มะรุม พืชผักสมุนไพร ที่ใคร ๆ ก็ทราบดีว่ามีสรรพคุณหลากหลาย แต่จะกินยังไงถึงได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ และใครไม่ควรรับประทานบ้าง มาหาคำตอบกัน
มะรุม พืชชนิดนี้คนภาคเหนือรู้จักกันดีในชื่อ บะค้อนก้อม ส่วนคนอีสานเรียกว่า ผักอีฮุม หรือบักฮุ้ม เป็นผักพื้นบ้านที่คนไทยตั้งแต่สมัยโบราณนำมาปรุงอาหารอยู่หลายส่วน ทั้งใบมะรุม ช่อดอกมะรุม ฝักมะรุม ยอดมะรุม ฯลฯ จนมาถึงปัจจุบันก็ยังได้รับความนิยมเช่นกัน ด้วยเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก และประโยชน์ของมะรุมก็เด็ดไม่น้อย ใครอยากรู้ว่าควรรับประทานมะรุมอย่างไรถึงได้รับสรรพคุณดี ๆ อย่างเต็มที่ ตามมาศึกษากันเลย
มะรุม สรรพคุณดีอย่างไร
มะรุม เป็นพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ทั้งราก เปลือก ใบ ดอก ฝัก เมล็ด โดยมีสรรพคุณเด่น ๆ ในด้านสุขภาพ อาทิ
- มีวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด โดยเฉพาะวิตามินเอ วิตามินซี แคลเซียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก ที่มีปริมาณสูงมากกว่าผักชนิดอื่น
- มีสารฟลาโวนอยด์ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอวัย และชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย
- ใยอาหารสูง ดีต่อระบบขับถ่าย อีกทั้งใบสดก็มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ
- ใช้แก้ไข้ ถอนพิษไข้
- ช่วยถอนพิษและลดอาการปวดบวมจากแมลงสัตว์กัดต่อย
- ใช้รับประทานเป็นยาขับลมในลำไส้ ทำให้ผายลมหรือเรอ
- ช่วยบำรุงไฟธาตุ บำรุงกำลัง
- ดอกมะรุม มีฤทธิ์ช่วยขับปัสสาวะ
- น้ำมันจากเมล็ด นำไปใช้ทำยาขี้ผึ้งทาถูนวดแก้ปวดเมื่อย และใช้ทำเครื่องสำอาง น้ำหอม หรือนำมาปรุงอาหาร
- งานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พบว่า สารสกัดน้ำมะรุมน่าจะมีส่วนช่วยลดโอกาสเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (การศึกษาในหนูทดลอง)
- งานวิจัยจากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า มะรุมมีส่วนช่วยลดอาการอักเสบในลำไส้ของหนูทดลอง อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าการกินมะรุมจะช่วยให้มะเร็งลำไส้หาย ซึ่งยังต้องศึกษาวิจัยในมนุษย์เพิ่มเติม
มะรุม กินยังไงได้ประโยชน์อย่างเต็มที่
วิธีกินมะรุมเพื่อให้ได้รับสรรพคุณดี ๆ จากผักชนิดนี้ก็คือ
- รับประทานเป็นส่วนประกอบของอาหาร เช่น แกงส้มมะรุม ไข่เจียวใบมะรุม มะรุมผัดไข่ หรือนำใบมะรุมมาเป็นเครื่องเคียง เพื่อให้ได้รับสารอาหารประเภทอื่น ๆ ครบถ้วน ทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน และแร่ธาตุ อีกทั้งไม่เสี่ยงต่อการได้รับสารต่าง ๆ จากใบมะรุมมากเกินไป
- ควรเลือกใช้ใบมะรุมสด ไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไปมาปรุงอาหาร
- รับประทานแบบปรุงสุกผ่านความร้อนดีกว่ากินแบบดิบ ๆ เนื่องจากมะรุมดิบอาจมีสารพิษบางอย่างที่ส่งผลเสียต่อตับ
- ควรลวกมะรุมแต่พอดี ไม่ต้องสุกมากเกินไป เพื่อไม่ให้เสียคุณค่าทางอาหารที่มีอยู่ในมะรุม
มะรุม ข้อห้ามมีอะไรบ้าง
ใครไม่ควรรับประทาน
แม้มะรุมจะเป็นพืชที่มีคุณค่า แต่ไม่แนะนำให้คนบางกลุ่มรับประทาน เนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียง ได้แก่
- สตรีมีครรภ์ เนื่องจากมะรุมเป็นพืชที่มีฤทธิ์ร้อน จึงอาจทำให้ทารกในครรภ์แท้ง
- ผู้ป่วยโรคเลือด เช่น โรคพร่องเอนไซม์ G6PD เพราะจะทำให้เม็ดเลือดแตกง่าย
- ผู้ป่วยโรคเกาต์ เพราะมะรุมมีโปรตีนสูง อาจกระตุ้นการสร้างกรดยูริกภายในร่างกาย ทำให้มีอาการปวดข้อมากขึ้น
- ผู้ป่วยโรคตับ หรือคนที่มีค่าตับผิดปกติ เพราะมะรุมจะส่งผลให้มีค่าเอนไซม์ของตับสูงขึ้น
- ผู้ที่มีธาตุเจ้าเรือนไฟ หรือมีภาวะร้อนง่าย อาจยิ่งส่งเสริมให้เกิดความร้อนในร่างกายได้
ทั้งนี้ ในกรณีมีโรคประจำตัวอื่น ๆ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน
ย้ำอีกครั้งว่า เพื่อสุขภาพที่ดีควรรับประทานมะรุมเป็นอาหารในเมนูต่าง ๆ ร่วมกับการกินอาหารที่หลากหลาย จะปลอดภัยกว่าการตั้งใจกินมะรุมติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือรับประทานมะรุมแบบแคปซูลอาหารเสริมเพียงอย่างเดียวโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพื่อหวังให้ช่วยรักษาโรค เพราะการรับประทานมะรุมในโดสสูงอาจทำให้ร่างกายได้รับสารสกัดที่ออกฤทธิ์ในปริมาณมากเกินไปจนเกิดผลข้างเคียงและอาจเป็นพิษต่อตับได้เช่นกัน
บทความที่เกี่ยวข้องกับมะรุม
ขอบคุณข้อมูลจาก : สถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร, โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (1), (2), มหาวิทยาลัยมหิดล, ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร