อาการโควิดลงปอดเป็นยังไง พร้อมวิธีเช็กเบื้องต้น สัญญาณไหนต้องรีบรักษา

          อาการโควิดลงปอดเป็นอย่างไร ป่วยแล้วเป็นทุกคนไหม มาดูวิธีเช็กว่าเชื้อลงปอดหรือยังเบื้องต้น เพื่อตรวจสอบตัวเองก่อนปอดอักเสบลุกลาม 

          อาการโควิดที่พบส่วนใหญ่มีความคล้ายกับไข้หวัดทั่วไป ซึ่งหากภูมิคุ้มกันร่างกายแข็งแรงพอจะสามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัส และรักษาตัวให้หายได้เอง ทว่าความอันตรายของโควิด 19 บางสายพันธุ์อยู่ตรงที่เชื้อไวรัสนี้มีโอกาสลงปอดได้ แม้อาการทางร่างกายจะดูไม่หนักเท่าไร ดังนั้นเราจะรู้ได้อย่างไรว่าโควิดลงปอดแล้วหรือยัง หากใครกำลังป่วยอยู่ รีบสังเกตตัวเองเพื่อเข้ารับการรักษาโดยเร็วค่ะ

อาการโควิดลงปอด

โควิดลงปอดคืออะไร

          คุณหมอจากเพจ Drama-addict ให้ข้อมูลไว้ว่า ตามปกติเวลาที่มีการติดเชื้อทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะเป็นหวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือโควิด 19 จะแบ่งตำแหน่งที่ติดเชื้อเป็นการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน กับการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง

          - กรณีติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน คือ บริเวณปาก คอ จมูก อาการจะไม่รุนแรงมาก เช่น มีน้ำมูก เจ็บคอ ไอ

          - กรณีติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง คือ ตั้งแต่หลอดลมลงไปถึงปอด จะเรียกว่าโควิดลงปอด มีอาการรุนแรงกว่าการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เช่น เนื้อเซลล์ปอดและถุงลมบางส่วนได้รับความเสียหาย ทำให้หายใจลำบาก ถ้าเอกซเรย์หรือทำ CT Scan จะพบความเปลี่ยนแปลงในปอด และหากรุนแรงมากอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

ติดโควิดแล้วมีโอกาสแค่ไหนที่เชื้อจะลงปอด

          โควิดลงปอดทุกคนไหม ? หากเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ระบาดในปี 2563 จะมีผู้ป่วยราว 20% ที่เชื้อลงปอด แต่ในปี 2564 ที่เป็นการระบาดของสายพันธุ์เดลตา เชื้อมีความรุนแรงกว่าเดิม อยู่ในร่างกายได้เป็นเวลานานขึ้น อีกทั้งจับกับผิวเซลล์มนุษย์ได้ดี ทำให้ผู้ป่วยมีปริมาณเชื้อในโพรงจมูกเยอะขึ้น ดังนั้นเมื่อหายใจเข้าไป โอกาสที่เชื้อจะเข้าปอดก็ง่ายกว่าเดิม จึงพบผู้ติดเชื้อมีอาการปอดอักเสบเร็วขึ้นและมากขึ้นไปด้วย แม้แต่วัยรุ่นที่สุขภาพแข็งแรงแทบไม่แสดงอาการป่วย แต่เมื่อเอกซเรย์ปอดกลับเจอฝ้าที่แสดงถึงภาวะปอดอักเสบ จึงพบคนที่มีรอยโรคปอดอักเสบ ร่วมกับไข้ ไอ หรือหอบเหนื่อย ประมาณ 30-50% ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์หลังได้รับเชื้อหรือเริ่มมีอาการ รวมทั้งโรคประจำตัวของผู้ป่วยด้วย

          เมื่อสายพันธุ์เดลตาหมดไป กลายเป็นสายพันธุ์โอมิครอน BA.1 และ BA.2 มาแทนที่ กลับพบว่าเชื้อมักอยู่บริเวณหลอดลมมากกว่าที่จะลงปอด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมีอาการไม่รุนแรงนัก อย่างไรก็ตาม เมื่อโอมิครอน BA.4 และ BA.5 กลายมาเป็นสายพันธุ์หลักในช่วงกลางปี 2565 ก็เป็นที่จับตาอีกครั้ง เพราะพบว่า BA.4 และ BA.5 มีการแบ่งตัวเร็วกว่าและเกาะเซลล์ปอดได้มากกว่า BA.2 จึงอาจติดเชื้อที่เนื้อเยื่อปอดได้มากขึ้น และอาจทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการปอดอักเสบได้ง่ายขึ้น  

          เช่นเดียวกับโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย XBB, BQ.1, BQ.1.1 ที่พบล่าสุดในช่วงปลายปี 2565 ก็มีแนวโน้มดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากขึ้น และมีการจับกับเซลล์โดยใช้ตัวรับที่คล้ายกับสายพันธุ์เดลตา จึงเป็นที่เฝ้าระวังว่าหากติดเชื้อจะลงปอดหรือทำให้เกิดอาการป่วยรุนแรงได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าสายพันธุ์ดังกล่าวมีความรุนแรงกว่า BA.4 และ BA.5 หรือไม่

อาการโควิดลงปอดเป็นยังไง

อาการโควิดลงปอด

          หลายคนสงสัยว่า โควิดลงปอดภายในกี่วัน ? จากข้อมูลพบว่า มีโอกาสที่เชื้อจะลงปอดและมีอาการปอดอักเสบระยะต้นในช่วง 5 วัน หลังได้รับเชื้อหรือเริ่มมีอาการ และปอดอักเสบระยะที่ 2 จะอยู่ในช่วง 10-15 วัน ซึ่งอาการแสดงที่เป็นสัญญาณว่าเชื้อไวรัสโคโรนาอาจเข้าสู่ปอดแล้วก็คือ

  • หอบเหนื่อย แน่นหน้าอก
  • หายใจติดขัด หายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม
  • ไอแห้ง ๆ มีอาการไอมากขึ้น
  • เหนื่อยง่ายขึ้น สังเกตได้จากเวลาทำกิจกรรมอะไรก็ตามที่เคยทำได้ปกติ แต่ตอนนี้เมื่อทำแล้วจะรู้สึกเหนื่อยเร็วกว่าเดิม เนื่องจากเชื้อที่ลงปอดจะทำให้เกิดการอุดกั้นบริเวณถุงลมปอด ส่งผลต่อการแลกเปลี่ยนและลำเลียงออกซิเจน 
  • พูดติดขัด ขาดห้วง
  • ระดับออกซิเจนในเลือดลดต่ำลง เพราะเชื้อที่อุดกั้นถุงลมปอดทำให้การลำเลียงออกซิเจนไม่ดี จึงส่งออกซิเจนไปยังกระแสเลือดน้อยกว่าปกติ และหากวัดค่าออกซิเจนในเลือดแล้วต่ำกว่า 95% ให้วัดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง แต่ถ้าพบว่าค่าออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 94% ให้ลองวัดอีกครั้งหลังทำการทดสอบ ด้วยวิธีลุก-นั่งในเวลา 1 นาที หรือการกลั้นหายใจในเวลา 10-15 วินาที

           หากมีอาการที่กล่าวมานี้ควรรีบแจ้งแพทย์โดยเร็ว เนื่องจากการระบาดระลอกใหม่พบเชื้อลุกลามในปอดเร็วมาก โดยแพทย์จะเอกซเรย์ปอด หรือ CT Scan เพื่อวินิจฉัยภาวะปอดอักเสบก่อนทำการรักษา

ระวัง ! ภาวะ Happy Pneumonia
ปอดอักเสบไม่แสดงอาการ

อาการโควิดลงปอด

          แม้อาการที่กล่าวไปข้างต้นจะเป็นสัญญาณเตือนโควิดลงปอด แต่ทราบไหมว่ายังมีผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาจำนวนไม่น้อยที่มีภาวะ Happy Pneumonia หรือเป็นปอดอักเสบ แต่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการจำพวกหอบเหนื่อยหรือหายใจติดขัดให้เห็นเลย ต้องเอกซเรย์ปอดเท่านั้นจึงจะเห็นว่าปอดมีร่องรอยของโรคแล้ว โดยแสดงร่วมกับภาวะ Silent Hypoxemia คือค่าออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าปกติ แต่ไม่มีอาการเหนื่อยหอบ ทว่าเมื่อเป็นหลายวันเข้าจนอาการมาถึงจุดหนึ่งจะเหนื่อยแบบรุนแรง จนระบบหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตในเวลาไม่นาน

          ภาวะเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยโควิด 19 มักไม่รู้ตัวว่าเป็นปอดอักเสบ เพราะไม่มีอาการใด ๆ แต่เมื่อแสดงอาการ ผู้ป่วยจะทรุดหนักเฉียบพลันและมีโอกาสที่จะรักษาไม่ทัน ดังนั้นจึงควรสังเกตอาการ รวมทั้งตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือดทุกวัน หากมีความผิดปกติให้รีบแจ้งแพทย์ทันที

วิธีเช็กว่าเชื้อลงปอดหรือยัง
ด้วยการวัดค่าออกซิเจนในเลือด

อาการโควิดลงปอด

          สำหรับผู้ป่วยโควิดที่อยู่ในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามแล้ว แม้จะไม่มีอาการเหนื่อยหอบ หายใจติดขัด แต่แพทย์อาจให้ตรวจระดับออกซิเจนในเลือด เพื่อเฝ้าระวังอาการปอดอักเสบด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น

          - ใช้เครื่องตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือดที่ปลายนิ้ว (Pulse Oximeter) หากมีปริมาณออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 94% จะแสดงถึงความผิดปกติที่ปอด ซึ่งต้องรักษาทันที

          - การให้เดิน 6 นาที (6-minute walk test) เป็นวิธีตรวจสอบสมรรถภาพทางกาย เพื่อเช็กอาการของคนที่เป็นปอดอักเสบระยะแรก วิธีการก็คือ จะให้ผู้ป่วยเดินเร็ว ๆ เป็นเวลา 6 นาที หากมีภาวะปอดอักเสบก็จะรู้สึกเหนื่อยง่าย เหนื่อยเร็วกว่าปกติ หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ รวมทั้งระดับออกซิเจนในเลือดอาจลดต่ำลงเหลือน้อยกว่า 96%

          - การปั่นจักรยานอากาศนาน 3 นาที หรือเดินไป-มาข้างเตียง 3 นาทีขึ้นไป แล้วเปรียบเทียบระดับออกซิเจนในเลือดก่อน-หลังทดสอบ หากค่าออกซิเจนลดลง 3% ขึ้นไป จะถือว่ามีภาวะออกซิเจนในเลือดลดลงหลังออกแรง (Exercise-induced Hypoxia) 

          - การออกกำลังกายด้วยการลุก-นั่ง (Sit-to-Stand Tests) เพื่อเป็นการตรวจสอบเบื้องต้นว่าอาการปอดอยู่ในสภาวะไหนแล้ว ซึ่งจะช่วยคัดกรองผู้ป่วยโควิดที่ยังไม่พบปอดอักเสบในช่วงแรกได้ โดย รศ. นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล แนะนำวิธีทดสอบไว้ดังนี้ 

            อุปกรณ์ที่ต้องมี 
             - เก้าอี้ที่แข็งแรงชนิดมีพนักพิงหลัง แต่ไม่มีที่เท้าแขน ความสูงจากที่นั่งถึงพื้น 40-50 เซนติเมตร
             - เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว หรือหากไม่มีเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว สามารถใช้นาฬิกา Smart Watch ที่มีการวัดค่าออกซิเจนในเลือด (SpO2)

            ขั้นตอนการทดสอบ
             1. วัดออกซิเจนปลายนิ้ว ถ้าไม่มีเครื่องมือให้จับชีพจร 1 นาที ว่าได้กี่ครั้ง
             2. ลุก-นั่งกับเก้าอี้ โดยห้ามเอามือจับตัวเก้าอี้ ควรมีคนคอยดูอยู่ด้านหน้าเพื่อป้องกันการล้มหัวฟาด
             3. ลุก-นั่งไปเรื่อย ๆ ภายใน 1 นาที เอาเท่าที่เร็วที่สุดที่พอไหว 
             4. เมื่อครบ 1 นาที ให้ลองวัดออกซิเจน ถ้าตกลงเกิน 3% หรือถ้าวัดชีพจรแล้วเกิน 120 ครั้ง/นาที หรือคนไข้หายใจหอบ เหนื่อยมาก พูดเป็นคำไม่ได้ แสดงว่าน่าจะมีปัญหาในปอด ทำให้ออกซิเจนไม่พอ

             อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตัวเลขตกลงไม่เกิน 3% ที่แสดงว่าปอดน่าจะยังดี แต่ก็ไม่ได้การันตีว่าไม่เป็นโควิดเช่นกัน ดังนั้นควรทดสอบด้วยตัวเองอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะคนเป็นโควิดที่ยังมีอาการน้อย ๆ ก็สามารถเช็กได้ด้วยตัวเอง ส่วนคนที่ยังไม่เป็นโควิดก็ทำได้ เพื่อใช้เป็นมาตรฐานของตัวเองก่อนเป็นปอดบวม

โควิดลงปอดอันตรายไหม รุนแรงแค่ไหน

           โรค COVID-19 จะก่อความรุนแรงแค่ไหนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย หลัก ๆ คือ

1. ปริมาณเชื้อที่ได้รับ

  • ผู้ที่ได้รับเชื้อแต่ไม่มีอาการ อาจพบการอักเสบของปอดได้เมื่อเอกซเรย์
  • ผู้ที่ได้รับเชื้อปริมาณน้อย อาจมีอาการคล้ายไข้หวัด ปวดเมื่อยตามตัว มีไข้ หายเองได้ บางรายอาจพบการอักเสบในปอด
  • ผู้ที่ได้รับเชื้อปริมาณมาก เชื้อจะลงไปอยู่ในถุงลม ทำให้เกิดอาการปอดอักเสบติดเชื้อ มีอาการเหนื่อย หายใจไม่ทัน ต้องได้รับเครื่องช่วยหายใจ

2. ภูมิต้านทานของผู้ติดเชื้อ

          หากเป็นคนที่มีภูมิต้านทานแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ถ้าเชื้อลงปอดก็มีโอกาสที่จะรักษาหายได้ในเวลาไม่นาน แต่สำหรับคนที่มีภูมิต้านทานไม่แข็งแรง ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มที่จะมีอาการรุนแรงกว่าคนกลุ่มอื่นจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ เช่น

  • ผู้สูงอายุ เนื่องจากความเสื่อมของร่างกายและระบบภูมิคุ้มกันลดลง
  • คนอ้วน มีไขมันใต้ผิวหนังหรือใต้ช่องท้องมาก คนกลุ่มนี้ปอดจะทำงานลดลง เสี่ยงต่อการหายใจลำบาก จึงมีโอกาสที่จะมีอาการรุนแรงจากโรคโควิด 19 สูงถึง 7 เท่า
  • ผู้มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคตับ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ฯลฯ
  • ผู้ป่วยโรคปอด เนื่องจากปอดทำงานน้อยกว่าปกติอยู่แล้ว เมื่อถูกเชื้อไวรัสทำลายอีก ระบบร่างกายจะเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว
  • คนที่สูบบุหรี่ เพราะปอดถูกทำลายอย่างหนัก มีโอกาสที่จะมีอาการแทรกซ้อนรุนแรงจากโควิด 19 มากกว่าคนทั่วไปถึง 1.5 เท่า และมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงกว่าด้วย
     

เช็ก...13 กลุ่มเสี่ยงอาการหนักหากติดโควิด 19 รักษาช้าอาจถึงตาย !

3. ระยะเวลาที่ได้รับการรักษา

          คนที่เชื้อลงปอดแล้วได้รับการตรวจวินิจฉัยเร็ว ได้ยารักษาตั้งแต่ต้น จะมีโอกาสหายได้ แต่หากได้รับการรักษาล่าช้า เชื้อจะลุกลามและสร้างความเสียหายให้ปอดมาก จนไม่สามารถฟื้นฟูปอดกลับมาได้เหมือนเดิม เมื่อปอดเสียหายอย่างหนักจะส่งผลต่อระบบหายใจ ทำให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลว และอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะอื่น ๆ ได้อีก จึงมีโอกาสเสียชีวิตได้มากกว่า

โควิดลงปอดรักษายังไง

อาการโควิดลงปอด

          หากตรวจพบเชื้อโควิดลงปอดแล้วจะต้องเข้าแอดมิตในโรงพยาบาลทันที โดยแพทย์จะทำการรักษา ดังนี้

การใช้ยา

           จากแนวทางรักษาโรคโควิด 19 ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ฉบับปรับปรุง วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ได้แนะนำให้ผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลาง กินยาต้านไวรัสในกลุ่มเนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ หรือเรมเดซิเวียร์ หรือ LAAB หรือยาโมลนูพิราเวียร์ ชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่หากเป็นผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบรุนแรง จะต้องให้ยาเรมเดซิเวียร์โดยเร็วที่สุด เป็นเวลา 5-10 วัน ร่วมกับคอร์ติโคสเตียรอยด์  

          สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี หากมีปอดอักเสบเล็กน้อย แพทย์จะพิจารณาให้ยาเรมเดซิเวียร์ หรือฟาวิพิราเวียร์ 5 วัน ตามความเหมาะสม กรณีปอดอักเสบรุนแรง จะให้ยาเรมเดซิเวียร์โดยเร็วที่สุด เป็นเวลา 5-10 วัน ร่วมกับคอร์ติโคสเตียรอยด์เช่นเดียวกัน

ให้นอนคว่ำ

          เมื่อผู้ป่วยมีอาการรุนแรง และมีปอดอักเสบทั้ง 2 ข้าง ระดับออกซิเจนต่ำ แพทย์จะให้นอนคว่ำ เพื่อให้ถุงลมปอดขึ้นมาอยู่ด้านบน จึงช่วยให้ปอดแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ดีขึ้น ปริมาณออกซิเจนในเลือดเพิ่มขึ้น เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยบรรเทาความรุนแรงของอาการปอดอักเสบ ซึ่งถ้าผู้ป่วยนอนคว่ำไประยะหนึ่งแล้วมีอาการดีขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ

          อย่างไรก็ตาม กรณีผู้ป่วยมีปอดอักเสบข้างเดียว หรือมีระดับออกซิเจนปกติ การนอนคว่ำจะไม่ได้ช่วยในการรักษาเท่าใดนัก

ให้ออกซิเจน

          ในผู้ป่วยที่มีอาการหนัก เช่น มีภาวะลดลงของออกซิเจน ปอดอักเสบอย่างรุนแรง แพทย์จะให้ยาร่วมกับการให้ออกซิเจนด้วยการใช้เครื่องช่วยหายใจ หรืออาจใช้เครื่อง ECMO ซึ่งก็คือเครื่องปอดและหัวใจเทียมแบบเคลื่อนย้าย ช่วยดึงเลือดดำจากร่างกายมาฟอก หรือเพิ่มปริมาณออกซิเจน แล้วปั๊มเลือดแดงกลับเข้าสู่ร่างกาย จึงช่วยพยุงการทำงานของปอดและหัวใจเป็นการชั่วคราว

รักษาตามภาวะแทรกซ้อน

           กรณีมีอาการแทรกซ้อนที่อวัยวะอื่น ๆ ด้วยก็จะเพิ่มการรักษาตามอาการนั้น เช่น หากมีปัญหาไตวายเพราะปอดอักเสบมากจนไตรับมือเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายไม่ไหว แพทย์ก็ต้องฟอกไต ซึ่งเป็นเพียงวิธีรักษาแบบประคองอาการเท่านั้น แต่อาการจะดีขึ้นได้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเชื้อโควิดจะหมดจากปอดไปเมื่อไร

ผลเสียเมื่อโควิดลงปอด จะกลับมาเหมือนเดิมได้ไหม

อาการโควิดลงปอด

          กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปอดอักเสบเพียงเล็กน้อยและร่างกายแข็งแรงดี เมื่อไวรัสเข้าไปจู่โจมระบบทางเดินหายใจ อาจทำลายปอดได้ไม่มาก เมื่อหายจากการติดเชื้อ ปอดจะกลับมาทำงานได้ตามปกติ หรือประสิทธิภาพลดลงไม่มาก

          ทว่าสำหรับคนที่ปอดได้รับความเสียหายรุนแรง เกิดรอยแผลจำนวนมาก เซลล์ของเนื้อปอดแทบจะฟื้นฟูไม่ได้เลย ดังนั้นแม้จะรักษาโควิดจนหาย แต่สมรรถภาพการทำงานของปอดย่อมลดลงแน่นอน จึงส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น

  • ออกกำลังกายได้ไม่เต็มที่ เพราะจะรู้สึกเหนื่อยเร็วขึ้น
  • ถูกจำกัดการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ใช้แรงเยอะ หรือทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ไม่เท่าเดิม
  • หายใจไม่สะดวก หรือรู้สึกหายใจไม่อิ่ม ไม่เต็มปอด เพราะปอดรับออกซิเจนได้ไม่เท่าเดิม

วิธีฟื้นฟูสมรรถภาพปอด

          ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำให้ผู้ป่วยโควิด ฟื้นฟูสมรรถภาพปอดด้วยการฝึกหายใจ เนื่องจากเชื้อไวรัสที่ลงปอดส่งผลให้ผู้ป่วยหายใจลำบากและมีเสมหะมากขึ้น แต่การฟื้นฟูสมรรถภาพปอดด้วยตัวเองจะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วย อาทิ

          - ลดอาการเหนื่อยและการหายใจลำบาก
          - เพิ่มความสามารถในการหายใจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น  
          - ช่วยขับเสมหะ
          - ป้องกันการเกิดภาวะปอดแฟบ

สำหรับผู้ป่วยที่สามารถออกกำลังกายฟื้นฟูปอดได้ คือ

          - ผู้ป่วยติดเชื้อแบบไม่มีอาการ
          - ผู้ป่วยติดเชื้อแต่อาการไม่รุนแรง
          - ผู้ป่วยติดเชื้ออาการไม่รุนแรง แต่มีโรคประจำตัว
          - ผู้ป่วยติดเชื้อมีอาการปอดอักเสบไม่รุนแรง

          กรณีผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรง หรือมีความเสี่ยงอื่น ๆ เช่น อายุมากกว่า 60 ปี, มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน, โรคปอด, ไต หรือหัวใจเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, โรคตับแข็ง หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงจากการออกกำลังกายตามโรคประจำตัวที่เป็นอยู่เดิม
 

วิธีฟื้นฟูสมรรถภาพปอดสามารถดูได้จากคลิปต่อไปนี้

          ทั้งนี้ หากมีอาการมึนศีรษะหรือเหนื่อยมากขึ้นขณะทำให้หยุดพักช่วงเวลาหนึ่ง แต่ถ้าหยุดพักแล้วยังไม่ดีขึ้นควรงดเว้นการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดไปก่อน

 

          สรุปได้ว่า อาการโควิดลงปอดไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคนที่ติดเชื้อ แต่ถ้าเป็นสายพันธุ์เดลตาจะมีโอกาสที่เชื้อลงปอดได้มากขึ้น เพราะปริมาณเชื้อมีมากและจับกับเซลล์มนุษย์ได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ขณะที่สายพันธุ์โอมิครอน BA.1 และ BA.2 เชื้อจะอยู่บริเวณลำคอมากกว่าลงปอด อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าระวังโอมิครอนสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ที่มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งเดียวกันกับที่พบในสายพันธุ์เดลตา จึงมีโอกาสที่เชื้อจะลงปอดได้ง่ายกว่า BA.1 และ BA.2 ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรสังเกตอาการของตัวเองอยู่เสมอ

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อาการโควิดลงปอดเป็นยังไง พร้อมวิธีเช็กเบื้องต้น สัญญาณไหนต้องรีบรักษา อัปเดตล่าสุด 2 ธันวาคม 2565 เวลา 07:25:51 258,153 อ่าน
TOP
x close