ไข้หวัดนกเป็นโรคติดต่อที่เคยระบาดและคร่าชีวิตคนไทยมาแล้ว ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าไข้หวัดนกเป็นโรคระบาดอันตราย และถึงจะไม่ใช่โรคติดต่อใหม่ในสังคมไทย ทว่ากระแสไข้หวัดนกที่ได้ยินได้ฟังกันอีกครั้งก็ทำเอาใจคอไม่ดี ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันตัวเราเองและคนที่เรารักจากความเสี่ยงโรคไข้หวัดนก กระปุกดอทคอมจะพามารู้จักโรคไข้หวัดนกเพื่อเป็นการรับมือกับโรคนี้ในเบื้องต้นค่ะ
โรคไข้หวัดนก ภาษาอังกฤษเรียกว่า Bird Flu หรือโรคไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีก (Avian Influenza) โรคไข้หวัดนกคือโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่สามารถพบได้ในสัตว์ปีกทุกชนิดในทุกพื้นที่ทั่วโลก โดยความรุนแรงของไข้หวัดนกจะขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ และไข้หวัดนกบางสายพันธุ์สามารถติดต่อสู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุกร แมว ม้า สุนัข และเฟอร์เร็ตได้ด้วย
ทั้งนี้สายพันธุ์ไข้หวัดนกที่มักจะทำให้เกิดโรคในนกและมีความรุนแรงได้แก่ สายพันธุ์ H5 และ H7 ซึ่งเชื้อนี้สามารถแพร่ระบาดกันได้ในหมู่สัตว์ปีกทุกชนิด มีระยะการฟักตัวเฉลี่ย 3-5 วัน แต่ไม่เกิน 7 วัน หากเชื้อโรคติดต่อสู่คนจะมีระยะฟักตัวประมาณ 1-3 วัน โดยส่วนใหญ่คนจะติดเชื้อไข้หวัดนกจากการสัมผัสสัตว์ป่วยอย่างใกล้ชิด
ไข้หวัดนกมีกี่สายพันธุ์
องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ได้แบ่งไข้หวัดนกออกเป็น 2 ชนิด คือ โรคไข้หวัดนกชนิดรุนแรง และโรคไข้หวัดนกชนิดไม่รุนแรง โดยเชื้อไวรัสที่ก่อโรคไข้หวัดในสัตว์ปีกเป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับเชื้อที่ก่อโรคไข้หวัดใหญ่ในคน ซึ่งก็คือเชื้อไวรัส H. influenzae โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้เป็นเชื้อไวรัสขนาดเล็ก สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิดย่อย คือ
1. สายพันธุ์ A เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่ในคนและโรคไข้หวัดนกชนิดรุนแรงและไม่รุนแรงในสัตว์ปีก
2. สายพันธุ์ B เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อโรคไข้หวัดในคนได้แต่ไม่รุนแรงมาก
3. สายพันธุ์ C เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อโรคไข้หวัดในคนได้แต่ไม่รุนแรงมาก
อย่างไรก็ตามเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (Influenza A virus) สามารถแบ่งสายพันธุ์ย่อยตามลักษณะปลอกหุ้มเชื้อซึ่งมีตัวบอกลักษณะปลอกหุ้มเชื้ออยู่ 2 ชนิดด้วยกัน คือ hemagglutinin (H) และ neuraminidase (N) โดย H และ H จะแบ่งออกเป็นชนิดย่อย ๆ ได้อีก 16 ชนิดและ 9 ชนิดตามลำดับ แต่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในคนที่พบกันอยู่ทั่วไปก่อนหน้านี้จะเป็นชนิด H1-H3 และ N1-N2 โดยชนิดย่อยอื่น ๆ จะพบการติดต่อมากในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่าง นก หมู และม้า
ทว่าความน่ากลัวของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกไม่ได้อยู่ที่ระดับความรุนแรงของเชื้อแต่ละชนิดเท่านั้น หากแต่ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสได้นั้นต่างหากที่น่ากลัวที่สุด เพราะถ้าไวรัสในตัวสัตว์ที่ติดเชื้อมีเชื้อต่างสายพันธุ์กัน จะเกิดการแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ และหากเชื้อไวรัสชนิดดังกล่าวสามารถติดต่อมาสู่คนได้ อาจมีการระบาดของไข้หวัดนกชนิดรุนแรงและทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
ภาพจาก Hinochika/Shutterstock.com
ไข้หวัดนกระบาดในไทยตั้งแต่เมื่อไร
ย้อนไปในปี พ.ศ. 2547 โรคไข้หวัดนกนับว่าเป็นโรคใหม่ในประเทศไทย และการระบาดของไข้หวัดนกตั้งแต่ช่วงต้นปีนั้นก็ก่อให้เกิดความตระนักถึงอันตรายจากโรคไข้หวัดนกมากขึ้น แต่ถึงกระนั้นการระบาดของไข้หวัดนกในคนและสัตว์ยังคงไม่สงบลงอย่างสมบูรณ์ในปัจจุบัน เนื่องจากยังมีการพบสัตว์ป่วยและผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทยอยู่เรื่อย ๆ
ไข้หวัดนกในคน ติดต่อถึงกันได้อย่างไร
สาเหตุที่เชื้อไข้หวัดนกจากสัตว์ติดต่อมาสู่คนได้ ส่วนใหญ่จะพบว่าผู้ติดเชื้อมีประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายโดยตรง หรือสัมผัสเสมหะ สารคัดหลั่ง หรือบริโภคสัตว์ปีกที่ป่วยตาย และยังพบในผู้ที่อยู่ในพื้นที่ระบาดของโรค นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อได้จากสัตว์อื่น ๆ เช่น สุกรที่ติดเชื้อไข้หวัดนกจากสัตว์ปีก เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันจะยังไม่พบหลักฐานที่แน่ชัดว่า มีการติดเชื้อไข้หวัดนกจากการรับประทานเนื้อสัตว์ปีกหรือกินไข่ของสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ รวมทั้งยังไม่พบการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกจากคนสู่คน ทว่าก็มีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดนกที่มีประวัติกินเนื้อสัตว์ปีกที่ตายด้วยโรคไข้หวัดนก ทั้งยังพบผู้ป่วยที่ไม่เคยมีประวัติสัมผัสไก่ป่วยมาก่อน แต่มีการดูแลผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกอย่างใกล้ชิดด้วย
และแม้จะไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าเชื้อที่ติดต่อจากผู้ป่วยรายที่ 1 ไปยังผู้ป่วยรายที่ 2 นั้นเป็นเชื้อสายพันธุ์เดียวกันหรือไม่ก็ตาม ทว่าประเด็นการติดต่อของเชื้อจากคนไปสู่คนก็ไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาดนะคะ
บุคคลที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อไข้หวัดนกสูง ได้แก่
- ผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงกับสัตว์ปีก ไม่ว่าจะเป็นผู้เลี้ยงสัตว์ ผู้ทำงานในฟาร์ม ผู้ชำแหละสัตว์ หรือทำลายซากสัตว์ รวมทั้งเด็ก ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ระบาด เป็นต้น
- ผู้ที่มีประวัติสัมผัสกับนก ไก่ สัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย
- ผู้ที่รับประทานเนื้อไก่ที่ป่วยตายจากการติดเชื้อไข้หวัดนก
- ผู้ที่ไปท่องเที่ยวหรืออยู่บริเวณที่มีการระบาดของไข้หวัดนก
- ผู้ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ไข้หวัดนก หรือผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจรุนแรง
ไข้หวัดนก อาการเป็นอย่างไร
ในคนที่ติดเชื้อไข้หวัดนก เริ่มแรกจะมีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามข้อ ไอแห้ง ตาแดง มักพบอาการปอดบวมในผู้ป่วยทุกคน ขณะที่ผู้ที่มีโรคประจำตัวอาจมีอาการรุนแรง หายใจลำบาก หอบ และอาจมีอาการระบบหายใจล้มเหลวอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเสียชีวิตลง โดยส่วนมากจะมีระยะเวลาป่วย 5-13 วัน และหากติดเชื้อไข้หวัดนกแล้วมีโอกาสเสียชีวิตถึงร้อยละ 70-80 และส่วนมากจะเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวในวันที่ 9-10 หลังมีอาการป่วย
ไข้หวัดนก รักษาหายไหม
จริง ๆ แล้วผู้ที่ติดเชื้อไข้หวัดนกสามารถรักษาโดยการให้ยาต้านไวรัส Olseltamivir หรือชื่อทางการค้าว่า Tamiflu ภายใน 48 ชั่วโมงหลังเริ่มมีอาการป่วย และควรกินติดต่อกันนาน 5 วัน ร่วมกับการรักษาตามอาการ และการใช้เครื่องช่วยหายใจชนิดความถี่สูง ซึ่งจะให้ผลการรักษาที่ดี
แต่ทั้งนี้ผลการรักษาก็ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นสภาพร่างกายผู้ป่วยเอง ชนิดและความรุนแรงของเชื้อ ที่สำคัญคือความรวดเร็วในการรักษา ดังนั้นหากพบว่าตัวเองมีไข้สูงหลังจากกินสัตว์ปีกหรือสัมผัสไก่ที่ป่วยตาย ก็ควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดจะดีกว่านะคะ
การป้องกันไข้หวัดนกสามารถทำลายเชื้อก่อโรคได้ โดยปฏิบัติดังนี้ค่ะ
1. บริโภคอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อน 70 องศาขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นเนื้อ หรือไข่ เพื่อให้ความร้อนได้ทำลายเชื้อเหล่านั้น
2. พยายามรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อให้เกิดภูมิต้านทานต่อโรค
3. หมั่นล้างมือเป็นประจำเพื่อฆ่าเชื้อโรค และสามารถป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดนกได้
4. ผู้ที่มีไข้สูง และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
5. หากต้องสัมผัสผู้ป่วยที่ติดเชื้อต้องสวมเสื้อคลุมและถุงมือ และควรอยู่ห่างจากผู้ป่วยไม่น้อยกว่า 3 ฟุต เพราะโดยปกติเชื้อไข้หวัดสามารถติดต่อทางเสมหะ การจาม หรือไอได้
6. ติดตามรับฟังข่าวการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด และหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าในพื้นที่นั้น
7. ช่วยกันเฝ้าระวังการระบาดไข้หวัดนกในสัตว์ปีกที่เลี้ยงอยู่ตามบ้าน
8. ดูแลเด็ก ๆ ไม่ให้ไปสัมผัสสัตว์ป่วย หรือบริเวณที่อาจปนเปื้อนเชื้อ
9. หากพบสัตว์ปีกตายผิดปกติ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมของสำนักงานเขตทุกเขต หากเป็นในต่างจังหวัดให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอและปศุสัตว์จังหวัด เทศบาล หรือ อบต.
10. ไม่ควรสัมผัสสัตว์ป่วยหรือตายด้วยมือเปล่า ควรสวมถุงมือ หรือถุงพลาสติกหนา ๆ แทน
11. ต้องขุดฝังหลุมฝังสัตว์ที่ตายให้ลึกอย่างน้อย 1 เมตร หรือนำไปเผา จากนั้นให้รีบล้างมือด้วยสบู่โดยเร็วที่สุด
ส่วนในสถานที่เลี้ยงสัตว์เช่น ฟาร์ม โรงเรือน ควรใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ ประเภทคลอรีน ควอเตอรีแอมโมเนียม และกลุตาราลดีไฮด์ ทำความสะอาดบริเวณพื้นที่เลี้ยงสัตว์ให้ดี และหากมีการระบาดของไข้หวัดนกควรปฏิบัติดังนี้
- เมื่อพบการระบาดของไข้หวัดนกในสัตว์ จะต้องทำลายสัตว์ปีกทั้งหมดในฟาร์มนั้น รวมทั้งสัตว์ปีกในรอบรัศมี 1-5 กิโลเมตร เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไปยังพื้นที่อื่น ๆ นอกจากนั้นแล้วซากสัตว์ ไข่ หรือมูลสัตว์ก็ต้องทำลายด้วยการฝังหรือเผา ห้ามนำมารับประทานหรือนำไปทำปุ๋ยเด็ดขาด
- ทำความสะอาดโรงเรือนและรอบบริเวณด้วยน้ำยาฆ่าเชื้ออย่างสม่ำเสมอ
- ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกออกนอกพื้นที่ระบาดโดยเด็ดขาด และเฝ้าระวังการติดเชื้อในพื้นที่ควบคุมรัศมี 50 กิโลเมตร
- ห้ามนำสัตว์ปีกเข้ามาเลี้ยงใหม่ในพื้นที่ระบาด จนกว่าจะตรวจสอบแล้วว่าไม่พบเชื้อเป็นเวลาอย่างน้อย 21 วัน และพิจารณาแล้วว่าไม่มีความเสี่ยงจากการระบาดซ้ำ
สถานการณ์ไข้หวัดนกในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน
แม้จะมีกระแสข่าวไข้หวัดนกระบาดในปี พ.ศ. 2560 แต่สำนักระบาดวิทยาเผยข้อมูลจากระบบสารสนเทศเพื่อการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก สำนักควบคุมโรคและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ ว่า ตั้งแต่วันที่ 1-31 มกราคม 2561 ไม่พบรายงานจังหวัดที่มีสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ นับว่า ณ ปัจจุบันไม่มีการระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย รวมเป็นเวลา 9 ปี (นับจากทำลายสัตว์ปีกรายสุดท้ายวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2551)
ดังนั้นจึงไม่อยากให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกในกระแสข่าวดังกล่าว และหากมีการระบาดของโรคไข้หวัดนกจริง ทางกรมปศุสัตว์จะรีบดำเนินการควบคุมการระบาดของโรค และต้องแจ้งให้ประชาชนรับทราบอย่างแน่นอน
แม้ไข้หวัดนกจะระบาดมากในช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่เชื้อไวรัสเจริญเติบโตได้ดี แต่ในยุคนี้เราก็ไม่ควรเสี่ยงไม่ว่าจะทางไหน เพราะโรคแปลก ๆ โรคที่อันตรายมีอยู่รอบตัวมากมายเหลือเกินนะคะ ดังนั้นทางที่ดีเราจึงควรดูแลรักษาสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่ถูกสุขอนามัย และพยายามอย่าพาตัวเองเข้าไปเสี่ยงในพื้นที่ที่อาจมีการระบาดของเชื้อโรคไข้หวัดนกไม่ว่าจะทางไหนก็ตาม
***หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุด วันที่ 28 มีนาคม 2561
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
, คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ, กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณะสุข