แอสปาร์แตม (Aspartame) อันตรายไหม น้ำตาลเทียมชนิดนี้อยู่ในอาหารอะไรบ้าง

           แอสปาร์แตม (Aspartame) หรือสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่หลายคนรู้จักกันในนามน้ำตาลเทียมชนิดหนึ่ง ถูก WHO จัดให้เป็นสารที่อาจก่อมะเร็งในมนุษย์ได้ แท้จริงแล้วสารนี้อันตรายจริงหรือไม่ เราเลยต้องมาเคลียร์ใจกันหน่อย
แอสปาร์แตม

           แอสปาร์แตม (Aspartame) ที่หลายคนบริโภคแทนน้ำตาลจริง ๆ กันมาเป็นเวลานาน เพราะมักถูกใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาล หรือเครื่องดื่มไดเอตทั้งหลาย อยู่ ๆ เจ้าสารให้ความหวานแทนน้ำตาลชนิดนี้ก็ถูกตราหน้าว่าเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งทำให้เกิดความตระหนกตกใจกันในวงกว้าง แต่สรุปแล้ว แอสปาร์แตม (Aspartame) อันตรายจริงไหม แล้วเหตุผลที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาประกาศแบบนี้เป็นเพราะอะไร เรามาหาคำตอบไปพร้อมกัน

แอสปาร์แตม (Aspartame) คืออะไร

แอสปาร์แตม

           แอสปาร์แตม (Aspartame) คือ กรดอะมิโน 2 ชนิดต่อกัน ได้แก่ กรดฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine) และกรดแอสปาร์ติก (Aspartic acid) ซึ่งเป็นกรดที่ได้มาจากการย่อยสารอาหารประเภทโปรตีน โดยลักษณะของแอสปาร์แตมเป็นผงผลึกสีขาวสะอาดไม่มีกลิ่น มีรสหวานคล้ายน้ำตาลซูโครส และเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล หรือน้ำตาลเทียมที่มีรสชาติใกล้เคียงกับน้ำตาลทรายมากที่สุด

แอสปาร์แตม หวานกี่เท่าของน้ำตาล

          ถ้าวัดระหว่างแอสปาร์แตมกับน้ำตาลทรายในปริมาณเท่า ๆ กัน แอสปาร์แตมจะหวานกว่าประมาณ 200-300 เท่าของน้ำตาลทราย และให้พลังงานเท่ากับน้ำตาลทราย คือ 4 กิโลแคลอรีต่อกรัม หรือถ้าเทียบกับความหวานจากน้ำตาลซูโครส แอสปาร์แตมก็จะหวานกว่าราว ๆ 160-220 เท่าเลยทีเดียว

แอสปาร์แตม อยู่ในอาหารอะไรบ้าง

อาหาร Sugar free

         เราสามารถพบสารให้ความหวานแทนน้ำตาลอย่างแอสปาร์แตมได้ทั้งในอาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ เช่น

  • เครื่องดื่มปราศจากน้ำตาล โดยเฉพาะในน้ำอัดลมไดเอต หรือน้ำอัดลมปราศจากน้ำตาล

  • ผลิตภัณฑ์น้ำตาลเทียมแบบผง ที่ใช้เติมความหวานในเครื่องดื่มหรืออาหารต่าง ๆ 

  • ซีเรียลชนิด Sugar Free

  • เบเกอรี่ Sugar Free

  • หมากฝรั่ง หรือลูกอม Sugar Free

  • ไอศกรีม Sugar Free

  • ยาสำหรับเด็กบางชนิด Sugar Free โดยเฉพาะยาแก้ไอ

          นอกจากนี้อาจจะเห็นแอสปาร์แตมได้ในเครื่องดื่มหรืออาหารที่ระบุสรรพคุณว่า Sugar Free แคลอรีต่ำ ไม่ทำให้อ้วน โดยเขาจะใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลนั่นเองค่ะ

แอสปาร์แตม อันตรายไหม มีโทษอย่างไร

          แอสปาร์แตมเป็นสารให้ความหวานที่เกิดจากกระบวนการสังเคราะห์ จึงจัดเป็นสารเคมีชนิดหนึ่ง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ก็เคยไม่อนุญาตให้ใช้สารนี้ในอาหารเมื่อปี ค.ศ. 1974 เนื่องจากพบข้อมูลความผิดปกติของสัตว์ทดลองหลังใช้แอสปาร์แตม แต่ในเวลาต่อมามีข้อมูลเพิ่มเติมมากขึ้นก็ได้พิจารณาใหม่และอนุญาตให้ใช้แอสปาร์แตมได้ในปี ค.ศ. 1981 โดยกำหนดให้บริโภคแอสปาร์แตมได้ไม่เกิน 40 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ขณะที่ในประเทศไทยก็อนุญาตให้ใช้แอสปาร์แตมเป็นส่วนผสมของอาหารบางชนิดในปริมาณที่กฎหมายกำหนด

          อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยที่พบว่า การรับประทานสารให้ความหวานแทนน้ำตาล โดยเฉพาะแอสปาร์แตม มีส่วนกระตุ้นให้รู้สึกอยากกินน้ำตาลเพิ่มขึ้น และมีผลกระทบต่ออารมณ์เชิงลบ ทำให้นอนไม่หลับ ซึมเศร้า กระตุ้นความตื่นตัว เพิ่มสารที่ก่อให้เกิดความเครียด (Cortisol) รวมถึงเพิ่มอนุมูลอิสระที่มากเกินไป ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของสมองและสุขภาพของระบบประสาทได้ด้วย ขณะที่บางคนเมื่อรับประทานแล้วอาจเกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ผื่นขึ้น อ่อนเพลีย ไปจนถึงภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ

          นอกเหนือจากนี้ยังมีข้อมูลคัดค้านการใช้สารแอสปาร์แตมออกมาเรื่อย ๆ บ้างก็ว่าแอสปาร์แตมเป็นสารที่สลายตัวได้ในอุณหภูมิสูง ๆ และจะกลายเป็นสารพิษและองค์ประกอบที่อันตรายอื่น ๆ เช่น เมทานอล (methanol) ดีเคพี (DKP : difetopierzine) หากนำแอสปาร์แตมใส่ลงในอาหารที่ร้อนจัด ความร้อนอาจทำลายโครงสร้างน้ำตาล และนี่อาจกลายเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งได้ แต่ข้อมูลทั้งหมดยังไม่เป็นที่สรุป ดังนั้น ในปัจจุบันแอสปาร์แตมจึงยังได้รับอนุญาตให้ใช้กันทั่วโลก

แอสปาร์แตม ก่อมะเร็งได้จริงไหม

แอสปาร์แตม

         เกี่ยวกับเรื่องนี้ทางสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ (IARC) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ให้ข้อมูลเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 โดยระบุว่า WHO จัดให้แอสปาร์แตมเป็นสารในกลุ่ม 2B (IARC Group 2B) หรือสารที่เป็นไปได้ว่าจะก่อมะเร็งในมนุษย์ เพื่อเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าพบข้อมูลยืนยันการก่อมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการก่อมะเร็งตับชนิด Hepatocellular carcinoma เพียงแต่หลักฐานดังกล่าวยังมีจำนวนจำกัดแค่ไม่กี่กรณีศึกษา และแทบจะไม่พบหลักฐานเลยทั้งในคน สัตว์ และจากการทดลองในห้องปฏิบัติการ

         อย่างไรก็ตาม ทาง WHO ได้ระบุอีกด้วยว่า การประกาศจัดกลุ่มสารให้ความหวานชนิดแอสปาร์แตมเป็นสารในกลุ่ม 2B ไม่ได้หมายความว่าสารแอสปาร์แตมจะกลายเป็นสารอันตรายที่ห้ามใช้ และปริมาณการบริโภคที่ไม่เกิน 40 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ก็ยังคงมีความปลอดภัย เพราะหากจะรับประทานแอสปาร์แตมเกินกำหนดดังกล่าว เราอาจต้องดื่มน้ำอัดลมที่มีแอสปาร์แตมราว ๆ 200-300 มิลลิกรัม ประมาณ 9-14 กระป๋อง (คำนวณในคนที่มีน้ำหนักตัวประมาณ 70 กิโลกรัม) ซึ่งก็ถือว่าค่อนข้างเป็นไปได้ยากที่ใครจะดื่มน้ำอัดลมมากขนาดนั้นต่อวันได้

         แต่ทั้งนี้การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพอื่น ๆ กับการใช้แอสปาร์แตม ยังคงต้องมีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมต่อไปอยู่นะคะ

ถ้าไม่ใช้แอสปาร์แตม จะใช้อะไรแทนดี

สารให้ความหวานแทนน้ำตาล

         สำหรับคนที่อยากหลีกเลี่ยงน้ำตาลจริง ๆ และต้องการจะใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล คงอยากจะรู้กันว่า ถ้าไม่ใช้แอสปาร์แตมจะเปลี่ยนมาใช้สารให้ความหวานชนิดไหนดี ซึ่งข้อมูลที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน สามารถใช้สารให้ความหวานชนิดต่อไปนี้ได้ในปริมาณที่เหมาะสม

  • สตีวิโอไซด์ (Stevioside) ที่สกัดมาจากหญ้าหวาน โดยควรจำกัดการบริโภคให้ไม่เกิน 4 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน 

  • สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลชนิดให้พลังงาน จำพวกน้ำตาลแอลกอฮอล์ เช่น แมนนิทอล, ไซลิทอล, ซอร์บิทอล ที่มักจะพบได้ในหมากฝรั่ง ลูกอม ไอศกรีม หรืออาหารแช่เยือกแข็ง เป็นต้น โดยสารให้ความหวานในกลุ่มนี้อาจพบอาการท้องอืดจากกรดแก๊สในลำไส้ หรือกระตุ้นอาการปวดอุจจาระได้ เพราะเป็นน้ำตาลชนิดที่ย่อยได้ช้าและย่อยค่อนข้างยากนั่นเอง

  • น้ำผึ้ง ซึ่งเป็นน้ำตาลจากธรรมชาติ แต่ก็ควรจำกัดปริมาณไม่รับประทานมากจนเกินไป เพราะในน้ำผึ้งก็มีส่วนประกอบของน้ำตาลกลูโคสและฟรักโทส ที่อาจทำให้ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงได้
          อย่างไรก็ตาม หลาย ๆ ฝ่ายก็เชื่อกันว่าการประกาศให้แอสปาร์แตมเป็นสารก่อมะเร็งจะกระทบกับวงการอาหารและเครื่องดื่มในวงกว้าง และอาจนำไปสู่การศึกษาวิจัยถึงโทษหรือผลข้างเคียงของแอสปาร์แตมเพิ่มเติม ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ไม่น้อยเลยว่าไหมล่ะคะ

บทความที่เกี่ยวข้องกับสารให้ความหวานแทนน้ำตาล

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แอสปาร์แตม (Aspartame) อันตรายไหม น้ำตาลเทียมชนิดนี้อยู่ในอาหารอะไรบ้าง อัปเดตล่าสุด 19 กรกฎาคม 2566 เวลา 09:18:47 58,207 อ่าน
TOP
x close