ใบกระท่อม สรรพคุณทางยามีอะไรบ้าง รักษาความดัน ลดความอ้วนได้ไหม

          หลังจากถูกปลดล็อกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 หลายคนก็หันมาสนใจสรรพคุณของใบกระท่อมกันมากขึ้น งั้นมาดูซิว่าประโยชน์ทางยาของกระท่อมมีอะไรบ้าง
          ใบกระท่อม เป็นพืชที่ใช้ประโยชน์กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะมีสรรพคุณทางยา อีกทั้งในต่างประเทศก็ใช้ประโยชน์ของใบกระท่อมอย่างเสรีมาเป็นเวลานานแล้วเช่นกัน ดังนั้นหลังจากที่มีประกาศถอนกระท่อมออกจากยาเสพติดประเภท 5 พืชชนิดนี้ก็กลายเป็นประเด็นที่คนสนใจกันมาก ทั้งในแง่ของการส่งเสริมพืชกระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ และการวิจัยเพื่อรักษาโรค ฉะนั้นอย่ารอช้า เรามาเจาะสรรพคุณทางยาของใบกระท่อมกันเลยว่า พืชชนิดนี้มีประโยชน์ดี ๆ อะไรกับสุขภาพเราบ้างนะ
มารู้จักกระท่อมกันก่อน
ใบกระท่อม

          กระท่อมเป็นพืชพื้นเมืองของไทยและมาเลเซีย มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนและกึ่งร้อนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงทวีปแอฟริกา โดยกระท่อม หรือในชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า อีถ่าง อีแดง กระอ่วม ท่อม ท่ม เป็นพืชในตระกูล Mitragyna speciosa อยู่ในวงศ์เข็มและกาแฟ (Rubiaceae) กระท่อมมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Mitragyna speciosa (Korth.) Havil. ที่พบในไทยมีอยู่ 3 สายพันธุ์ด้วยกัน คือ กระท่อมก้านเขียว (แตงกวา), กระท่อมชนิดขอบใบหยัก (ยักษ์ใหญ่, หางกั้ง) และกระท่อมก้านแดง

          ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของกระท่อมเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ปานกลาง แก่นเป็นไม้เนื้อแข็ง ลำต้นมีความสูงประมาณ 4-16 เมตร ใบกระท่อมคล้ายใบกระดังงา เป็นใบเดี่ยวสีเขียว เรียงตัวเป็นคู่ตรงข้าม แผ่นใบกระท่อมกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 8-14 เซนติเมตร ดอกกระท่อมมีลักษณะกลมโต ขนาดเท่าผลพุทรา มีสีขาวอมเหลืองออกเป็นช่อตุ้มกลมขนาด 3-5 เซนติเมตร ผลมีลักษณะเป็นแคปซูล ภายในมีผลย่อยและเมล็ดอัดแน่น ส่วนเมล็ดกระท่อมมีลักษณะแบน

          กระท่อมเติบโตได้ดีในพื้นที่ชุ่มชื้น ชอบความชื้นสูง และชอบแดดปานกลาง โดยพื้นที่ปลูกกระท่อมในไทยจะเป็นโซนภาคใต้ เช่น จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และพบว่าดินในภาคกลางอย่างจังหวัดปทุมธานีก็ปลูกกระท่อมได้ดีเช่นกัน

กระท่อม สรรพคุณทางยามีอะไรบ้าง
          สารสำคัญที่พบในใบกระท่อม คือ Mitragynine, Speciogynine, Paynantheine, Speciociliatine ซึ่งบางส่วนออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท แต่ถึงอย่างนั้นกระท่อมก็มีสรรพคุณทางยาอยู่ไม่น้อย ซึ่งหากใช้ในปริมาณที่เหมาะสมก็ช่วยบรรเทาอาการไม่สบายได้ ตามนี้

1. รักษาอาการติดเชื้อในลำไส้ เช่น ท้องเสีย ท้องร่วง

          ในตำรับยาโบราณใช้ใบกระท่อมสดหรือใบแห้ง เคี้ยว สูบ หรือชงกับน้ำ ดื่มรักษาอาการติดเชื้อในลำไส้ บรรเทาอาการท้องเสีย ท้องร่วง

2. บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

          สรรพคุณของกระท่อมยังช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ โดยหากใช้กระท่อมในขนาดต่ำจะช่วยลดอาการเมื่อยล้า เพราะฤทธิ์ของกระท่อมจะช่วยกดความรู้สึกปวดเมื่อยเนื้อตัวได้ ช่วยให้มีความอึดมากขึ้น

3. บำรุงกำลัง ช่วยให้ทำงานได้นานขึ้น

          จะบอกว่ากระท่อมเป็นยาโด๊ปก็คงไม่ผิดนัก เพราะพืชชนิดนี้ออกฤทธิ์เพิ่มพละกำลัง กระตุ้นร่างกายให้อดทนต่องานหนัก ทนแดดได้นานขึ้น และยังช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานอึดขึ้นในขณะที่ลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อด้วย แต่ทั้งนี้ก็ต้องใช้กระท่อมในขนาดต่ำนะคะ โดยผลการศึกษาในขั้นพรีคลินิก ของบริษัท Smith, Kline and French Laboratories ได้ทดลองใช้ใบกระท่อมในกลุ่มชายวัยกลางคน 30 คน ที่ทำงานหนัก โดยให้เคี้ยวใบกระท่อมสด 3-10 ครั้งต่อวัน ในปริมาณ 2-3 ใบต่อครั้ง เป็นเวลานานกว่า 5 ปี และพบว่า ใบกระท่อมกระตุ้นการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้จริง และผลกระตุ้นจะเกิดภายใน 5-10 นาที ทว่าก็พบอาการไม่พึงประสงค์ในกลุ่มอาสาสมัครด้วย เช่น ปากแห้ง ท้องผูก ผิวคล้ำ เบื่ออาหาร และน้ำหนักลด

4. แก้ปวดได้ดีกว่ามอร์ฟีน

ใบกระท่อม

          ใบกระท่อมมีสารสำคัญที่ชื่อว่า ไมทราไจนีน (Mitragynine) ซึ่งพบในใบกระท่อมไทยสูงถึง 66% โดยสารชนิดนี้เป็นสารจำพวกอัลคาลอยด์ ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง (CNS depressant) เช่นเดียวกับยาเสพติดกลุ่ม LSD และยาบ้า จึงมีฤทธิ์ระงับความเจ็บปวด กระตุ้นความรู้สึกเคลิ้มสุข และทำให้ง่วงซึม

          อีกทั้งจากการศึกษาก็พบสารเซเว่นไฮดร็อกซีไมทราไจนีน (7-hydroxymitragynine) ในใบกระท่อม โดยสารนี้มีฤทธิ์ยับยั้งการตอบสนองต่อความเจ็บปวด (Antinociceptive) ในหนู Mice ได้ดีกว่ามอร์ฟีนถึง 13 เท่า นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่พบว่า กระท่อมให้ผลข้างเคียงน้อยกว่ามอร์ฟีนหลายประการ เช่น ไม่กดระบบทางเดินหายใจ ไม่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน อาการขาดยาไม่ทรมานเท่ามอร์ฟีน และบำบัดได้ง่ายกว่ายากล่อมประสาท

          นอกจากนี้ยังมีการนำกระท่อมไปบำบัดการเสพติดมอร์ฟีนในผู้ป่วยบางรายด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องศึกษาผลดี-ผลเสียในการใช้กระท่อมผลิตยาให้รอบด้าน เพื่อการใช้ยาอย่างปลอดภัยและให้ผลข้างเคียงน้อยที่สุด

5. แก้ปวดฟัน

          ด้วยฤทธิ์ระงับปวดของใบกระท่อมจึงมีการนำใบกระท่อมไปปรุงเป็นยาสมุนไพรแก้ปวดฟันตามตำราแพทย์แผนโบราณ แต่ในปัจจุบันก็มียาแก้ปวดอื่น ๆ ใช้ทดแทนแล้ว

6. แก้ไอ รักษาแผลในปาก และถอนพิษ

          นอกจากยาแก้ปวดฟัน กระท่อมยังถูกปรุงเป็นยาสมุนไพรแก้ไอ ยาสมานแผลในปาก ห้ามเลือด และแก้พิษจากพืชหรือสัตว์ได้อีกด้วย

7. ลดอาการขาดยาจากสิ่งเสพติดอื่น

          ในหลาย ๆ ประเทศใช้ใบกระท่อมลดอาการขาดยาเสพติด เช่น ฝิ่น เฮโรอีน หรือมอร์ฟีน เมื่อใช้กระท่อมในปริมาณและในระยะเวลาที่จำกัด เนื่องจากกระท่อมให้ผลข้างเคียงที่น้อยกว่า และบำบัดการเสพติดได้ง่ายกว่านั่นเอง
กระท่อมรักษาโรคอะไรได้บ้าง
          นอกจากฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของกระท่อมข้างต้นแล้ว ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสรรพคุณของใบกระท่อมอีกมากมาย เช่น

ใบกระท่อมลดความดันได้ไหม

          ไมทราไจนีน (Mitragynine) ซึ่งพบในใบกระท่อมมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด จึงช่วยลดความดันโลหิต และผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้ อีกทั้งในตำรับยาแผนโบราณยังใช้ใบกระท่อมรักษาโรคความดันโลหิตสูงด้วย

ใบกระท่อมรักษาเบาหวานได้ไหม

          ตามตำรับยาไทยจะพบว่า มีการใช้ใบกระท่อมรักษาโรคเบาหวานมาช้านาน โดยให้นำใบกระท่อมที่แกะก้านใบออกมา เคี้ยว แล้วคายกากออก จากนั้นดื่มน้ำตาม ส่วนการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่อระบบทางเดินอาหารในหนูทดลองก็พบว่า สารสกัดเมทานอลจากใบกระท่อมช่วยเพิ่มการดูดกลับของน้ำตาลกลูโคส ซึ่งอาจใช้สรรพคุณนี้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้โดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับการทำงานของอินซูลิน ทว่าการจะใช้ใบกระท่อมเป็นยารักษาเบาหวานในคนยังคงต้องศึกษาถึงผลดี-ผลเสีย รวมถึงการควบคุมประสิทธิภาพตัวยาและความคุ้มค่าในกระบวนการผลิตยาด้วย

ใบกระท่อมลดความอ้วนได้ไหม

          การเคี้ยวใบกระท่อมจะทำให้รู้สึกไม่อยากอาหาร ไม่รู้สึกหิว และทำให้กระปรี้กระเปร่า กดความรู้สึกเมื่อยล้าขณะทำงาน ทว่าก็ยังไม่มีการใช้ใบกระท่อมลดความอ้วนแต่อย่างใด เนื่องจากการใช้ใบกระท่อมในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้เสพติดและเกิดอาการข้างเคียงไม่พึงประสงค์ได้ และจริง ๆ ก็มีวิธีลดน้ำหนักอื่น ๆ ที่เห็นผลและยั่งยืนกว่าด้วย

รวมสูตรลดน้ำหนัก วิธีลดความอ้วนด้วยตัวเอง

ใบกระท่อมรักษามะเร็งได้ไหม

          ในส่วนสรรพคุณของใบกระท่อมกับการรักษามะเร็งนั้นยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ จำเป็นต้องศึกษาวิจัยต่อไป เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงหรือโทษที่อาจเกิดขึ้นได้

ใบกระท่อม ออกฤทธิ์อย่างไร
มีโทษและข้อควรระวังอะไรบ้าง
ใบกระท่อม

          เมื่อเคี้ยวใบกระท่อมไปประมาณ 5-10 นาที ร่างกายจะดูดซึมสารสำคัญในใบกระท่อม และออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง ทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ร่าเริง สดชื่น หายปวดเมื่อย หายเหนื่อย แต่ถ้าครึ้มฟ้าครึ้มฝนจะมีอาการหนาวสั่นคล้ายจะเป็นไข้ หากเสพทุกวันต่อเนื่องไปนาน ๆ อาจเกิดการเสพติด และเกิดผลข้างเคียง ดังนี้

          1. ผิวคล้ำลงจนดูเหมือนผิวแห้งขาดน้ำ

          2. ปากแห้ง ริมฝีปากคล้ำ

          3. ท้องผูก อุจจาระแข็งเป็นก้อนเล็ก ๆ ถ่ายยากกว่าปกติ

          4. นอนไม่หลับ กระวนกระวาย

          5. คลื่นไส้ อาเจียน จากการเมากระท่อม

          6. ไม่มีแรง อ่อนเพลีย เมื่อมีภาวะเสพติดแล้วหยุดใบกระท่อม

          7. ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกระดูก

          8. บางรายที่เสพมากเกินไปอาจพบอาการแขนกระตุกเองได้

          9. ซึมเศร้า เซื่องซึม ไม่อยากพูดจากับใคร หรืออาจมีอารมณ์ก้าวร้าวไปเลย

          10. พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง

          11. ร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ

          12. ไอมากขึ้น

          13. มีน้ำตา น้ำมูกไหล

          14. เบื่ออาหาร

          15. บางรายอาจมีอาการโรคจิตหวาดระแวง เห็นภาพหลอน คิดว่าจะมีคนมาทำร้าย

          อย่างไรก็ตาม อาการเมาใบกระท่อมก็ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคนด้วย บางคนอาจเคี้ยวใบกระท่อม 3 ใบไม่เมา แต่บางคนเคี้ยวแล้วอาจมีอาการเมาใบกระท่อมก็เป็นได้

          นอกจากนี้คนที่กินใบกระท่อมโดยไม่รูดก้านใบออก อาจทำให้เกิดถุงท่อมในลำไส้ เพราะก้านใบและใบของกระท่อมไม่สามารถย่อยได้ จึงตกตะกอนติดค้างอยู่ภายในลำไส้ ทำให้ขับถ่ายออกมาไม่ได้ และเกิดพังผืดหุ้มรัดรอบ ๆ ก้อนกากกระท่อมจนเป็นก้อนถุงขึ้นมา ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงลำไส้อุดตันได้ด้วย

ใบกระท่อมถูกกฎหมายหรือยัง
ใบกระท่อม

          แม้ในต่างประเทศกระท่อมจะไม่ผิดกฎหมายควบคุม แต่ในไทย กระท่อมได้ถูกจัดเป็นยาเสพติดประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 กระทั่งเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ราชกิจจานุเบกษา ประกาศให้ใบกระท่อมไม่ใช่ยาเสพติดอีกต่อไป และมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับตั้งแต่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา 

          นั่นหมายความว่า ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป กระท่อมจะถูกปลดล็อก ซึ่งการปลดล็อกกระท่อมที่ว่า หมายถึงปลดล็อกเฉพาะพืชกระท่อมในส่วนต้น ราก ใบ ดอก เมล็ดเท่านั้น โดยสามารถเคี้ยวใบกินได้ บริโภคได้ในลักษณะของสมุนไพร 

          อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำไม่ได้และผิดกฎหมายแน่นอนก็คือ การนำกระท่อมไปผสมสูตรต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นสารเสพติด เช่น ต้มผสมยาแก้ไอ เครื่องดื่มชูกำลัง หรือน้ำอัดลม เพราะถือว่าเป็นการผลิตสารเสพติดให้โทษ และมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พูดง่าย ๆ ว่าถูกจับกุมดำเนินคดีได้เลย

ปลูกกระท่อมเสรีได้หรือยัง

          ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2564 ประชาชนสามารถปลูกพืชกระท่อมได้อย่างเสรี ครอบครองได้ นำมาบดเคี้ยว บริโภคตามวิถีชาวบ้านได้ (ยกเว้นการนำมาผสมเพื่อใช้เป็นสารเสพติด เช่น 4x100) รวมทั้งอนุญาตให้ซื้อ-ขาย ไม่ว่าจะเป็นการส่งขายเพื่อพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม โดยไม่ต้องขออนุญาต และหลังจากนี้จะมีการออก พ.ร.บ.พืชกระท่อม เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ และโทษ เพื่อป้องกันการใช้กระท่อมในทางที่ผิด อาทิ

          - ห้ามขายกระท่อมให้แก่เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ซึ่งเป็นเยาวชน รวมถึงสตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร
          - กำหนดสถานที่ห้ามขาย เช่น ในโรงเรียน สถานศึกษา วัด หอพัก
          - การทำธุรกิจนำเข้าหรือส่งออกใบกระท่อม เพื่อประโยชน์เชิงอุตสาหกรรม ต้องได้รับใบอนุญาต 

          โดยต้องรอรายละเอียดและข้อกำหนดที่ชัดเจนจากกฎหมายที่จะออกมาในเร็ว ๆ นี้ 

สรุป ! ใช้ใบกระท่อมแบบไหน ผิด-ไม่ผิดกฎหมาย

สิ่งที่ทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย

  • การเคี้ยวใบ 
  • การปลูก 
  • การครอบครอง
  • การขายใบสดที่ไม่ได้ปรุง หรือทำเป็นอาหาร 
  • ต้มน้ำกระท่อมเพื่อดื่มเอง


สิ่งที่ทำไม่ได้ ผิดกฎหมาย 

  • การทำผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่แจ้งว่ามีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 หากผลิตขายเองโดยไม่ได้ขออนุญาตถือว่าผิดกฎหมาย
  • การขายอาหารที่ทำจากใบกระท่อม หรือมีใบกระท่อมเป็นส่วนผสมในอาหาร เนื่องจาก พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ยังไม่ปลดล็อกให้ผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย 
  • การต้มน้ำกระท่อมเพื่อจำหน่าย (แม้ไม่ได้ผสมกับสิ่งใดเลย) เนื่องจากอาหารที่มีส่วนผสมของกระท่อม เช่น น้ำต้มกระท่อม ชากระท่อม จัดเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผู้ประกอบการต้องขออนุญาตผลิตกับทาง อย. ก่อน เพื่อประเมินคุณภาพ ความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค และติดฉลากให้ถูกต้องก่อนนำไปวางขาย ตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562
  • การนำใบกระท่อมมาผสมสูตรต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นสารเสพติด 


          อย่างไรก็ตาม อนาคตจะมีการกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่แน่ชัดใน พ.ร.บ.พืชกระท่อม ต่อไป

โทษของการใช้ใบกระท่อมในทางที่ผิด

     ในร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ยังกำหนดโทษเพื่อคุ้มครองบุคคลและการป้องกันการใช้ใบกระท่อมในทางที่ผิด อาทิ

  • กรณีขายใบกระท่อม น้ำต้มใบกระท่อม หรืออาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบ กับคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
     
  • กรณีขายในสถานศึกษา หอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์ หรือสวนสนุก หรือขายโดยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท 
     
  • กรณีบริโภคใบกระท่อมหรือน้ำต้มใบกระท่อมที่ปรุงผสมกับยาเสพติดให้โทษ มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท
     
  • การต้มน้ำกระท่อมขาย มีโทษจำคุก 6 เดือน ถึง 2 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท (ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522)
          อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว ก็ยังไม่ควรนำกระท่อมไปใช้เองเพื่อหวังผลการรักษาโรคนะคะ เพราะอาจได้รับผลข้างเคียงและเป็นอันตรายได้หากใช้ไม่ถูกวิธี จึงควรรอให้มีการนำสรรพคุณของกระท่อมไปศึกษาวิจัยและต่อยอดเป็นยารักษาโรคในอนาคต ซึ่งการปลดล็อกครั้งนี้น่าจะเป็นความหวังใหม่ทางการแพทย์ในเร็ววัน

บทความที่เกี่ยวกับใบกระท่อม

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ใบกระท่อม สรรพคุณทางยามีอะไรบ้าง รักษาความดัน ลดความอ้วนได้ไหม อัปเดตล่าสุด 31 สิงหาคม 2566 เวลา 10:57:51 476,913 อ่าน
TOP
x close