โรคคอตีบ โรคติดต่อตัวร้าย ป้องกันได้ด้วยวัคซีน


โรคคอตีบ


          โรคคอตีบ จริง ๆ แล้วเป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ถ้าป่วยแล้วไม่รีบรักษา อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย

          เมื่อตอนเด็ก ๆ หลายคนน่าจะเคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก มาแล้ว เพราะทางกระทรวงสาธารณสุขรณรงค์ให้เด็กทั่วประเทศได้ฉีดวัคซีนชนิดนี้ เพื่อป้องกันการเกิดโรคดังกล่าว ดังนั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา ผู้ป่วยด้วยโรคคอตีบ และไอกรน จึงมีจำนวนลดลงมาก แต่ก็ยังมีให้เห็นอยู่ประปราย และแพร่ระบาดอยู่เป็นพัก ๆ ซึ่งเราจำเป็นต้องรู้จักโรคคอตีบกันไว้บ้าง เพราะโรคนี้ไม่ได้เกิดกับเด็ก ๆ เท่านั้น แต่ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ก็มีโอกาสป่วยด้วยโรคนี้ วันนี้กระปุกดอทคอมมีข้อมูลมาบอกกันค่ะ


โรคคอตีบ

โรคคอตีบ เกิดจากอะไร

          สำหรับโรคคอตีบ เรียกชื่อภาษาอังกฤษว่า ดิพทีเรีย (Diphtheriae) เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ เกิดจากการติดเชื้อคอตีบ ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ชื่อ โครินแบคทีเรียม ดิพทีเรีย (Corynebacterium diphtheriae) ติดต่อโดยทางเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย เช่น การจาม หรือไอ หรือการใช้ภาชนะ ข้าวของเครื่องใช้ร่วมกับผู้ป่วย พบมากในแหล่งชุมชน หรือสถานที่แออัด เช่น สถานเลี้ยงเด็ก โรคนี้มีระยะฟักตัวเพียงแค่ 1-7 วันเท่านั้น ซึ่งผู้ป่วยจะแพร่เชื้อได้ตั้งแต่เริ่มป่วย โดยทั่วไปอาจจะแพร่เชื้ออยู่ได้นาน 2 สัปดาห์ อาจมีบางรายแพร่เชื้อได้นานถึง  6  เดือน

ใครคือกลุ่มเสี่ยง

          โรคคอตีบนี้ ส่วนมากจะพบในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี แต่จะไม่พบในเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 เดือน เพราะเด็กยังมีภูมิคุ้มกันจากแม่อยู่ อย่างไรก็ตาม เด็กที่อายุมากกว่า 15 ปี จนถึงวัยผู้ใหญ่ก็สามารถพบผู้ป่วยได้ เพราะอาจไม่ได้ฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หรืออาจไม่เคยได้รับการวัคซีนป้องกัน

อาการของโรค

          หลังจากเกิดการติดเชื้อ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง แต่ไม่เกิน 39 องศา ตัวร้อนรุ่ม ๆ หนาวสั่น รู้สึกเหมือนเป็นหวัด เจ็บคอ ไอเสียงแหบ กลืนอาหารลำบาก จากนั้น จะมีอาการหายใจติดขัด หอบ ชีพจรเต้นเร็ว หากตรวจบริเวณผนังด้านหลังของคอจะพบแผ่นเยื่อสีเหลืองปนเทา ซึ่งดูคล้ายเศษผ้าสกปรกติดอยู่บนทอนซิล คอหอย กล่องเสียง และลิ้นไก่ ถ้าใช้ช้อนเขี่ยแรง ๆ แผ่นเยื่อดังกล่าวจะหลุดออกมาได้ แต่จะมีเลือดออกมาด้วย

โรคคอตีบ

          อย่างไรก็ตาม ในรายที่รุนแรง โรคคอตีบอาจทำให้เกิดการสูญเสียถึงชีวิตได้เลย เพราะมันจะทำให้ทางเดินหายใจตีบตัน จนหายใจไม่ออก และนอกจากไปอุดตันทางเดินหายใจแล้ว เชื้อโรคจากคอและหลอดลมจะปล่อยพิษออกมาในกระแสเลือด เข้าสู่กล้ามเนื้อหัวใจ และประสาทส่วนปลาย อาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนอย่าง "โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ", "ประสาทอักเสบ" หรือโรคอัมพาตเนื่องจากพิษทางประสาทจนเสียชีวิต

          ทั้งนี้ คนไข้หลายรายเสียชีวิตเพราะอาการหัวใจอักเสบ โดยที่ไม่มีการอุดตันของทางเดินหายใจ ซึ่งผู้ป่วยที่หัวใจอักเสบจะมีอาการอ่อนเพลีย กินอาหารไม่ได้ อาเจียน หน้าซีด ชีพจรเบา เต้นเร็ว เสียงหัวใจเบามาก หากเส้นประสาทหัวใจถูกทำลายจะทำให้เลือดสูบฉีดไม่เพียงพอ ส่งผลให้หัวใจวายในที่สุด

การวินิจฉัยโรค

          แพทย์จะตรวจดูอาการของผู้ป่วยว่ามีอาการบ่งบอกว่าเป็นโรคคอตีบหรือไม่ เช่น ไอเสียงก้อง เจ็บคอ ตรวจพบแผ่นเยื่อในลำคอ บริเวณทอนซิล และลิ้นไก่ มีอาการของทางเดินหายใจตีบตัน นอกจากนี้ แพทย์อาจจะทำการเพาะเชื้อด้วย เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจ

การรักษาโรคคอตีบ

          แม้จะเป็นโรคติดต่อที่ดูน่ากลัว แต่ก็สามารถรักษาให้หายได้ หากมาพบแพทย์โดยเร็ว ไม่ปล่อยให้อาการหนัก โดยแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งตัวที่ใช้ได้ผลดีก็คือ เพนนิซิลลิน ต้องทานเป็นเวลา 14 วัน พร้อมกับให้ยาต้านสารพิษ Diphtheria antitoxin โดยเร็วที่สุด เพื่อให้ไปล้างฤทธิ์ของพิษ ก่อนที่พิษจะไปจับกับเนื่อเยื่อ นอกจากนี้ หากใครเคยฉีดวัคซีนคอตีบมาแล้ว แพทย์อาจจะฉีดกระตุ้นให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรค

          ทั้งนี้ เด็กที่เป็นโรคคอตีบจะต้องพักเต็มที่อย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนทางหัวใจ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในปลายสัปดาห์ที่ 2

          อย่างไรก็ตาม หากปล่อยไว้นาน จนผู้ป่วยเป็นหนักถึงขั้นทางเดินหายใจอุดตัน แพทย์จะเจาะคอให้ หรือใช้เครื่องช่วยหายใจ และให้ออกซิเจน พร้อมกับดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนทางหัวใจ โดยอาจต้องพักรักษาตัวประมาณ 1 เดือน แต่หากมีอาการแทรกซ้อน เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เส้นประสาทอักเสบ และปอดบวมเกิดขึ้นแล้ว แพทย์ก็จะรักษาตามอาการต่อไป


สุขภาพ

การป้องกัน

          โรคคอตีบ เป็นโรคที่ติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัส และการหายใจ ดังนั้น เราควรป้องกันดังนี้

          1. แยกผู้ป่วยโรคคอตีบออกจากผู้อื่นอย่างน้อย 3 สัปดาห์ หลังเริ่มมีอาการ หรือตรวจเพาะเชื้อไม่พบเชื้อแล้ว 2 ครั้ง เพราะผู้ป่วยจะมีเชื้อดังกล่าวอยู่ในจมูก ลำคอ ประมาณ 2-3 สัปดาห์ ดังนั้น จึงต้องแยกออกจากผู้อื่นเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่หายจากโรคคอตีบแล้วอาจไม่มีภูมิคุ้มกันโรคเกิดขึ้นเต็มที่ จึงอาจเป็นโรคคอตีบซ้ำอีกได้ ดังนั้นจึงต้องให้วัคซีนป้องกันโรค แก่ผู้ป่วยที่หายแล้วทุกคน

          2. สำหรับผู้ที่ใกล้ชิดผู้ป่วยถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดโรคได้สูง หากไม่มีภูมิคุ้มกันโรค ดังนั้น ผู้ใกล้ชิดก็ควรไปพบแพทย์ด้วย โดยแพทย์อาจจะให้ยาปฏิชีวนะมาทานป้องกันก่อน หรือฉีดยาให้มีภูมิคุ้มกัน แม้จะไม่มีอาการป่วยก็ตาม ทั้งนี้ ควรดูแลตัวเองให้มีสุขภาพแข็งแรง อย่าสัมผัส หรือใกล้ตัวผู้ป่วย อย่าใช้ข้าวของเครื่องใช้ร่วมกัน รวมทั้งใช้หน้ากากอนามัยมาปิดปากปิดจมูก เพื่อป้องกันการติดเชื้อและแพร่ระบาด

          3. ในเด็กทั่วไป วิธีป้องกันโรคคอตีบที่ดีที่สุดก็คือ การฉีดวัคซีนโรคคอตีบ เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ซึ่งจะได้ผลดีในเด็กเล็ก

วัคซีนโรคคอตีบ

          เมื่อไม่ปรารถนาให้ โรคคอตีบ มาคุกคามสุขภาพ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องอย่าลืมนำลูกหลานไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ซึ่งรวมอยู่ในเข็มเดียวกับวัคซีนป้องกันไอกรน และบาดทะยัก สำหรับวัคซีนนี้สกัดมาจากพิษของเชื้อคอตีบเอง โดยสามารถฉีดได้ในเด็กตั้งแต่อายุ 2-3 เดือนขึ้นไป ต้องฉีดให้ครบ 5 เข็มเป็นระยะ ๆ คือ

          - เข็มที่ 1 ฉีดตอนอายุประมาณ 2 เดือน

          - เข็มที่ 2 ฉีดตอนอายุประมาณ 4 เดือน

          - เข็มที่ 3 ฉีดตอนอายุประมาณ 6 เดือน

          - เข็มที่ 4 ฉีดตอนอายุประมาณ 18 เดือน

          - เข็มที่ 5 ฉีดตอนอายุประมาณ 4-6 ปี

          จากนั้นฉีดกระตุ้นอีกครั้ง เมื่ออายุประมาณ 12-16 ปี เฉพาะวัคซีนคอตีบ และบาดทะยัก โดยสามารถฉีดได้ฟรีตามสถานีอนามัย ศูนย์บริการสาธารณสุขและโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง อย่างไรก็ตาม บางคนอาจได้รับปฏิกิริยาหลังการฉีดวัคซีน เช่น อาจมีไข้ ปวดบวมแดงเฉพาะที่ ซึ่งอาการดังกล่าวจะเกิดขึ้นภายใน 48 ชั่วโมงภายหลังได้รับวัคซีน

          ทั้งนี้ หากเด็กมีอาการดังกล่าว คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถเช็ดตัว และให้ยาลดไข้ลูกได้ รวมทั้งประคบบริเวณที่ฉีดด้วยน้ำอุ่น เพื่อลดอาการบวม แดงร้อนเฉพาะที่ และยังสามารถอาบน้ำฟอกสบู่ได้ตามปกติ
 
          นอกจากนี้ ในวัยผู้ใหญ่ก็เป็นกลุ่มที่มีโอกาสเป็นโรคคอตีบได้เช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุระหว่าง 20-50 ปี เป็นกลุ่มที่มีระดับภูมิต้านทานโรคคอตีบต่ำที่สุด เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เกิดก่อน พ.ศ. 2520 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยเริ่มใช้แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในเด็กในระดับชาติ จึงยังไม่เคยได้รับวัคซีนชนิดนี้ ทำให้มีความเสี่ยงติดเชื้อและป่วยเป็นโรคคอตีบได้สูง จึงควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบไว้เช่นกัน

ภาพประกอบจาก สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตสุพรรณบุรี , สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

- โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
- สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตสุพรรณบุรี
- ศูนย์ข้อมูลโรคติดเชื้อและพาหะนำโรค
- สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคคอตีบ โรคติดต่อตัวร้าย ป้องกันได้ด้วยวัคซีน อัปเดตล่าสุด 16 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 15:51:10 57,868 อ่าน
TOP
x close