x close

ไข้อีดำอีแดงระบาดฮ่องกง ดับแล้ว 2 - สธ.ไทยวอนอย่าตื่น







เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล


          ไข้อีดำอีแดงระบาดฮ่องกง ป่วยนับร้อย ดับแล้ว 2 ด้าน สธ.ไทยวอนประชาชนอย่าตื่น ชี้ไม่ใช่โรคใหม่ ในไทยก็พบผู้ป่วยแต่อาการไม่รุนแรง

          สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า วานนี้ (23 มิถุนายน) กระทรวงสาธารณสุขฮ่องกงออกมายอมรับว่า ขณะนี้ได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้อีดำอีแดง หรือไข้สกาเลต (Scarlet Fever) ในฮ่องกง และคร่าชีวิตเด็กไปแล้ว 2 คน

          โดยเด็กคนแรกที่เสียชีวิตจากโรคไข้อีดำอีแดงเป็นเด็กผู้หญิงวัย 7 ขวบที่ป่วยหนักจนเสียชีวิตไปเมื่อเดือนที่แล้ว ก่อนที่เด็กชายวัย 5 ขวบจะเสียชีวิตไปอีกรายเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (21 มิถุนายน) ซึ่งโฆษกหญิงประจำศูนย์พิทักษ์สุขภาพของฮ่องกง ระบุว่า เด็กชายคนดังกล่าวเสียชีวิตจากเชื้อไข้อีดำอีแดงที่ระบาดอยู่ในขณะนี้ 

          ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขฮ่องกงยังรายงานด้วยว่า ในฮ่องกงมีผู้ติดเชื้อรวมเกือบ 500 ราย และหากนับรวมผู้ติดเชื้อทั้งหมดทั้งในฮ่องกง และประเทศจีนแผ่นดินใหญ่แล้ว คาดว่ามีผู้ติดเชื้อนับพันคนเลยทีเดียว ซึ่งถือเป็นสถิติที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยสูงกว่ายอดผู้ป่วยเมื่อปีที่แล้วทั้งปีกว่า 3 เท่า

          ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ในท้องถิ่นของฮ่องกง กล่าวว่า เชื้อไข้อีดำอีแดงที่ระบาดในปีนี้อาจเป็นสายพันธุ์ใหม่ซึ่งทำให้การระบาดรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา และติดต่อกันได้ง่ายขึ้น ซึ่งล่าสุดมีโรงเรียนอนุบาลหลายแห่งประกาศปิดเรียนนาน 1 สัปดาห์ เพื่อฆ่าเชื้อโรคตามห้องเรียนแล้ว

          ขณะที่ประเทศไทย นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงโรคไข้อีดำอีแดงที่ระบาดในฮ่องกง ว่า โรคไข้ดำแดง หรือ ไข้อีดำอีแดง (Scarlet Fever) ไม่ได้เป็นโรคใหม่ สามารถพบได้ทั่วไป ส่วนในประเทศไทยก็พบโรคนี้มานานแล้ว และพบทุกกลุ่มอายุ แต่พบมากที่สุดในเด็กวัย 2 - 14 ปี คิดเป็นร้อยละ 60 แต่ไม่เคยมีรายงานเสียชีวิตในไทย ซึ่งในปี 2554 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงปัจจุบัน พบผู้ป่วยไข้ดำแดงแล้ว 524 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิต

          อย่างไรก็ดีในการป้องกันโรคดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เร่งเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อดูแลป้องกันการเกิดโรค โดยจุดที่เน้นย้ำให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษได้แก่สถานเลี้ยงเด็กเล็กหรือเนิร์สเซอรี่ โรงเรียนอนุบาลและระดับประถมศึกษาตอนต้น ซึ่งมีเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก ขอให้ดูแลรักษาความสะอาดของใช้ เครื่องเล่นในโรงเรียน โดยให้ล้าง เช็ดทำความสะอาดทุกวัน และให้สังเกตอาการผิดปกติของเด็ก หากพบเด็กป่วย มีไข้สูง ขอให้แยกเด็กออกจากเด็กทั่วไปและไปพบแพทย์ เพราะโรคนี้ติดต่อได้จากการสัมผัส และการไอจาม และให้เด็กล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ก็ได้

          ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ที่ผ่านมา ผู้ป่วยโรคไข้ดำแดงที่พบในประเทศไทย มีอาการไม่รุนแรง บางรายหายเองได้ โดยในรอบ 3 ปีมานี้ ในไทยพบรายงานโรคนี้ใน 50 จังหวัดกระจายทุกภาค ส่วนใหญ่พบมากในภาคเหนือและภาคตะวันอออกเฉียงเหนือ ตลอดปี 2553 พบผู้ป่วยทั่วประเทศ 1,815 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต หรือมีอาการรุนแรง อย่างไรก็ดีสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปฮ่องกงในช่วงนี้ ขอให้เตรียมตัว โดยดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และล้างมือด้วยสบู่บ่อย ๆกรณีพาเด็กไปด้วยหลังกลับจากเดินทาง หากเด็กมีไข้ เจ็บคอ มีผื่นขึ้น ขอให้ปรึกษาแพทย์

          สำหรับโรคไข้อีดำอีแดงนั้นมักพบได้บ่อยในเด็กอายุระหว่าง 2 - 8 ปี สาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อโรคชนิดหนึ่งที่เรียกว่า สเตร็ปโตคอคคัส (streptococcus) กลุ่มเอ ซึ่งส่วนใหญ่จะทำให้ต่อมทอนซิลเป็นหนอง หรือผิวหนังเป็นตุ่มหนอง

          อาการของโรคไข้อีดำอีแดง คือ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงประมาณ 1-2 วัน เจ็บคอ หลังจากนั้นจะมีผื่นสีแดงจัดขึ้นรอบ ๆ คอ ตัว หน้า (ยกเว้นรอบปาก) และแขนขา โดยมีสีเข้มมากที่ข้อพับ ข้อศอก รักแร้ ขาพับ ผิวหนังจะนูนออกมาคล้ายเวลาขนลุก หากลูบดูจะรู้สึกสาก ๆ ส่วนที่ใบหน้า หากสังเกตจะพบว่า รอบ ๆ ปากจะซีด และมีจุดหนองซึ่งเป็นตุ่มแหลม ๆ ที่ต่อมทอนซิล เพดานปาก เยื่อบุปาก ตุ่มรับรสบนลิ้นจะบวมโตเป็นสีชมพูคล้ายผลสตรอเบอร์รี จึงเรียกกันว่า ลิ้นสตรอเบอร์รี (Strawberry Tongue) จากนั้นผ่านไป 3 - 4 วัน ผื่นแดงและตุ่มทั้งหลายจะลอกออกเป็นสีดำ จึงเป็นที่มาของคำว่า "ไข้อีดำอีแดง" และสามารถติดต่อกันได้ทางการไอจาม เพราะเชื้อจะอยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย 

          ความน่ากลัวของโรคไข้อีดำอีแดงคือ ผู้ป่วยอาจเจอโรคแทรกซ้อนทำให้ต่อมน้ำเหลืองที่คออักเสบและโต หูอักเสบ ไซนัสอักเสบ หรือบางครั้งอาจรุนแรงถึงขั้นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้ออักเสบ ซึ่งมีอันตรายได้ นอกจากนี้ หลังจากโรคไข้อีดำอีแดงหายไปแล้ว 1-2 เดือน ผู้ป่วยอาจเป็นโรคไต หรือไข้รูห์มาติคตามมาได้

          สำหรับผู้ป่วยโรคไข้อีดำอีแดงที่เป็นโรคไต จะมีอาการบวม ปัสสาวะน้อยแต่ออกเป็นสีน้ำล้างเนื้อ และมีภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งหากเป็นมาก ๆ จะทำให้มีอาการหัวใจวาย หรือไตวาย เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต หรือถ้าหากผู้ป่วยเป็นโรคไข้รูห์มาติค ก็จะทำให้เกิดโรคหัวใจรูห์มาติก ที่จะทำให้เหนื่อยง่าย ลิ้นหัวใจรั่ว ปวดบวมตามข้อ มือ เท้ากระตุก อารมณ์แปรปรวนง่าย ถ้ามีอาการทางโรคหัวใจมาก อาจต้องทำการผ่าตัดลิ้นหัวใจ หรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจ

          การรักษาโรคไข้อีดำอีแดง ทำได้โดยให้ผู้ป่วยพักผ่อนมาก ๆ ทานอาหารอ่อน ๆ ดื่มน้ำมาก ๆ และดื่มน้ำหวานบ่อย ๆ ควรกลั้วคอด้วยน้ำเกลือ (ผสมเกลือป่นประมาณ 1/2 ช้อนโต๊ะ ในน้ำอุ่น 1 แก้ว) วันละ 2 -3 ครั้ง ร่วมกับการรับประทานยาตามแพทย์สั่ง ซึ่งแพทย์จะให้ทานยาเพนนิซิลลิน-วี หรืออะม็อกซีซิลลิน ก่อนรับประทานอาหารประมาณ 1 ชั่วโมง วันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 10 วัน ซึ่งต้องทานยาติดต่อกันให้ครบ แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้ว ไม่เช่นนั้นเชื้อในร่างกายจะถูกกำจัดไปไม่หมด อาจทำให้เกิดโรคไตหรือหัวใจรูห์มาติคติดตามมา 

          ทั้งนี้ หากพบเด็กป่วยในบ้าน ให้แยกเด็กป่วยออกมาไม่ให้คลุกคลีกับคนทั่วไป และให้ล้างมือบ่อย ๆ ใช้ผ้าปิดปากจมูกขณะไอหรือจาม ดูแลความสะอาดของใช้ เช่น แก้วน้ำ โรคนี้ไม่ใช่โรคอันตรายหากอาการไม่รุนแรงสามารถหายเองได้ สำหรับการป้องกันนั้น ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค แต่หากรายใดที่เป็นโรคแล้ว จะมีภูมิต้านทาน จึงมีโอกาสเป็นซ้ำน้อย ส่วนคนที่ไม่เคยเป็นขอให้รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และล้างมือด้วยสบู่บ่อย ๆ 




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไข้อีดำอีแดงระบาดฮ่องกง ดับแล้ว 2 - สธ.ไทยวอนอย่าตื่น อัปเดตล่าสุด 16 ธันวาคม 2556 เวลา 17:59:22 2,499 อ่าน
TOP