ข้าวโพดเป็นผักหรือผลไม้ คำถามนี้ก็มีคนสงสัยอยู่บ้างเหมือนกัน งั้นลองมาเช็กข้อมูลกันอีกสักที และมีคำเตือนในการกินข้าวโพดสำหรับคนบางกลุ่มด้วย
ข้าวโพด เป็นพืชไร่ที่มีรสชาติอร่อย นำมาปรุงอาหารได้หลากหลายเมนูทั้งคาวและหวาน เลยชวนให้หลายคนสงสัยว่า จริง ๆ แล้ว ข้าวโพดเป็นผักหรือผลไม้กันแน่ แล้ว
ประโยชน์ของข้าวโพดมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง หรือมีโทษต่อสุขภาพ ที่คนบางกลุ่มไม่ควรรับประทานหรือเปล่า เอาเป็นว่าวันนี้มาเจาะลึกเรื่องข้าวโพดกันหน่อยดีกว่า
จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา (USDA) ระบุว่า ข้าวโพด สามารถเป็นได้ทั้งผัก ผลไม้ หรือธัญพืช ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ใช้แบ่ง ดังนี้
-
ผลไม้ : ในทางพฤกษศาสตร์จัดว่าข้าวโพดเป็นผลไม้ เพราะเป็นผลผลิตที่ได้มาจากดอกและมีเมล็ดอยู่ภายใน ซึ่งตรงตามหลักพฤกษศาสตร์ของผลไม้
-
ผัก : ข้าวโพดถือเป็นผักที่มีแป้งได้ หากเก็บเกี่ยวข้าวโพดในช่วงที่ยังอ่อน ยังไม่แก่เต็มที่ ซึ่งช่วงนี้เมล็ดข้าวโพดจะนิ่ม มีของเหลวอยู่ภายใน
-
ธัญพืช : ข้าวโพดที่เก็บเกี่ยวในช่วงแก่เต็มที่จะมีเมล็ดที่แข็งและแห้ง นับว่าเป็นธัญพืชก็ได้เช่นกัน เช่นเดียวกับข้าวสาลีและข้าว
ดังนั้น ข้าวโพดจึงเป็นได้ทั้งผัก ผลไม้ ธัญพืช ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาเก็บเกี่ยวและการนำผลผลิตไปใช้
ข้าวโพด..ประโยชน์ดี ๆ ที่น่าสนใจ
ประโยชน์ของข้าวโพดมีอยู่ไม่น้อย ที่เราเห็นกันเด่นชัดก็คือ
-
เป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่ดี ซึ่งมีประโยชน์ในการให้พลังงานแก่ร่างกายอย่างต่อเนื่องและยาวนาน
-
มีใยอาหารในปริมาณสูง ทำให้รู้สึกอิ่มนาน รับประทานอาหารอื่น ๆ ได้น้อยลง
-
ใยอาหารในข้าวโพดมีทั้งชนิดละลายน้ำและไม่ละลายน้ำ จึงช่วยในการทำงานของลำไส้และระบบย่อยอาหาร พร้อมกับป้องกันอาการท้องผูก
-
มีวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด เช่น วิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี วิตามินอี วิตามินเค แมกนีเซียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส โฟเลต ช่วยส่งเสริมสุขภาพโดยรวมหลายระบบ
-
ข้าวโพดสีเหลืองมีวิตามินเอและเบต้าแคโรทีนสูง ส่วนข้าวโพดสีม่วงมีแอนโทไซยานินสูง ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยในการต่อต้านอนุมูลอิสระ
-
ดีต่อสุขภาพดวงตา เพราะอุดมไปด้วยแคโรทีนอยด์ ที่เรียกว่า ลูทีนและซีแซนทิน ซึ่งสารอาหารทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นส่วนประกอบหลักของจอประสาทตา
แม้ข้าวโพดจะมีประโยชน์หลายข้อ แต่ก็ยังมีข้อควรระวังที่ต้องรู้ก่อนรับประทาน
ให้พลังงานสูง
ข้าวโพดมีคาร์โบไฮเดรตสูง เพียงครึ่งฝักก็ให้พลังงานเท่ากับข้าวสวย 1 ทัพพี หากรับประทานมากเกินไปอาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดและน้ำหนักตัว ดังนั้น มื้อไหนที่กินข้าวโพด ควรลดข้าวหรือแป้งในมื้อนั้นด้วย เพื่อจะได้ไม่ต้องรับพลังงานมากเกินความจำเป็น
กินแล้วท้องอืด
ข้าวโพดมีใยอาหารสูง ซึ่งโดยทั่วไปดีต่อระบบขับถ่าย แต่สำหรับบางคนการกินข้าวโพดในปริมาณมากอาจทำให้เกิดอาการท้องอืด มีลมในท้อง หรือท้องเสียได้เหมือนกัน โดยเฉพาะคนที่มักมีปัญหาในระบบย่อยอาหาร หรือเป็นโรคลำไส้แปรปรวน (IBS)
อาจลดการดูดซึมของแร่ธาตุบางชนิด
ข้าวโพดมีกรดไฟติก (Phytic acid) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่ง แต่สามารถจับกับแร่ธาตุบางชนิด เช่น เหล็ก สังกะสี แคลเซียม ส่งผลให้ร่างกายดูดซึมแร่ธาตุเหล่านี้ได้น้อยลง อย่างไรก็ตาม การแช่ข้าวโพดทิ้งไว้ในน้ำก่อนนำไปปรุงอาหารจะช่วยลดปริมาณกรดไฟติกได้
เสี่ยงปนเปื้อนเชื้อรา
ข้าวโพดเป็นพืชชนิดหนึ่งที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อราชนิดไมโคทอกซิน การกินข้าวโพดที่ปนเปื้อนในปริมาณมากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง หรือเกิดความผิดปกติของระบบประสาท เราจึงควรเลือกซื้อข้าวโพดจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ และไม่รับประทานข้าวโพดที่มีลักษณะขึ้นราหรือสีผิดปกติ
ระวังข้าวโพดที่ผ่านการแปรรูป
การรับประทานผลิตภัณฑ์จากข้าวโพดแปรรูป เช่น ป๊อปคอร์นที่ปรุงรสด้วยเกลือและเนย ขนมขบเคี้ยวจากข้าวโพด น้ำเชื่อมข้าวโพดฟรักโทสสูง (High-Fructose Corn Syrup) มากเกินไป อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น น้ำหนักเกิน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และโรคหัวใจ
ใครต้องระวังหากกินข้าวโพด
นอกจากนี้ยังมีคนบางกลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานข้าวโพด หรือกินได้แบบจำกัดปริมาณ เพื่อป้องกันผลข้างเคียงต่าง ๆ อาทิ
1. คนที่ต้องควบคุมน้ำตาลในเลือด หรือเป็นเบาหวาน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ข้าวโพดมีคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลในปริมาณไม่น้อย การรับประทานมากเกินไปอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น คนที่ต้องควบคุมน้ำตาลในเลือดจึงควรจำกัดปริมาณการกิน และเลือกกินข้าวโพดที่ไม่ผ่านการปรุงแต่งมากนัก
2. คนที่ปัญหาระบบย่อยอาหาร
สำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องการย่อยอาหาร หรือมีภาวะลำไส้แปรปรวน (IBS) ควรระมัดระวังการกินข้าวโพดที่มีใยอาหารสูง และยังมีสารในกลุ่ม FODMAPs ซึ่งเป็นกลุ่มคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยยากและอาจถูกหมักโดยแบคทีเรียในลำไส้ กระตุ้นให้เกิดอาการไม่สบายท้องได้ในบางคน
3. คนที่แพ้ข้าวโพด
ถ้ารู้ว่าตัวเองแพ้ข้าวโพดจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหลีกเลี่ยงการกินข้าวโพดและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของข้าวโพด เช่น แป้งข้าวโพด น้ำมันข้าวโพด น้ำเชื่อมข้าวโพด ฯลฯ เพื่อไม่ให้ภูมิแพ้กำเริบ
4. ผู้ป่วยโรคซีลิแอค
แม้ว่าข้าวโพดจะไม่มีกลูเตน แต่โปรตีนเซอินในข้าวโพดมีโครงสร้างที่คล้ายคลึงกับโพรลามิน (Prolamin) ที่พบในกลูเตน จึงอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาอักเสบในลำไส้ของกลุ่มผู้ป่วยโรคซีลิแอคบางรายได้ ผู้ป่วยจึงควรสังเกตอาการตัวเองว่าหลังจากกินข้าวโพดแล้วมีอาการท้องเสีย ท้องอืด ปวดท้องหรือไม่ หากมีอาการเหล่านี้ก็ไม่ควรกินข้าวโพดในครั้งต่อไป
5. คนที่ขาดธาตุเหล็กหรือสังกะสี
นั่นเพราะข้าวโพดมีกรดไฟติก ซึ่งอาจขัดขวางการดูดซึมแร่ธาตุอย่างเหล็กและสังกะสี คนที่มีภาวะขาดแร่ธาตุเหล่านี้จึงควรระมัดระวังปริมาณการบริโภคข้าวโพด หรือใช้วิธีแช่ข้าวโพดในน้ำทิ้งไว้ค้างคืนก่อนนำมารับประทาน
แม้ข้าวโพดเป็นพืชมีคุณค่าทางโภชนาการสูงและมีประโยชน์ต่อสุขภาพในหลายด้าน แต่เราก็ควรเลือกรับประทานข้าวโพดสด หรือข้าวโพดที่ผ่านการปรุงแต่งน้อย ๆ โดยรับประทานในปริมาณที่ไม่มากจนเกินไป เพื่อรับประโยชน์จากข้าวโพดได้อย่างเต็มที่
บทความที่เกี่ยวข้องกับข้าวโพด