ไอกรน โรคที่พบบ่อยในเด็ก แต่ผู้ใหญ่ก็ป่วยได้ สาเหตุไอเรื้อรังนานนับเดือน

          ไอกรน ไม่ใช่แค่เรื่องของเด็กเล็ก เพราะป่วยได้ทุกเพศ ทุกวัย ทำให้มีอาการไอเรื้อรัง นานหลายเดือน สร้างความรำคาญต่อการใช้ชีวิตประจำวันไม่น้อย
โรคไอกรน คืออะไร

          โรคไอกรน เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจที่ไม่ได้พบเฉพาะในเด็กเล็กเท่านั้น แต่ผู้ใหญ่ก็สามารถป่วยได้เช่นกัน หากดูแลสุขภาพไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้ภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง วันนี้ชวนมาศึกษาข้อมูลของโรคไอกรน ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร อาการที่สังเกตเห็นได้ชัดมีอะไรบ้าง และมีวิธีรักษา วิธีป้องกันอย่างไรให้ห่างไกลจากโรค

ไอกรน คืออะไร
สาเหตุเกิดจากอะไร

          ไอกรน ภาษาอังกฤษคือ Pertussis คือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบอร์เดเทลลา เพอร์ทัสซิส ( Bordetella pertussis) หรือ B. pertussis เชื้อนี้จะเข้าไปทำลายเยื่อบุในทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้เกิดการอักเสบและระคายเคือง ส่งผลให้มีอาการไอรุนแรงตามมา

ไอกรน ติดต่อได้อย่างไร

โรคไอกรน ติดต่อยังไง

          โรคไอกรนติดต่อกันง่ายจากการไอ จาม สัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่เป็นโรคไอกรน โดยมีระยะฟักตัวประมาณ 6-20 วัน หรือเฉลี่ยที่พบบ่อยคือ 7-10 วัน แต่ถ้าสัมผัสโรคมาเกิน 3 สัปดาห์แล้วไม่มีอาการแสดงว่าไม่ติดโรค

ใครเสี่ยงโรคไอกรน

          โรคนี้มักพบได้ตั้งแต่เด็กทารกถึงเด็กโต โดยเฉพาะเด็กเล็กหากป่วยจะมีความเสี่ยงสูงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำและยังไม่ได้รับฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรน
          ส่วนในกลุ่มผู้ใหญ่ บางคนแม้ติดเชื้อแล้วก็อาจไม่มีอาการ หรือไม่มีอาการแบบไอกรน แต่อาจพบผู้ป่วยที่มีอาการไอกรนได้ในคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมทั้งผู้สูงอายุ 

ไอกรน อาการเป็นยังไง

โรคไอกรน อาการเป็นยังไง

          อาการไอกรนสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ คือ

ระยะเริ่มแรก

          มีอาการคล้ายหวัดธรรมดา เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอแห้ง ๆ มีไข้ต่ำ ๆ ตาแดง น้ำตาไหล จะเป็นอยู่ราว ๆ 1-2 สัปดาห์ ทำให้สับสนกับโรคหวัดธรรมดา แพทย์จึงมักยังไม่วินิจฉัยว่าเป็นโรคไอกรน

ระยะที่ 2

          มีอาการไอรุนแรงเป็นชุด ๆ ถี่ ๆ ติดกัน 5-10 ครั้งหรือมากกว่านั้นจนหายใจไม่ทัน ตามด้วยการหายใจเข้าลึก ๆ เป็นเสียงวู้บ (Whooping Cough) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโรคไอกรน อาการเช่นนี้จะเป็นอยู่ประมาณ 2-4 สัปดาห์หรือนานกว่านี้ แต่ไม่มีเสมหะ ผู้ป่วยจะไอจนหน้าตาแดง น้ำตาไหล หรืออาจมีเส้นเลือดที่คอโป่งพอได้ ในบางคนอาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยเนื้อตัวร่วมด้วย
          ส่วนในเด็กเล็กระยะนี้ค่อนข้างอันตราย เพราะอาจอาจอาเจียนตามหลังการไอเป็นชุด ๆ หรือทำให้ขาดออกซิเจนได้ บางคนอาจมีภาวะแทรกซ้อนในช่วงนี้ เช่น มีจุดเลือดออกในสมอง ชัก ปอดอักเสบ เป็นต้น

ระยะที่ 3 หรือระยะฟื้นตัว

          อาการไอถี่ ๆ ค่อยๆ ทุเลาลง ทั้งจำนวนครั้งและความรุนแรง แต่ยังคงไอต่อเนื่องอาจกินเวลาอีก 6-10 สัปดาห์

ไอกรน อันตรายแค่ไหน

เด็กเล็ก

          เด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ หรือเด็กที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันไอกรนมาก่อนมักมีอาการรุนแรงกว่า และยังต้องระวังโรคแทรกซ้อน เช่น หายใจลำบาก เลือดออกในเยื่อบุตา มีอาการชักจากการขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง มีเลือดออกในสมอง เสมหะอุดหลอดลม รวมถึงปอดอักเสบ ซึ่งมักเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กเล็กเสียชีวิตจากโรคไอกรน ดังนั้นหากบุตรหลานมีอาการไอที่ผิดปกติ ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย

ผู้ใหญ่

          แม้ว่าโรคไอกรนในผู้ใหญ่จะไม่รุนแรงเท่าเด็กเล็ก แต่ก็ก่อให้เกิดปัญหาหลายอย่าง เช่น อาการไอกระทบต่อการทำงาน รบกวนการนอนหลับ ส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า เบื่ออาหาร ใช้ชีวิตไม่ได้ตามปกติ อีกทั้งในผู้ใหญ่บางคนที่ติดเชื้อแล้วแต่ไม่แสดงอาการ ก็อาจเป็นพาหะนำโรคไปสู่ผู้อื่นได้ โดยเฉพาะเด็กเล็กในครอบครัว

ไอกรน รักษาอย่างไร

ไอกรน รักษายังไง

          โรคไอกรนเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้นต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา เพื่อฆ่าเชื้อในลำคอของผู้ป่วยและลดการแพร่กระจายของโรค ร่วมกับการรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ไอ ยาแก้แพ้ ดื่มน้ำอุ่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อยู่ในสถานที่มีอากาศถ่ายเท ไม่มีฝุ่นละออง ไม่มีควันบุหรี่ เป็นต้น

วิธีป้องกันโรคไอกรน

  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรน เป็นวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูงสุด แม้ว่าวัคซีนจะไม่ได้ป้องกันได้ 100% แต่ก็ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้
  • ล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังจากไอ จาม หรือสัมผัสกับสิ่งสกปรก
  • ปิดปาก ปิดจมูกเมื่อไอหรือจาม โดยใช้กระดาษทิชชู หรือใช้ข้อพับแขนปิดปาก ปิดจมูก แทนการใช้มือปิดปาก
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคไอกรน
  • พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ  
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์  
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี

วัคซีนไอกรน ฉีดเมื่อไร

วัคซีนโรคไอกรน

          การฉีดวัคซีนไอกรนเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญในการป้องกันไม่ให้โรคนี้แพร่ระบาด โดยวัคซีนจะช่วยให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรคไอกรน ทำให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้ หรือแม้จะป่วยโรคไอกรนแล้ว อาการก็จะไม่รุนแรงเท่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน ดังนั้นเด็ก หรือผู้ใหญ่ที่ยังไม่เคยรับวัคซีนไอกรน หรือได้รับวัคซีนนานมาแล้ว ควรได้รับวัคซีน ดังนี้
          เด็กที่อายุน้อยกว่า 6 ขวบ ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ชนิดทั้งเซลล์ (DTWP) จำนวน 4-5 ครั้ง คือ
  • ครั้งที่ 1 : เมื่ออายุ 2 เดือน 
  • ครั้งที่ 2 : เมื่ออายุ 4 เดือน
  • ครั้งที่ 3 : เมื่ออายุ 6 เดือน
  • ครั้งที่ 4 : เมื่ออายุ 18 เดือน
  • ครั้งที่ 5 : เป็นเข็มกระตุ้น ให้เมื่ออายุ 4 ขวบ 
          ทั้งนี้ หากเป็นคนที่อายุเกิน 7 ขวบไปแล้ว จะไม่สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ชนิดทั้งเซลล์ เนื่องจากพบผลข้างเคียงได้สูง จึงต้องฉีดวัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ชนิดไร้เซลล์ (Tdap หรือ TdaP) ทดแทน โดยในวัยผู้ใหญ่ที่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไอกรนแล้วควรฉีดซ้ำเพื่อกระตุ้นทุก 10 ปี
          สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ควรฉีดวัคซีน 1 เข็ม ในช่วงอายุครรภ์ 27-36 สัปดาห์ เพราะเป็นช่วงที่ภูมิคุ้มกันจะถ่ายทอดไปสู่ลูกได้มากที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกน้อยติดเชื้อ หรือช่วยลดความรุนแรงของโรคได้
          อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการฉีดวัคซีนจะเป็นวิธีป้องกันโรคไอกรนที่ดีที่สุด แต่การปฏิบัติตามวิธีการป้องกันอื่น ๆ ก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและแพร่เชื้อให้ผู้อื่น

บทความที่เกี่ยวข้องกับโรคติดต่อทางเดินหายใจ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไอกรน โรคที่พบบ่อยในเด็ก แต่ผู้ใหญ่ก็ป่วยได้ สาเหตุไอเรื้อรังนานนับเดือน อัปเดตล่าสุด 13 พฤศจิกายน 2567 เวลา 15:54:03 5,339 อ่าน
TOP
x close