x close

ไอนานเกิน 2 สัปดาห์ อาการแบบนี้สาเหตุมาจากหลายโรค

           ไอนานเกิน 2 สัปดาห์ ไม่ใช่เรื่องที่ควรวางใจ เพราะอาการไอเรื้อรังอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคได้หลายโรค

ไอเรื้อรัง

          ไอครั้งแรกอาจไม่เป็นอะไร แต่ไอนาน ๆ ไปต้องเช็กสุขภาพกันด่วนเลยจะดีกว่า เพราะอาการไอเรื้อรังไม่ยอมหาย อาจเป็นอาการแสดงของหลายโรค ๆ ก็เป็นได้ อย่างเช่น หลอดลมอักเสบ ไปจนถึงโรคปอดเลยทีเดียว เอาเป็นว่า ใครมีอาการไอเรื้อรังเป็นสัปดาห์ ลองมาเช็กกันว่าป่วยแบบนี้บอกโรคอะไรได้บ้าง

1. โรคภูมิแพ้
   
          หากไอติดต่อกันนาน ๆ และมีอาการคัดจมูก คันจมูก จามบ่อย ๆ ระคายคอ บางคนมีน้ำมูกใส โดยลักษณะอาการไอเป็นการไอแห้ง ๆ และจะยิ่งไอหนักมากขึ้นหากเจอฝุ่น ควัน ควันบุหรี่ เกสรดอกไม้ อากาศเย็น หรือสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ อาจเป็นไปได้ว่ามีอาการของโรคภูมิแพ้อยู่


2. ไซนัสอักเสบ
   
          ในกรณีที่ไอแบบมีเสมหะ ติดต่อกันนาน ๆ ร่วมกับมีอาการไข้ต่ำ ๆ มีน้ำมูกขุ่นขาวหรือสีเหลือง ได้กลิ่นเหม็นในโพรงจมูก หรือมีกลิ่นปากอันเกิดจากเสมหะไหลลงคอ คัดแน่นบริเวณจมูก ปวดตื้อ ๆ บริเวณใบหน้า อาจเป็นสัญญาณว่ามีอาการไซนัสอักเสบที่ควรต้องรีบรักษาเพื่อไม่ให้อาการไซนัสลุกลาม
   

3. ต่อมทอนซิลอักเสบ        

ต่อมทอนซิลอักเสบ

          มักจะมีอาการไอร่วมกับอาการเจ็บคอ กลืนแล้วเจ็บ เป็นไข้ อาจบ่งชี้ได้ว่าเป็นต่อมทอนซิลอักเสบ ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ หรือรักษาตามอาการของผู้ป่วยแต่ละราย
   

4. กล่องเสียงอักเสบ
   
          ในคนที่ใช้เสียงมาก ๆ อาจมีอาการไอเรื้อรังร่วมกับเสียงแหบได้ หากมีภาวะกล่องเสียงอักเสบ นอกจากนี้ยังมักจะพบว่า มีอาการกรดไหลย้อนได้ง่ายในคนกลุ่มนี้ด้วย

5. หลอดลมอักเสบ
   
          อาการไอมักจะเป็นหลังจากเป็นหวัด โดยแรก ๆ จะไอแบบมีเสมหะ บางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย และอาการไอจะเป็นอาการไอถี่ ๆ ไอแบบหอบเหนื่อย หรือหายใจแล้วได้ยินเสียงวี้ด ๆ ร่วมด้วย 

6. หลอดลมอักเสบเรื้อรังจากการสูบบุหรี่
   
ไอเรื้อรัง

          คนที่สูบบุหรี่จัด ๆ อาจมีอาการไอเรื้อรังได้ โดยอาการไอมักจะเป็นไอแบบมีเสมหะ และจะไอนานเป็นเวลาหลายปี นอกจากนี้ โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง อาจเกิดจากการอยู่ท่ามกลางมลภาวะเป็นพิษ เช่น ควัน ฝุ่น สารเคมี ต่าง ๆ ต้องรีบรักษาเพื่อไม่ให้ลุกลามจนเป็นปอดอักเสบ

7. โรคกรดไหลย้อน
   
          สำหรับเคสที่มีอาการไอแห้ง ๆ โดยมักจะไอหลังตื่นนอนตอนเช้า หรือไอหลังมื้ออาหารเกือบทุกมื้อ ร่วมกับอาการแสบร้อนกลางอก จุกเสียด เรอเปรี้ยว แต่ไม่มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อาจต้องสงสัยโรคกรดไหลย้อนไว้เป็นอันดับแรกเลย
   

8. ถุงลมโป่งพอง       

          ในรายที่สูบบุหรี่จัดจนเป็นโรคถุงลมโป่งพองแล้ว จะมีอาการไอเรื้อรังเป็น 1 ในอาการแสดงของโรคเช่นกัน และนอกจากไอแบบมีเสมหะเรื้อรังแล้ว ยังมักจะมีอาการหอบเหนื่อยง่าย โดยเฉพาะเวลาออกแรงทำกิจกรรมต่าง ๆ
   

9. โรคหอบหืด

ไอเรื้อรัง

          เป็นโรคที่สังเกตได้จากวัยเด็ก คือมีอาการไอเรื้อรังมาตั้งแต่เด็ก ร่วมกับมีอาการหายใจติดขัด หอบเหนื่อย หายใจได้ยินเสียงวี้ด ๆ โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสถูกสารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งกระตุ้น เช่น ไรฝุ่นบ้าน เชื้อรา อากาศเย็น แอร์เย็น
   

10. วัณโรคปอด
   
          ผู้ป่วยวัณโรคปอดมักจะมีอาการไอเรื้อรัง ร่วมกับมีอาการไอแบบมีเสมหะปนเลือด มีไข้ต่ำ ๆ เป็นเวลานาน เบื่ออาหาร และน้ำหนักตัวลด โดยเฉพาะหากมีประวัติสัมผัสบุคคลใกล้ชิดที่ป่วยเป็นวัณโรค ก็ยิ่งต้องสงสัยว่าจะป่วยโรควัณโรคปอด
   

11. มะเร็งปอด
   
มะเร็งปอด


          ในกรณีที่ไอเรื้อรัง โดยมีอาการไอเป็นเลือดสด ๆ ร่วมกับมีอาการน้ำหนักตัวลดอย่างไม่ทราบสาเหตุ อ่อนเพลีย เป็นไข้บ่อย เจ็บหน้าอกเวลาไอ หรือกระแอมดัง ๆ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหามะเร็งปอดโดยไวที่สุด


12. มะเร็งกล่องเสียง
   
          ส่วนใหญ่โรคนี้จะพบในผู้ป่วยที่สูบบุหรี่มาก โดยอาการจะไอแห้ง ๆ ร่วมกับเสียงแหบ ถ้าเป็นมากอาจมีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต มีอาการกลืนลำบาก หายใจลำบาก ไอเป็นเลือด ร่วมด้วย

          อย่างไรก็ดี อาการไอเรื้อรังอาจเป็นผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคความดันโลหิตสูงในกลุ่ม ACEI อาจทำให้เกิดอาการไอแห้ง ๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานได้ ทั้งนี้อาการไอเรื้อรังมักจะมีอาการไอนานกว่า 8 สัปดาห์ แต่ในกรณีที่ไอติดต่อกันนานกว่า 2 สัปดาห์ ร่วมกับอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น มีไข้เกิน 7 วัน, น้ำหนักลด, ไอเป็นเลือด, หอบเหนื่อย, เบื่ออาหาร, เจ็บหน้าอก ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาอาการไอ

*หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 5 พฤศจิกายน 2562

ขอบคุณข้อมูลจาก
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไอนานเกิน 2 สัปดาห์ อาการแบบนี้สาเหตุมาจากหลายโรค อัปเดตล่าสุด 21 มิถุนายน 2564 เวลา 15:53:10 618,403 อ่าน
TOP