x close

คนไทยอายุยืนขึ้น เผยอายุ 100 ปี มีเป็นพันคน

ผู้สูงอายุ





คนไทยอายุยืนขึ้น เผยอายุ 100 ปี มีเป็นพันคน (ไทยโพสต์)

            นักประชากรศาสตร์เผยคนไทยอายุยืนยาวขึ้น จำนวนผู้มีอายุเกิน 100 ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คาดมีประมาณ 1,309 คนทั่วประเทศ เผยประชากรปัจจุบันมีโอกาสรอดชีวิตสูงกว่าสมัยก่อน คาดอีก 10 ปีข้างหน้าคนไทยอายุเฉลี่ย 80 ปี ผู้หญิงตายช้ากว่าชาย เสนอรัฐบาลแก้ไขนิยามผู้สูงอายุเป็น 65 ปี ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่จะเต็มไปด้วยผู้สูงอายุในอนาคต

            เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ศ.ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล นักประชากรศาสตร์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จากการวิจัยของนักศึกษาโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) วิจัยเรื่องการรอดชีพที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทย โดยใช้วิธีการคาดประมาณด้วยแบบจำลองอัตราการรอดชีพที่นักประชากรศาสตร์สร้างขึ้น พบว่าผู้สูงอายุในปัจจุบัน จะมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่าผู้สูงอายุในอดีต และมีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ดังนั้นคนไทยจึงมีอายุยืนยาวมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะมีประชากรที่อายุเกิน 100 ปี เพิ่มมากขึ้น

            ศ.ดร.ปราโมทย์กล่าวว่า ประชากรในปัจจุบันมีโอกาสที่จะมีอายุยืนยาวถึง 100 ปี มากกว่าในอดีต เนื่องจากความก้าวหน้าทางการแพทย์และสาธารณสุขทำให้คนรอดชีวิตมากขึ้น และประเมินว่าอีกไม่เกิน 20 ปีประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ราว 14 ล้านคน หรือคิดเป็น 20% ของประชากรทั้งประเทศ ปัจจุบันผู้อายุ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวน 7 ล้านคน หรือคิดเป็น 12% จากประชากร 64 ล้านคน อายุเฉลี่ย 73 ปี แบ่งเป็นผู้หญิง 76 ปี และผู้ชาย 70 ปี คาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้าประชากรไทยจะมีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 80 ปี ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ตั้งไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับล่าสุด

            "ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องวางแผนนโยบายต่าง ๆ เพื่อรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น และเห็นคุณค่าคนกลุ่มนี้เช่นเดียวกับประเทศต่าง ๆ โดยจะต้องสร้างความมั่นคงให้แก่ผู้สูงอายุทั้งด้านสุขภาพที่ดี มีรายได้เพื่อยังชีพที่แน่นอนและมีสถานที่อาศัยพร้อมผู้ดูแล ทั้งนี้ ผมขอเสนอให้รัฐบาลเร่งแก้ไข พ.ร.บ.ผู้สูงอายุที่กำหนดนิยามคำว่าผู้สูงอายุไว้ที่ 60 ปี เปลี่ยนให้เป็น 65 ปี การเกษียณราชการและอายุการทำงานก็จะเป็น 65 ปี เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป" นักประชากรศาสตร์ ม.มหิดล เผย

            สำหรับประเทศที่มีประชากรอายุยืนยาวมากที่สุดในโลก อันดับหนึ่งยังคงเป็นประเทศญี่ปุ่นเช่นเดิม โดยมีอายุเฉลี่ย 83 ปี รองลงมาเป็นประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย เช่น สวีเดน เดนมาร์ก มีอายุเฉลี่ย 81-82 ปี

            ด้าน น.ส.ศุทธิดา ชวนวัน นักศึกษาโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล ผู้วิจัยเรื่องคนไทยอายุยืนมากขึ้น กล่าวว่า จากการสำรวจตัวเลขผู้ที่มีอายุเกิน 100 ปี ที่ระบุไว้ในทะเบียนราษฎร์เมื่อปี 2553 พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 14,493 คนทั่วประเทศ ซึ่งที่จริงแล้วข้อมูลในทะเบียนราษฎร์มีความผิดพลาดสูงและไม่สำรวจต่อเนื่อง ตัวเลขผู้สูงอายุเกิน 100 ปี จึงมีจำนวนมากเกินจริง โดยผู้สูงอายุที่เสียชีวิตแล้ว แต่ไม่ระบุไว้ในทะเบียนราษฎร์ จากการสุ่มสำรวจผู้สูงอายุเกิน 100 ปี ที่อาศัยในจังหวัดเพชรบุรีและนครปฐม มีหลายคนที่ในทะเบียนราษฎร์ระบุว่ายังมีชีวิต แต่ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว เช่น ในอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ทะเบียนราษฎร์ระบุว่ามีผู้อายุเกิน 100 ปี จำนวน 25 คน แต่ตรวจสอบแล้วพบว่ามีชีวิตอยู่ 2 คน

            "งานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้ยึดตัวเลขทะเบียนราษฎร์ เพราะข้อมูลไม่ถูกต้อง ดังนั้น จึงใช้วิธีการคาดประมาณตามแบบจำลองของนักประชากรศาสตร์ พบว่าตัวเลขที่แท้จริงของจำนวนผู้มีอายุเกิน 100 ปีทั่วประเทศมีประมาณ 1,309 คน แบ่งเป็นผู้หญิง 914 คน และผู้ชาย 395 คน ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน" น.ส.ศุทธิดากล่าว

            สำหรับข้อสรุปงานวิจัยดังกล่าวคือ คนไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะมีอายุเกิน 100 ปีมากขึ้น จากการเก็บข้อมูลเปรียบเทียบเมื่อปี 2503 กับปี 2553 ผู้สูงอายุเมื่อ 50 ปีที่แล้วจะมีอัตรารอดชีวิตน้อยกว่าผู้สูงอายุในทุกวันนี้ ซึ่งจะมีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้น หลังจากนี้จะลงพื้นที่ค้นหาผู้มีอายุเกิน 100 ปี เพื่อเก็บข้อมูลด้านการดำรงชีวิตอย่างไรถึงให้มีอายุยืน คาดว่างานวิจัยจะเสร็จสิ้นในเดือนมิถุนายนนี้ และจะเสนอให้หน่วยงานภาครัฐเร่งปรับปรุงแก้ไขฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ให้ถูกต้องใกล้เคียงความจริงมากที่สุด

 





 

  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



 

 


ขอขอบคุณข้อมูจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คนไทยอายุยืนขึ้น เผยอายุ 100 ปี มีเป็นพันคน อัปเดตล่าสุด 18 ธันวาคม 2556 เวลา 11:57:52 4,319 อ่าน
TOP