15 วิธีแก้ไอตอนกลางคืน ฟื้นอาการให้หาย บอกได้ว่าป่วยอะไรอยู่ !

          ไอตอนกลางคืนบ่อย ๆ จนนอนไม่หลับ หรือไอเรื้อรังมานาน และอาการไอจะหนักเฉพาะตอนกลางคืน ถ้าเป็นแบบนี้อยู่เรามีวิธีแก้ไอมาให้เลือก พร้อมมีข้อมูลให้เช็กด้วยว่ากำลังป่วยเป็นอะไร
วิธีแก้ไอ

          บางคนมีอาการไอตอนกลางคืน มีเสมหะ หรือไอแบบแห้ง ๆ ติดกันจนนอนไม่ค่อยหลับ และสังเกตเห็นได้ชัดว่าอาการไอจะเป็นหนักในช่วงกลางคืน ซึ่งเราเดาว่าหลายคนคงสงสัยว่าทำไมไอตอนกลางคืนแบบจริงจัง แล้วเจ้าอาการไอเฉพาะเวลาแบบนี้กำลังบอกใบ้ปัญหาสุขภาพด้านใดอยู่หรือเปล่า เอาเป็นว่าเรามาดูกันเลยว่า อาการไอตอนกลางคืน จะแก้ยังไงได้บ้าง แล้วสามารถส่อถึงโรคอะไรได้ไหม

ไอตอนกลางคืน มีสาเหตุมาจากอะไร


          อาการไอตอนกลางคืนมีอยู่หลายสาเหตุด้วยกันค่ะ โดยสาเหตุที่ทำให้ไอตอนกลางคืนอาจเกิดจากสิ่งเหล่านี้ก็ได้

วิธีแก้ไอ

- ฝุ่น


          ห้องนอนอาจรกมาก มีฝุ่นเยอะ หรือไม่ค่อยได้ทำความสะอาดชุดเครื่องนอน ซึ่งอาจเป็นแหล่งสะสมของฝุ่น ไร และเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ เวลาเราสูดหายใจเข้าไปฝุ่นเหล่านี้ก็จะกระตุ้นให้เกิดภาวะหลอดลมอักเสบ ก่อให้เกิดอาการไอตอนกลางคืนหรือช่วงเช้ามากเป็นพิเศษ

วิธีแก้ไอ

- อากาศเย็นเกินไป


          สำหรับคนที่นอนเปิดเครื่องปรับอากาศทุกคืน กรณีที่อากาศในห้องนอนเย็นเกินไป หรือลมจากเครื่องปรับอากาศ พัดลม จ่อเข้าที่ตัวตรง ๆ แบบนี้ก็ก่อให้เกิดอาการไอตอนกลางคืนได้เช่นกันค่ะ

- อากาศแห้งเกินไป


          นอกจากความเย็นจะกระตุ้นให้เกิดอาการไอมากขึ้นแล้ว การที่เราอยู่ในที่ที่มีอากาศแห้ง ความชื้นน้อย อย่างในห้องนอนที่เปิดแอร์ ก็อาจก่ออาการระคายเคืองบริเวณเยื่อบุจมูกได้ เนื่องจากการที่เราหายใจเอาอากาศที่เย็นและแห้ง จะมีการสูญเสียความร้อนจากเยื่อบุจมูก ทำให้อุณหภูมิของเยื่อบุจมูกลดลง ซึ่งอุณหภูมิที่ลดลงของเยื่อบุจมูกสามารถกระตุ้นเส้นประสาทภายใต้เยื่อจมูก ทั้งเส้นเลือดและต่อมสร้างน้ำมูกที่มีเส้นประสาทมาเลี้ยงด้วย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคันคอ จาม ไอ คัดจมูก และน้ำมูกไหลร่วมด้วย

- แรงโน้มถ่วงของโลก


         กฎธรรมชาติที่ว่าด้วยแรงโน้มถ่วงของโลกก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของอาการไอตอนกลางคืน โดยเฉพาะหากมีอาการไอในช่วงที่ล้มตัวลงนอน ซึ่งกรดในกระเพาะอาหารจะตีกลับขึ้นมาทางหลอดอาหารตามแรงโน้มถ่วงของโลก ส่งผลให้รู้สึกระคายคอแล้วจึงแปรสภาพเป็นอาการไอหนัก ๆ เพียงแค่ 2-3 วินาที หรือบางรายอาจมีอาการแสบร้อนกลางอกและเสียงแหบทุกครั้งเมื่ออาก­­ารไอจบสิ้น

- ผลข้างเคียงจากยา


          โดยเฉพาะยาในกลุ่มที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง เช่น ยาเอซีอีอินฮิบิเตอร์ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการไอแห้ง ๆ กับผู้ที่ต้องกินยาชนิดนี้ช่วงหลังอาหารเย็นหรือก่อนนอนได้

- การสูบบุหรี่


          การสูบบุหรี่จะทำให้ปอดต้องรับภาระหนัก และอาจก่อให้เกิดเมือกหรือมูกในปอดกับคนที่สูบบุหรี่จัดมาก ๆ และสูบเป็นเวลานานได้ ซึ่งเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมสะสมอยู่ในปอด ร่างกายจะพยายามขับสิ่งนั้นออกมาทางหลอดลมและระบบทางเดินหายใจ ส่งผลให้เกิดอาการระคายเคืองคอและไอในตอนกลางคืนได้

          จะเห็นได้ว่าอาการไอตอนกลางคืนเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งภายในและภายนอกร่างกายเรา ทว่าอาการไอตอนกลางคืนยังสามารถส่อถึงความผิดปกติของสุขภาพได้ด้วยนะคะ ส่วนอาการไอตอนกลางคืนจะบอกโรคอะไรได้บ้างนั้น ตามมาดูกันเลย

วิธีแก้ไอ

ไอตอนกลางคืนบ่อย ๆ บอกโรคอะไรได้บ้าง


1. โรคภูมิแพ้


          อาการของโรคภูมิแพ้จะเป็นอาการไอแห้ง ๆ แบบคันคอ หรือบางคนอาจไอแบบมีเสมหะร่วมด้วย และอาการไอมักจะรุนแรงขึ้นในตอนกลางคืน โดยสาเหตุก็มาจากสิ่งแปลกปลอมที่กระตุ้นให้เกิดอาการระคายเคืองที่หลอดลมจนเกิดอาการไอ อย่างไรก็ตาม อาการไอของโรคภูมิแพ้จะต้องมีอาการคันยุบยิบที่ตา ไอเหมือนมีอะไรบางอย่างข้นเหนียวอยู่ในคอ และมีอาการจามเป็นระยะร่วมด้วยนะคะ

2. โรคกรดไหลย้อน


        ถ้าคุณไอทุกครั้งหลังรับประทานอาหารอิ่มใหม่ ๆ และในขณะที่ล้มตัวลงนอน โดยอาการไอจะไอหนัก ๆ เป็นช่วงสั้น ๆ ร่วมกับอาการแสบร้อนกลางอกและอาจจะมีเสียงแหบทุกครั้งหลังไอ ลักษณะนี้อาจส่อถึงโรคกรดไหลย้อนได้ค่ะ เนื่องจากหลังรับประทานอาหารหรือขณะที่ล้มตัวลงนอน กรดในกระเพาะอาหารจะไหลย้อนขึ้นมาทางหลอดอาหาร ส่งผลให้รู้สึกระคายเคืองคอจนเกิดอาการไอนั่นเอง

3. โรคหอบหืด


        ในกรณีที่ไอแห้ง ๆ ติดกันเป็นจังหวะรัวเร็ว พร้อมมีอาการหายใจไม่สะดวก โดยเฉพาะหากอาการไอมักจะเป็นหนักในตอนกลางคืน มีอาการไอถี่ขึ้น ร่วมกับอาการหอบ เจ็บหน้าอก และรู้สึกเหนื่อยล้ามากเป็นพิเศษหลังจากไอเสร็จ เดาได้คร่าว ๆ ว่าอาการไอตอนกลางคืนของคุณกำลังบอกถึงโรคหอบหืดอยู่นะคะ เนื่องจากอาการไอพร้อมกับอาการหายใจติดขัดอาจเป็นเพราะระบบทางเ­­ดินหายใจของคุณเกิดอาการอักเสบหรือติดเชื้อ แต่ถ้าจะให้ชัวร์แนะนำให้ปรึกษาแพทย์โดยตรงจะดีที่สุด

4. หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน

 


          อาการของโรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลันมักจะเป็นเรื้อรังนานประมาณ 1-3 สัปดาห์ขึ้นไป หรือบางเคสก็ไอติดต่อกันถึง 3 เดือนเลยก็มี โดยอาการไอจะเริ่มจากไอแห้ง ๆ มีไข้ เป็นหวัด หรือไม่มีไข้ก็ได้ ต่อมาอาจไอพร้อมกับมีเสมหะสีขาว เนื่องจากเยื่อบุหลอดลมถูกทำลายจนเกิดอาการอักเสบ ส่งผลให้หลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้น เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ ฝุ่น ลม ความเย็น เป็นต้น ทำให้เกิดอาการไอหนัก ๆ ตอนกลางคืนหรือไอหลังตื่นนอนตอนเช้า


วิธีแก้ไอ

5. ไซนัสอักเสบ


          อาการไอที่แฝงมากับโรคไซนัสอักเสบจะมีอาการไอเรื้อรัง และไอมากตอนกลางคืน ชนิดที่ไอรุนแรงจนนอนแทบไม่ได้ หรือบางเคสอาจมีอาการไข้หวัด มีเสมหะข้นเหนียวในลำคอ และเจ็บคอร่วมด้วย ซึ่งไซนัสอักเสบก็เกิดจากการติดเชื้อที่เยื่อบุจมูก ก่อให้เกิดอาการอักเสบตามมาในที่สุด

6. ไข้หวัดชนิดติดเชื้อไวรัส

 


          หลังจากเป็นหวัดหลายคนอาจจะยังมีอาการไอ และไอมากในตอนกลางคืน โดยอาการไอจะเป็นนานหลายสัปดาห์ ซึ่งสาเหตุก็เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มาจากไข้หวัด ทำให้ระบบหายใจและหลอดลมมีอาการอักเสบหลงเหลืออยู่


          หากมีอาการไอตอนกลางคืนติดต่อกันหลายวัน ร่วมกับมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ด้วย อย่านิ่งนอนใจนะคะ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการไอตอนกลางคืนและรีบทำการรักษาเลยดีกว่า

วิธีแก้ไอ

วิธีแก้ไอตอนกลางคืน คืนความสุขให้การนอนหลับ


          เรามาดูวิธีแก้ไอตอนกลางคืนกันค่ะ ว่าสามารถทำอย่างไรได้บ้าง

          1. ควรจัดห้องนอนให้โล่ง มีอากาศถ่ายเท และไม่รกจนเป็นแหล่งสะสมของฝุ่น

          2. หมั่นทำความสะอาดห้องนอนและเครื่องนอนทุกสัปดาห์ โดยเฉพาะหากรู้ตัวว่าเป็นภูมิแพ้ หรือมีอาการแพ้ฝุ่น

          3. พยายามหลีกเลี่ยงอากาศเย็น โดยเฉพาะแอร์ พัดลมเป่า หรือถ้าต้องการเปิดแอร์ ควรตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศให้สูงกว่า 25 องศาเซลเซียส เพื่อไม่ให้อากาศเย็นจนเกินไป และในกรณีที่ใช้พัดลมไม่ควรเปิดเบอร์แรงสุด และควรให้พัดลมส่ายไป-มา

          4. ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศจากเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมโดยตรง และควรนอนอยู่ห่างจากเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมพอสมควร พร้อมทั้งไม่ควรเปิดแอร์หรือพัดลมจ่อ และควรให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายให้เพียงพอ เช่น นอนห่มผ้า หรือใส่ถุงเท้านอน

วิธีแก้ไอ

          5. นอนห่มผ้าทุกครั้ง โดยควรให้ผ้าห่มคลุมหน้าอกอยู่ตลอดเวลาที่นอน

          6. ดื่มน้ำให้มาก ๆ โดยควรดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำอุณหภูมิห้อง น้ำจะช่วยเคลียร์ระบบทางเดินหายใจให้โล่งขึ้นได้

          7. จิบน้ำผึ้งผสมมะนาว เพื่อช่วยลดการอักเสบและช่วยกำจัดเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดอาการไอ

วิธีแก้ไอ

          8. จิบชาสมุนไพร ซึ่งจะช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้เยื่อบุจมูก และทำให้ระบบทางเดินหายใจโล่งขึ้น

          - น้ำขิงมะนาว สูตรนี้ได้คุณค่าจากสมุนไพรคูณสอง !

          - 13 สูตรมะนาวบรรเทาป่วย ช่วยให้ฟื้นตัวด้วยสรรพคุณจากสมุนไพร

          - เต้าฮวยน้ำขิง เครื่องดื่มสมุนไพรเผ็ดร้อนต้านหวัด

          9. แก้ไอด้วยสมุนไพรใกล้ตัว

          - สมุนไพรแก้ไอขจัดเสมหะ ของดีใกล้ตัว ในครัวก็หาได้

          10. หลีกเลี่ยงการนอนหลังรับประทานอาหารทันที โดยควรเว้นระยะอย่างน้อย 2.5 ชั่วโมง หลังมื้ออาหารเย็น โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคกรดไหลย้อน ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจกระตุ้นอาการด้วยนะคะ

          - โรคกรดไหลย้อนห้ามกินอะไร ไม่อยากลำบากกายต้องเลี่ยง !
         
          11. นอนหนุนหมอนสูง ในคนที่เป็นโรคกรดไหลย้อน เพื่อที่กรดในกระเพาะจะได้ไม่ตีกลับมาที่หลอดอาหารได้ง่าย ๆ

          12. หากจำเป็นต้องนอนในห้องแอร์ ควรวางเหยือกน้ำเปล่าไว้ใต้แอร์ เพื่อช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศ

เลิกบุหรี่

          13. เลิกบุหรี่ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับปอดและระบบทางเดินหายใจ

          14. หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางตัว เช่น ยาเอซีอีอินฮิบิเตอร์ ที่อาจก่อให้เกิดอาการไอตอนกลางคืน หรือทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้แพทย์เปลี่ยนยาให้ใหม่

          15. รักษาโรคที่ก่อให้เกิดอาการไอตอนกลางคืน หรืออย่างน้อยควรดูแลตัวเองให้ดี เพื่อป้องกันอาการป่วยทรุดหนักลง และอาจมีอาการไอตอนกลางคืนมากขึ้น

ไอตอนกลางคืนหนักขนาดไหน ต้องไปหาหมอ


          หากพบว่าตัวเองมีอาการไอตอนกลางคืนดังต่อไปนี้ แนะนำให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วนค่ะ

          - ไอตอนกลางคืนถี่ ๆ จนแทบไม่ได้พักผ่อน

          - ไอแบบมีเสมหะเป็นสีเหลืองหรือเขียว

          - ไอและมีไข้นานเกิน 7 วัน

          - ไอพร้อมกับมีอาการหายใจหอบเหนื่อยทุกครั้ง

          - เจ็บแปล๊บที่หน้าอกเมื่อไอ

          - ไอต่อเนื่องนานเกิน 2 สัปดาห์

          - ไอเป็นเลือด   

          - ไอหนักมากและน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

วิธีแก้ไอ

ไอตอนกลางคืน ป้องกันได้ไหม


          สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นโรคที่ก่อให้เกิดอาการไอตอนกลางคืน ซึ่งเคสนี้ควรต้องรักษาโรคที่เป็นอยู่เพื่อช่วยบรรเทาอาการไอให้ดีขึ้นได้ เราก็มีวิธีป้องกันอาการไอตอนกลางคืนมาฝาก ตามนี้เลยค่ะ

          - รักษาความสะอาดของบ้านอยู่เสมอ โดยเฉพาะห้องนอน

          - รักษาสุขอนามัยส่วนตัวให้ดี

          - พักผ่อนให้มาก ๆ เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟูระบบต่าง ๆ และพร้อมจะรับมือกับเชื้อโรคที่อาจก่อให้เกิดอาการไอตอนกลางคืนได้

          - งดสูบบุหรี่

          - ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรง

          นอกจากนี้ก็ควรบริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ และควรกินอาหารให้หลากหลาย โดยเฉพาะผักและผลไม้ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน ที่สำคัญอย่าลืมจิบน้ำเปล่าบ่อย ๆ ด้วยนะคะ




บทความที่เกี่ยวข้องกับอาการไอ


         - คันคอ ไอแห้ง มีเสมหะ ป่วยอะไร บรรเทายังไงได้บ้าง

         - ยาแก้ไอ ยาละลายเสมหะ ยาขับเสมหะ ไอแบบไหนควรใช้ยาอะไรบรรเทาอาการ

         - ไอห้ามกินอะไรบ้าง ผลไม้ น้ำเย็น กินได้ไหม รู้ไว้จะได้เลี่ยง !

         - ไอแห้ง ๆ บอกโรคอะไรได้บ้าง นอกจากหนึ่งในอาการโควิด 19
 
         - เช็กสาเหตุไอเป็นเลือด ป่วยโรคอื่นอยู่หรือแพ้ฝุ่นพิษ !?
 
         - โรคไอ 100 วัน เกิดจากอะไร ทำยังไงให้หายไอเรื้อรัง
 



ขอบคุณข้อมูลจาก : หมอชาวบ้าน, คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล, ภาควิชาโสต นาสิก ราลิงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้, mirror, health, webmd, healthline, everydayhealth
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
15 วิธีแก้ไอตอนกลางคืน ฟื้นอาการให้หาย บอกได้ว่าป่วยอะไรอยู่ ! อัปเดตล่าสุด 4 เมษายน 2566 เวลา 11:00:10 797,693 อ่าน
TOP
x close