กินโพรไบโอติกดีไหม เชื่อว่าเป็นคำถามที่หลายคนคาใจมาสักพัก เพราะข้อมูลบางด้านก็บอกว่าโพรไบโอติกมีประโยชน์ แต่กินมาก ๆ ก็อาจเกิดผลข้างเคียงได้ เอาเป็นว่ามาไขข้อข้องใจไปกับหมอเฉพาะทางเลยดีกว่า
ในยุคที่คนเริ่มหันมาสนใจอาหารเพื่อสุขภาพและอาหารเสริม โพรไบโอติก (Probiotic) หรืออาจเรียกกันว่าโปรไบโอติก ก็เป็นหนึ่งในอาหารที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง ว่าแต่โพรไบโอติก ดีจริงไหม กินเพื่ออะไร ใครควรกิน หรือใครที่ควรระวังในการรับประทาน วันนี้เราได้หยิบข้อมูลดี ๆ จากเพจเฟซบุ๊ก Health online by หมอเฉพาะทางโรคทางเดินอาหารและตับ มาตอบทุกข้อสงสัย ว่าแล้วก็ตามไปอ่านข้อมูลสุขภาพดี ๆ กันได้เลย
โดยคุณหมอเล่าว่า หนึ่งในคำถามที่เจอมากที่สุดเวลาตรวจคนไข้ ถือเป็นเรื่องยอดฮิตที่คนไข้สมัยนี้ให้ความสนใจกันมาก ก็คือ "หม่ำโพรไบโอติกดีไหมครับหมอ ?" วันนี้คุณหมอจึงขอมาเล่าให้พวกเราฟังกัน
โพรไบโอติกคืออะไร ?
ในระบบทางเดินอาหารของร่างกายคนเราประกอบไปด้วยแบคทีเรียที่ดีและไม่ดี เวลาเราติดเชื้อ แบคทีเรียที่ไม่ดีเจริญเติบโตมากขึ้น กดแบคทีเรียที่ดีให้ลดลง ทำให้ระบบในร่างกายไม่สมดุล ส่วนโพรไบโอติกคือแบคทีเรียหรือยีสต์ที่อยู่ในร่างกายโดยธรรมชาติ เป็นแบคทีเรียหรือยีสต์ที่ดี มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่าง โดยสมดุลในร่างกายแต่ละคนมีเชื้อแบคทีเรียไม่เหมือนกัน แม้เป็นแฝดกัน
ต้องมีคุณสมบัติอะไรถึงเรียกว่าโพรไบโอติก ?
- อยู่ในลำไส้ได้หลังโดนย่อย
- มีประโยชน์ต่อร่างกาย
- สามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย
โพรไบโอติกอยู่ในร่างกายที่ไหนบ้าง ?
ส่วนใหญ่จะอยู่ในระบบทางเดินอาหารโดยเฉพาะลำไส้ใหญ่ แต่ยังอยู่ในร่างกายที่อื่นด้วย เช่น ในปาก ปอด ช่องคลอด เป็นต้น
โพรไบโอติกมีหน้าที่อย่างไร ?
เวลาเราติดเชื้อ แบคทีเรียที่ไม่ดีเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้ระบบในร่างกายขาดสมดุล โพรไบโอติกมีหน้าที่สู้กับแบคทีเรียที่ไม่ดี เพื่อปรับให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะสมดุล ส่วนหน้าที่อื่น ๆ ของโพรไบโอติก เช่น
- ช่วยย่อยอาหาร
- ช่วยสร้างวิตามิน
- ช่วยย่อยและดูดซึมยาบางชนิด
- ช่วยป้องกันเยื่อบุทางเดินอาหาร
โพรไบโอติกมีเชื้อตัวไหนบ้าง ?
แบคทีเรียที่ดีหลายตัวถือเป็นโพรไบโอติก ตัวที่ใช้บ่อยคือ Lactobacillus และ Bifidobacterium ยีสต์ที่เป็นโพรไบโอติก คือ Saccharomyces boulardii
เราสามารถกินโพรไบโอติกจากอาหารได้ไหม ?
ได้ครับ โพรไบโอติกมีอยู่ในอาหารที่เรารับประทาน เช่น
- โยเกิร์ต
- นม
- ขนมปัง
- ชีส
- ผักดอง, กิมจิ
โพรไบโอติกที่ไม่อยู่ในอาหาร มีรูปแบบไหนบ้าง ?
- เม็ดแคปซูล
- ผงละลายน้ำ
- ในรูปยาน้ำ
แล้วพรีไบโอติกและซินไบโอติกคืออะไร ?
พรีไบโอติก คือ อาหารของแบคทีเรียที่ดี ทำให้โพรไบโอติกเจริญเติบโตมากขึ้น เช่น Inulin, Pectin, Resistant starches
ส่วนถ้ารวมกันระหว่างพรีไบโอติกและโพรไบโอติก เรียกว่า ซินไบโอติก ซึ่งช่วยเสริมฤทธิ์กัน
โพรไบโอติกมีประสิทธิภาพจริงไหม ?
ในหลายปีที่ผ่านมามีงานวิจัยจำนวนมากเกี่ยวกับโพรไบโอติก บางงานวิจัยบอกว่ามีประโยชน์ บางงานบอกว่าไม่มีประโยชน์ ปัจจุบันโพรไบโอติกยังไม่ได้รับการยอมรับเป็นการรักษาที่แน่ชัด แต่อาจมีประโยชน์สำหรับคนไข้เป็นราย ๆ ไป ดังนั้นจึงควรสอบถามแพทย์ก่อนรับประทานโพรไบโอติก เพราะอาจมีประโยชน์กับคนหนึ่ง แต่ไม่ได้ผลกับอีกคนหนึ่งได้ ซึ่งอาจจะต้องรอผลงานวิจัยเพิ่มเติมต่อไป
โพรไบโอติกใช้กับโรคไหนบ้าง ?
ในงานวิจัย มีการทดลองใช้โพรไบโอติกในโรคต่าง ๆ เหล่านี้ แต่ยังไม่รับรองผลว่าเป็นการรักษา
- ท้องเสียเฉียบพลัน
- ท้องเสียจากแบคทีเรีย C. Difficile
- ท้องผูก
- ลำไส้อักเสบเรื้อรัง
- ลำไส้แปรปรวน
- ภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่อง
รับประทานโพรไบโอติกปลอดภัยไหม ?
โพรไบโอติกคือเชื้อดีที่มีอยู่ในร่างกายอยู่แล้ว โดยทั่วไปถือว่าอาหารหรืออาหารเสริมที่เป็นโพรไบโอติกค่อนข้างปลอดภัย ถ้าเริ่มรับประทานช่วงแรกมีรายงานว่าอาจจะมีปวดท้อง ถ่ายเหลว ท้องอืดได้บ้าง หลังจากนั้นอาการมักจะค่อย ๆ ดีขึ้น
คนกลุ่มไหนไม่ควรรับประทานโพรไบโอติก ?
- มีโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ได้รับยาเคมีบำบัด
- อยู่ในภาวะเจ็บป่วยวิกฤต
- เพิ่งได้รับการผ่าตัด
เราควรลองรับประทานโพรไบโอติกไหม ?
ในปัจจุบันงานวิจัยยังไม่ชัดเจนว่าโพรไบโอติกเป็นการรักษาที่ได้ประโยชน์ ยังคงต้องรองานวิจัยเพิ่มเติม ก่อนที่สมาคมทางการแพทย์จะรับรองเป็นการรักษา โดยทั่วไปโพรไบโอติกถือว่าค่อนข้างปลอดภัย ในบางคนกินแล้วอาจได้ประโยชน์ แต่อีกคนกินแล้วอาจจะไม่ได้ประโยชน์ ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน
ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณความรู้ดี ๆ จากเพจ Health online by หมอเฉพาะทางโรคทางเดินอาหารและตับ กันอีกครั้ง ที่ทำให้เราได้รู้จักทั้งโพรไบโอติก พรีไบโอติก และซินไบโอติก อย่างเข้าใจกันมากขึ้น คราวนี้ใครอยากให้โพรไบโอติกช่วยดูแลสุขภาพก็ลองเลือกกินอาหารที่มีสารเหล่านี้ดู หรือหากอยากเสริมโพรไบโอติกในระดับที่มากกว่าการรับประทานอาหารในแต่ละวัน แนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้องกับโพรไบโอติก
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : เฟซบุ๊ก Health online by หมอเฉพาะทางโรคทางเดินอาหารและตับ