x close

ใช้ชีวิตอย่างไร หลังผ่านพ้นภัยน้ำท่วม

น้ำท่วม

 

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          ผ่านความยากลำบากจากเหตุการณ์น้ำท่วมมานานหลายเดือนขณะนี้สถานการณ์ในหลายพื้นที่ในภาคกลางก็เริ่มดีขึ้นบ้างแล้วแต่ก็ไม่ใช่ว่าปัญหาต่าง ๆ จะหมดไป เพราะการฟื้นฟูดูแลบ้านและคนรอบข้างยังเป็นปัญหาใหญ่ที่รออยู่ ซึ่งกระปุกดอทคอมก็ขอนำแนวทางการวางแผนชีวิตหลังผ่านพ้นน้ำท่วม จากบางส่วนของหนังสือ "ผนึกกำลัง ร่วมใจ สู้ภัยน้ำท่วม" การฟื้นฟูจิตใจหลังภัยน้ำท่วมฉบับประชาชน ของกรมสุขภาพจิต มาฝากกัน เชื่อว่าจะมีประโยชน์กับทุกคนอย่างแน่นอนค่ะ

วางแผนชีวิต (แบบง่าย ๆ) หลังน้ำท่วม

          น้ำก็พัดผ่านไปแล้ว ทิ้งซากความเสียหายไว้มากมายแล้วเราจะเริ่มลงมือทำอะไรต่อไปก่อนดีล่ะ?

          - ขั้นแรก ต้องทำจิตใจให้สงบเสียก่อนค่ะและพยายามคิดว่า ของที่เสียไปแล้วเราสามารถสร้างมันกลับขึ้นมาใหม่ได้เพราะเรายังโชคดีที่มีชีวิตอยู่ และมีความสามารถที่จะนำสิ่งต่าง ๆ กลับมาใหม่ที่สำคัญคือ อย่าพร่ำโทษตัวเองเด็ดขาด เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่มีใครควบคุมได้

          - ขั้นที่สองนั่งจับเข่าคุยกับครอบครัวดูว่าจะทำอะไรกันบ้าง คุยกันแล้วก็จดบันทึกลงในกระดาษแล้วจัดกลุ่มรายการที่ต้องทำให้เป็นหมวดหมู่ตามลำดับความเร่งด่วนของสิ่งที่ต้องทำเช่น กินอยู่อย่างไร สุขภาพของคนในครอบครัว บ้านเรือนต้องซ่อมแซมอะไรบ้างหนี้สินล่ะ

          - ขั้นที่สาม เมื่อบันทึกทุกอย่างครบแล้วให้เลือกทำในสิ่งที่สามารถทำได้ง่าย และสามารถจัดการด้วยแรงของคนในครอบครัวก่อนเช่น ซ่อมแซมที่พักอาศัย ทำความสะอาดบ้านจัดเก็บทำความสะอาดเสื้อผ้าที่ยังพอใช้ได้ แล้วแสวงหาความช่วยเหลือจากคนอื่น หรือหน่วยงานอื่น

          เมื่อวางแผนเรียบร้อยแล้วหลายคนอาจจะอยากลุกขึ้นมาซ่อมแซมบ้าน หรือเรือกสวนไร่นาที่เสียหายหรือออกไปทำงานหาเงินเข้าบ้าน ฯลฯ แต่เราอยากให้คุณฟื้นฟูสภาพจิตใจของตัวเองและคนในครอบครัวก่อนเป็นลำดับแรกค่ะ เพราะเชื่อว่าหลังเหตุการณ์น้ำท่วม หลายคนอาจมีอาการซึมเศร้าท้อแท้ เครียดจัด

          ดังนั้น เราต้องดูแล "จิตใจ"ของคนเสียก่อน เพื่อจะได้มีกำลังใจลุกขึ้นมาต่อสู้ไปพร้อม ๆกันอีกครั้ง ซึ่งวิธีปฏิบัติก็คือ

          1. ให้เวลากับครอบครัวเพราะความอบอุ่นในครอบครัวอาจช่วยเยี่ยวยารักษาได้ดี

          2. พูดคุยปัญหากับเพื่อนและครอบครัวการได้พูดได้ระบายจะช่วยให้ผ่อนคลายความเครียด

          3. พักผ่อนและกินอาหารที่เป็นประโยชน์เพราะความเครียดทำให้ภูมิคุ้มกันทางร่างกายลดลง และอาจเกิดโรคทางกายขึ้นได้

          4. เอาใจใส่และเข้าใจเด็กที่มีความตื่นกลัวจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ควรตำหนิเด็กที่มีพฤติกรรมแปลกๆ เช่น ฉี่รดที่นอน ดูดนิ้วโป้ง หรือเกาะผู้ใหญ่อยู่ตลอดเวลาจำไว้ว่าเด็กเพิ่งผ่านเหตุการณ์ที่รุนแรงในชีวิตมา

          5. ขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์เมื่อเกิดอาการซึมเศร้าจนไม่สามารถที่จะรับมือได้

          เมื่อดูแลสุขภาพใจของตัวเองและคนในครอบครัวแล้วทีนี้ก็ได้เวลาลุกขึ้นมาจับอุปกรณ์ทำความสะอาด และซ่อมแซมบ้านของเรากันและสิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อกลับบ้านก็คือ การตรวจสอบความปลอดภัยภายในบ้านก่อนเข้าไปซ่อมแซมที่อยู่อาศัย โดยมีขั้นตอนดังนี้

          1. ฟังข่าวสารว่ามีความปลอดภัยที่จะกลับเข้าไปอยู่ในบ้านหรือไม่

          2. ติดต่อบริษัทประกันภัยเพื่อตรวจสอบความเสียหาย และซ่อมแซมทรัพย์สินต่าง ๆ

          3. เดินตรวจตรารอบ ๆ บ้าน และ เช็คสายไฟฟ้าสายถังแก๊สโดยถ้าหากเกิดแก๊สรั่วจะสามารถรู้ได้จากกลิ่นแก๊สให้ระวังและรีบโทรแจ้งร้านที่เป็นตัวแทนจำหน่าย

          4. ตรวจสอบความเสียหายของโครงสร้าง ตัวบ้านระเบียง หลังคา ให้แน่ใจว่าโครงสร้างทุกอย่างปลอดภัย

          5. ตัดระบบไฟฟ้าที่จ่ายเข้าบ้าน

          6. ปิดวาล์วแก๊สให้สนิทหากได้กลิ่นแก๊สรั่วก่อนไม่ควรเข้าใกล้บริเวณนั้น

          7. เข้าไปในบ้านอย่างระมัดระวังและอย่าใช้วัสดุที่ทำให้เกิดประกายไฟ

          8. ถ่ายรูปความเสียหายเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยจากประกัน (ถ้ามี)

          9. เก็บกู้สิ่งของที่มีค่าเก็บกวาดทำความสะอาดบ้าน เปิดหน้าต่างและประตู เพื่อระบายอากาศ

          10. ซ่อมแซมโครงสร้างที่เสียหาย

          11. เก็บกวาดกิ่งไม้หรือสิ่งปฏิกูลในบ้าน

          12. ตรวจหารอยแตกหรือรั่วของท่อนํ้าถ้าพบให้ปิดวาล์วตรงมิเตอร์นํ้า และไม่ควรดื่มและประกอบอาหารด้วยนํ้าจากก๊อกนํ้าจนกว่าจะรู้ว่าสะอาดและปลอดภัย

          13. ระบายนํ้าออกจากห้องใต้ดินอย่างช้า ๆเนื่องจากแรงดันนํ้าภายนอกอาจจะมากจนทำให้เกิดรอยแตกของผนังหรือพื้นห้องใต้ดิน(ถ้ามี)

          14. กำจัดตะกอนที่มาจากนํ้าเนื่องจากเชื้อโรคส่วนมากมักจะมาจากตะกอน

          และนี่คือข้อแนวทางดี ๆที่กรมสุขภาพจิตได้ให้คำแนะนำไว้ กระปุกดอทคอมก็ขอให้กำลังใจกับผู้ประสบอุทกภัยทุกท่าน ขอให้มีกำลังใจ และลุกขึ้นสู้ใหม่พร้อม ๆกับอีกนับล้านคนที่ประสบภัยเช่นเดียวกันค่ะ



 





อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
หนังสือ "ผนึกกำลังร่วมใจ สู้ภัยน้ำท่วม" การฟื้นฟูจิตใจหลังภัยน้ำท่วมฉบับประชาชน โดย กรมสุขภาพจิต




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ใช้ชีวิตอย่างไร หลังผ่านพ้นภัยน้ำท่วม อัปเดตล่าสุด 16 ธันวาคม 2556 เวลา 15:53:48 1,371 อ่าน
TOP