โรคไอ 100 วัน เกิดจากอะไร ทำยังไงให้หายไอเรื้อรัง

          ไอเรื้อรังแต่ไม่มีไข้ ไอแห้ง ๆ มานานเกือบ 100 วัน ทำยังไงจะรักษาอาการไอร้อยวันได้ ต้องหาสาเหตุของอาการไอกันก่อนค่ะ

ไอเรื้อรัง

          อาการไอเมื่อเกิดขึ้นกับใครก็คงไม่สบายทั้งกายและใจ เพราะไอแต่ละทีก็เสียงดัง แถมยังเจ็บไปทั้งคอ อก บางคนไอมากจนเจ็บท้องเลยก็มี โดยเฉพาะคนที่ไอเรื้อรัง ไอแห้ง ๆ มายาวนานหลายวัน หลายเดือนติดกันจนเกือบเรียกได้ว่า ไอ 100 วันเคสนี้คงรู้สึกรำคาญตัวเองอยู่ไม่น้อยใช่ไหมคะ ดังนั้นเรามารู้จักโรคไอ 100 วัน และหาวิธีรักษาอาการไอเรื้อรังกันเถอะ !

ไอ 100 วัน คืออาการอะไร

          ไอ 100 วันจริง ๆ เป็นคำกล่าวสมัยโบราณ ที่เมื่อใครเกิดอาการไอเรื้อรังนาน ๆ ไอไม่เลิก ไอไม่หายสักที จนผ่านไปเป็นเดือน ๆ แล้วก็ยังมีอาการไออยู่ โดยไม่มีไข้ ไม่ได้ป่วย ร่างกายก็สบายดี เสียแต่ว่าไอไม่หยุดเท่านั้น นี่จึงเป็นที่มาของคำว่า ไอ 100 วัน และยังคงได้ยินชื่อโรคนี้กันจนถึงปัจจุบัน

          ทว่าอาการไอเรื้อรังต่อเนื่องนานเป็นเดือน ทางการแพทย์จะเรียกว่าอาการหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งเกิดได้จากสาเหตุเลยล่ะค่ะ

ไอเรื้อรัง เกิดจากอะไรได้บ้าง

          อาการไอเป็นกลไกหนึ่งของร่างกาย ที่ใช้รับมือกับเชื้อแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย ด้วยการพยายามไอเอาเชื้อโรค เชื้อไวรัส ฝุ่นละออง ควัน หรือสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ ออกมา เพื่อรักษาร่างกายให้หายใจได้สะดวกขึ้น แต่ทั้งนี้หากมีอาการไอเรื้อรังเป็นเวลานาน ทางการแพทย์จะจำแนกสาเหตุของอาการไอเรื้อรังออกเป็น 2 สาเหตุด้วยกัน ดังนี้

1. อาการไอจากการติดเชื้อ


          โดยอาการไอที่บ่งบอกว่ามีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ นอกเหนือจากอาการไอเรื้อรังแล้ว อาจจะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ ไอแบบมีเสมหะ เบื่ออาหาร ผอมลง น้ำหนักลด เป็นต้น 

2. อาการไอจากอาการแพ้

          เมื่อร่างกายเจอสิ่งเร้าอย่างฝุ่น ควัน หรือแม้แต่อากาศที่ชื้นและอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ในบางคนอาจเกิดอาการภูมิแพ้และแสดงอาการไอถี่ ๆ ร่วมกับคัดจมูก มีน้ำมูก มีเสมหะขึ้นมาได้ แต่ข้อสังเกตอาการไอจากภูมิแพ้จะไอแบบไม่มีไข้ร่วมด้วย

ไอเรื้อรัง

ไอ 100 วัน เกิดจากอะไร

          สำหรับอาการไอ 100 วัน ทางการแพทย์ได้สันนิษฐานเบื้องต้นไว้ว่า อาการไอร้อยวันเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Hemophilus pertussis หรือชื่อไทยคือ เชื้อไอกรน ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน โดยอาจมีต้นสายปลายเหตุมาจากการติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนต้น ก่อให้เกิดโรคหวัด เจ็บคอ ไอ หรือเสียงแหบมาก่อน กระทั่งเชื้อลามมาก่อให้เกิดอาการอักเสบในหลอดลมดังกล่าว

ไอ 100 วัน อาการเป็นอย่างไร

          อาการสำคัญของโรคไอ 100 วัน สามารถแบ่งออกได้ 3 ระยะ ดังนี้

1. ระยะต้น


          ผู้ป่วยจะอาการน้ำมูกไหล แน่นจมูก ร่วมกับอาการไอเล็กน้อยคล้ายเป็นหวัด ระยะนี้อาการจะเป็นอยู่นานประมาณ 1-2 สัปดาห์

2. ระยะรุนแรง


          ผู้ป่วยจะมีอาการไอรุนแรงติดกันเป็นชุดยาว ๆ ไม่มีจังหวะพัก โดยอาการไอจะถี่ตั้งแต่ 5 ครั้งขึ้นไป กระทั่งไอจนจบชุดผู้ป่วยจะพยายามหายใจเข้าอย่างแรง หรือในบางรายอาการไอเป็นมากถึงขั้นไอจนอาเจียนออกมา หรือในรายที่เป็นรุนแรง อาการไอแบบติด ๆ กัน อาจส่งผลให้เส้นเลือดฝอยในตาขาวแตก กลายเป็นจุดแดง ๆ กระจายอยู่ในตาขาว ใบหน้า และลำตัวท่อนบน โดยอาการไอระยะนี้จะเป็นนานประมาณ 10 วัน-2 สัปดาห์ หรือบางรายเป็นนาน 2-6 สัปดาห์ก็มี

3. ระยะฟื้นตัว


          อาการไอจะค่อย ๆ ทุเลาและหายไปในเวลา 6-10 สัปดาห์ หรือยังคงมีอาการไอเบา ๆ ไอแห้ง ๆ อยู่เป็นเวลานานหลายสัปดาห์ แต่หากมีอาการแทรกซ้อนในระบบทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมอักเสบ หรือปอดอักเสบ อาการไอจะเป็นต่อไปอีก 1-2 เดือน

          - ไอนานเกิน 2 สัปดาห์ สาเหตุมาจากหลายโรค

ไอเรื้อรัง
 
ไอ 100 วัน รักษาได้ไหม

          โดยปกติแล้วอาการไอที่เกิดจากการติดเชื้อที่ไม่รุนแรงมาก ไม่มีโรคแทรกซ้อนอย่างเชื้อลามไปก่อให้เกิดอาการอักเสบในระบบทางเดินหายใจ เคสนี้อาการไอจะค่อย ๆ ทุเลาไปเองภายใน 2-6 สัปดาห์ เนื่องจากร่างกายเรามีกลไกการรักษาตัวเองด้วยการขับเอาเชื้อโรคออกมากับการไอและเสมหะ

          ทว่าวิธีรักษาโรคไอ 100 วันก็สามารถรับประทานยาปฎิชีวนะ ซึ่งจะช่วยบรรเทาความรุนแรงของโรคได้ โดยเฉพาะหากได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะต้น ๆ แต่หากอาการไอเป็นมาสักระยะแล้ว การรักษาโรคไอร้อยวันด้วยยาปฏิชีวนะอาจไม่ช่วยบรรเทาอาการไอสักเท่าไร ซึ่งในเคสนี้แพทย์อาจรักษาอาการไอ 100 วันด้วยยา Erythromycin, Azithromycin หรือยา Clarithromycin โดยยาเหล่านี้สามารถใช้รักษาและป้องกันในผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคไอ 100 วันหรือไอกรนได้ด้วยนะคะ

ไอเรื้อรัง
 
โรคไอ 100 วัน ป้องกันได้

          โรคไอ 100 วันสามารถป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ซึ่งวัคซีนนี้จะให้ประสิทธิภาพได้ดีหากฉีดในเด็กตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป และต้องฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 4-6 ขวบ ทั้งนี้วัคซีนป้องกันโรคไอกรนจัดเป็นวัคซีนพื้นฐานที่เด็กทารกทุกคนควรได้รับ ซึ่งโดยส่วนมากวัคซีนไอกรนจะมาในรูปของวัคซีนรวม คือ วัคซีนโรคคอตีบ โรคบาดทะยัก และโรคไอกรน

          ส่วนในเด็กโต (อายุ 10-12 ปี ขึ้นไป) หรือผู้ใหญ่ที่ยังไม่เคยรับวัคซีนไอกรน สามารถรับวัคซีนชนิดนี้ได้เช่นกัน โดยจะได้รับการฉีดวัคซีนไอกรน 1 ครั้ง หลังจากนั้นก็ควรกลับไปฉีดวัคซีนคอตีบและบาดทะยักกระตุ้นซ้ำทุก ๆ 10 ปี ซึ่งการฉีดวัคซีนจะเป็นการป้องกันอาการไอ 100 วันหรืออาการไอกรนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

          อย่างไรก็ตาม หากมีอาการไอเรื้อรัง ไม่ว่าจะไอแห้ง ๆ ไอมีเสมหะ หรือไอร่วมกับมีไข้ หากไอเกิน 7 วัน ต่อเนื่อง ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธีนะคะ เพราะการซื้อยาแก้ไอมารับประทานเองในบางเคสอาจไม่ส่งผลต่อการรักษา อธิบายง่าย ๆ คือกินยาแก้ไอก็ยังไอไม่หาย ดังนั้นไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ได้ทำการตรวจและรักษาอย่างตรงจุดจะดีกว่า

          - ไอแบบนี้ป่วยเป็นอะไร 7 อาการไอที่มีนัยของโรคต่างกัน

          - 15 วิธีแก้ไอตอนกลางคืน ฟื้นอาการให้หาย บอกได้ว่าป่วยอะไรอยู่ !


ขอบคุณข้อมูลจาก
หมอชาวบ้าน
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคไอ 100 วัน เกิดจากอะไร ทำยังไงให้หายไอเรื้อรัง อัปเดตล่าสุด 23 กันยายน 2563 เวลา 11:34:00 86,042 อ่าน
TOP
x close