โนโรไวรัส ใช่ไวรัสตัวใหม่จริงไหม ป่วยแล้วกี่วันหาย ทำไมแอลกอฮอล์ฆ่าไม่ตาย ?!

           โนโรไวรัส อาการท้องเสียรุนแรงที่แม้หายป่วยแล้วก็ยังแพร่เชื้อต่อได้ และแอลกอฮอล์ไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ด้วย แต่จะน่ากังวลอย่างที่เป็นข่าวหรือไม่ ลองอ่านกันดู
โนโรไวรัส

           ข่าวการแพร่ระบาดของโนโรไวรัส  (Norovirus) ในประเทศจีน ทำให้หลายคนตื่นตระหนกพอสมควร เพราะกลัวว่าจะเป็นไวรัสตัวใหม่เหมือนไวรัสโคโรนาที่ก่อให้เกิดโรคโควิด 19 ตามมาด้วยข่าวลือที่ว่ามีนักเรียนไทยป่วยจากการติดเชื้อโนโรไวรัสจนท้องเสีย นับพันคน ก็ยิ่งเกิดความหวั่นวิตก แต่ข้อเท็จจริงของเรื่องนี้เป็นอย่างไรกันแน่ โนโรไวรัส ใช่ไวรัสตัวใหม่ที่จะมาทำร้ายสุขภาพ จริงไหม หากติดเชื้อจะมีอาการเป็นอย่างไร โนโรไวรัส กี่วันหาย แล้วทำไมการฉีดแอลกอฮอล์จึงฆ่าเชื้อตัวนี้ไม่ได้ คำตอบอยู่ที่ด้านล่างนี้แล้ว

โนโรไวรัส เป็นไวรัสตัวใหม่จริงไหม

โนโรไวรัส คือ

          โนโรไวรัส (Norovirus) ไม่ใช่เชื้อโรคใหม่ แต่เป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย ท้องร่วงอย่างเฉียบพลัน ซึ่งโรคนี้แพร่ระบาดมานานกว่า 10 ปีแล้วในหลายประเทศ อย่างในประเทศจีนหรือไทยก็พบได้ทุกปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่มีสภาวะอากาศเย็นและแห้ง ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดีและปนเปื้อนมากับอาหารและน้ำดื่ม ส่วนใหญ่มักพบการระบาดในสถานที่ที่คนอยู่รวมกันหนาแน่น เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียน โรงพยาบาล เรือสำราญ 

          ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าพบนักเรียนในจังหวัดระยองป่วยเป็นโนโรไวรัสกว่าพันคนนั้น ทางกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่า อาการท้องเสียของเด็กส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้ออีโคไล และโคลิฟอร์ม แบคทีเรีย โดยพบการติดเชื้อโนโรไวรัสเพียง 2 คนเท่านั้น เหตุการณ์ดังกล่าวจึงไม่ใช่การระบาดของโนโรไวรัสแต่อย่างใด

โนโรไวรัส ติดต่อได้ทางไหน

          เชื้อโนโรไวรัสสามารถติดต่อและแพร่กระจายได้หลายทาง ทั้งการสัมผัสทางอาหาร น้ำดื่ม อากาศ คือ

  • การสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย เช่น สัมผัสผู้ป่วยที่ติดเชื้อโนโรไวรัสโดยตรง หรือสัมผัสของใช้ส่วนตัวของผู้ป่วยที่ปนเปื้อนเชื้อ  
  • กินอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น อาหารทะเลดิบ ๆ, ผัก-ผลไม้ที่ล้างไม่สะอาด, น้ำแข็งที่ทำจากน้ำที่ปนเปื้อน
  • การสัมผัสกับพื้นผิวหรือวัตถุที่ปนเปื้อนเชื้อโนโรไวรัส เช่น มือจับประตู ราวบันได ปุ่มลิฟต์ แล้วนำมือเข้าปาก
     

          ทั้งนี้ เชื้อโนโรไวรัสติดต่อกันได้ง่ายมาก และสามารถอยู่ในอุจจาระของผู้ป่วยได้นานถึง 2 สัปดาห์ ดังนั้น หากสมาชิกคนใดคนหนึ่งในบ้านมีอาการท้องเสียจากโนโรไวรัส คนอื่น ๆ ก็มีแนวโน้มที่จะติดเชื้อได้เช่นกัน ยกเว้นว่าจะรีบแยกตัวผู้ป่วยออกจากคนอื่น และทำความสะอาดบ้านอย่างหมดจด

โนโรไวรัส ระยะฟักตัวกี่วัน

           ระยะฟักตัวของโนโรไวรัสโดยทั่วไปอยู่ที่ 12-48 ชั่วโมง หลังจากได้รับเชื้อ หมายความว่า หลังจากที่เราสัมผัสเชื้อ จะเริ่มมีอาการป่วยต่าง ๆ ปรากฎออกมาภายใน 2 วัน

โนโรไวรัส อาการเป็นอย่างไร

โนโรไวรัส อาการ

          เนื่องจากโนโรไวรัสเป็นโรคติดเชื้อที่ระบบทางเดินอาหาร จึงมักทำให้เกิดอาการรุนแรงและฉับพลัน โดยอาการที่พบบ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่มีดังนี้

  • คลื่นไส้ อาเจียนบ่อยครั้ง

  • ปวดมวนท้อง ท้องเสียอย่างรุนแรง และอาจมีเลือดปน

  • รู้สึกปวดเกร็ง ๆ บริเวณท้อง

  • มีไข้ เป็นไปได้ทั้งไข้ต่ำและไข้สูงในบางราย

  • ปวดเมื่อยตามร่างกาย รู้สึกอ่อนเพลีย

  • ปวดศีรษะ

          ในบางคนอาจมีอาการหนาวสั่น ปัสสาวะไม่ออก หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง เนื่องจากร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ร่วมด้วย

โนโรไวรัสกี่วันหาย

           อาการของโรคโนโรไวรัสมักจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน แต่ก็จะหายได้ภายใน 1-3 วัน ยกเว้นในบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจป่วยได้นานถึง 1 สัปดาห์

โนโรไวรัสยังแพร่เชื้อได้
แม้หายป่วยแล้ว

           อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ป่วยจะหายดีแล้วในช่วง 1-3 วัน แต่เชื้อโนโรไวรัสยังคงอยู่ในร่างกายของเรา ดังนั้นจึงยังสามารถแพร่เชื้อไวรัสต่อได้อีก 2-3 วันเลยทีเดียว แพทย์จึงมักแนะนำให้ผู้ป่วยพักอยู่บ้านต่ออีกอย่างน้อย 1-2 วันหลังจากหายป่วยแล้ว อย่าเพิ่งไปโรงเรียนหรือไปทำงาน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังคนอื่น

โนโรไวรัส อันตรายไหม

โนโรไวรัสกี่วันหาย

          สำหรับคนทั่วไป โนโรไวรัสไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่สำหรับกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัวที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าวัยอื่น ต้องระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น

  • โรคกระเพาะและลำไส้อักเสบเฉียบพลันที่รุนแรงในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ 

  • ภาวะขาดน้ำจากอาการอาเจียนและท้องเสียอย่างรุนแรง

  • การติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน

  • การอักเสบของต่อมต่าง ๆ ในร่างกาย

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์

          หากมีอาการต่อไปนี้ควรรีบไปพบแพทย์ 
  • อาเจียนรุนแรงและต่อเนื่อง

  • ท้องเสียรุนแรงหรือถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด

  • มีไข้สูง

  • อ่อนเพลียมาก

  • ปากแห้ง

  • ปัสสาวะน้อยลง ปัสสาวะไม่ออก

  • รู้สึกสับสน

  • หายใจหอบเหนื่อย

โนโรไวรัส รักษายังไง

          ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสเฉพาะเจาะจงสำหรับโรคนี้ ดังนั้นการรักษาจึงเน้นไปที่การบรรเทาอาการที่เป็นและป้องกันภาวะขาดน้ำ เช่น

  • ดื่มสารละลายเกลือแร่ (ORS) เมื่อท้องเสียและอาเจียน เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะช็อกและเสียชีวิต

  • กินยาลดไข้หากมีไข้ แต่ห้ามกินยาปฏิชีวนะเด็ดขาด เพราะโรคนี้เกิดจากติดเชื้อไวรัส การใช้ยาปฏิชีวนะจึงไม่ได้ผล

  • หากมีอาการคลื่นไส้สามารถกินยาแก้คลื่นไส้อาเจียนได้ 

  • รับประทานอาหารอ่อน ๆ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม เพื่อให้ระบบทางเดินอาหารได้พักผ่อน 

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

          เมื่อผู้ป่วยปฏิบัติตัวตามนี้โดยส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นและหายไปได้เองภายใน 1-3 วัน

ทำไมแอลกอฮอล์
ฆ่าโนโรไวรัสไม่ได้

แอลกอฮอล์ฆ่าโนโรไวรัสไม่ได้

           หลายคนพกสเปรย์แอลกอฮอล์และเจลแอลกอฮอล์ติดกระเป๋าไว้อยู่แล้ว เพื่อป้องกันโควิด 19 ที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนา แต่สำหรับเชื้อโนโรไวรัสนั้น แอลกอฮอล์ไม่สามารถฆ่าเชื้อตัวนี้ได้ เนื่องจากโนโรไวรัสมีเกราะป้องกันที่ค่อนข้างแข็งแรง จึงสามารถอยู่รอดได้ทั้งในอุณหภูมิสูงและต่ำ รวมถึงทนต่อสารเคมีหลายชนิด ทำให้สามารถคงอยู่บนพื้นผิวได้นานหลายวันแม้อยู่ในอุณหภูมิห้อง วิธีการที่ดีที่สุดในการกำจัดเชื้อโนโรไวรัส คือการใช้สบู่ ผงซักฟอก หรือสารฟอกขาวที่มีคลอรีน

โนโรไวรัส ป้องกันได้อย่างไร

          แม้ว่าจะไม่มีวัคซีนป้องกันโนโรไวรัสโดยเฉพาะ แต่เราก็สามารถป้องกันตัวเองได้ด้วยวิธีง่าย ๆ ดังนี้

  • ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดอย่างน้อย 20 วินาทีทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ รวมทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร 

  • รับประทานอาหารปรุงสุก หลีกเลี่ยงอาหารดิบหรือสุก ๆ ดิบ ๆ โดยเฉพาะอาหารทะเล 

  • อาหารปรุงสุกที่เก็บไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง หากจะนำมารับประทานใหม่ต้องอุ่นอาหารให้ร้อนจัดทั่วถึงก่อนรับประทานทุกครั้ง

  • กินร้อน ใช้ช้อนกลาง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

  • ล้างผัก-ผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน 

  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำที่ไม่สะอาด น้ำดื่มบรรจุขวดที่บรรจุภัณฑ์ปิดไม่สนิท หรือน้ำแข็งบรรจุถุงที่ดูไม่สะอาด

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำที่ไม่สะอาด 

  • ดูแลรักษาความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ และหมั่นทำความสะอาดพื้นผิว เช่น ห้องน้ำ พื้นผิวที่สัมผัสบ่อย ๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของคลอรีน

  • หากมีคนในบ้านป่วยไม่ควรสัมผัสใกล้ชิด ควรแยกของใช้ส่วนตัวและแยกภาชนะในการรับประทานอาหาร รวมทั้งทำความสะอาดบริเวณที่ผู้ป่วยสัมผัสบ่อย ๆ

          โนโรไวรัสเป็นโรคติดต่อที่แพร่กระจายได้ง่าย การป้องกันที่ดีที่สุดคือการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลให้ดี เช่น ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำ แต่หากวันไหนมีอาการผิดปกติ เช่น ท้องเสียอย่างรุนแรง อาเจียนบ่อย มีไข้สูง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

บทความที่เกี่ยวข้องกับโนโรไวรัส

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (1), (2), ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย, nbcnews.com, uchealth.org

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โนโรไวรัส ใช่ไวรัสตัวใหม่จริงไหม ป่วยแล้วกี่วันหาย ทำไมแอลกอฮอล์ฆ่าไม่ตาย ?! อัปเดตล่าสุด 20 ธันวาคม 2567 เวลา 14:53:32 1,459 อ่าน
TOP
x close