x close

ปวดคอและบ่า...อาการถามหาช่างภาพ


ช่างภาพ


ช่างภาพปวดคอและบ่า (หมอชาวบ้าน)
โดย ดร.ศีรินท์ เมฆโหรา คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล

          เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงมีประสบการณ์กับการถ่ายภาพ และเคยได้ลองถือกล้องถ่ายภาพแบบ SLR ที่ช่างภาพใช้กัน

          แม้ว่ากล้อง SLR จะมีความสามารถมากมายก็ตาม ทว่าด้วยขนาดและน้ำหนักที่หนักมาก แต่ก็มีอีกหลายคนที่ยอมแบกน้ำหนักของกล้องเหล่านั้น เพื่อให้ได้ภาพที่งดงามและความสุขจากการถ่ายภาพ แต่ความสุขที่ได้อาจมาพร้อมกับความทุกข์ นั่นคืออาการเจ็บที่บ่า ไหล่ และคอ จากการสะพายกล้องเป็นระยะเวลานาน ๆ ฉบับนี้ ผู้เขียนเสนอวิธีช่วยลดอาการดังกล่าว

ปริมาณน้ำหนักที่ต้องแบก

          กล้องถ่ายภาพแบบ SLR มีหลายขนาด ขึ้นอยู่กับขนาดเซนเซอร์ ขนาดของกล้องที่ใหญ่ก็ส่งผลต่อน้ำหนักที่มากขึ้น

          การไปถ่ายภาพแต่ละครั้งของช่างภาพใช่ว่าจะพกเลนส์ไปแค่ตัวเดียวเท่านั้น โดยมากมักขนเลนส์ไปหลายตัว และมีบ่อยครั้งใช้แค่ตัวเดียว (ไม่รู้ว่าจะขนไปทำไมหลายตัว) หรืออาจมีตัวกล้องสำรองอีกด้วย แฟลชและขาตั้งกล้องก็เป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะขาตั้งกล้องขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักมาก ทำให้การถ่ายภาพแต่ละครั้งต้องแบกน้ำหนักของกล้อง เลนส์ และอุปกรณ์อีกหลายชนิดรวมกันหนักประมาณ 3-7 กิโลกรัม

          ทดลองง่าย ๆ ด้วยการนำลูกตุ้มน้ำหนัก 2.5 กิโลกรัม แขวนคอไว้ แล้วเดินราว ๆ 1 ชั่วโมง มีอาการอย่างไรบ้าง

การสะพายกล้อง น้ำหนักกล้อง กับอาการปวด

          ลักษณะการสะพายกล้องมี 2 ลักษณะคือ

          1.การสะพายขณะใช้งาน มักคล้องที่คอ เมื่อต้องใช้กล้อง เพื่อให้หยิบกล้องขึ้นมาถ่ายได้ง่าย รวดเร็ว

          2.การสะพายเพื่อการเคลื่อนย้าย มักสะพายที่บ่า อาจสะพายบ่าข้างเดียวกันหรือสะพายเฉียงก็ได้ บางคนอาจใช้สะพายเป็นแบบกระเป๋าเป้สะพายหลัง

               กระเป๋ากล้องแบบสะพายมักมีน้ำหนักมาก เพื่อรวมอุปกรณ์ในการถ่ายภาพที่จำเป็นสำหรับทริปการถ่ายภาพนั้น ๆ

               การสะพายแบบคล้องคอ มีข้อดีคือทำให้มีความคล่องตัวสูง เมื่อต้องการถ่ายภาพก็สามารถหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายได้ทันที แต่ลักษณะการคล้องคอนี้มีข้อเสียคือ น้ำหนักของกล้องจะกดลงต่อกระดูกคอประมาณข้อที่ 6-7

          ในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา มีการศึกษาที่ทำต่อกระดูกสันหลังส่วนล่าง โดยกดตรง ๆ ต่อกระดูกสันหลังด้วยเครื่องมือ พบว่า หากมีการกดต่อกระดูกสันหลังมากขึ้นเท่าใดกล้ามเนื้อก็จะทำงานหนักเพิ่มขึ้น ลักษณะการกดนี้คล้ายกับการที่สายสะพายกล้องกดลงต่อกระดูกสันหลังส่วนคอ ดังนั้นกล้ามเนื้อคอ และบ่า (ซึ่งมีการเกาะมาถึงคอ) ย่อมทำงานมากขึ้น ส่งผลต่ออาการปวดบ่าและคอได้

          ขณะเดียวกันน้ำหนักที่กดต่อกระดูกเป็นระยะเวลานาน ๆ อาจส่งผลต่อการยืดออกของเอ็นยึดข้อต่อคอระยะยาว และทำให้ข้อต่อคอเสื่อมได้ง่าย การยืดยาวออกของเอ็นนี้เป็นไปตามหลักทางวิทยาศาสตร์ ที่เมื่อวัตถุถูกยืดเป็นระยะเวลานานย่อมส่งผลต่อการสูญเสียคุณสมบัติของเอ็นนั้น ลักษณะเช่นนี้เราสามารถเห็นได้จากเมื่อเราตากผ้าบนราวลวด เมื่อระยะเวลาผ่านไปนาน ๆ ลวดจะเสียสภาพของตัวเองทำให้มีการหย่อน

          การสะพายกระเป๋ากล้องก็ส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อบ่าและไหล่เช่นกัน ผู้เขียนได้คุมวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาคณะกายภาพบำบัดระดับปริญญาโท ที่ทดสอบการทำงานของกล้ามเนื้อคอและบ่าของผู้สะพายกระเป๋าสายสะพายเดี่ยว กระเป๋าอยู่ด้านเดียวกับไหล่ที่สะพาย พบว่า น้ำหนักกระเป๋าที่มากขึ้นส่งผลให้กล้ามเนื้อทำงานมากขึ้น และเมื่อเดินไปเป็นระยะเวลา 20 นาที พบว่ากล้ามเนื้อบ่าและไหล่ทำงานมากขึ้นกว่าเมื่อเริ่มเดิน รวมทั้งมีอาการปวดบ่าและคอมากขึ้น ข้อมูลนี้จึงชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่สะพายกระเป๋ากล้องที่หนักและเป็นเวลานานย่อมทำให้กล้ามเนื้อทำงานหนักมากขึ้น

ช่างภาพ


ทำอย่างไรหากยังต้องสะพายกล้อง

          อาการปวดส่วนใหญ่ของช่างภาพจะอยู่ที่คอและบ่า นอกจากนั้น สะบักหลังส่วนบน หลังส่วนล่าง ขาและน่องก็อาจมีปัญหาด้วย เนื่องจากขณะถ่ายต้องมีการย่อตัว ก้มตัวอยู่ตลอดเวลาทำให้มีอาการปวดดังกล่าว จึงมีข้อแนะนำเพื่อแก้ไขปัญหา ดังนี้

          1.เลือกอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับงาน เข้าใจลักษณะงานที่ทำ หากคาดการณ์ได้จะทำให้เราลดน้ำหนักของอุปกรณ์ลงไปได้อย่างมาก

          2.วางแผนการทำงานเพื่อไม่ต้องแบกกล้องหรืออุปกรณ์นานเกินไป เช่น จอดรถใกล้กับสถานที่ถ่ายภาพ

          3.เลือกกระเป๋าให้เหมาะสมกับงาน สายสะพายต้องติดกับไหล่ ไม่ลื่น และสายต้องมีขนาดใหญ่เพื่อกระจายน้ำหนัก หรืออาจใช้กระเป๋าแบบสะพายหลังซึ่งช่วยลดอาการเมื่อยล้าของบ่าได้บ้าง และหากอุปกรณ์น้อยอาจใช้กระเป๋าคาดเอวแทน

          4.ลมฟ้าอากาศมีผลต่อการทำงาน การใช้ผ้าขนหนูผืนเล็ก ๆ จะช่วยลดแรงกดและช่วยซับเหงื่อได้ด้วย

          5.ใช้วิธีการลากกระเป๋า แทนการสะพายหรือแบก

          6.ถ้าไปกันเป็นกลุ่มอาจใช้อุปกรณ์ด้วยกัน เพื่อจะได้ไม่ต้องขนอุปกรณ์ไปมา

          7.เทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำให้กล้องเล็กลงมาก การพกกล้องขนาดเล็ก เช่น กลุ่มที่ไม่มีกระจกสะท้อนภาพ (mirrorless) อาจช่วยลดภาระของบ่าและไหล่ได้

          8.เปลี่ยนลักษณะการสะพายบ่อย ๆ เพื่อสลับกล้ามเนื้อที่ทำงาน

          9.ออกกำลังกายเพื่อเตรียมความพร้อมของร่างกาย และลดอาการเจ็บ ดังนี้

               เกร็งและแบะไหล่ไปทางด้านหลัง พร้อมกับหายใจเข้าลึก ๆ ค้างไว้ซักครู่ ทำประมาณ 5-10 ครั้ง ทำได้บ่อย ๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อด้านหลังที่ยืดตัวอยู่นานมีการทำงานในลักษณะหดสั้นบ้าง และให้กระดูกซี่โครงมีการขยับตัวบ้าง

               เกร็ง ยักไหล่ หมุนไหล่เป็นมุมกว้าง ๆ ไปข้างหน้า และถอยหลังกลับ เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลายทำประมาณ 10 ครั้ง

               เอามือเท้าเอว แล้วแอ่นหลัง เพื่อให้หลังได้ทำงานในลักษณะตรงกันข้ามบ้าง

               นอกจากนั้น การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของร่างกายทั่วไป เช่น กล้ามเนื้อหน้าท้อง หลัง แขน และขา ถือว่ามีความสำคัญมากเช่นกัน

          ท้ายสุดผู้เขียนอยากบอกว่าให้รักสุขภาพตัวเอง เพราะหลายภาพที่เราอาจพลาดในวันนี้ หากสุขภาพเรารักษาไว้ดีเราก็สามารถกลับไปถ่ายใหม่ได้ หากสุขภาพเราแย่ลงแล้ว (จากการไม่ดูแล) การจะกลับไปถ่ายอีกครั้งคงทำได้ยาก




ขอขอบคุณข้อมูลจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปวดคอและบ่า...อาการถามหาช่างภาพ อัปเดตล่าสุด 16 ธันวาคม 2556 เวลา 17:15:18 3,978 อ่าน
TOP