x close

น้ำเต้าหู้ ประโยชน์จัดเต็มสำหรับคนรักสุขภาพ พร้อมวิธีทำน้ำเต้าหู้


          ประโยชน์ของน้ำเต้าหู้ และนมถั่วเหลือง ซูเปอร์ฟู้ดเพื่อสุขภาพที่คนรักสุขภาพชอบทาน พร้อมวิธีทำน้ำเต้าหู้ดื่มเองที่บ้าน

          หากพูดถึง "นมถั่วเหลือง" คงไม่มีใครไม่นึกถึง "น้ำเต้าหู้" แต่ถ้าหากพูดถึง "น้ำเต้าหู้" หลายคนก็คงจะคิดถึง "นมถั่วเหลือง" ขึ้นมาใช่ม้า... (อิอิ) เอาล่ะ !! ว่าแล้วก็เข้าเรื่องเลยดีกว่า วันนี้เรามีเกร็ดความรู้เรื่อง "น้ำเต้าหู้" มาฝากเพื่อน ๆ กันด้วย สำหรับผู้ที่รักสุขภาพ พลาดไม่ได้เด็ดขาด...

          "น้ำเต้าหู้"  หรือ "นมถั่วเหลือง" แหล่งโปรตีนชั้นดีสำหรับผู้ที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ หรือสำหรับคนที่บริโภคเนื้อสัตว์ ก็สามารถดื่มน้ำเต้าหู้เป็นอาหารเสริมได้ เพราะถั่วเหลืองที่นำมาทำน้ำเต้าหู้นั้นมีโปรตีนสูง และมีคุณค่าทางโภชณาการใกล้เคียงกับโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ถ้าเราบริโภคถั่วเหลืองในปริมาณที่สูงพอ ร่างกายของเราก็จะได้รับโปรตีนเพียงพอกับความต้องการได้ (ว้าว... วิเศษสุด ๆ)

น้ำเต้าหู้

          นอกจากนี้ ในถั่วเหลืองยังอุดมไปด้วยสารอาหารอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามิน A, B, B1, B2, B6, B12 ไนอาซิน และวิตามิน C, D, E และในเมล็ดถั่วเหลืองยังมี "เลซิทิน" อันเป็นสารบำรุงสมอง เพิ่มความทรงจำ ลดไขมัน และลดคอเลสเตอรอลในร่างกายได้อีกด้วย 

          ทั้งนี้ ถ้าเทียบกับนมธรรมดาแล้ว น้ำเต้าหู้จะมีข้อดีกว่า แต่บางอย่างก็จะสู้นมธรรมดาไม่ได้ โดยน้ำเต้าหู้ให้โปรตีนเกือบเท่านมธรรมดาทั่วไป มีไขมันที่ดีกว่าคือให้กรดไขมันไม่อิ่มตัวมากกว่า และช่วยลดคอเลสเตอรอล สำหรับข้อเสีย คือ น้ำเต้าหู้จะให้แคลเซียมได้น้อยมาก ดังนั้น จึงควรรับประทานอาหารอื่นที่มีแคลเซียมควบคู่กันไปด้วย เช่น ปลาทอดกรอบ ผักคะน้า กวางตุ้ง เป็นต้น

          ทีนี้ลองมาดูกันเป็นข้อ ๆ ว่าน้ำเต้าหู้มีประโยชน์อย่างไร

นมถั่วเหลือง

ประโยชน์ของน้ำเต้าหู้

1. มีสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่

        นมถั่วเหลืองหรือน้ำเต้าหู้มีสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ ทั้งโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต เกลือแร่ และวิตามิน โดยเฉพาะปริมาณสารอาหารประเภทโปรตีนในนมถั่วเหลือง ซึ่งมีอยู่สูงเทียบเท่าเนื้อสัตว์เลยเชียวล่ะ

 2. มีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายครบทั้ง 10 ชนิด

        โปรตีนโกลบูลิน (Globulin) ที่พบในน้ำเต้าหู้ ประกอบไปด้วยกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายครบทั้ง 10 ชนิด อีกทั้งยังเป็นโปรตีนชนิดที่ร่างกายดูดซึมได้ง่าย โดย 95% ของโปรตีนในน้ำเต้าหู้ ร่างกายจะสามารถดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด

        นอกจากนี้งานวิจัยจาก Molecular Nutrition & Food Research ปี พ.ศ. 2554 ก็เผยว่า น้ำเต้าหู้ยังมีเลคซิติน (Lecithin), ไอโซฟลาโวน (Isoflavone), โอลิโก (Oligo) และไฟเบอร์ ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยชะลอความแก่ ช่วยปรับความสมดุลของฮอร์โมน อีกทั้งยังช่วยในการขับถ่าย และป้องกันโรคเบาหวาน ลดความดันโลหิตสูง โรคอ้วน และบำรุงเส้นเลือดแดงด้วย

 3. ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด

        องค์การอาหารและยา พร้อมทั้งสมาคมโรคหัวใจของสหรัฐอเมริกา เผยว่า น้ำเต้าหู้มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวในอัตราส่วนที่สูง ซึ่งกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวจะช่วยลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด ป้องกันการสะสมของไขมันในหลอดเลือดชั้นใน อันเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคหัวใจและความดันโลหิตสูงได้

นมถั่วเหลือง

 4. แหล่งรวมวิตามิน

        โดยเฉพาะวิตามินบีรวม ไนอาซิน รวมทั้งวิตามินเอ วิตามินอี วิตามินดี และวิตามินซีในปริมาณเล็กน้อย แต่ก็ถือว่าเพียงดื่มน้ำเต้าหู้แค่ถุงเดียวก็กวาดเรียบทุกวิตามินเลยล่ะ อีกทั้งใครชอบดื่มน้ำเต้าหู้ทุกวัน ผิวพรรณและร่างกายจะแจ่มใส เพราะมีวิตามินเหล่านี้คอยช่วยบำรุงร่างกายอีกด้วยนะ

 5. บำรุงสมอง เพิ่มความจำ

        น้ำเต้าหู้ยังอุดมไปด้วยสารอาหารอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงาน แคลเซียม ฟอสฟอรัส จึงช่วยบำรุงทั้งร่างกาย บำรุงสมอง และช่วยเพิ่มความสามารถในการจดจำได้

6. น้ำเต้าหู้ ลดความอ้วน

        น้ำเต้าหู้มีแคลอรีอยู่ราว ๆ 75-200 กิโลแคลอรี ขึ้นอยู่กับความหวานและเครื่องที่ใส่ในน้ำเต้าหู้แต่ละแก้ว รวมทั้งในน้ำเต้าหู้ยังปราศจากคอเลสเตอรอล และมีกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว



          ส่วนใครที่อยากทำน้ำเต้าหู้ทานเอง เราก็มีวิธีทำมาแนะนำ

วิธีทำน้ำเต้าหู้


  
          ส่วนผสม

           - ถั่วเหลืองเลาะเปลือกแยกกากและเศษผงออก 1 ถ้วย
           - น้ำสะอาด 7 ถ้วย
           - น้ำตาลทราย 3/4 ถ้วย

           วิธีทำน้ำเต้าหู้

            1. ล้างทำความสะอาดถั่วให้สะอาดแล้วแช่น้ำไว้อย่างน้อย 6 ชั่วโมง
            2. โม่หรือบดถั่วให้ละเอียด กรองด้วยผ้าขาวบางแยกน้ำออก หากมีเครื่องแยกกากก็ใช้เครื่องแยกกากก็ได้ค่ะ
            3. นำขึ้นตั้งไฟ ตอนใกล้ ๆ เดือดต้องคอยคนอยู่เสมอเพื่อไม่ให้ไหม้ 
            4. ใส่น้ำตาลทราย คนให้ละลายแล้วปิดไฟ อาจแยกบางส่วนไม่ใส่น้ำตาลทรายเลยก็ได้ แล้วแต่ชอบ 
 
          ทั้งนี้ จุดสำคัญของการทำน้ำเต้าหู้อยู่ที่ขั้นตอนการทำ ต้องหมั่นคน มิฉะนั้นจะมีกลิ่นไหม้ค่ะ
 
           วิธีทำเครี่องน้ำเต้าหู้

          - "ลูกเดือย" นำลูกเดือยมาแช่น้ำประมาณ 1 ชั่วโมง นำลงต้มในน้ำจนเดือด จากนั้นลดไฟลงและเคี่ยวต่อจนเปื่อย ใช้เฉพาะส่วนที่เป็นเนื้อลูกเดือย ส่วนที่เป็นน้ำเททิ้งไป
 
           - "วุ้น" นำ น้ำขึ้นตั้งไฟต้มจนเดือด ระหว่างนั้นนำผงวุ้นละลายในน้ำธรรมดา พักไว้ เทน้ำที่ต้มไว้แล้วลงในถาดโลหะอาจเป็นถาดอลูมิเนียมหรือถาดสแตนเลสก็ได้ นำผงวุ้นที่ละลายน้ำไว้แล้วเทลงในถาดใช้ช้อนคนให้ทั่วทั้งถาด... รอให้เย็นวุ้นก็จะแข็งเป็นก้อน เมื่อแข็งเป็นก้อนแล้วจึงใช้มีดตัดออกเป็นก้อนสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ 3 คูณ 3 เซนติเมตร และซอยออกเป็นเส้นเล็กๆ อีกครั้งหนึ่ง

           - "สาคู" นำน้ำขึ้นตั้งไฟให้เดือด เทสาคูลงไป ต้มจนน้ำเดือดอีกครั้ง จากนั้นปิดไฟปล่อยไว้ให้เย็นแล้วเทน้ำทิ้งไป ทำเช่นนี้สองครั้งก็จะได้สาคูที่นุ่มลิ้นและอร่อยแล้วค่ะ

          หรือถ้าใครอยากลองทำตามสูตรน้ำเต้าหู้ใหม่ ๆ ก็ลองดูได้เลย

          - 6 วิธีทำน้ำเต้าหู้ ศุตรโฮมเมดหลากรส ทำง่ายเพื่อสุขภาพ

          - น้ำเต้าหู้งาดำ เครื่องดื่มสุขภาพอิ่มท้อง ต้อนรับเทศกาลกินเจ

          - วิธีทำน้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง โฮมเมดสูตรเข้มข้น ทำดื่มเองดีกว่า ไม่เสียอารมณ์

          - น้ำเต้าหู้ผสมมะนาว สูตรเด็ดคูณสอง ที่เขาว่าเป็นยาอายุวัฒนะ

          เอาล่ะ ได้เวลาที่คนรักสุขภาพอย่างพวกเราไปทำ "น้ำเต้าหู้" ดื่มกันแล้ว...  

 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
thairunning.com
Livestrong
FITDAY
Huffington Post

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
น้ำเต้าหู้ ประโยชน์จัดเต็มสำหรับคนรักสุขภาพ พร้อมวิธีทำน้ำเต้าหู้ อัปเดตล่าสุด 20 ตุลาคม 2563 เวลา 11:31:05 280,904 อ่าน
TOP