โปรตีนเกษตร อ้วนไหม ประโยชน์ดียังไง มีสารอาหารอะไรบ้าง

           โปรตีนเกษตร เห็นกันบ่อยในเมนูอาหารเจ ทว่านอกจากจะมีโปรตีนแล้ว ในโปรตีนเกษตรยังมีสารอาหารหรือโภชนาการอะไรอีกบ้าง ที่ดีต่อสุขภาพของเรา
โปรตีนเกษตร

          โปรตีนเกษตร หรือเนื้อสัตว์เทียม เป็นอาหารจากพืชที่ผ่านกระบวนการแปรรูปให้มีลักษณะคล้ายเนื้อสัตว์มากที่สุด ทั้งทำมาแบบเนื้อหมู เนื้อไก่ ลูกชิ้น ไส้กรอก เพื่อทดแทนการรับประทานเนื้อสัตว์ จึงมักจะเห็นโปรตีนเกษตรได้ในเมนูอาหารมังสวิรัติ อาหารเจ อาหารวีแกนต่าง ๆ และวันนี้เราจะพามาดูว่า โปรตีนเกษตร ประโยชน์ดียังไง แล้วถ้ากินโปรตีนเกษตรจะอ้วนไหม

โปรตีนเกษตร คืออะไร
กินแทนเนื้อสัตว์ได้ไหม

โปรตีนเกษตร คือ

          โปรตีนเกษตร คือ แหล่งโปรตีนจากพืช เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลันเตา เห็ด ข้าว ธัญพืชต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่จะทำมาจากแป้งถั่วเหลืองที่สกัดเอาไขมันออกไป (Defatted soy flour) จากนั้นนำมาผ่านกระบวนการอัดพองด้วยความดันและอุณหภูมิสูง จนได้โปรตีนเกษตรเนื้อแห้งในรูปทรงต่าง ๆ อย่างที่เห็นกัน

          หากถามว่าโปรตีนเกษตรกินแทนเนื้อสัตว์ได้ไหม ตอบว่าได้ค่ะ เพราะค่าอัตราส่วนของประสิทธิภาพโปรตีน (Protein efficiency ratio) ของโปรตีนเกษตรใกล้เคียงกับเคซีน ซึ่งเป็นโปรตีนที่พบได้มากในนมวัว อีกทั้งโภชนาการของโปรตีนเกษตรก็ไม่ธรรมดา

โปรตีนเกษตร มีสารอาหารอะไรบ้าง

โปรตีเกษตร สารอาหาร

          จากข้อมูลของสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าโปรตีนเกษตรมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้

  • พลังงาน 366 กิโลแคลอรี (ต่อปริมาณ 100 กรัม)

  • โปรตีน 49.47% 

  • คาร์โบไฮเดรต 37.20%

  • ไขมัน 0.26%

  • ไฟเบอร์ 1.10%

          นอกจากนี้ยังมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายครบถ้วน โดยเฉพาะไลซีน พร้อมทั้งวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินบี แคลเซียม ธาตุเหล็ก และโซเดียม

โปรตีนเกษตร ประโยชน์ดียังไง

โปรตีนเกษตร เมนู

           มาดูกันค่ะว่าโปรตีนเกษตรดีต่อสุขภาพยังไงบ้าง

1. โปรตีนสูง

           โปรตีนเกษตรส่วนมากจะผลิตมาจากพืชผักที่มีโปรตีนสูง เช่น ถั่วเหลือง จึงถือเป็นแหล่งโปรตีนทดแทนเนื้อสัตว์ได้ในผู้ที่อยากลดการบริโภคเนื้อสัตว์ หรือกลุ่มคนกินมังสวิรัติ กินเจ รวมไปถึงผู้สูงอายุที่มักจะบริโภคเนื้อสัตว์ได้น้อยลง และต้องการสารอาหารประเภทโปรตีนไปช่วยซ่อมแซมกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อที่สึกหรอ หรือใครที่ต้องการเสริมสร้างกล้ามเนื้อก็กินโปรตีนเกษตรได้เช่นกัน

2. ไขมันต่ำ ไร้คอเลสเตอรอล

           โปรตีนเกษตรมีไขมันอิ่มตัวต่ำกว่าเนื้อสัตว์มาก อีกทั้งในกระบวนการผลิตยังสกัดไขมันในวัตถุดิบออกไป และในพืชผักก็ไร้คอเลสเตอรอลอยู่แล้ว ดังนั้น โปรตีนเกษตรจึงเป็นแหล่งโปรตีนที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลดไขมันในเลือด หรือคนที่ต้องควบคุมระดับคอเลสเตอรอล อีกทั้งเป็นอาหารที่กินแล้วอิ่มนาน จึงเหมาะกับคนที่อยากควบคุมน้ำหนักด้วยเช่นกัน

3. ไฟเบอร์สูง

           นอกจากจะมีโปรตีนแล้ว โปรตีนเกษตรก็ยังมีใยอาหารสูง ช่วยให้อิ่มนาน ลดความอยากอาหาร ชะลอการดูดซึมน้ำตาลในเลือด ลดอาการท้องผูก และกระตุ้นการขับถ่าย

4. มีสารอาหารหลากหลาย

           โปรตีนเกษตรเป็นโปรตีนที่มีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายครบถ้วน และยังมีสารอาหารอื่น ๆ อย่างคาร์โบไฮเดรต ไขมัน ไฟเบอร์ แถมยังอุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามินที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น แคลเซียม โพแทสเซียม วิตามินบี ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก เป็นต้น

5. ปรุงอาหารได้หลายเมนู

          โปรตีนเกษตรมีรูปแบบให้เลือกหลากหลาย เช่น โปรตีนเกษตรแบบก้อน แบบชิ้น แบบไส้กรอก หรือแบบบด ซึ่งสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลายเมนู เช่น ลาบ หมูกรอบ โปรตีนเกษตรตุ๋น หรือนำไปคั่วกลิ้งก็อร่อย
 

6 อาหารเจจากโปรตีนเกษตร เมนูทดแทนเนื้อสัตว์คุณค่าสูง

6. ดีต่อโลก

           ปัจจุบันผู้คนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น โปรตีนเกษตรจึงเป็นที่นิยมมากขึ้นไปด้วย เพราะการบริโภคโปรตีนเกษตรช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในหลายด้าน ทั้งลดการใช้น้ำ ใช้พื้นที่น้อยกว่าการเลี้ยงสัตว์ และในกระบวนการผลิตโปรตีนเกษตรก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าการผลิตเนื้อสัตว์ จึงช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ด้วย

โปรตีนเกษตร อ้วนไหม

เมนูโปรตีนเกษตร

           โปรตีนเกษตร 100 กรัม ให้พลังงาน 366 กิโลแคลอรี โดยในนี้ก็มีพลังงานจากคาร์บและใยอาหารด้วย อีกทั้งหากนำไปปรุงเป็นเมนูก็จะได้พลังงานจากวัตถุดิบอื่น ๆ เพิ่มอีก ดังนั้น การบริโภคโปรตีนเกษตรมากเกินไปจึงทำให้อ้วนได้ หรือหากอยากกินโปรตีนเกษตรแบบไม่อ้วน ก็ควรจำกัดปริมาณการกินโปรตีนเกษตรให้ไม่เกิน 100-150 กรัมต่อวัน และเลือกปรุงด้วยวิธีการต้ม ตุ๋น นึ่ง แทนการทอดหรือผัด

ข้อควรระวังในการกินโปรตีนเกษตร

          แม้จะเป็นอาหารที่ถือว่าดีต่อสุขภาพ แต่โปรตีนเกษตรก็มีข้อควรระวัง ดังนี้

  • อาจมีสารก่อภูมิแพ้ ผู้ที่แพ้อาหารควรระวัง โดยเฉพาะคนที่แพ้ถั่วและแป้งสาลี

  • ไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคไต เพราะมีฟอสฟอรัสสูง

  • โปรตีนเกษตรที่ผ่านการแปรรูปส่วนใหญ่จะมีโซเดียมสูง ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง ดังนั้น ควรเลือกรับประทานโปรตีนเกษตรแบบโซเดียมต่ำแทน

  • โปรตีนเกษตรบางแหล่งผลิตจากถั่วเหลือง GMOs (Genetically Modified Organisms) หรือถั่วเหลืองที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรม โดยเฉพาะถั่วเหลืองที่นำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกาและอเมริกาใต้ ซึ่งการรับประทานอาหาร GMOs ต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ดังนั้น ควรซื้อโปรตีนเกษตรที่ผ่านมาตรฐาน ได้รับเครื่องหมาย อย. และควรอ่านฉลากอย่างละเอียดทุกครั้ง

           อาหารทุกอย่างมีทั้งประโยชน์และข้อควรระวัง โปรตีนเกษตรก็เช่นกัน ดังนั้น เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพของตัวเราเองก็ควรรับประทานโปรตีนเกษตรในปริมาณที่เหมาะสม และอย่าลืมกินอาหารให้หลากหลาย ให้ได้สารอาหารครบ 5 หมู่ด้วย

บทความที่เกี่ยวข้องกับโปรตีนเกษตร

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โปรตีนเกษตร อ้วนไหม ประโยชน์ดียังไง มีสารอาหารอะไรบ้าง อัปเดตล่าสุด 2 สิงหาคม 2567 เวลา 17:47:02 13,451 อ่าน
TOP
x close