มะเร็งกระดูก ภัยเงียบที่เหมือนแค่ปวดกล้ามเนื้อ แต่อันตรายถึงชีวิต

          ขึ้นชื่อว่าโรคมะเร็ง ไม่ว่าจะเกิดขึ้นตรงไหน ก็อันตรายทั้งนั้น โดยเฉพาะมะเร็งกระดูกที่แม้จะพบได้ไม่บ่อย แต่เป็นโรคที่กระจายเชื้อได้ไวและรุนแรงมาก หากได้รับการรักษาช้าอาจถึงขั้นเสียชีวิต 
มะเร็งกระดูก

          มะเร็งกระดูก ภาษาอังกฤษคือ Bone cancer หรือ Malignant bone tumor เป็นมะเร็งที่พบได้น้อยกว่ามะเร็งชนิดอื่น คือสามารถพบได้ประมาณร้อยละ 5 ของมะเร็งทั้งหมด ผู้คนเลยไม่ค่อยได้ยินชื่อของโรคมะเร็งกระดูกมากนัก แต่จริง ๆ แล้วมะเร็งกระดูกเป็นโรคที่รุนแรงมากอีกโรคหนึ่งเลยนะคะ เพราะเมื่อเป็นแล้วอาการจะทรุดลงอย่างรวดเร็ว และสามารถส่งผลรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ฉะนั้นวันนี้เราจึงนำเรื่องราวของมะเร็งกระดูกมาให้ทุกคนรู้กันไว้ เพื่อจะได้สังเกตอาการ หาทางป้องกัน และรีบรักษาค่ะ

มะเร็งกระดูก คืออะไร ?

          มะเร็งกระดูก เกิดขึ้นจากการที่เซลล์บริเวณกระดูกมีการเปลี่ยนแปลง โดยแบ่งตัวเพิ่มผิดปกติจนกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ทำให้รู้สึกปวด บวม มีก้อน กระดูกหักง่าย แม้จะกินยาแก้ปวดก็ไม่หาย ซ้ำยังมีอาการปวดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งมะเร็งกระดูกเป็นโรคที่พบได้น้อยกว่าโรคมะเร็งอื่น ๆ แต่มีความรุนแรงมากเช่นเดียวกัน คืออาจทำให้เป็นอัมพาตหรือเสียชีวิตได้

มะเร็งกระดูก สาเหตุมาจากอะไร ?

          จริง ๆ แล้วโรคมะเร็งกระดูกยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัด แต่ก็อาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้

          - ความผิดปกติของยีนและพันธุกรรม

          - จากสิ่งแวดล้อม เช่น สารเคมี รังสี ยาฆ่าแมลง

          - จากการรักษา เช่น การให้เคมีบำบัด การให้รังสีรักษา

          - โรคมะเร็งอื่น ๆ ที่แพร่เชื้อมาบริเวณกระดูก

          - คนในครอบครัวที่มีประวัติเป็นมะเร็ง

          - โรคกระดูกต่าง ๆ

          - ความเสี่ยงทั่วไปที่ทำให้เป็นโรคมะเร็ง (การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ทานอาหารปิ้งย่างไหม้เกรียม)

          - เชื้อชาติ (คนผิวขาวมีโอกาสเป็นมะเร็งกระดูกมากกว่าคนเอเชีย 2 เท่า)

มะเร็งกระดูก

ชนิดของมะเร็งกระดูก

          มะเร็งกระดูก แบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ

          1. มะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ 


          มะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ เป็นมะเร็งที่มีต้นเหตุเกิดในกระดูกเอง มักจะเกิดบริเวณใกล้ข้อ เช่น ข้อเข่า ข้อไหล่ เป็นโรคที่พบได้น้อยประมาณ 0.8 คนต่อประชากรหนึ่งแสน ส่วนมากจะเกิดกับเด็ก โดยจะมีอาการปวดที่ไม่เหมือนทั่วไป คือปวดแบบทรมาน ตลอดเวลา ซึ่งส่วนใหญ่จะปวดตอนกลางคืน มีก้อนเกิดขึ้นบริเวณที่ปวดด้วย บางรายมีอวัยวะผิดรูปและกระดูกหักง่ายแบบไม่มีสาเหตุ หรือบางกรณีก็ไม่แสดงอาการอะไร แต่ไปตรวจพบได้เองจากการเอกซเรย์ มะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิที่พบมากก็อย่างเช่น

          - Osteosarcoma หรือเรียกว่า Osteogenic Sarcoma เป็นมะเร็งที่เกิดจากกระดูกซึ่งพบได้บ่อยที่สุด โดยเนื้องอกมักจะเริ่มในกระดูกแขน ขา หรืออุ้งเชิงกราน มักจะเกิดขึ้นในคนอายุ 10-30 ปี แต่มีถึง 10% ที่เกิดกับคนอายุ 60-70 ปี อย่างไรก็ตามมะเร็งกระดูกชนิดนี้ไม่ค่อยพบในวัยกลางคนเท่าไหร่นัก และมักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 
   
          - Chondrosarcoma เป็นมะเร็งจากกระดูกอ่อนที่มักจะเกิดในอุ้งเชิงกราน ขา และแขน พบได้มากเป็นอันดับสองของมะเร็งกระดูกที่เจอทั้งหมด และพบได้บ่อยในกลุ่มผู้ใหญ่ ซึ่งหลังจากอายุ 20 ปีขึ้นไปความเสี่ยงเป็นมะเร็งชนิดนี้ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงอายุ 75 ปี โดยที่ผู้หญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชาย

          2. มะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ

          มะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิเป็นมะเร็งที่รับการแพร่กระจายเชื้อมาจากโรคมะเร็งอื่น ทำให้มีอาการปวด กระดูกหักง่าย หรือมีอาการทางระบบประสาท ชา อ่อนแรง จนอาจเป็นอัมพาตได้ โดยเชื้อมักจะแพร่กระจายมาที่ช่วงกลางของร่างกาย เช่น กระดูกสันหลัง กระดูกซี่โครง กะโหลกศีรษะ ซึ่งส่วนมากจะได้รับเชื้อจากโรคมะเร็งอื่น ๆ ในระยะท้าย ๆ แล้ว แต่ก็สามารถได้รับเชื้อตั้งแต่ระยะแรกจากมะเร็งต่อมไทรอยด์ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งไต และมะเร็งต่อมลูกหมากได้เหมือนกันค่ะ

          และโรคมะเร็งกระดูกชนิดนี้เอง ที่เป็นสาเหตุให้แหวน ฐิติมา นักร้องคนดังเสียชีวิต โดยเชื้อมะเร็งกระดูกที่เธอได้รับมาจากการป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้ ถึงแม้จะรักษามะเร็งเหล่านั้นหายแล้ว แต่ก็มีเชื้อลามมาที่กระดูกจนทำให้เสียชีวิต

มะเร็งกระดูก

มะเร็งกระดูก อาการเป็นอย่างไร ?

          มะเร็งกระดูกโดยทั่วไปจะมีอาการบวม มีก้อนหรือปุ่มแข็งยื่นออกมาบริเวณที่เป็นมะเร็งกระดูก โดยก้อนจะโตเร็วจนรู้สึกปวดแบบทรมาน ซึ่งส่วนมากจะมีอาการปวดช่วงกลางคืนมากกว่ากลางวัน กินยาแก้ปวดก็ไม่หาย แถมยังมีอาการปวดหนักขึ้นเรื่อย ๆ อาจมีอาการกระดูกหักง่ายจากการกระทบกระเทือนเพียงเล็กน้อย และถ้าเป็นโรคมะเร็งทุติยภูมิอาจมีอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท เช่นชา อ่อนแรง บางรายอาจเป็นอัมพาตเลยด้วย  

          แต่สำหรับบางคนก็ไม่ได้มีอาการอะไรที่แสดงถึงโรคมะเร็งกระดูกเลย แต่ไปตรวจพบจากการตรวจสุขภาพประจำปีหรือเอกซเรย์เมื่อได้รับอุบัติเหตุ ดังนั้นจึงควรสำรวจและตรวจสุขภาพเป็นประจำเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็ง เพราะมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งกระดูกได้มากกว่าคนทั่วไป

          อย่างไรก็ตามเราสามารถสังเกตอาการตัวเองเบื้องต้นว่าเกี่ยวกับโรคมะเร็งกระดูกได้ดังนี้

          - มีอาการปวดและบวมนานแล้ว ไม่หายสักที โดยอาจจะรู้สึกเจ็บ ๆ หาย ๆ ในช่วงแรก แต่เมื่อมะเร็งเติบโตขึ้นอาจรู้สึกเจ็บตลอดเวลา รวมทั้งมีอาการบวมด้วย ซึ่งอาจไม่ได้เกิดขึ้นในทันที ขึ้นอยู่กับบริเวณที่เป็นเนื้องอก และอาจสัมผัสเจอก้อนเนื้อที่บริเวณนั้น

          - ทานยาแก้ปวดแล้วไม่ช่วยให้อาการปวดดีขึ้น หรือมีอาการปวดหนักกว่าเดิม

          - มักปวดมากช่วงกลางคืนแม้จะหลับไปแล้ว
    
          - กระดูกหักง่าย แม้จะกระทบเทือนเล็กน้อย หักแบบไม่ทราบสาเหตุ เช่น แค่หกล้มก็หัก

          - คนในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นมะเร็ง

          - น้ำหนักลดหรืออ่อนเพลีย อาจเป็นสัญญาณว่ามะเร็งลุกลามแล้ว  

          หากใครมีอาการแบบนี้ควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้าตรวจโรคมะเร็งกระดูกโดยด่วน เพราะถ้าเป็นโรคมะเร็งกระดูกขึ้นมา ควรได้รับการรักษาอย่างเร็วที่สุดค่ะ 
           
มะเร็งกระดูก

มะเร็งกระดูก มีกี่ระยะ ?

          มะเร็งกระดูกมีการแบ่งระยะเหมือนกับมะเร็งทั่วไป คือมี 4 ระยะ แต่หลักการแบ่งระยะจะแตกต่างกัน คือมะเร็งกระดูกแบ่งระยะจากการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ซึ่งแบ่งได้ตามนี้

          1. มะเร็งกระดูกระยะที่ 1 : มะเร็งลุกลามในกระดูกจุดเดียว เป็นเซลล์ชนิดแบ่งตัวต่ำ

          2. มะเร็งกระดูกระยะที่ 2 : มะเร็งลุกลามในกระดูกจุดเดียว เป็นเซลล์ชนิดแบ่งตัวสูง

          3. มะเร็งกระดูกระยะที่ 3 : มะเร็งลุกลามในกระดูกตั้งแต่สองจุดขึ้นไป คือ ลุกลามในอวัยวะใกล้เคียง

          4. มะเร็งกระดูกระยะที่ 4 : มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง กระแสเลือด ปอด และกระดูกชิ้นอื่น ๆ

        
มะเร็งกระดูก ใครเสี่ยงเป็นบ้าง ?

          ส่วนใหญ่แล้วมะเร็งกระดูกจะพบในวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 35 ปี โดยเฉพาะในช่วงอายุ 10-20 ปี แต่ก็พบได้บ้างในกลุ่มเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุ โดยเพศชายจะมีอัตราเสี่ยงในการเป็นมะเร็งกระดูกสูงกว่าเพศหญิง ผู้ปกครองจึงควรเฝ้าระวังให้มาก ๆ นอกจากนี้ผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยรังสีหรือสารเคมี ผู้ที่มีเนื้องอกและมะเร็งในจุดอื่น ๆ ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งกระดูกได้เหมือนกันค่ะ
 
มะเร็งกระดูกอันตรายแค่ไหน ?

          มะเร็งกระดูก เป็นโรคที่มีอัตราการตายสูงมาก เพราะเชื้อแพร่กระจายได้เร็ว ทำให้ผู้ป่วยทรมานมากและมีอาการทรุดได้ง่าย ถ้าไม่ได้รับการรักษา รักษาช้า รักษาไม่ต่อเนื่อง หรือหยุดการรักษา ก็จะทำให้รักษาให้หายได้ยาก ไม่สามารถหาทางรักษาได้ จนถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด แต่ถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็พอจะมีวิธีรักษาให้หายได้ค่ะ อย่างไรก็ตามโรคมะเร็งกระดูกไม่สามารถตรวจหาก่อนเหมือนโรคมะเร็งอื่น ๆ ได้ จึงต้องอาศัยการสังเกตอาการแทน ส่วนความอันตรายของโรคมะเร็งกระดูกแบบทุติยภูมินั้น จะขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งที่แพร่มาค่ะ ถ้าเชื้อที่แพร่มารุนแรงมากก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

มะเร็งกระดูก

มะเร็งกระดูก รักษาได้อย่างไร ?
  
          หากแพทย์ทำการเอกซเรย์ ตรวจ MRI และตรวจชิ้นเนื้อแล้วพบว่าเป็นมะเร็งกระดูก แพทย์จะวินิจฉัยเพื่อบอกระยะของโรค จากนั้นจึงวางแผนการรักษาต่อไปค่ะ ทั้งนี้ การรักษาโรคมะเร็งกระดูกมีความแตกต่างกัน เพราะมีจุดประสงค์ที่ต่างกัน คือ มะเร็งกระดูกปฐมภูมิต้องการรักษาให้หาย แต่มะเร็งกระดูกทุติยภูมิต้องการรักษาให้มีอาการดีขึ้น จึงแยกกันได้แบบนี้

          - การรักษามะเร็งกระดูกปฐมภูมิ

          มะเร็งกระดูกปฐมภูมิสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด ให้เคมีบำบัด ให้รังสีรักษา หรือรักษาร่วม (รวมทุกการรักษา) โดยสำหรับการผ่าตัดจะมีหลายหลายแบบ คือ ตัดแค่ส่วนที่เป็นเนื้องอกออกไปแล้วนำกระดูกมาแทน หรือตัดกระดูกที่เป็นมะเร็งออกไปเลยแล้วนำข้อเทียมโลหะหรือกระดูกจากผู้เสียชีวิตมาใส่แทน ไม่ก็ทำการตัดกระดูกออกมาทำลายเซลล์มะเร็งด้วยรังสีแล้วนำกระดูกดามชิ้นนั้นมาดามด้วยเหล็กกลับไปใส่ให้ผู้ป่วยเหมือนเดิม ซึ่งวิธีนี้เรียกว่า Recycling Bones เป็นเทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่น แต่ก็มีข้อเสียตรงการนำกระดูกเข้ากระบวนการทำลายเซลล์มะเร็งอาจทำให้กระดูกหักง่ายกว่ากระดูกทั่วไป อย่างไรก็ตาม แม้จะผ่าตัดแล้วก็ต้องคอยติดตามอาการเสมอ เพื่อดูว่ามีเชื้อกระจายไปที่อื่นหรือเกิดมะเร็งซ้ำหรือไม่
 
          - การรักษามะเร็งกระดูกทุติยภูมิ

          เนื่องจากกระดูกส่วนที่เป็นมะเร็งของผู้ป่วยชนิดทุติยภูมิเป็นมะเร็งทั้งหมด ทำให้ทำการรักษาแบบผ่าตัดออกทั้งหมดหรือRecycling Bones ไม่ได้ ดังนั้นการรักษาผู้ป่วยมะเร็งทุติยภูมิจึงทำเพื่อให้ผู้ป่วยไม่ต้องปวด สามารถใช้อวัยวะได้เหมือนเดิม และไม่จำเป็นต้องพึ่งผู้อื่น ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป เช่น ผ่าตัดเพื่อไปตัดตำแหน่งที่มีการกดไขสันหลังออก หรือผ่าตัดเพื่อไปใส่เหล็กค้ำไม่ให้กระดูกทรุดตัว เป็นต้น

อาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งกระดูก กินอะไรได้บ้าง ?
         
          จริง ๆ แล้วผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูก รวมถึงโรคมะเร็งอื่น ๆ สามารถรับประทานอาหารได้ทุกชนิด และควรรับประทานอาหารให้หลากหลาย เพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน แต่ก็ควรเลี่ยงอาหารที่ไม่ค่อยสุก อาหารรสเค็ม และเนื้อสัตว์ปิ้งย่างเพราะจะไปกระตุ้นอาการโรคมะเร็งได้ 
       
มะเร็งกระดูก ป้องกันได้ไหม ?

          ในตอนนี้ยังไม่มีวิธีป้องกันมะเร็งกระดูกที่แน่นอนค่ะ แต่สิ่งที่เราทำได้คือการสำรวจและสังเกตตัวเองเป็นประจำ หากพบว่ามีอาการผิดปกติที่บริเวณกระดูกตามอาการข้างต้นที่แจ้งไปเมื่อไหร่ ให้รีบพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ควรป้องกันตัวเองไม่ให้เป็นโรคมะเร็งต่าง ๆ โดยทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่สูบบุหรี่และงดดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อไม่ให้มีเชื้อมะเร็งแพร่กระจายมาที่กระดูกจนเป็นมะเร็งทุติยภูมิได้ค่ะ
                         
          เห็นแล้วใช่ไหมคะว่ามะเร็งกระดูกมีความรุนแรงมาก ฉะนั้นหากมีอาการปวดตามกระดูกอย่างไม่ทราบสาเหตุ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาให้เร็วที่สุดนะคะ อย่าชะล่าใจ ปล่อยทิ้งไว้ เพราะถ้าเกิดเป็นมะเร็งกระดูกขึ้นมา แล้วรอจนอาการหนัก จะรักษาได้ยากยิ่งขึ้น แต่ทางที่ดีควรหมั่นสังเกตและดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง ห่างไกลจากโรคต่าง ๆ จะดีที่สุดค่ะ
                  
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันมะเร็งแห่งชาติ
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มะเร็งกระดูก ภัยเงียบที่เหมือนแค่ปวดกล้ามเนื้อ แต่อันตรายถึงชีวิต อัปเดตล่าสุด 11 ธันวาคม 2561 เวลา 10:20:08 126,824 อ่าน
TOP
x close