หยุดหายใจขณะหลับ นอนกรนเสียงดังเฮือกอย่าปล่อยไว้ อาจถึงตายได้เลย

          เช็กกับคนนอนข้าง ๆ ให้ไวว่าเรานอนกรนแบบเสียงดังเฮือก ๆ ไหม ถ้าใช่ต้องรีบไปตรวจรักษา เพราะหากปล่อยไว้อาจเสี่ยงตายจากหลายโรคร้ายเลยนะ

หยุดหายใจขณะหลับ

          ปัญหานอนไม่หลับ  อาจเป็นเรื่องเล็กไปเลย หากเทียบกับการนอนกรนแบบหยุดหายใจขณะหลับ เพราะภาวะนี้อันตรายถ้าปล่อยไว้นาน ๆ เสี่ยงทั้งโรคร้าย ไปจนถึงภาวะไหลตายได้เลยทีเดียว ดังนั้นหากเป็นคนนอนกรนควรลองถามคนนอนข้าง ๆ ว่าเรานอนกรนแบบหยุดหายใจขณะหลับอย่างที่เรากำลังจะพาไปรู้จักไหม

ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ คืออะไร

           ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า โรคนอนหยุดหายใจชนิดอุดกั้น หรือ Obstructive Sleep Apnea (OSA) จัดเป็นความผิดปกติของการนอนหลับที่เป็นปัญหาเรื้อรังและพบได้บ่อย เพราะเจอได้ในทุกเพศทุกวัย แต่จะพบในผู้ใหญ่เพศชายมากกว่าเพศหญิง และจะพบบ่อยในวัยทอง คนอ้วน รวมไปถึงเด็กที่มีต่อมทอนซิลและอดีนอยด์โต หรือในเด็กที่มีปัญหาโครงสร้างทางใบหน้า หรือเด็กที่อ้วนก็อาจเจอภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับได้

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ สาเหตุคืออะไร

หยุดหายใจขณะหลับ

           ภาวะหยุดหายใจขณะหลับเกิดจากการยุบตัวของทางเดินหายใจส่วนต้น โดยสาเหตุก็เกิดได้หลายปัจจัย ดังนี้

- อายุ

           เมื่ออายุมากขึ้นจะเสี่ยงกับภาวะนี้มากขึ้น โดยความชุกของโรคจะอยู่ในคนอายุ 50-60 ปี

- เพศ

           พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง 2-3 เท่า

- มีอะไรอุดกั้นในช่องจมูก

           หากมีสิ่งที่อุดกั้นในช่องจมูกหรือหลังโพรงจมูก ก็อาจทำให้นอนกรนเสียงดังได้

- ความอ้วน

           ภาวะหยุดหายใจขณะหลับมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัว เส้นรอบคอ และดัชนีมวลกาย (BMI) โดยไขมันที่สะสมบริเวณคออาจไปกดทับช่องทางเดินหายใจ นอกจากนี้ไขมันในส่วนช่องอกและท้องก็จะเป็นภาระให้ร่างกายต้องใช้แรงในการหายใจมากกว่าปกติ

- ความผิดปกติของกระดูกใบหน้า

           เช่น กล้ามเนื้อช่องคอไม่แข็งแรง มีการคลายตัวขณะนอนหลับ หรือผนังกั้นจมูกคด เพดานอ่อนหย่อน โคนลิ้นโต จนทำให้ท่ออากาศเกิดการตีบตัน อากาศก็จะผ่านเข้า-ออกได้ไม่สะดวก ทำให้หายใจตามปกติได้ยาก

- ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ

           เช่น การสูบุหรี่ ภาวะหมดประจำเดือน กรรมพันธุ์ หรือการใช้ยาบางชนิด รวมไปถึงการดื่มแอลกอฮอล์

หยุดหายใจขณะหลับ อาการเป็นยังไง

           ภาวะหยุดหายใจขณะหลับอาจสังเกตได้จากอาการ ดังนี้

           * เสียงกรนดังแม้ปิดประตูก็ได้ยิน

           * กรนแล้วหยุดเป็นพัก ๆ ตามด้วยอาการสำลักขณะนอนหลับ

           * ง่วงนอนมากผิดปกติตอนกลางวัน เพราะนอนหลับไม่สนิท

           * ไม่มีสมาธิ ขี้ลืม

           * ปวดศีรษะหลังตื่นนอน

           * ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน

           * ความรู้สึกทางเพศลดลง

           ตอนหลับเราอาจไม่รู้ตัวว่าทางเดินหายใจเราถูกอุดกั้นและยังนอนหลับได้ตามปกติ แต่เมื่อนอนต่อไปสักพัก ระดับออกซิเจนในเลือดจะค่อย ๆ ลดลง เนื่องจากร่างกายหายใจเอาอากาศเข้าไปได้น้อยกว่าปกติ ทำให้ประสาทอัตโนมัติพยายามช่วยให้เราหายใจด้วยการหายใจเฮือกขึ้นมา เราก็จะกลับมาหายใจได้ตามปกติอีกครั้ง แต่ต่อจากนั้นก็จะวนลูปเข้าสู่ภาวะหายใจเฮือก เป็นวงจรต่อไปเรื่อย ๆ จนเราตื่นนอน

หยุดหายใจขณะหลับ ปล่อยไว้นาน ๆ อันตรายมาก !

           ภาวะหยุดหายใจขณะหลับหากปล่อยไว้นาน ๆ อาจทำให้เสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจตีบตัน และอาจเสี่ยงภาวะไหลตาย เนื่องจากการหยุดหายใจขณะหลับจะทำให้นอนหลับไม่สนิท และยังทำให้สมองไม่ได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพออยู่เรื่อย ๆ

หยุดหายใจขณะหลับ

หยุดหายใจขณะหลับ ตรวจเจอควรรีบรักษา

           นอกจากจะสังเกตอาการเบื้องต้นแล้ว ถ้าอยากไปตรวจการนอนหลับกับแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการชัด ๆ ก็ได้ โดยมีวิธีตามนี้เลย

* ซักประวัติ

           แพทย์จะซักประวัติการนอนหลับ อาการผิดปกติระหว่างนอนหลับ และอาจประเมินอาการด้วยแบบสอบถามเฉพาะทางเพื่อวินิจฉัยในเบื้องต้น

* ตรวจการนอนหลับ (Sleep Test)
          
           โดยใช้เครื่องมือตรวจวัดการหายใจ คลื่นสมอง ระดับออกซิเจนในเลือดระหว่างนอนหลับ การเคลื่อนไหวแขนและขาระหว่างนอนหลับ รวมไปถึงตรวจภาวะการกระตุกของกล้ามเนื้อ ซึ่งถ้าอยากจะตรวจอย่างละเอียด ต้องตรวจในห้องปฏิบัติการ หรือนอนโรงพยาบาลเพื่อทำการตรวจ

หยุดหายใจขณะหลับ รักษายังไง

           หากตรวจการนอนหลับแล้วพบว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ แพทย์จะพิจารณาการรักษาให้ตรงกับสาเหตุ โดยแนวทางการรักษาก็มี ดังนี้

1. ลดน้ำหนัก

           หากมีน้ำหนักเกินและไม่มีความผิดปกติทางกระดูกใบหน้า แพทย์จะแนะนำให้ลดน้ำหนักก่อน ซึ่งจะช่วยให้อาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับหายไป

2. การใส่อุปกรณ์ทางทันตกรรม
          
           สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติทางทันตกรรม กระดูกใบหน้าในระดับที่รุนแรงน้อยถึงปานกลาง อาจใส่อุปกรณ์เหล่านี้เพื่อช่วยให้หายใจสะดวกขึ้นได้ในระหว่างนอนหลับ

3. ผ่าตัด

           หากสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อที่ผิดปกติ แพทย์จะผ่าตัดกล้ามเนื้อหรือท่ออากาศในช่องคอบริเวณที่เกิดการกดทับจนทำให้หายใจลำบาก

4. รักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก หรือ CPAP (Continuous Positive Airway Pressure)

           เป็นเครื่องครอบจมูกที่ทำหน้าที่ตีอากาศเข้าไปในร่างกายเวลาที่เราหายใจเฮือกตอนนอน ทำให้อากาศไหลเวียนเข้าร่างกายได้ตามปกติ ส่งเสริมให้หลับสนิทมากขึ้น และร่างกายไม่ขาดออกซิเจน

           นอกจากนี้แพทย์อาจแนะนำให้ลดน้ำหนัก งดสูบบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เปลี่ยนยาที่กระตุ้นอาการ หรือให้ลองนอนตะแคงเพื่อเสริมการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับให้ได้ผลดียิ่งขึ้น


* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563

ขอบคุณข้อมูลจาก
ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
เพจหมอเวร
Thai PBS


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หยุดหายใจขณะหลับ นอนกรนเสียงดังเฮือกอย่าปล่อยไว้ อาจถึงตายได้เลย อัปเดตล่าสุด 19 พฤศจิกายน 2563 เวลา 17:41:34 21,637 อ่าน
TOP
x close