
พาราไทรอยด์โรคร้ายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง (Slim up)
โดย พญ.สมพร วงศ์เราประเสริฐ อายุรแพทย์เบาหวาน ไทรอยด์และต่อมไร้ท่อประจำโรงพยาบาลเวชธานี
หากใครที่พอจะติดตามข่าวอาการป่วยด้วยโรคพาราไทรอยด์ของคุณสเตลล่า มาลูกี้ นางเอกภาพยนตร์เรื่องฟ้าทะลายโจรมาบ้าง อาจจะรู้สึกว่าทำไมโรคพาราไทรอยด์ถึงได้มีพิษสงร้ายกาจขนาดนี้ และอะไรเป็นสาเหตุให้เกิดโรค รวมถึงใครบ้างที่มีโอกาสเสี่ยง และเราจะเป็นหนึ่งในนั้นหรือไม่
โรคพาราไทรอยด์มีหลายประเภท ทั้งที่ทำงานมากและทำงานน้อยผิดปกติ แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะโรคพาราไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ ซึ่งเกิดได้จากทั้งเนื้องอกที่ต่อมพาราไทรอยด์ และกรณีที่ต่อมพาราไทรอยด์โตขึ้นเอง
สำหรับในกลุ่มที่เป็นเนื้องอกมักไม่เป็นเนื้อร้าย มีเพียงน้อยกว่าร้อยละ 1 ที่เป็นมะเร็งต่อมพาราไทรอยด์ ซึ่งเนื้องอกเหล่านี้มักไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด พบเพียงกลุ่มน้อยที่มาจากกรรมพันธุ์ และในหลายกรณีจะมีโรคแปลก ๆ ร่วมด้วย เช่น เนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง เนื้องอกที่ตับอ่อน หรือแม้แต่มะเร็งไทรอยด์ โดยในกลุ่มที่เป็นกรรมพันธุ์มักพบในกลุ่มที่มีอายุน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่มีสาเหตุ ซึ่งมักพบในผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป
ส่วนต่อมพาราไทรอยด์โตนั้น บางครั้งไม่มีสาเหตุ แต่กลุ่มที่มีความเสี่ยงได้แก่ ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ไม่ได้รับการฟอกไตอย่างเพียงพอ ทำให้ร่างกายขาดวิตามินดี และมีสารฟอสฟอรัสคั่งมาก ต่อมพาราไทรอยด์จึงทำงานหนักและโตขึ้นในที่สุด

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ต่อมพาราไทรอยด์นั้นแตกต่างจากต่อมไทรอยด์โดยสิ้นเชิง คำว่า "พารา" ที่อยู่หน้าคำว่าไทรอยด์มีความหมายว่าข้างเคียง ดังนั้นคำว่า "พาราไทรอยด์" ก็คือ "ต่อมเคียงไทรอยด์" ซึ่งเป็นการบอกแค่ว่า ต่อมนี้อยู่ด้านหลังไทรอยด์ มีจำนวน 4 ต่อม ขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียว ถ้าจะเปรียบเทียบความแตกต่างของหน้าที่การทำงาน ก็คือต่อมไทรอยด์เป็นเหมือนน้ำมันเชื้อเพลิงช่วยในการเผาผลาญอาหาร ผลิตความร้อนให้ร่างกาย ช่วยให้หัวใจเต้นปกติ รวมทั้งทำให้ระบบประสาททำงานอัตโนมัติ กล่าวคือ สมองทำงานเป็นปกติ
ส่วนต่อมพาราไทรอยด์ เป็นเหมือนโครงสร้างรถ มีหน้าที่ปรับสมดุลแคลเซียมในร่างกายด้วยการดึงแคลเซียมจากกระดูกออกมากยังกระแสเลือด ดูดกลับแคลเซียมที่ห่อไตมาสู่กระแสเลือด รวมทั้งช่วยให้การทำงานของวิตามินดีเป็นปกติ ซึ่งมีผลต่อการดูดซึมแคลเซียมในลำไส้
เพราะฉะนั้นหากมีฮอร์โมนพาราไทรอยด์มากเกินไป ระดับแคลเซียมในกระแสเลือดจะสูง เมื่อแคลเซียมในกระดูกถูกดึงออกมามาก ๆ กระดูกก็จะบางลง และเป็นโรคกระดูกพรุนในที่สุด และเมื่อแคลเซียมสูงมาก ๆ จะส่งผลต่อหัวใจ ร่างกายจึงพยายามปกป้องหัวใจด้วยการขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ ไตทำงานหนัก เมื่อร่างกายขาดน้ำมาก ๆ ทำให้เสี่ยงต่อภาวะไตวาย และเมื่อมีแคลเซียมอยู่ในปัสสาวะมาก ก็ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นนิ่วในไต หลายคนที่เป็นเรื้อรังมากจะมีอาการปวดท้องบ่อย ๆ หรือมีอาการทางจิตเวช หรือมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงได้

บางรายเป็นระยะเริ่มแรกมักไม่มีอาการ แต่จะพบได้จากการตรวจระดับแคลเซียมในเลือดว่ามีค่าสูงผิดปกติหรือไม่ แต่เมื่อถึงระดับหนึ่งจะเริ่มปัสสาวะบ่อยและกระหายน้ำ แต่อาการเหล่านี้จะพบในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานได้บ่อยกว่า เนื่องจากโรคพาราไทรอยด์ไม่ใช่โรคที่พบได้บ่อยพบเพียง 1 ใน 1,000 เท่านั้น ในขณะที่เบาหวานพบว่ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื้อย ๆ ปัจจุบันมีอุบัติการณ์ของเบาหวานในคนไทย อายุมากกว่า 35 ปี ถึงเกือบร้อยละ 10
อีกกลุ่มหนึ่งของโรคพาราไทรอยด์ เมื่อพบจากการที่กระดูกพรุนแล้ว แพทย์จึงจะเจาะเลือดตรวจดู หากพบว่ามีระดับแคลเซียมในเลือดสูงจึงจะหาสาเหตุต่อไป อย่างไรก็ตาม ขอเน้นว่าโรคนี้พบได้ไม่บ่อย และสาเหตุหลักส่วนใหญ่ของโรคกระดูกพรุนมักมาจากอายุที่มากขึ้น ฮอร์โมนเพศต่ำลง เช่น หมดประจำเดือน เป็นต้น โรคพาราไทรอยด์จึงไม่ใช่สาเหตุหลักของโรคกระดูกพรุน

หากเป็นชนิดไม่มีสาเหตุไม่สามารถป้องกันได้ มีเพียงการตรวจเลือด เพื่อเฝ้าระวังเท่านั้น เนื่องจากโรคนี้พบไม่มาก การตรวจสุขภาพดูระดับแคลเซียมในเลือดทุกปีจึงอาจไม่คุ้มค่า ในกลุ่มที่มีเหตุ เช่น โรคไตวายเรื้อรัง สามารถป้องกันได้ด้วยการติดตามระดับแคลเซียม ฟอสฟอรัส และฮอร์โมนพาราไทรอยด์เป็นระยะ
พาราไทรอยด์ แม้จะเป็นเพียงต่อมเล็ก ๆ แต่มีหน้าที่สำคัญในการปรับความสมดุลของระดับแคลเซียมในเลือด หากพาราไทรอยด์ทำงานผิดปกติจะส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายมากมาย และถึงแม้สาเหตุส่วนหนึ่งของโรคจะยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่อย่างน้อยการตรวจสุขภาพประจำปีก็จะช่วยทำให้เราทราบถึงความผิดปกติ เพื่อจะได้รับมือตั้งแต่เนิ่น ๆ

การรักษาหลักคือ การผ่าตัดเนื้องอกออก การจะทราบว่ามีเนื้องอกกี่ก้อนต้องผ่านการตรวจด้วยวิธี "พาราไทรอยด์สแกน" เสียก่อน บางคนที่มีข้อห้ามในการผ่าตัดอาจใช้การฉีดแอลกอฮอล์ที่เนื้องอกเพื่อให้เนื้องอกฝ่อ แต่ต้องทำโดยผู้ที่ชำนาญและผลการรักษาก็ไม่ดีเท่าการผ่าตัด โดยให้ผลดีในก้อนเนื้องอกเดี่ยว ๆ มากกว่าต่อมพาราไทรอยด์โตทั่ว ๆ ไป การรักษาแบบสุดท้ายคือใช้ยารับประทาน ซึ่งผลการรักษาไม่ดีนัก และใช้รักษาในผู้ที่มีอาการไม่มากหรือไม่มีอาการเลย


หลังจากที่ทราบว่าเป็นโรคพาราไทรอยด์ หากเป็นผู้ที่ไม่มีอาการใด ๆ คือตรวจพบโดยบังเอิญ ในกลุ่มนี้จะไม่ได้รับการรักษา แต่จำเป็นต้องติดตามผลเลือดได้แก่ ค่าแคลเซียมและการทำงานของไตทุก ๆ ปี ร่วมกับตรวจมวลกระดูกเพื่อเฝ้าระวังภาวะกระดูกบางทุก ๆ 2 ปี ระหว่างนี้ควรปฏิบัติตัวที่ช่วยเสริมสร้างมวลกระดูกด้วยการรับประทานอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมและวิตามินดีที่เหมาะสม ไม่มากไม่น้อยเกินไป
โดยเด็กอายุ 1-3 ปี ควรได้รับปริมาณแคลเซียมวันละ 700 มิลลิกรัม สำหรับเด็กที่มีอายุ 4-8 ปีควรได้รับวันละ 1,000 มิลลิกรัม วัยรุ่นอายุ 9-18 ปีควรได้รับวันละ 1,300 มิลลิกรัม ในขณะที่ผู้ใหญ่ที่มีอายุตั้งแต่ 19-50 ปี ควรได้รับวันละ 1,000 มิลลิกรัม หญิงมีครรภ์ควรได้รับ 1,500 มิลลิกรัม ส่วนผู้หญิงที่มีอายุ 51 ปีขึ้นไป และผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 71 ปีขึ้นไปนั้นควรได้รับแคลเซียมอย่างน้อยวันละ 1,200 มิลลิกรัม
แหล่งของแคลเซียมมีหลากหลายมาก อย่างผักใบเขียวทั้งหลาย ถั่ว เต้าหู้ สัตว์น้ำเล็ก ๆ เช่น กุ้งและปลา ไม่ว่าจะเป็นกุ้งฝอย กุ้งแห้ง กุ้งแก้ว ปลาซิว ปลาแห้ง ปลากรอบ ปลาป่นสำเร็จรูป ผักในบ้านเราที่มีแคลเซียมมากมีอยู่มากมาย เช่น ใบยอ ใบชะพลู ยอดแค ยอดสะเดา ผักคะน้า นอกจากนี้ในงาดำ ถั่วแดงหลวง ถั่วเหลือง เม็ดบัวก็มีแคลเซียมมาก
ส่วนวิตามินดีก็จำเป็นต่อการสร้างมวลกระดูกอย่างมาก ทั้งยังช่วยในการดูดซึมแคลเซียม ในผู้ที่มีภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ มักพบว่าขาดวิตามินดีอยู่บ่อยครั้ง วิตามินดีที่ควรได้รับต่อ 1 วัน คือ 600 IU (International Unit) ทั้งนี้ในผู้ที่อายุมากกว่า 70 ปีเป็นต้นไปควรได้รับถึง 800 IU ต่อวัน แหล่งอาหารที่มีวิตามินดี ได้แก่


ทั้งนี้ปริมาณของวิตามินดีในอาหารอาจเปลี่ยนแปลงได้มากตามฤดูกาล และภาวะแวดล้อมต่าง ๆ
นอกจากเรื่องของอาหารที่ควรคำนึงถึงแล้ว ผู้ป่วยหรือผู้ที่มีไตวายเรื้อรังยังควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้มวลกระดูกลดลง อาทิ บุหรี่ ชา กาแฟ น้ำอัดลม และควรดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วที่ไต และหลีกเลี่ยงยาที่จะให้ปริมาณแคลเซียมในเลือดสูงเกิน เช่น ยาขับปัสสาวะ หรือยาจิตเวชบางชนิด ฉะนั้นหากต้องรับยาใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
ส่วนในผู้ที่เป็นโรคต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติและได้รับการรักษา เช่นได้รับการผ่าตัดแล้ว จะพบว่าระดับแคลเซียมในเลือดและค่าการทำงานของไตมักจะดีขึ้นตามลำดับ และมวลกระดูกจะเพิ่มขึ้น ในกลุ่มนี้ควรปฏิบัติตัวดังคำแนะนำข้างต้น และติดตามการรักษา รวมทั้งพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นใหม่ของโรค

การออกกำลังกายเพื่อช่วยเสริมสร้างมวลกระดูกนับเป็นสิ่งที่ดี ผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกายมีแต่จะสูญเสียมวลกระดูกไป กระดูกก็เหมือนกับกล้ามเนื้อยิ่งออกกำลังกายก็ยิ่งแข็งแรง การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่มีแรงกดดันต่อกระดูกจะกระตุ้นให้มีการสร้างกระดูกใหม่ ๆ ขึ้น แต่ผู้ป่วยควรดื่มน้ำให้เพียงพอระหว่างการออกกำลังกาย เพื่อลดการสูญเสียน้ำซึ่งจะทำให้แคลเซียมในร่างกายสูงเกินไป ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกาย เพื่อตรวจสภาพของร่างกาย รวมทั้งรับทราบถึงข้อห้ามต่าง ๆ เพื่อจะได้นำไปปรับใช้ และเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรงได้อย่างเต็มที่ต่อไป
เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
