x close

วิจัยพบคนกทม.มีความสุขน้อยสุด




วิจัยพบคนกทม.มีความสุขน้อยสุด (ไทยโพสต์)

         เผยผลศึกษา "คนไทย" 5 จังหวัดภาคตะวันตกมีความสุขมากสุดในประเทศ กทม.มีระดับความสุขต่ำสุด ส่วนภาคกลาง เหนือ และอีสาน สุขน้อยกว่าภาคใต้และตะวันออก พบมีความสุขในระดับครอบครัวสูงสุด สะท้อนอุปนิสัยคนไทยรักสนุก ชอบมีหน้ามีตาในสังคม คุณสมบัติเด่นมีภาคภูมิใจความเป็นไทย ปัญหาที่รุนแรงสุดคือ ค่าครองชีพราคาสินค้าสูงขึ้น

          เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม มูลนิธิคนไทย ร่วมกับสมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการสำรวจโครงการ "คนไทย" มอนิเตอร์ เสียงนี้มีพลัง โดยนายวิเชียร พงศธร ประธานมูลนิธิคนไทย กล่าวว่า โครงการนี้เป็นกระบวนการส่งเสริมจิตสำนึกความเป็นพลเมืองและการมีส่วนร่วมของคนไทยทุกคนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาประเทศ มุ่งสร้างกลไกการมีส่วนร่วมที่คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยการฟัง พูด คิด และทำอย่างมีระบบ กิจกรรมแรกเริ่มต้นด้วยการสำรวจความคิดเห็นประชาชน 100,000 คน จาก 77 จังหวัด ใช้วิธีเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกหลากหลายประเด็น ทั้งด้านชีวิตความเป็นอยู่ สังคม เศรษฐกิจ และการพัฒนาประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นการสำรวจระดับชาติที่มีขนาดใหญ่ มีความน่าเชื่อถือทางสถิติ และได้มาตรฐานสากลของสมาคมวิจัยการตลาดโลก

         นายวิเชียรระบุว่า โครงการคนไทยมอนิเตอร์เริ่มเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 25 เมษายนถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2554 และประมวลผลข้อมูลเสร็จสิ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ผลสำรวจเบื้องต้นได้จัดแบ่งเนื้อหาออกเป็นหัวข้อ 10 เสียงสะท้อนของคนไทย เริ่มจากระดับความสุขของคนไทยพบว่า คนส่วนใหญ่ 87% ของกลุ่มตัวอย่าง 100,000 คน ยังมีความสุขกับชีวิตความเป็นอยู่ โดย 5 จังหวัดภาคตะวันตก ประกอบด้วย จ.กาญจนบุรี ตาก ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี และเพชรบุรี มีความสุขมากที่สุดถึง 92% ส่วนกรุงเทพมหานครมีความสุขต่ำสุด 82% ภาคกลาง 84% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 86% ภาคเหนือ 89% ภาคตะวันออก 90% และภาคใต้ 91%

         "สำหรับความสุขกับชีวิตความเป็นอยู่ในระดับครอบครัวสูงสุดมีค่าเฉลี่ยสูงสุด 5.93 เช่น ความสัมพันธ์กับลูก ความสัมพันธ์ที่ดีกับสามีและภรรยา รองลงมาเป็นความสุขระดับชุมชน มีค่าเฉลี่ย 5.35 อาทิ สามารถไปหาหมอได้สะดวก ความพร้อมของสาธารณูปโภคพื้นฐาน ความสุขระดับบุคคลมีค่าเฉลี่ย 5.11 เป็นเรื่องสุขภาพ และความสุขระดับประเทศมีค่าเฉลี่ยน้อยสุด 4.62 เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม รัฐบาล และการปกครอง" นายวิเชียรเผย

         กลุ่มที่มีความสุขน้อยที่สุดคือ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี คนว่างงาน ผู้มีอาชีพรับจ้าง และผู้พักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ส่วนกลุ่มที่มีความสุขมากที่สุดคือ เจ้าของกิจการขนาดกลาง อาจารย์ นักวิชาการ ข้าราชการระดับสูง พนักงานบริษัทเอกชนระดับบริหาร เป็นต้น

         ประธานมูลนิธิคนไทยกล่าวอีกว่า ผลสำรวจผู้เห็นด้วยต่อบุคลิกลักษณะนิสัยคนไทยในภาพรวม มองตัวเองในเชิงบวกว่าเป็นคนรักสนุก 85% มีน้ำใจ 84% มีจิตใจให้บริการ 84% และคนไทยมองตัวเองในเชิงลบว่าเป็นคนชอบมีหน้ามีตาในสังคม 87% ชอบพึ่งพาโชคชะตา 81% ไม่ซื่อตรงและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว 61% ส่วนความเชื่อมั่นต่อประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับคนไทยและประเทศไทยพบว่า คนไทยมีความภาคภูมิใจในชาติและคุณค่าความเป็นไทย 99% แต่มีความเชื่อมั่นน้อยมากในด้านความสามัคคี 37% ความสงบสุข 30%

         ปัญหาที่คนไทยประสบรุนแรงมากที่สุดคือ ปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าสูงขึ้น 77% รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย 55% ความเครียด 47% ยาเสพติด 38% ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ 30% ภัยธรรมชาติ 27% แต่เมื่อสำรวจระดับพื้นที่พบว่า กทม.ประสบปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นของข้าราชการและนักการเมืองมากที่สุด

         "สิ่งที่คนไทยหวังอยากเห็นมากที่สุดคือ เศรษฐกิจดีขึ้น 68% คนไทยมีความสามัคคีกัน 35% ค่าครองชีพต่ำลง 31% ประชาชนมีความกินดีอยู่ดีมากขึ้น 28% บ้านเมืองสงบไม่มีภัยก่อการร้าย 23% ในขณะที่คนไทยหวังให้ดำเนินชีวิตด้วยความพอเพียง 6% และยึดถือศีลธรรม จริยธรรม 7%" นายวิเชียรกล่าว

         ดร.เครือวัลย์ ลิ่มอภิชาต ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลงานวิจัยชิ้นนี้มีกลุ่มตัวอย่างประชาชน 100,000 คน ซึ่งนับว่ามากที่สุดเท่าที่เคยสำรวจมาก่อนในประเทศไทย อาศัยหลักเกณฑ์การสุ่มตัวอย่างที่เป็นระบบและน่าเชื่อถือตามสัดส่วนของประชากรจริงในด้านเพศ อายุ และพื้นที่อาศัยของแต่ละจังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ในเมืองจนถึงตะเข็บจังหวัดและชายแดน การเก็บข้อมูลใช้วิธีสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัวทำให้ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือสูงตามมาตรฐานสากล และไม่ผิดพลาดเหมือนกับการสุ่มตัวอย่างของสำนักโพลทั่วไปที่เก็บข้อมูลตามศูนย์การค้า ทั้งนี้ ข้อมูลคนไทยมอนิเตอร์จะถูกนำไปวิเคราะห์เชิงลึกและสรุปเป็นรายงานระดับประเทศ เพื่อเผยแพร่ให้ทุกภาคส่วนที่สนใจภายในเดือนตุลาคมนี้



ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิจัยพบคนกทม.มีความสุขน้อยสุด อัปเดตล่าสุด 16 ธันวาคม 2556 เวลา 16:57:55 1,176 อ่าน
TOP