x close

ผลสำรวจชี้สาว 10 อาชีพ เหวี่ยง-เครียดง่ายสุด ๆ


สาวออฟฟิศ


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          ทุก ๆ อาชีพล้วนต้องเผชิญกับความเครียดทั้งนั้น โดยเฉพาะบรรดาคุณสาว ๆ ที่มักจะเกิดความเครียดได้ง่ายกว่าคุณหนุ่ม ๆ มาทายกันซิว่า สาว ๆ อาชีพไหนที่เกิดความเครียดได้ง่ายบ้าง

          สำหรับคำตอบของคำถามข้อนี้ ต้องไปอ่านผลสำรวจจากสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ที่ทำการสรุปผลสำรวจเกี่ยวกับประเด็นข้างต้นไว้หัวข้อ "10 อาชีพที่ก่อให้เกิดความเครียดและอารมณ์เหวี่ยง" โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างเพศหญิงในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 587 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 25 สิงหาคม-7 กันยายน พ.ศ.2554 ปรากฏว่า อาชีพที่ทำให้สาว ๆ เครียดกันมากที่สุดคือ...

          1.พนักงานออฟฟิศ ร้อยละ 24.65
          2.ผู้บริหาร/นักธุรกิจ ร้อยละ 18.23
          3.พนักงานคอลเซ็นเตอร์ ร้อยละ 12.29
          4.พนักงานบัญชี/การเงิน ร้อยละ 9.28
          5.ครู/อาจารย์ ร้อยละ 8.62
          6.แม่บ้าน ร้อยละ 7.16
          7.แพทย์/พยาบาล ร้อยละ 6.35
          8.ดารา/นักแสดง ร้อยละ 5.61
          9.แอร์โฮสเตส ร้อยละ 4.48
          10.ครีเอทีฟ ร้อยละ 3.33%

          แล้วอะไรที่เป็นสาเหตุให้คุณสาว ๆ เครียดกันล่ะ? ผลการสำรวจก็บอกว่า สาเหตุอันดับ 1 ที่ทำให้คุณสาว ๆ เครียดกัน ได้แก่ ปัญหาส่วนตัว เช่น ปัญหาสุขภาพ ครอบครัว การเงิน ร้อยละ 25.54 ตามมาด้วยปัญหาภาระงานมาก แต่มีเวลาจำกัด ร้อยละ 19.29 ถูกเจ้านายต่อว่าหรือกดดัน ร้อยละ 17.75 ส่วนปัญหาอื่น ๆ ก็อย่างเช่น มีปากเสียงกับเพื่อนร่วมงาน สภาพแวดล้อมของการทำงานไม่ดี ต้องพบปะผู้คนที่หลากหลายรูปแบบ ฯลฯ

สาวออฟฟิศ


          ขณะที่ ศ.นพ.สุรศักดิ์ ฐานีพานิชกุล คณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดเผยว่า ผู้หญิงมักจะมีอารมณ์แปรปรวนมากที่สุด ในช่วงก่อนมีประจำเดือน 5-7 วัน โดยมักจะมีอาการหงุดหงิดง่าย เครียด หดหู่ นอกจากนั้นอาจมีอาการทางร่างกาย เช่น บวมน้ำ ท้องอืด มีสิว ปวดศีรษะ ฯลฯ ซึ่งอาการดังกล่าวเรียกว่า "กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน" หรือ Premenstrual Syndrome (PMS) เพราะช่วงนี้ฮอร์โมนในเลือดจะลดระดับลง ส่งผลให้การควบคุมประสาทจากสมองลดลงด้วย

          สำหรับหญิงไทยนั้น อาการ PMS นั้น มักจะพบได้ทั่วไป โดยผู้หญิงร้อยละ 90 จะพบอาการ PMS อย่างน้อย 1 อาการ ขณะที่มีผู้หญิงกว่าร้อยละ 50 พบอาการ PMS มากกว่า 1 อาการ ทั้งนี้ อาการดังกล่าวไม่เป็นอันตรายต่อตัวผู้หญิง เพราะจะหมดไปหลังจากรอบเดือนมาปกติ แต่อาจเป็นอันตรายต่อคนรอบข้างที่ต้องมารองรับอารมณ์ก็เป็นได้

          อย่างไรก็ตาม นอกจากอาการ PMS แล้ว ในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์บางรายจะมีอาการ Premenstrual dysphoric disorder (PMDD) หรือ "กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนชนิดรุนแรง" ก่อนประจำเดือนมา 5-7 วัน ซึ่งผู้ป่วยจะไม่ใช่แค่หงุดหงิด เหวี่ยง แต่เกิดอาการถึงขั้นวิตกกังวล และนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้เลยทีเดียว และยิ่งสภาพแวดล้อมกดดันมากเท่าไหร่ อาการก็จะยิ่งหนักขึ้น โดยที่เจ้าตัวไม่รู้ตัวว่าป่วย ต้องอาศัยคนรอบข้างสังเกต และต้องพาไปพบจิตแพทย์ เพื่อบำบัดรักษาอาการ ทั้งนี้ หญิงไทยและเอเชียจะพบอาการ PMDD น้อยมาก จากสถิติอัตราการเกิดอาการดังกล่าวมีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น

          คุณหมอกล่าวย้ำว่า หากปล่อยอารมณ์เครียดและอารมณ์เหวี่ยงเอาไว้จะส่งผลกระทบต่อตนเอง โดยเฉพาะด้านจิตใจของตัวผู้เครียดเอง และอาจทำให้ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า หมดกำลังใจในการทำงานได้ รวมถึงกระทบต่อความสัมพันธ์ในที่ทำงาน ทำให้เพื่อนร่วมงานไม่อยากปฏิสัมพันธ์หรือพบปะพูดคุยด้วย ขณะเดียวกันก็จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว อันอาจจะนำมาซึ่งการทะเลาะเบาะแว้ง และเป็นต้นเหตุของการหย่าร้างได้ นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดหัวเรื้อรัง โรคปวดเมื่อยตามร่างกาย หรือโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดต่าง ๆ ได้

สำหรับวิธีการแก้ไขนั้น คุณหมอแนะนำว่า

          1.ควรหาเวลาออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายนั้นจะช่วยทำให้ร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟีน หรือสารแห่งความสุขออกมา และเมื่อสารเหล่านี้ถูกหลั่งออกมา ก็จะสามารถขจัดอารมณ์เครียดหรือฉุนเฉียวลงได้

          2.การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอก็ช่วยได้เช่นกัน

          3.การรับประทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์ เช่น ผักและผลไม้ หรือรับประทานสมุนไพรบางชนิด เช่น แปะก๊วย หรือน้ำมันดอกอีฟนิงพริมโรสและวิตามินบี หากรับประทานผักผลไม้และสมุนไพรยังไม่ได้ผล คุณหมอแนะนำว่า ควรรับประทานยาปรับฮอร์โมน ซึ่งยาดังกล่าวช่วยควบคุมระดับฮอร์โมนบางชนิดในร่างกาย แต่หากอาการรุนแรงและส่งผลต่อคนรอบข้าง อาจต้องรับประทานยาลดความวิตกกังวล (อยู่ในการพิจารณาของแพทย์)

          4.การหลีกเลี่ยงจากสภาพที่ทำให้เกิดความเครียดก็สามารถช่วยได้

          นอกจากวิธีที่กล่าวมานั้น คุณหมอแนะนำว่า การปรับสภาพแวดล้อมภายในที่ทำงาน ก็สามารถลดความเครียดและอารมณ์ฉุนเฉียวลงได้ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าสาวออฟฟิศมักถูกจำกัดด้วยเวลาที่เร่งรีบ และมีพื้นที่ในการทำงานที่ค่อนข้างแคบ ดังนั้นการปรับเปลี่ยนที่ทำงานให้มีพื้นที่สำหรับออกกำลังกาย รวมถึงเน้นการสื่อสารในที่ทำงานด้วยการพูดคุยกันให้มากขึ้น ก็จะช่วยลดการขัดแย้งหรือข้อผิดพลาดในการทำงานลงได้

        และที่สำคัญการจัดเวลาของการทำงานให้เหมาะสม ไม่มากจนเกินไป หรือประมาณ 8 ชั่วโมง ก็เป็นอีกหนทางในการลดความเครียดลงได้ เพราะระยะของการทำงานที่พอดีจะช่วยให้ผู้ทำงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พูดง่าย ๆ ว่าไม่เหนื่อยและไม่เร่งรีบมากจนเกินไปก็จะไม่เกิดความเครียดนั่นเอง



   เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย   





อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ผลสำรวจชี้สาว 10 อาชีพ เหวี่ยง-เครียดง่ายสุด ๆ อัปเดตล่าสุด 16 ธันวาคม 2556 เวลา 16:31:14 3,134 อ่าน
TOP