จามบ่อย ๆ อาจไม่ใช่แค่อาการป่วยเล็ก ๆ ที่ละเลยได้ เพราะเบื้องลึกของอาการฮัดชิ้ว...ของเรา อาจบอกอะไรได้มากกว่านั้น
ในช่วงเวลาที่อากาศเปลี่ยน ฤดูผัน หลายคนมักจะมีอาการจามชิ้ว ๆ อยู่บ่อย ๆ
ซึ่งก็แน่นอนว่าคงคิดถึงอาการหวัดขึ้นมาในแวบแรก อ๊ะ !
แต่อย่าคิดว่าอาการจามบ่อย ๆ ของเราจะจบแค่หวัดเท่านั้นค่ะ เพราะจริง ๆ
แล้วใครที่จามบ่อย จามเช้า จามเย็น จามทั้งวัน อาจเป็นเพราะร่างกายซ่อนความผิดปกติเหล่านี้อยู่ก็ได้
1. โรคภูมิแพ้อากาศ
ในกรณีที่ไม่ได้เป็นหวัด คือไม่ได้จามและมีน้ำมูกเหนียวข้น รวมถึงไม่มีอาการปวดศีรษะ ก็เป็นไปได้ว่าอาการจามที่คุณเป็นอยู่อาจเกิดจากภาวะของโรคภูมิแพ้อากาศ ยิ่งกับคนที่มีอาการจามบ่อย จามติด ๆ กัน หรือมีอาการคันตา น้ำตาไหลร่วมด้วย ก็ยิ่งน่าสงสัยว่าอาจป่วยเป็นโรคภูมิแพ้อากาศหรือโรคภูมิแพ้จมูกอยู่ค่ะ เพราะโรคนี้จะเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับเยื่อบุจมูก ซึ่งเยื่อบุจมูกของผู้ป่วยจะไวต่อสิ่งเร้า อาทิ สภาพอากาศ ฝุ่นละออง ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ เชื้อรา ขนสัตว์ หรือแม้แต่กลิ่น และสิ่งระคายเคืองต่าง ๆ จนก่อให้เกิดอาการจามฮัดชิ้ว...นั่นเอง
ทว่าสำหรับคนที่จามตอนเช้าบ่อย ๆ อาจเป็นเพราะไรฝุ่นจากที่นอน หมอน หรือผ้าห่ม รวมไปถึงผ้าม่านในห้องนอนก็เป็นได้ ดังนั้นแนะนำให้ซักเครื่องนอน ดึงที่นอนออกไปตีฝุ่นและผึ่งแดด และทำความสะอาดห้องนอนครั้งใหญ่เพื่อกำจัดไรฝุ่นให้สิ้นซาก แล้วคราวนี้มาดูกันค่ะว่าอาการจามตอนเช้าหายไปไหม
ภาวะเยื่อบุจมูกอักเสบก็อาจเป็นสาเหตุของอาการจามบ่อย ๆ ได้ โดยเยื่อบุจมูกอักเสบมักจะเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจ หรืออาจเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมักจะเกิดกับคนที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ ทั้งนี้เราสามารถสังเกตอาการเยื่อบุจมูกอักเสบได้จากอาการจามถี่ ๆ จามอยู่เรื่อย ๆ ไม่ยอมหาย บางรายอาจมีไข้ต่ำร่วมด้วย มีน้ำมูกสีเทา เหลือง เขียว หรือสีน้ำตาล ซึ่งบอกถึงภาวะติดเชื้อ รวมถึงบางรายอาจมีอาการเจ็บคอร่วมด้วย
3. ริดสีดวงจมูก
ริดสีดวงจมูกคือภาวะที่เยื่อบุจมูกหรือไซนัสมีอาการอักเสบและบวม จนมีลักษณะยื่นออกมาคล้ายติ่ง ซึ่งมักจะเกิดจากการอักเสบหรือการติดเชื้อที่เยื่อจมูกชนิดเรื้อรัง ความผิดปกติของการตอบสนองต่อระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของหลอดเลือดส่วนที่หล่อเลี้ยงเยื่อบุจมูก อันเป็นสาเหตุให้เกิดอาการบวมที่เยื่อบุจมูก โดยความผิดปกติดังกล่าวอาจแสดงออกด้วยอาการคัดแน่นจมูก จามบ่อย มีน้ำมูกใส หรือน้ำมูกมีสีพร้อมกลิ่น รวมถึงมีอาการปวดตื้อที่สันจมูกและแก้ม เจ็บคอเรื้อรัง และอาการปวดมึนศีรษะร่วมด้วย
4. โรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้
ผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการคล้าย ๆ กับโรคเยื่อบุจมูกอักเสบ หรือโรคภูมิแพ้ ทว่าหากตรวจอย่างละเอียดแล้วจะไม่พบการติดเชื้อในร่างกาย แต่ตัวผู้ป่วยเองก็จะมีอาการจามถี่ ๆ มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล อย่างไม่มีสาเหตุจำเพาะที่ชัดเจน ซึ่งทางการแพทย์ได้สันนิษฐานว่าสาเหตุของโรคนี้น่าจะเกิดจากการตอบสนองที่มากผิดปกติของเยื่อบุจมูกต่อสารระคายเคืองต่าง ๆ และส่งสัญญาณไปยังระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดอาการจาม น้ำมูกไหลผิดปกติได้
5. ภาวะดื้อยา
การใช้ยาชนิดเดิมติดต่อกันนาน ๆ สามารถก่อให้เกิดปฏิกิริยาด้านลบต่อร่างกายได้ โดยมักจะพบว่าตัวยาที่ผู้ป่วยกินต่อเนื่องมายาวนาน เป็นเหตุให้เกิดอาการอักเสบชนิดไม่แพ้ (drug-induced rhinitis) ส่งผลให้เกิดอาการจามบ่อย ๆ จามอยู่เรื่อย ๆ ไม่ยอมหายได้เช่นกัน โดยจะมีจุดสังเกตอยู่นิดนึงว่า ผู้ป่วยมักจะมีอาการจามหลังได้รับหรือสัมผัสสิ่งกระตุ้น เช่น ควันบุหรี่ กลิ่นฉุนรุนแรง หรือฝุ่นควัน แต่ไม่มีประวัติหรืออาการบ่งชี้ว่าเป็นโรคภูมิแพ้แต่อย่างใด
นอกจากนี้การอยู่ในสิ่งแวดล้อมสุ่มเสี่ยง เช่น อยู่ในที่ที่มีขนสัตว์ฟุ้งกระจาย มีฝุ่นเยอะ สภาพอากาศไม่ปลอดโปร่ง ก็อาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการจามติด ๆ กันได้ ซึ่งก็เป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่พยายามจะกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่ผ่านเข้าระบบทางเดินหายใจออก ทว่าหากอาการจามยังไม่มีทีท่าว่าจะหายนานเกิน 2 สัปดาห์ เคสนี้แนะนำให้ไปตรวจเช็กกับแพทย์ผู้เขี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไปค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
หมอชาวบ้าน
คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
dailymail
healthline
healthhype