ปลาทู ประโยชน์ไม่แพ้ปลาทะเลชนิดอื่น ๆ อีกทั้งปลาทูยังมีไขมันต่ำ โอเมก้า 3 ก็สูง ช่วยบำรุงสมอง ลดไขมันร้ายในร่างกายได้อีกต่างหาก
ถ้าพูดถึงปลาที่มีโอเมก้า 3 หลายคนอาจจะนึกถึงปลาทะเลน้ำลึกอย่างปลาแซลมอน ปลาทูน่า ทว่าปลาที่มีโอเมก้า 3 สูง โปรตีนเยอะ หากินก็ง่าย ถูกปากคนไทยอย่างปลาทูก็มีประโยชน์มากไม่แพ้ปลาทะเลราคาแพงชนิดไหน อีกทั้งปลาทูราคายังค่อนข้างถูก ทำเมนูได้หลากหลาย แล้วเราจะไม่นำเสนอประโยชน์ของปลาทูให้คนทุกคนล่วงรู้ได้ยังไงล่ะ ว่าแล้วก็มาดูกันว่า ปลาทู ประโยชน์เยอะขนาดไหน
ปลาทู ต้องรู้วิธีเลือก
โดยปลาทูจะมีลักษณะลำตัวกว้าง แบน ป้อม หางสั้น ตาเล็ก แต่จุดสังเกตที่สำคัญคือปลาทูจะไม่มีลายข้างตัว 3 เส้น เหมือนปลาลัง โดยบนลำตัวของปลาทูนั้นจะออกสีน้ำเงินแกมเขียว ส่วนในกรณีที่เป็นปลาทูสดจะสังเกตเห็นสีน้ำเงินเข้มพาดยาวตามลำตัว
ทั้งนี้ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของปลาทูก็คือ Rastrelliger neglectus หรือชื่อท้องถิ่นคือปลาทูสั้น ปลาทูเตี้ย โดยลักษณะของปลาทูจะแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่น้ำที่อาศัย
ข้อมูลจากกองโภชนาการ กรมอนามัย แสดงคุณค่าทางโภชนาการของปลาทูนึ่งในส่วนที่กินได้ ปริมาณ 100 กรัม ดังนี้
- พลังงาน 136 กิโลแคลอรี
- โปรตีน 24.9 กรัม
- ไขมัน 4.0 กรัม
- แคลเซียม 163 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 640 มิลลิกรัม
- เหล็ก 3.0 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 1 0.09 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 0.10 มิลลิกรัม
- ไนอะซิน 6.1 มิลลิกรัม
- ไอโอดีน 48 ไมโครกรัม
- คอเลสเตอรอล 76 มิลลิกรัม
- ไขมัน 6.20%
- กรดไขมันอิ่มตัว (SAT) 1,695 มิลลิกรัม
- กรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว (MUFA) 953 มิลลิกรัม
- กรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (PUFA) 1,978 มิลลิกรัม
- กรดโอเลอิก (18:1) 391 มิลลิกรัม
- กรดไลโนเลอิก (18:2) 87 มิลลิกรัม
- อีพีเอ (EPA) 636 มิลลิกรัม
- DHA 778 มิลลิกรัม
ปลาทู ประโยชน์ดีอย่างไร
ปลาทูจัดอยู่ในกลุ่มปลาที่มีไขมันต่ำ โดยมีไขมันน้อยกว่าหรือเท่ากับ 4 กรัมต่อเนื้อ 100 กรัม ส่วนประโยชน์ของปลาทูในด้านอื่น ๆ นั้น มีดังนี้เลยค่ะ
1. โปรตีนสูง
ปลาทูเป็นแหล่งที่ดีของโปรตีน และโปรตีนจากเนื้อปลาก็เป็นโปรตีนที่ย่อยง่ายกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ๆ ส่งผลให้ระบบย่อยไม่ต้องทำงานย่อยโปรตีนจากปลาหนักเท่าการย่อยโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมูหรือเนื้อวัว อีกทั้งโปรตีนในเนื้อปลาทูยังมีปริมาณค่อนข้างสูง โดยปลาทู 100 กรัมมีโปรตีนอยู่ถึง 24.9 กรัม ร่างกายก็จะได้รับโปรตีนจากปลาทูไปซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย ช่วยเสริมสร้างร่างกายให้เจริญเติบโตตามวัยอันควรอีกด้วย
2. บำรุงประสาทและสมอง
ในปลาทูมีทั้งไอโอดีนและกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยในปลาทูมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวหรือกรดไขมันโอเมก้า 3 ค่อนข้างมาก ซึ่งกรดไขมันชนิดนี้ร่างกายเราไม่สามารถสร้างขึ้นมาเองได้ ต้องรับเอาจากอาหารที่มีโอเมก้า 3 สูงอย่างปลาทู เป็นต้น และนอกจากไอโอดีนและโอเมก้า 3 แล้ว ปลาทูยังมีกรดไขมัน DHA ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบประสาทและสมอง โดยเฉพาะสมองในส่วนการเรียนรู้และจดจำ
3. ช่วยลดไขมันตัวร้ายในเลือด
ปลาทูมีกรดไขมันชนิด PUFA หรือกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง ซึ่งกรดไขมันดีเหล่านี้มีสรรพคุณช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด อีกทั้งในปลาทูยังมีกรดไขมัน EPA ซึ่งเป็นกรดไขมันในกลุ่มโอเมก้า 3 มีคุณสมบัติช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดและลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ ไขมันตัวร้ายอันเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะไขมันอุดตันเส้นเลือด นำไปสู่โรคหัวใจและโรคหลอดเลือดหัวใจอย่างเส้นเลือดในสมองแตกได้
4. ป้องกันโรคซึมเศร้า
ผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด พบว่า กรดไขมันโอเมก้า 3 เป็นกรดไขมันที่จำเป็นต่อการทำงานของระบบประสาทและสมอง และการขาดกรดไขมันชนิดนี้ อาจเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้าและโรคสมาธิสั้นได้ โดยเฉพาะในเด็กวัยกำลังเรียนรู้ หากขาดกรดไขมันโอเมก้า 3 อาจมีพัฒนาการด้านการอ่าน-เขียนค่อนข้างช้ากว่าเด็กในวันเดียวกัน ที่ได้รับกรดไขมันโอเมก้า 3 ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
5. ร่างกายได้รับวิตามินที่หลากหลาย
จากข้อมูลคุณค่าทางโภชนาการของปลาทูเราจะเห็นเลยว่า ปลาทูส่วนที่กินได้ในปริมาณ 100 กรัม ให้แร่ธาตุ วิตามิน และคุณค่าทางสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายหลากหลายชนิด ทั้งธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินบี 1 บี 2 กรดไขมันจำเป็น ไนอะซิน ซึ่งสารอาหารเหล่านี้ที่พบได้ในปลาทู ถึงแม้จะมีปริมาณอย่างละนิดละหน่อย แต่ก็จัดเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อการทำงานของร่างกาย ช่วยบำรุงระบบประสาทและสมองให้ควบคุมการทำงานของอวัยวะทุกส่วนในร่างกายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น
ปลาทูมีประโยชน์ต่อสุขภาพแบบนี้ ยิ่งทำให้นึกอยากกินปลาทูขึ้นมาเลยใช่ไหมล่ะคะ แต่หากใครไม่กินเผ็ด ไม่ค่อยสนิทกับเมนูน้ำพริกปลาทูเท่าไร ลองเมนูปลาทูอย่างอื่นดูก็ได้ อร่อยและได้ประโยชน์จากปลาทูไม่แพ้กัน
- 15 เมนูปลาทู เนรมิตเมนูปลาอร่อยแบบไทย ๆ
ขอบคุณข้อมูลจาก
กองโภชนาการ กรมอนามัย, กองโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล, สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรปราการ, หน่วยไต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์