8 อาหารผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียไม่ควรกิน พร้อมเช็กลิสต์อาหารช่วยบำรุงเลือด

           โรคธาลัสซีเมียไม่ควรกินอะไร สำหรับผู้ป่วยที่ตรวจพบว่าเป็นโรคนี้ ลองมาดูว่าควรเลี่ยงอาหารประเภทไหน แล้วควรกินอะไรบำรุงเลือด
ธาลัสซีเมีย อาหาร

           โรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคทางพันธุกรรม ที่คนไทยเป็นพาหะ มียีนแฝงโดยไม่รู้ตัวกว่า 20 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนไม่น้อย จึงสุ่มเสี่ยงที่จะมีผู้ป่วยธาลัสซีเมียเพิ่มขึ้นในอนาคต และโรคนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลสุขภาพอย่างดี ใส่ใจรายละเอียดทุกอย่าง โดยเฉพาะเรื่องอาหาร ซึ่งวันนี้เรามีข้อมูลว่า โรคธาลัสซีเมียไม่ควรกินอะไร และอาหารชนิดไหนที่จะช่วยบำรุงเลือดได้

ธาลัสซีเมีย คืออะไร

ธาลัสซีเมีย

           โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) คือ โรคโลหิตจางชนิดหนึ่งที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ส่งผลต่อการสร้างฮีโมโกลบิน ทำให้เม็ดเลือดแดงมีจำนวนน้อยลง มีอายุสั้น และแตกง่าย ผู้ป่วยโรคนี้จะมีภาวะธาตุเหล็กเกิน และภาวะโลหิตจางเรื้อรัง ผิวซีด อ่อนเพลีย ภูมิคุ้มกันต่ำ ความหนาแน่นของมวลกระดูกน้อย และร่างกายจะเจริญเติบโตได้น้อยกว่าปกติด้วย ดังนั้น จึงควรใส่ใจตัวเองทุกรายละเอียด รวมไปถึงเรื่องอาหารการกิน

โรคธาลัสซีเมีย ไม่ควรกินอะไร

          อาหารที่ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียควรเลี่ยง ได้แก่

1. เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์

เลือดไก่

           เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เลือดหมู เลือดไก่ ตับ เพราะเป็นอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ดังนั้น ผู้ป่วยธาลัสซีเมียที่ได้รับเลือดเรื่อย ๆ จะมีภาวะธาตุเหล็กเกินอยู่แล้ว จึงไม่ควรรับประทานอาหารธาตุเหล็กสูงเพิ่มไปอีก

2. หอยชนิดต่าง ๆ

หอยเชลล์

           หอยทุกชนิด รวมไปถึงสาหร่ายก็มีธาตุเหล็กสูง ดังนั้น ถ้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยงดีกว่า หรือหากจะรับประทานจริง ๆ ควรรับประทานพร้อมกับอาหาร เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน นมถั่วเหลือง ซึ่งจะช่วยลดการดูดซึมธาตุเหล็กได้

3. ผักบางชนิด

เมี่ยงคำใบชะพลู

          อย่างผักกูด ใบชะพลู มะเขือพวง หน่อไม้ฝรั่ง ใบแมงลัก ทุกอย่างนี้ต่างมีธาตุเหล็กสูงเช่นกัน ดังนั้น ผู้ป่วยธาลัสซีเมียที่มีอาการปานกลางหรือมากควรเลี่ยงการรับประทานไปก่อน

4. เมล็ดฟักทอง

เมล็ดฟักทอง

           แม้จะดูว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่เมล็ดฟักทองก็จะอยู่ในกลุ่มอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงที่ควรจำกัดการรับประทาน หรือถ้าทำได้ควรเลี่ยงไปก่อน

5. งาขาว งาดำ

งาขาว งาดำ

           โดยเฉพาะในรูปเครื่องดื่มที่สกัดจากงาดำ งาขาว หรืออาหารเสริมงาดำ งาขาว รวมไปถึงขนมงาตัด และเมนูที่มีงาขาวหรืองาดำในปริมาณมาก ๆ ก็อยากให้ลดการรับประทานไปก่อน เพราะงาก็มีธาตุเหล็กสูงค่ะ

6. ดาร์กช็อกโกแลต

ดาร์กช็อกโกแลต

           ในดาร์กช็อกโกแลตมีปริมาณธาตุเหล็กสูงพอสมควร แม้จะมีคาเฟอีนช่วยลดการดูดซึมธาตุเหล็กอยู่ในตัว แต่สำหรับผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียที่อาการปานกลางหรืออาการรุนแรง อาจต้องงดการรับประทานดาร์กช็อกโกแลตด้วยนะคะ

7. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เหล้า

           ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียจะมีภูมิคุ้มกันต่ำ จึงควรงดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จะเพิ่มความเสื่อมให้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ทำให้ภูมิตกกันไปใหญ่ และยังมีโทษกับตับด้วย

8. ขนมปังและซีเรียล

ซีเรียลเสริมธาตุเหล็ก

           ขนมปังหรือซีเรียลบางชนิดเสริมธาตุเหล็กลงไปด้วย จึงควรอ่านฉลากก่อนรับประทาน นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงขนมปังหรือซีเรียลที่มีส่วนผสมของช็อกโกแลต ผัก-ผลไม้เชื่อม อาหารแปรรูปอย่างไส้กรอก แฮม แล้วเลือกรับประทานซีเรียลธัญพืชที่ไม่มีน้ำตาล หรือขนมปังโฮลวีต ขนมปังไรย์

ธาลัสซีเมีย กินกาแฟได้ไหม

กาแฟ

           สำหรับเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน โดยเฉพาะชา กาแฟ สามารถดื่มได้ในปริมาณที่เหมาะสม และการดื่มกาแฟร่วมกับมื้ออาหารที่มีธาตุเหล็กสูงก็จะช่วยลดการดูดซึมธาตุเหล็กได้ด้วย
ธาลัสซีเมีย กินวิตามินซีได้ไหม
วิตามินซี

           วิตามินซีเป็นวิตามินที่ช่วยดูดซึมธาตุเหล็ก แต่ก็มีผลต่อกระบวนการสลายธาตุเหล็กในร่างกายด้วย จึงมีการใช้วิตามินซีในการรักษาผู้ป่วยธาลัสซีเมียที่ได้รับยาขับธาตุเหล็ก เพื่อให้วิตามินซีช่วยให้ร่างกายขับธาตุเหล็กออกมาได้มากขึ้น อีกทั้งยังมีประโยชน์ด้านกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ดังนั้น ผู้ป่วยธาลัสซีเมียจึงรับประทานวิตามินซีเสริมได้ในปริมาณที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ แต่ไม่ควรซื้อมารับประทานเอง

โรคธาลัสซีเมีย ควรกินอะไร

          โรคธาลัสซีเมียกินอะไรได้บ้าง ลองมาดูกัน

  • อาหารโปรตีนสูง เช่น ไข่ เนื้อไก่ เนื้อปลาทะเล นม เป็นต้น

  • ธัญพืช เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ข้าวกล้อง ข้าวบาเลย์

  • อาหารที่มีแคลเซียม เช่น นม เต้าหู้ ปลาเล็กปลาน้อยที่กินได้ทั้งตัว ปลาซาร์ดีนกระป๋อง กุ้งแห้ง เป็นต้น

  • อาหารที่มีแมกนีเซียม เช่น ถั่วเปลือกแข็ง และผักใบเขียวที่ไม่เพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็ก เช่น ผักโขม ผักหวาน รวมไปถึงผลไม้อย่างกล้วย เป็นต้น

  • อาหารที่มีวิตามินซีสูง เช่น ฝรั่ง มะยม เป็นต้น

  • อาหารที่มีวิตามินเอ เช่น ในไข่แดง ผัก-ผลไม้สีเหลือง เช่น แครอต มันเทศ เป็นต้น

  • อาหารที่มีวิตามินอี เช่น ขนุน มะม่วง และน้ำมันพืชอย่างน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันจมูกข้าวสาลี เป็นต้น

ป่วยธาลัสซีเมีย
ควรกินอะไรบำรุงเลือด

           ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียจะมีเม็ดเลือดแดงที่มีอายุสั้นและถูกทำลายไป ร่างกายจึงจำเป็นต้องได้รับอาหารที่มีโฟเลตสูง เช่น ข้าวหอมมะลิ, ข้าวกล้อง, ถั่วเขียว, ผักโขม, ผักคะน้า, ปวยเล้ง, กะหล่ำปลี, ตำลึง, กุยช่าย, ขึ้นฉ่าย, ผักกาดหอม, สับปะรด, ฝรั่ง, เนื้อไก่ และในเนื้อปลาอย่างปลาดุก เพื่อไปช่วยผลิตเม็ดเลือดแดงทดแทนการรับประทานยาเม็ดเสริมโฟเลตเพียงอย่างเดียว

วิธีดูแลสุขภาพผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย

ดื่มนม

  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ 

  • ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ

  • ดื่มนมอย่างน้อยวันละ 2-4 แก้ว เพื่อเติมแคลเซียมให้ร่างกาย เสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง เนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้มีการสร้างเม็ดเลือดแดงผิดปกติ จึงส่งผลต่อมวลกระดูก ทำให้กระดูกอ่อนแอ อีกทั้งภาวะโลหิตจางยังมีผลให้ดูดซึมแคลเซียมได้น้อย เสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน

  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น เครื่องในสัตว์ ตับ

  • รับประทานอาหารที่มีโฟเลตสูง เช่น ผักโขม ผักกาด ผักกะหล่ำ คะน้า ข้าวกล้อง ข้าวหอมมะลิ เป็นต้น

  • รับประทานยาโฟเลตและวิตามินรวมที่ไม่มีธาตุเหล็กเสริม เพื่อช่วยในกระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดง

  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เลือกกิจกรรมที่ไม่เหนื่อยง่าย ไม่มีแรงกระแทกมากเกินไป เช่น ว่ายน้ำ การออกกำลังกายแบบ Low-impact เป็นต้น

  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ผาดโผน เสี่ยงต่อการล้มหรือแรงกระแทก เพราะผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียจะมีกระดูกที่เปราะบาง

  • งดสูบบุหรี่

  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

  • พบแพทย์ตามนัด 

  • รับประทานยาให้ครบตามแพทย์สั่ง ไม่ควรซื้อยาหรืออาหารเสริมรับประทานเอง ควรรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรทุกครั้ง

  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ครบตามกำหนด

           ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียควรเข้ารับการรักษาตามกระบวนการ และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะในแต่ละคนอาจมีความรุนแรงของโรคและปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น หากมีคำถามเรื่องอาหาร หรือการดูแลตนเองเพิ่มเติม สามารถปรึกษาแพทย์ประจำตัวได้เลยค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้องกับโรคธาลัสซีเมีย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
8 อาหารผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียไม่ควรกิน พร้อมเช็กลิสต์อาหารช่วยบำรุงเลือด อัปเดตล่าสุด 17 กรกฎาคม 2567 เวลา 09:41:59 32,287 อ่าน
TOP
x close