สธ.เร่งวิจัยรางจืดครบวงจร หวังดันเป็นสมุนไพรประจำชาติเหมือนโสมเกาหลี (กระทรวงสาธารณสุข)
สธ.เร่งวิจัยรางจืดครบวงจร หวังดันเป็นสมุนไพรประจำชาติเหมือนโสมเกาหลี หลังพบมากด้วยสรรพคุณ มีฤทธิ์ต้านโรคเริม ป้องกันสารพิษทำลายสมอง ป้องกันพิษจากการได้รับเคมีบำบัดที่ใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็ง
เมื่อวนที่ 11 มีนาคม 2554 ที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลกรุงเทพมหานคร ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการสัมมนา "รางจืด มากกว่าสมุนไพรล้างพิษ" จัดโดยมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ร่วมกับสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อให้สามารถนำรางจืดมาแก้ปัญหาการเจ็บป่วยของประชาชนอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น
ดร.พรรณสิริ กล่าวว่า สมุนไพรรางจืดมีความสำคัญกับวิถีชีวิตของคนไทยมาช้านาน กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายผลักดันให้มีการปลูกและการใช้ทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันได้นำรางจืดมาใช้ขับพิษสารเคมีที่ใช้กำจัดศัตรูพืช และตกค้างอยู่ในเลือดเกษตรกร ที่พบค่าเฉลี่ยสูงกว่าร้อยละ 51 ในโครงการเกษตรกรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย สมุนไพรล้างพิษ กายจิตผ่องใส โครงการนี้จะตรวจเกษตรกรให้ครบทั้ง 14.1 ล้านคนทั่วประเทศ และปัจจุบันคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ ได้บรรจุให้รางจืดชนิดยาชงและแคปซูล ที่เป็นเภสัชตำรับที่ผลิตในโรงพยาบาลภาครัฐ เป็นรายการยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ สามารถนำมาใช้รักษาผู้ป่วยได้แล้ว
ดร.พรรณสิริ กล่าวอีกว่า ประการสำคัญยังมีข้อมูลอีกหลาย ๆ ส่วนที่น่าสนใจ โดยข้อมูลจากกลุ่มหมอพื้นบ้านพบว่า การนำน้ำรางจืดต้ม แล้วนำมาอาบจะทำให้ผิวพรรณผุดผ่อง ส่วนรากรางจืดนำมาฝนกับน้ำซาวข้าวแล้วนำไปทาหน้า จะทำให้หน้าขาว ไม่มีสิวฝ้า นอกจากนี้รางจืดยังมีสรรพคุณ แก้ผื่นคันจากอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น โรคเริม งูสวัด ใช้ถอนพิษปวดแสบปวดร้อนจากไฟไหม้น้ำร้อนลวกได้
ส่วนงานวิจัยในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ มีการศึกษาพบว่า รางจืดมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านไวรัสโรคเริมได้ดี รางจืดยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระอันดับต้น ๆ มีแนวโน้มจะนำมาใช้ป้องกันสมองถูกสารพิษทำลาย และยังใช้ป้องกันพิษ จากการได้รับเคมีบำบัดที่ใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งได้ด้วย
ดร.พรรณสิริกล่าวต่อไปว่า สำหรับประสบการณ์จริงที่แสดงให้เห็นประสิทธิภาพรางจืด เมื่อประมาณปีกว่า มานี้ ได้มีการนำรางจืดมาช่วยชีวิตผู้ที่กินยำแมงดาไฟจำนวน 5 รายที่จังหวัดชุมพร ซึ่ง 2 ใน 5 รายมีอาการโคม่า ซึ่งปกติจะมีโอกาสรอดชีวิตประมาณร้อยละ 20 เท่านั้น แต่ญาติได้นำต้นรางจืดมาตำจนละเอียดแล้วคั้นเอาน้ำผสมน้ำซาวข้าว ให้พยาบาลฉีดเข้าทางหลอดอาหาร หลังฉีดประมาณ 5-6 ชั่วโมงปรากฏว่า ผู้ป่วยรู้สึกตัวและรอดชีวิต ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับแพทย์เป็นอันมาก
ดังนั้น กระทรวงจึงเห็นว่า รางจืดมีสรรพคุณและศักยภาพที่สามารถส่งเสริมให้ใช้ได้ในทุกระดับ ทั้งสถานพยาบาล ประชาชนทั่วไป ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะผลักดันให้มีการวิจัยเรื่องรางจืดอย่างครบวงจร มีความเชื่อถือตามหลักการวิทยาศาสตร์ นำมาแก้ปัญหาการเจ็บป่วยของประชาชนอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น และพัฒนาให้รางจืดเป็นสมุนไพรเอกประจำชาติไทย หรือ โปรดัก แชมป์เปี้ยน เหมือนกับที่เกาหลีมีโสมเป็นสมุนไพรประจำชาติ
เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก