โรคฮีโมฟีเลีย (Hemoplilia) เลือดออกง่าย ไม่ระวังอาจอันตรายถึงชีวิต !

          โรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) หรือโรคเลือดออกง่าย หยุดยาก เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เกิดขึ้นได้ตั้งแต่เกิด และอยู่ติดกับเราไปตลอดทั้งชีวิต
โรคฮีโมพีเรีย

          ถ้าสังเกตว่าตัวเราเองมีอาการเลือดไหลไม่หยุด หรือลองได้เลือดตกยางออกแล้วกว่าจะห้ามเลือดกันก็ยากเหลือหลาย หากคุณหรือคนใกล้ตัวมีอาการอย่างนี้ ควรอย่างยิ่งที่จะมาทำความรู้จักโรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) หรือโรคเลือดออกง่าย หยุดยาก เพราะหากไม่ดูแลตัวเองให้ดี ๆ อาจอันตรายถึงชีวิตได้เลย

โรคฮีโมฟีเลีย คืออะไร

          โรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) คือ โรคเลือดออกง่าย หยุดยาก พบโรคนี้ครั้งแรกตั้งแต่เมื่อ 2,000 ปีก่อน ทว่าในปัจจุบันนี้ก็ยังคงพบผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียกันอยู่เรื่อย ๆ เนื่องจากโรคฮีโมฟีเลียเป็นโรคทางพันธุกรรม สามารถถ่ายทอดความผิดปกติจากพ่อแม่ไปสู่ลูกหลานได้ โดยอาการจะเกิดขึ้นกับทายาทเพศชาย แต่หากถ่ายทอดมาสู่ทายาทเพศหญิงก็จะกลายเป็นพาหะโรคฮีโมฟีเลียแฝง ส่งต่อความผิดปกติไปยังคนรุ่นหลังได้อีกเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 30 ของผู้ป่วยอาจไม่มีประวัติพบคนในครอบครัวมีความผิดปกติดังกล่าว ซึ่งอาจเป็นเพราะมีการกลายพันธุ์ของยีนตามธรรมชาติ

          ทั้งนี้โรคฮีโมฟีเลียจะมีอยู่ 3 ชนิดด้วยกัน คือ โรคฮีโมฟีเลียชนิด A โรคฮีโมฟีเลียชนิด B และโรคฮีโมฟีเลียชนิด C

โรคฮีโมพีเรีย
 
โรคฮีโมฟีเลีย สาเหตุเกิดจากอะไร

          ในร่างกายคนเราจะมีกลไกห้ามเลือดโดยอัตโนมัติ ซึ่งกลไกดังกล่าวจะต้องอาศัยการทำงานร่วมระหว่างการหดตัวของหลอดเลือด การเกาะกลุ่มของเกร็ดเลือด และการเกิดลิ่มเลือด โดยกลไกเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จำเป็นต้องใช้โปรตีนร่วมกันหลายชนิด ซึ่งทางการแพทย์จะเรียกโปรตีนนี้ว่าแฟคเตอร์ ทว่าในบางคนที่ขาดแฟคเตอร์ตัวใดตัวหนึ่งไป โดยเฉพาะหากขาดแฟคเตอร์ที่ 8 ก็จะปรากฏโรคฮีโมฟีเลียชนิด A ส่วนในคนที่ร่างกายขาดแฟคเตอร์ที่ 9 ผู้นั้นก็จะมีโรคฮีโมฟีเลียชนิด B ติดตัวมาด้วย ส่วนใครที่ขาดแฟคเตอร์ที่ 11 จะป่วยเป็นโรคฮีโมฟีเลียชนิด C ซึ่งไม่ว่าจะเป็นโรคฮีโมฟีเลียชนิดไหน ก็จะมีอาการเลือดไหลง่าย หยุดยากด้วยกันทั้งนั้น

โรคฮีโมพีเรีย

โรคฮีโมฟีเลีย อาการเป็นอย่างไร

          อาการของโรคฮีโมฟีเลียสามารถจำแนกได้ตามความรุนแรงของโรคซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 3 ระดับ ดังนี้

1. ชนิดรุนแรงมาก (Severe)

          อาการจะเริ่มแสดงให้เห็นเมื่อผู้ป่วยเริ่มหัดเดิน หัดคลาน แล้วเกิดหกล้ม ก่อให้เกิดพรายจ้ำเขียวตามแขน ขา และลำตัว ทั้งยังอาจมีเลือดออกในข้อและกล้ามเนื้อได้เองแม้ไม่มีปัจจัยภายนอกให้เกิดเลือดออกก็ตาม เช่น ตื่นเช้าขึ้นมาพบว่าข้อเข่าบวม มีอาการปวดมาก รวมทั้งมีรอยช้ำ รอยจ้ำเขียวคล้ายรอยเลือดคั่งในผิวเนื้อ และหากมีอาการเลือดออกเรื้อรังโดยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะนำมาสู่ภาวะข้อพิการ กล้ามเนื้อลีบ ข้อเข่าติด เหยียดกล้ามเนื้อได้ไม่เต็มที่ เดินไม่ถนัด หรือหากเกิดขึ้นกับข้อแขน ข้อศอก ก็จะทำให้ใช้แขนและมือได้ไม่ถนัด

          นอกจากนี้ในผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียในระดับรุนแรงมาก อาจพบว่ามีเลือดออกในทางเดินอาหาร ปัสสาวะเป็นเลือด รวมถึงเลือดออกในสมอง ซึ่งยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเสียชีวิตให้ผู้ป่วยมากขึ้น โดยเฉพาะหากผู้ป่วยไม่รู้ตัวและไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

2. ชนิดรุนแรงปานกลาง (Moderate)

          ผู้ป่วยจะมีอาการเลือดออกในข้อหรือกล้ามเนื้อ เมื่อได้รับอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย เช่น สะดุดล้มไม่แรงมาก ไม่มีเลือดออกให้เห็น แต่จริง ๆ แล้วผู้ป่วยจะมีเลือดออกในข้อหรือกล้ามเนื้อ โดยสังเกตได้จากรอยเขียวจ้ำ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา ก็จะทำให้เสี่ยงต่อภาวะข้อพิการได้

3. ชนิดรุนแรงน้อย (Mild)

          ผู้ป่วยมักจะมีเลือดออกมากเมื่อได้รับอันตรายถึงขั้นเลือดตกยางออก หรือต้องเจอกับเหตุการณ์ที่ทำให้เสียเลือด เช่น หกล้มเกิดแผลถลอก เข้ารับการผ่าตัด หรือถอนฟัน ซึ่งจะพบว่ามีอาการเลือดไหลไม่หยุด ห้ามเลือดได้ยาก แต่ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะไม่ค่อยมีอาการเลือดออกในข้อหรือกล้ามเนื้อ ส่วนมากผู้ป่วยจะสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับคนปกติ

โรคฮีโมพีเรีย

โรคฮีโมฟีเลีย รักษาอย่างไร

          แม้โรคฮีโมฟีเลียจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ในปัจจุบันก็มีวิธีรักษาโรคฮีโมฟีเลีย 2 ทางดังนี้

1. การรักษาแบบ Home Therapy

          เป็นการรักษาโรคฮีโมฟีเลียที่ใช้กันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2549 โดยผู้ป่วยสามารถใช้แฟคเตอร์ 8, 9 และ 11 ที่สกัดจากพลาสมาแล้วนำมาทำให้แห้งเป็นผงจนสามารถเก็บรักษาในตู้เย็นที่บ้าน ได้ ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยมีเลือดออกจึงสามารถนำแฟคเตอร์สกัดเข้มข้นไปผสมกับน้ำ กลั่น แล้วฉีดเข้าหลอดเลือดเพื่อทำให้เลือดแข็งตัวตามปกติได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาไปทำการรักษาที่โรงพยาบาล

2. การรักษาเฉพาะที่ ซึ่งมีดังนี้

          - การกดด้วยผ้าแห้งสะอาด

          สำหรับบาดแผลขนาดเล็ก เช่น แผลมีดบาดไม่ลึกมาก ให้รีบเช็ดแผลให้สะอาดแล้วกดบริเวณบาดแผลด้วยผ้าแห้งสะอาดนานอย่างน้อย 10 นาที

          - การประคบ

          ในกรณีที่มีรอยจ้ำเลือดขนาดใหญ่ ให้ประคบด้วยผ้าห่อน้ำแข็งนานครั้งละ 15-30 นาที ทุก 1-2 ชั่วโมง (ในช่วง 48 ชั่วโมงแรก) เพื่อให้เลือดหยุดไหล จากนั้นวันต่อ ๆ มาให้ประคบด้วยน้ำอุ่นนานครั้งละ 15-30 นาที วันละ 4-6 ครั้งเพื่อให้ก้อนเลือดสลายตัวเร็วขึ้น

          - การพันผ้ายืดพิเศษ (Elastic Bandage)

          ถ้ามีเลือดออกในข้อระยะแรก ให้พันผ้ายืดพิเศษทันที และพยายามอย่าลงน้ำหนักหรือเคลื่อนไหวข้อและกล้ามเนื้อที่มีอาการเด็ดขาด นอกจากนี้เพื่อความปลอดภัยก็ควรต้องฉีดแฟคเตอร์เข้มข้นร่วมด้วย

ฮีโมฟีเลีย

โรคฮีโมฟีเลีย ใช้บัตรทองหรือประกันสังคมรักษาได้หรือไม่ ?

          เมื่อปี 2558 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้อนุมัติสิทธิประโยชน์การรักษาโรคฮีโมฟีเลียให้ผู้ป่วยในสิทธิหลักประกัน สุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) โดยมีสิทธิ์ได้รับแฟคเตอร์เข้มข้นที่ 8 และ 9 สำหรับผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย A และ B

          ในส่วนของประกันสังคมนั้น ปัจจุบันยังไม่ได้รับสิทธิ์ในการรักษาโรคฮีโมฟีเลีย แต่อยู่ระหว่างการผลักดันเพื่อให้ได้รับสิทธิ์เช่นเดียวกับผู้ที่ใช้บัตรทอง

การดูแลผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย

          แม้วิวัฒนาการทางการแพทย์สมัยนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียมีคุณภาพ ชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมกับลดโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้นด้วยแล้ว ทว่าก็ยังมีข้อควรปฏิบัติตนของผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียที่อยากฝากเอาไว้ด้วย ตามนี้เลยค่ะ

          - หลีกเลี่ยงการกระทบกระแทกหรือกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่ออุบัติเหตุที่อาจนำมาซึ่งการเสียเลือด

          - พยายามหลีกเลี่ยงการขับขี่จักรยานหรือจักรยานยนต์ เพราะเป็นพาหนะที่สุ่มเสี่ยงต่อการล้มและเกิดการบาดเจ็บถึงขั้นเลือดตก ยางออกได้ง่าย

          - หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพรินซึ่งอาจทำให้เลือดออกในร่างกายได้ง่าย

          - ควรมีบัตรหรือสิ่งที่แสดงให้ผู้อื่นรู้ได้ว่าคุณป่วยโรคฮีโมฟีเลียชนิดใด และมีหมู่เลือดกรุ๊ปใด เผื่อมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นจะได้รับการรักษาที่ถูกทางและทันท่วงที

          โรคฮีโมฟีเลียอาจมีความรุนแรงและอันตรายถึงชีวิตได้ หากผู้ป่วยไม่ทราบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคนี้ ซึ่งอาจทำให้ละเลยการเตรียมตัวรักษาและการดูแลตนเองไป ดังนั้นหากพบว่าตัวเองเป็นคนเลือดออกง่าย แต่หยุดไหลยาก แนะนำให้สงสัยตัวเองไว้ก่อนว่าอาจป่วยเป็นโรคนี้ และรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูให้ชัดอีกครั้ง

       
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย
ชมรมผู้ป่วยเลือดออกง่าย ฮีโมฟีเลียแห่งประเทศไทย
คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
เครือข่ายกาญจนาภิเษก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคฮีโมฟีเลีย (Hemoplilia) เลือดออกง่าย ไม่ระวังอาจอันตรายถึงชีวิต ! อัปเดตล่าสุด 28 มิถุนายน 2561 เวลา 16:42:36 89,999 อ่าน
TOP
x close