ไข้อีดำอีแดง โรคติดต่อในเด็กที่แม้ชื่ออาจจะดูแสนธรรมดา แต่ก็ไม่ใช่เรื่องควรละเลย ผู้ปกครองควรทำความรู้จัก เพื่อหาทางป้องกันบุตรหลานให้ปลอดภัย
วัยเด็ก
เป็นช่วงวัยที่มีความอ่อนแอต่อเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสบางชนิด
ทำให้เด็ก ๆ เจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อได้ง่าย เช่น โรคมือ เท้า ปาก
ที่เคยระบาดในเด็กจนต้องสั่งปิดโรงเรียน รวมทั้งโรคไข้อีดำอีแดง ที่ไม่ควรละเลยอย่างยิ่ง
เพราะการแทรกซ้อนของโรคอาจจะทำให้เด็กที่ป่วยมีอาการที่ร้ายแรงขึ้นได้
แต่โรคนี้จะมีอาการ วิธีรักษา หรือการป้องกันอย่างไร
วันนี้กระปุกดอทคอมจะพาผู้ปกครองไปรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้นค่ะ
สุขภาพที่ดีของเด็กจะเกิดขึ้นได้ถ้าผู้ปกครองรู้จักวิธีป้องกันให้บุตรหลานค่ะ
โรคไข้อีดำอีแดง (Scarlet Fever หรือ Scarlatina) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตรปโตคอคคัสชนิดเอ (Streptococus Group A) ซึ่งเป็นเชื้อชนิดเดียวกันกับเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการต่อมทอนซิลอักเสบ โรคติดเชื้อทางผิวหนัง หรือโรคหัวใจรูมาติก แต่โรคที่เกิดจากเชื้อชนิดนี้จะมีอาการไม่รุนแรง นอกจากนี้ยังมีการพบอีกว่าไข้อีดำอีแดง นั้นมักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนเสียเป็นส่วนใหญ่อีกด้วย สาเหตุของการติดต่อกันของโรคก็เนื่องมาจากการไอและจามรดกัน
เมื่อผู้ป่วยรับเอาเชื้อสเตรปโตคอคคัสชนิดเอเข้าไปแล้ว จะเริ่มมีอาการเจ็บคอ ปวดศีรษะ และมีไข้สูงประมาณ 1 - 2 วัน จากนั้นจะมีผื่นแดงขึ้นที่รอบคอ ตัว และบริเวณตามแขนและขา เป็นผื่นสีแดงจัด โดยเฉพาะบริเวณข้อพับต่าง ๆ เช่น ข้อศอก รักแร้ ขาพับ รอบ ๆ ผื่นจะมีสีจาง ผิวหนังนูนคล้ายเวลาขนลุก เมื่อใช้มือลูบจะรู้สึกสาก ๆ
ภาพจาก e-hospital.co.uk
โรคไข้อีดำอีแดงนั้นสามารถเป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะเกิดกับเด็กในวัย 5-15 ปี ที่ได้รับสารอาหารไม่ครบ ทำให้ขาดภูมิคุ้มกันร่างกายที่แข็งแรง นอกจากนี้ผู้ที่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แออัดก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับเชื้ออีกด้วย
ไข้อีดำอีแดงกับอาการแทรกซ้อนที่ควรระวัง
ไข้อีดำอีแดงเป็นโรคที่ไม่มีอาการร้ายแรงจนเป็นอันตราย แต่หากได้รับการรักษาที่ไม่ดีพอ เชื้อแบคทีเรียก็อาจจะลุกลามเข้าสู่ไปในหูชั้นกลางจนทำให้เกิดการอักเสบ หรือลามไปยังบริเวณใกล้เคียงต่าง ๆ ทำให้เกิดต่อมน้ำเหลืองที่คออักเสบ จมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ ฝีในต่อมทอนซิล ปอดอักเสบ หรือเชื้ออาจจะกระจายเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดข้ออักเสบเฉียบพลัน กระดูกอักเสบ หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้
ไม่เพียงเท่านั้นเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสชนิดเอ ยังอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอย่างเช่น ไข้รูมาติก ที่เป็นสาเหตุของอาการบวม เหนื่อยง่าย ลิ้นหัวใจรั่ว หรือบวมตามข้อ บางรายอาจะร้ายแรงถึงขั้นต้องทำการผ่าตัดลิ้นหัวใจหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจเลยก็มี
ทั้งนี้ยังมีโรคแทรกซ้อนอย่างไตอักเสบอีกด้วย ทำให้เกิดอาการบวมปัสสาวะน้อย ปัสสาวะที่ออกมามีสีเหมือนน้ำล้างเนื้อ มีความดันโลหิตสูง หากอาการรุนแรงก็อาจจะทำให้หัวใจหรือไตวายได้เช่นกัน
วิธีการรักษาไข้อีดำอีแดง
การรักษาไข้อีดำอีแดงที่ดีที่สุดคือการใช้ยาฆ่าเชื้ออย่าง เพนนิซิลลิน-วี (Penicillin V) ติดต่อกันเป็นเวลา 10 วัน ควรพักผ่อนมาก ๆ รับประทานอาหารอ่อน ๆ และควรดื่มน้ำมาก ๆ นอกจากนี้ยังควรกลั้วคอด้วยน้ำเกลือ เพื่อลดอาการอักเสบภายในคอ ทั้งนี้หากผู้ป่วยเป็นเด็กเล็ก ก็ควรที่จะระมัดระวังอาการชักจากอาการไข้ และควรใช้ยาลดไข้ร่วมกับยากันชักในเด็กเล็กที่มีประวัติว่ามีอาการชักด้วย
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการต่อมทอนซิลเรื้อรัง ควรไปพบแพทย์เพราะอาจจะต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมทอนซิล เพราะอาการเรื้อรังนี้อาจจะทำให้มีการอักเสบของหูบ่อย ๆ และมีฝีของทอนซิลแทรกซ้อนอีกด้วย ทำให้เด็กต้องขาดเรียนบ่อย โดยการผ่าตัดทอนซิลนั้นมักจะทำในช่วงอายุ 6-7 ปี ค่ะ
ไข้อีดำอีแดง ป้องกันได้ด้วยวิธีเหล่านี้
วิธีป้องกันโรคไข้อีดำอีแดงไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ควรทำ เพราะปัจจุบันนี้ยังไม่มีวัคซีนที่ช่วยป้องกันเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสชนิดเอ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปที่จะติดเชื้อหากไม่ระมัดระวัง ซึ่งวิธีป้องกันโรคอีดำอีแดงมีดังต่อไปนี้ค่ะ
- พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- หลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคไข้อีดำอีแดง หากต้องเข้าใกล้ผู้ป่วยควรสวมผ้าปิดปากทุกครั้ง
- ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือเจลล้างมือ
- ไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้ป่วย โดยเฉพาะของใช้ส่วนตัวต่าง ๆ เพื่อป้องกันการติดต่อกันของเชื้อแบคทีเรีย
- ควรแยกผู้ป่วยโดยเฉพาะเด็กเล็กออกจากเด็กที่มีอาการปกติ เพื่อป้องการแพร่กระจายของเชื้อ รวมทั้งสอนวิธีการป้องกันการติดต่อของโรคให้แก่เด็ก
แม้ว่าโรคอีดำอีแดงจะไม่อันตราย แต่ก็อย่ามองข้าม ควรจะป้องกันตนเองและบุตรหลานให้ไกลจากเชื้อแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุนี้ แค่เพียงมีสุขอนามัยที่ดี และหมั่นสอดส่องคนรอบข้างให้ดีเพื่อป้องกันการใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยไม่รู้ตัว เท่านี้ก็สามารถป้องกันไม่ให้บุตรหลานป่วยด้วยไข้อีดำอีแดงได้แล้วค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักโรคติดต่อทั่วไป
ศูนย์ฝึกอบรมและควบคุมระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร