เคี้ยวข้าวมากกว่า 40 ที ช่วยลดน้ำหนักได้ (ไทยโพสต์)
นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า การเคี้ยวอาหารนานขึ้นช่วยลดน้ำหนักได้ เพราะจะช่วยลดจำนวนแคลอรีที่ร่างกายได้รับจากการบริโภค
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยการแพทย์ฮาร์บินของจีน พบว่า อาสาสมัครที่เคี้ยวอาหาร 40 ครั้งจะได้รับปริมาณอาหารน้อยลง 12% เมื่อเทียบกับการเคี้ยวอาหารโดยปกติ 15 ครั้ง เนื่องจากการเคี้ยวอาหารนานขึ้น ช่วยให้สมองมีเวลามากขึ้นในการรับสัญญาณระดับอาหารของกระเพาะ นอกจากนี้ การเคี้ยวอาหารนานขึ้นยังช่วยลดระดับฮอร์โมนเกรลิน ที่ทำหน้าที่สร้างความรู้สึก "หิว" ในระบบทางเดินอาหาร
โดยการทดลองครั้งนี้ นักวิจัยได้ทำการเกณฑ์อาสาสมัครวัยรุ่นอายุไม่เกิน 20 ปีที่มีรูปร่างผอม 16 คน และรูปร่างอ้วนอีก 14 คน แล้วแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มเพื่อทำการทดลอง 2 ครั้ง โดยการทดลองครั้งแรกเป็นไปเพื่อสังเกตว่า คนที่มีรูปร่างอ้วนมีพฤติกรรมการเคี้ยวอาหารแตกต่างจากผู้ที่มีรูปร่างผอมหรือไม่ ซึ่งผู้ทดลองได้ให้อาสาสมัครทั้งกลุ่มคนอ้วนและผอมรับประทานพายหมู และมีกล้องที่ถูกซ่อนไว้บันทึกจำนวนการเคี้ยวก่อนกลืนอาหาร ซึ่งผลการวิจัยพบว่า แม้คนอ้วนจะเคี้ยวอาหารด้วยความเร็วเท่ากับคนผอม แต่คนอ้วนกลืนอาหารเร็วกว่ามาก
ส่วนการวิจัยครั้งที่ 2 กำหนดให้อาสาสมัครทั้งสองกลุ่ม เคี้ยวพายหมูจำนวน 15 ครั้งก่อนกลืน แล้วเปรียบเทียบกับการเคี้ยวพายหมู 40 ครั้งก่อนกลืนอาหาร ซึ่งนักวิจัยพบว่าอาสาสมัครทั้งสองกลุ่มได้รับแคลอรีน้อยลง 11.9% เมื่อเคี้ยวอาหาร 40 ครั้ง ส่วนผลการตรวจเลือด 90 นาทีหลังทานอาหารพบว่า อาสาสมัครทุกคนมีระดับฮอร์โมนเกรลินในร่างกายเมื่อเคี้ยวอาหาร 40 ครั้ง น้อยกว่าเมื่อเคี้ยวอาหาร 15 ครั้ง
นักวิจัยระบุในข้อค้นพบที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร "American Journal of Clinical Nutrition" ว่า การกินช้าลงเป็นวิธีที่ง่ายและมีประสิทธิภาพในการลดน้ำหนักได้ นอกจากนี้ การกินเร็ว กินทีละมาก ๆ หรือดื่มหนักต่างมีผลช่วยให้น้ำหนักเกินได้ ซึ่งงานวิจัยชี้ว่า อาสาสมัครที่มีน้ำหนักมากมักเคี้ยวอาหารน้อยครั้งกว่า และกลืนอาหารเร็วกว่าคนที่มีรูปร่างผอม
ขณะที่ผลสำรวจชาวอังกฤษ 1,000 คน โดยธุรกิจร้านแซนด์วิช "ซับเวย์" พบว่า คนอังกฤษโดยเฉลี่ยเคี้ยวอาหารเพียง 6 ครั้งเท่านั้นแล้วกลืนอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 25-34 เป็นกลุ่มที่ทานเร็วที่สุด และยังพบอีกว่า ผู้ตอบแบบสำรวจ 15% มักทานอาหารขณะเดิน และมีเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นที่นั่งทานอาหารบนโต๊ะเป็นประจำ
แคเธอรีน คอลลีนส์ หัวหน้าแพทย์แผนกการรับประทานอาหารประจำโรงพยาบาลเซนต์ จอร์จ กรุงลอนดอน กล่าวว่า นอกจากการกินช้าจะมีผลต่อฮอร์โมนทางเดินทางอาหารแล้ว ยังมีผลต่อสุขภาพจิตด้วยเช่นกัน โดยเธอกล่าวว่า เวลาเราทานอาหารเรามักไม่รู้ตัวว่าเราทานไปจำนวนมากแค่ไหน แต่การเคี้ยวอาหารนานขึ้นช่วยให้เราสามารถรับรู้รสชาติ กลิ่น และเนื้ออาหารได้ดีขึ้น ซึ่งทำให้เรารับรู้ว่าเรากำลังทานอะไร และทานเข้าไปมากแค่ไหน
"ผลที่ได้ก็คือ เราไม่รู้สึกหิวง่าย ๆ แม้เพิ่งทานอาหารไปแค่สิบนาที"
เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก