ท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ และถ่ายหลายครั้ง อาการนี้เกิดจากอะไร แก้ด้วยยาอะไรให้หายดี
ท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ เกิดจากอะไร
หากถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายเหลวกว่าปกติ และถ่ายบ่อยมากกว่า 3 ครั้งขึ้นไปภายใน 24 ชั่วโมง จะเข้าข่ายอาการท้องเสีย โดยอาจจะมีสาเหตุมาจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
-
อาหารเป็นพิษ จากการกินอาหารไม่สะอาด ที่มีเชื้อแบคทีเรีย เช่น อีโคไล ซาลโมเนลลา ชิเกลล่า เป็นต้น
-
ติดเชื้อไวรัส เช่น โนโรไวรัส หรือไวรัสโรตา ที่มักพบบ่อยในช่วงฤดูหนาว โดยอาจได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจากการหยิบจับ สัมผัสสิ่งของปนเปื้อนเชื้อ หรือกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ
-
กินอาหารรสจัด หรืออาหารไขมันสูง ที่อาจกระตุ้นอาการท้องเสียได้
-
แพ้อาหาร เช่น กลูเตน น้ำตาลแล็กโทส น้ำตาลฟรุกโทส หรือสารให้ความหวานแทนน้ำตาล
-
การดื่มกาแฟ โดยเฉพาะตอนท้องว่าง เพราะคาเฟอีนในกาแฟก็มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ
-
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ เหล้า ไวน์ มากเกินไป ซึ่งจะทำให้มีสารน้ำเข้าสู่ลำไส้เยอะขึ้น กระตุ้นอาการถ่ายเป็นน้ำได้มากกว่าปกติ
-
ความเครียด ความวิตกกังวล ที่เป็นสาเหตุให้ลำไส้บีบตัวมากขึ้น จึงทำให้ท้องเสียได้ง่าย
-
ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาต้านมะเร็ง การใช้รังสีรักษา หรือยาลดกรดในกระเพาะอาหาร
-
โรคบางอย่าง เช่น ลำไส้แปรปรวน (IBD), ลำไส้อักเสบ, ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง หรือมะเร็งตับอ่อน, ความผิดปกติในการดูดซึมอาหาร (Malabsorption of food) รวมไปถึงเนื้องอกที่กระตุ้นให้ฮอร์โมนในลำไส้เพิ่มการหลั่งสารคัดหลั่ง ทำให้สารน้ำเข้าลำไส้มากขึ้น ส่งผลให้ถ่ายเหลวเป็นน้ำได้
ท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ อาการเป็นอย่างไร
-
ถ่ายเป็นน้ำ อุจจาระมีสีเหลืองหรือสีเขียวอ่อน หรือหากอาการรุนแรงอาจถ่ายเป็นน้ำสีขาวขุ่นคล้ายน้ำซาวข้าวได้
-
อุจจาระมีกลิ่นคาว หรืออาจมีไขมันปน
-
มักมีอาการปวดท้อง ปวดเกร็ง ปวดบิด ปวดเบ่ง ร่วมกับคลื่นไส้ อาเจียน
-
หากถ่ายเป็นน้ำหลายครั้งอาจมีอาการไข้ร่วมด้วย
-
ในเด็กเล็กอาจมีอาการชักจากไข้สูง
วิธีแก้ท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ ใช้ยาอะไรได้บ้าง
1. ยาผงถ่าน หรือคาร์บอน (Activated Charcoal)
เป็นสารที่ใช้ดูดสารพิษ เชื้อโรคต่าง ๆ ที่ทำให้ท้องเสีย และช่วยลดอาการแน่นท้อง ทำให้อุจจาระเหลวน้อยลง โดยสามารถกิน 2 เม็ด เมื่อมีอาการ หรือกินซ้ำได้ 3-4 ชั่วโมงต่อวัน
* ข้อควรระวัง
-
ไม่ควรกินคาร์บอนเกิน 16 เม็ดต่อวัน
-
ไม่ควรกินคาร์บอนพร้อมกับยาตัวอื่น เช่น ยาฆ่าเชื้อ เพราะคาร์บอนอาจดูดซึมยาเข้าไปด้วย ทำให้ร่างกายได้รับยาน้อยกว่าที่ควรได้
-
ควรเว้นระยะห่าง 2 ชั่วโมงจากการรับประทานยาชนิดอื่น
-
ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะลำไส้อุดตัน
-
ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้
2. ผงเกลือแร่ ORS (ORS-Oral rehydration salt)
ผงเกลือแร่ไม่ได้ช่วยแก้ท้องเสีย แต่ควรรับประทานเพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกายจากการถ่ายเหลวหรืออาเจียน โดยชง 1 ซอง ผสมกับน้ำสะอาดตามปริมาณที่ระบุไว้ที่ซองยา หรือค่อย ๆ จิบแทนน้ำเปล่าตลอดวัน
* ข้อควรระวัง
-
ควรผสมผงเกลือแร่ ORS ครั้งละซอง
-
ห้ามผสม ORS กับเครื่องดื่มใด ๆ นอกจากน้ำเปล่า
-
ไม่ควรจิบรวดเดียวหมด เพราะอาจทำให้อาเจียนหรือท้องเสียมากขึ้น
-
ไม่ควรเก็บน้ำเกลือแร่ที่ดื่มไม่หมดไว้เกิน 24 ชั่วโมง เนื่องจากเสี่ยงต่อการปนเปื้อน
-
อย่าสับสนระหว่างเกลือแร่ ORS กับเครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับนักกีฬา เพราะเกลือแร่ชนิดหลังมีปริมาณน้ำตาลสูง ซึ่งอาจกระตุ้นอาการท้องเสียได้
แต่หากไม่มีเกลือแร่ ORS สามารถใช้น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ เกลือป่น 1 ช้อนชา ผสมลงไปในน้ำต้มสุก 1 ขวดน้ำปลา (ประมาณ 750 cc) แล้วจิบแทนได้
3. ยาธาตุน้ำขาว
เป็นยาสามัญประจำบ้านที่ใช้รักษาอาการท้องเสียจากการติดเชื้อที่ไม่รุนแรง อีกทั้งยังช่วยลดอาการปวดท้อง อาการจุกเสียดแน่นท้อง และช่วยขับลมได้
*ข้อควรระวัง
-
รับประทานตามขนาดและปริมาณที่แนะนำในฉลาก
-
ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยาแอสไพริน
-
ผู้ที่แพ้สารซาลิไซเลตควรเลี่ยงการรับประทานยาธาตุน้ำขาว
-
ยาธาตุน้ำขาวมีส่วนผสมของเมนทอล อาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้ในบางคน จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง
-
เด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาธาตุน้ำขาว เนื่องจากมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
4. ยาแก้ท้องเสีย
หากกินยาธาตุ ยาผงถ่าน ดื่มน้ำเกลือแร่ ORS แล้วยังไม่ดีขึ้น สามารถใช้ยาโลเพอราไมด์ เช่น อิโมเดียม หรือโลเพอราไมด์ จีพีโอ เพื่อลดความถี่ในการขับถ่าย และช่วยบรรเทาอาการปวดเกร็งท้อง โดยรับประทาน 2 เม็ดในครั้งแรก และกินซ้ำครั้งละ 1 เม็ด ทุกครั้งที่ถ่ายเหลว
* ข้อควรระวัง
-
ห้ามใช้ยานี้หากถ่ายเป็นมูกปนเลือด
-
ไม่ควรกินยาเกิน 8 เม็ดต่อวัน
-
ห้ามใช้ในเด็ก
ท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ ดูแลตัวเองยังไงดี
-
หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีผลิตภัณฑ์นมเป็นส่วนประกอบ รวมทั้งอาหารรสจัด อาหารไขมันสูง ของทอดและของหมักดอง
-
เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ สด สะอาด ถูกสุขอนามัย
-
รับประทานอาหารอ่อน ๆ ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก เนื้อปลา
-
ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ หากมีอาการถ่ายบ่อยจนร่างกายอ่อนเพลียให้ดื่มน้ำเกลือแร่ร่วมด้วย
-
รับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ แทนมื้อใหญ่ ๆ เพื่อให้ลำไส้ได้พักและช่วยให้การทำงานกลับเป็นปกติเร็วขึ้น
-
หลังจากหายท้องเสียแล้วสามารถรับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติก เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต ชาคอมบูชะ ซุปมิโซะ หรืออาหารเสริมโพรไบโอติกที่มีโพรไบโอติกสายพันธุ์แล็กโทบาซิลลัส เคซิไอ (Lactobacillus Casei) เพื่อให้ไปปราบเชื้อจุลินทรีย์ชนิดไม่ดี และปรับจุลินทรีย์ในลำไส้ให้เป็นปกติ
-
พยายามไม่เครียดและหลีกเลี่ยงความวิตกกังวลต่าง ๆ
-
รักษาสุขอนามัยให้ดี หมั่นล้างมือหลังเข้าห้องน้ำและก่อนรับประทานอาหาร
ทั้งนี้ หากมีอาการท้องเสียติดต่อกันหลายวัน ลองกินยาแก้ท้องเสียอาการก็ไม่ดีขึ้น ร่วมกับมีความผิดปกติอื่น ๆ ควรรีบพบแพทย์นะคะ
ท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ แบบไหนควรพบแพทย์
หากมีอาการต่อไปนี้ไม่ควรนิ่งนอนใจ แต่ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาต่อไปนะคะ
-
อาการไม่ดีขึ้นใน 24-48 ชั่วโมง แม้จะรักษาอาการท้องเสียด้วยวิธีต่าง ๆ แล้วก็ตาม
-
อุจจาระมีมูกเลือดปนตั้งแต่ 1 ครั้งขึ้นไป
-
อุจจาระมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ (คล้ายกลิ่นกุ้งเน่า)
-
ท้องเสียร่วมกับคลื่นไส้ อาเจียน
-
มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส
-
ถ่ายท้องจนอ่อนเพลียมาก ซึม ซีด ปากแห้ง
-
อาการท้องเสียที่เกิดกับผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมทั้งเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ขวบ และผู้สูงอายุ
บทความที่เกี่ยวข้องกับอาการท้องเสีย
- ท้องเสียบ่อย เช็กหน่อย...ป่วยเป็นอะไรได้บ้าง
- ท้องเสียตอนเช้า ผิดปกติไหม เกิดจากอะไรได้บ้าง
- ท้องเสียกินกาแฟ นมเปรี้ยว โยเกิร์ตได้ไหม จะช่วยบรรเทาหรือยิ่งทำให้ถ่ายท้องหนักขึ้น
- ท้องเสียกินน้ำมะพร้าวได้ไหม ช่วยให้หายท้องเสียได้หรือเปล่า ?
- ท้องเสียก่อนเป็นเมนส์ทุกที อาการนี้เกิดจากอะไร มีวิธีไหนป้องกันได้บ้าง
- ท้องเสียกินอะไรถึงจะหาย อาการไม่สบายกายที่แก้ได้ด้วยอาหาร
- ท้องเสียบ่อย น้ำหนักลด กินเท่าไรก็ไม่อ้วน ระวังป่วยไทรอยด์เป็นพิษ