อาจทำให้ปวดแสบปวดร้อนที่ผิวหนัง เกิดรอยด่าง หรือผิวแห้งเป็นขุยได้ ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ใช้ด่างทับทิมผิดวัตถุประสงค์นะคะ
ด่างทับทิม โทษก็มีเหมือนกัน
ด่างทับทิม

          อันตรายจากด่างทับทิมที่ควรระวังให้ดี เพราะหากใช้ในสัดส่วนที่ไม่เหมาะสม อาจก่อให้เกิดโทษ ดังนี้

          * หากเข้าตาอาจทำให้มองเห็นไม่ชัด แสบตา หรือถึงขั้นตาบอด

          * สูดดมมาก ๆ ในเวลานานอาจระคายเคืองทางเดินหายใจ ไอ หายใจถี่

          * หากเข้าปากจะระคายเคืองทางเดินอาหาร อาจคลื่นไส้ อาเจียนได้

          * ในกรณีที่โดนผิวหนังในปริมาณมาก ความเข้มข้นมาก และแช่ผิวหนังเป็นเวลานาน อาจทำให้แสบผิว ผิวแห้งเป็นขุย ปวดแสบปวดร้อนที่ผิวหนัง

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อโดนด่างทับทิม
ด่างทับทิม

          หากเผลอใช้ด่างทับทิมอย่างไม่เหมาะสมจนเกิดอันตรายกับผิวหนัง ดวงตา หรือกระเพาะอาหาร ควรปฐมพยาบาลตามนี้

 วิธีปฐมพยาบาลเมื่อด่างทับทิมถูกผิวหนัง

          * หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับด่างทับทิม

          * รีบล้างด้วยน้ำไหลนาน 5 นาที

          * ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนด่างทับทิมออกจากตัว

          * ล้างด้วยบอริค แอซิด 3 % (ถ้ามี) หรือไปพบแพทย์หากอาการไม่ดีขึ้น

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อด่างทับทิมเข้าตา

          * รีบล้างน้ำสะอาดมาก ๆ ทันที และไปพบแพทย์

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อกินด่างทับทิม

          * รีบดื่มน้ำสะอาด 4-5 แก้ว เพื่อเจือจางสารพิษ

          * กินยาถ่าน (Activated charcoal) เพื่อลดการดูดซึมสารพิษ หรือกินไข่ดิบ 5-10 ฟองแทน

          * พยายามอย่าให้อาเจียน

          * รีบไปโรงพยาบาล

          ด่างทับทิมมีทั้งประโยชน์และโทษในตัวเอง ดังนั้นการเลือกใช้ด่างทับทิมอย่างเหมาะสมก็จะปลอดภัยต่อตัวเราที่สุดนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก
อย., เพจ Drama-addict, รามา แชนแนล, หมอชาวบ้าน, หมอชาวบ้าน, คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์, เฟซบุ๊ก นิตยสารชีวจิต, สถาบันโรคผิวหนัง, ศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ด่างทับทิม ประโยชน์หลายอย่าง แต่โดนผิวหนังมาก ๆ ก็อันตราย อัปเดตล่าสุด 30 มีนาคม 2564 เวลา 13:37:41 65,036 อ่าน
TOP
x close