
แค่เรื่อง หายใจ ใครว่าง่าย (Star Fashion)
By : Thun
การสอนคนให้หายใจคงไม่ต่างจากการสอนปลาว่ายน้ำเป็นแน่ เผลอ ๆ หลาย ๆ ท่านอาจจะนึกขำว่าการหายใจมันง่ายเสียยิ่งกว่าการให้ปลาว่ายน้ำเสียด้วยซ้ำ เพราะการหายใจมันเป็นระบบอัตโนมัติของร่างกาย ไม่มีใครสามารถหยุดหายใจเองได้แม้จะพยายามกลั้นใจตายก็ตาม (ที่เราเคยอ่านในวรรณกรรมต่าง ๆ ว่าตัวเอกกลั้นใจตายเป็นอะไรที่โกหกมาก ๆ)
แน่นอนว่าทุกคนหายใจเป็นกันตั้งแต่เกิดแล้ว แต่คุณมั่นใจหรือยังว่าวิธีการหายใจของคุณนั้นถูกต้อง เพราะกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของคนเราไม่เคยสังเกตและสนใจการหายใจของตัวเองเลย ทั้ง ๆ ที่การหายใจอย่างถูกวิธีมีประโยชน์มากมายต่อตัวคุณ

ดร.แอนดรู ไวล์ แพทย์แนวหน้าผู้บุกเบิกการบำบัดรักษาโรคและการดูแลสุขภาพด้วยวิธีการแพทย์แบบผสมผสาน ได้กล่าวถึงความสำคัญของการหายใจว่า "ลมหายใจเป็นตัวเชื่อมระหว่างร่างกายกับจิตใจ และจิตสำนึก ลมหายใจเป็นกุญแจสำคัญที่จะควบคุมอารมณ์ทั้งหลาย และควบคุมการทำงานของระบบประสาทสั่งการอัตโนมัติ นอกจากนี้ ลมหายใจยังเป็นดัชนีบ่งถึงการแปรฝันในจิตใจต่อเรื่องที่ผ่านเข้ามา หากให้ความสนใจกับลมหายใจ เขาจะสามารถเคลื่อนเข้าสู่การผ่อนคลายและเข้าสู่สมาธิโดยอัตโนมัติ และทำให้สัมผัสถึงปัจจัยสำคัญแห่งการ "ดำรงอยู่" ซึ่งมิได้อาศัยเพียงแต่ร่างกายเท่านั้น"
ด้วยความที่ร่างกายของเราของเราใช้พลังงานจานการเผาผลาญออกซิเจนที่หายใจเข้าไปในร่างกาย ยิ่งออกซิเจนมากเท่าไหร่ การสันดาปก็จะเกิดขึ้นเร็วและสมบูรณ์มากเท่านั้น การหายใจอย่างเต็มปอดจึงทำให้ร่างกายเราได้รับพลังงานที่เสถียร การฝึกหายใจทำได้ง่าย ๆ คือหายใจช้า ๆ เข้าไปจนเต็มปอด (สังเกตว่าหน้าท้องของเราจะบวมขึ้น) จากนั้นกลั้นหายใจไว้ประมาณ 3-5 วินาที แล้วจึงค่อย ๆ ผ่อนลมออกมาจนสุด (สังเกตว่าหน้าท้องจะแฟบลง) เพียงแค่นี้คุณก็สามารถทำให้ร่างกายของคุณทำงานได้อย่างเสถียรแล้ว















เห็นหรือไม่ว่า เพียงแค่วิธีง่าย ๆ ที่คุณอาจไม่เคยนึกถึงหรือไม่เคยรับทราบมาก่อน แต่มันมีประโยชน์ต่อร่างกายคุณมากมาย ทั้งเรื่องสุขภาพและความงาม

ท่าที่ 1 ท่าหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อท้อง

การบริหารการหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องหรือกระบังลม (Abdominal or Diaphragmatic Breathing) เป็นการหายใจที่ใช้กำลังน้อยที่สุด และได้ลมเข้าออกจากปอดมากที่สุด

นอนหงายกับพื้น วางต้นแขนทั้งสองข้างแนบลำตัว วางมือบนหน้าอกและหน้าท้อง งอเข่าทั้งสองข้างขึ้นในท่าที่สบาย

ให้สูดหายใจเข้าลึก ๆ ทางจมูกให้หน้าท้องป่องออก หัดทำอย่างนี้ 2-3 ครั้งจนชำนาญ ถ้าหายใจถูกต้อง หน้าท้องจะป่องออกและหน้าอกจะมีการเคลื่อนไหวน้อยมาก โดยเฉพาะส่วนบนสังเกตจากการยกขึ้นของมือทั้งสองที่วางทาบไว้

ผ่อนลมหายใจออกเบา ๆ ผ่านทางไรฟันในขณะที่ริมฝีปากเผยออกเพียงเล็กน้อย ให้ระยะเวลาของการหายใจออกเป็นประมาณ 3 เท่าของระยะเวลาหายใจเข้า จะเห็นว่ามือที่วางทาบอยู่บนหน้าท้องเคลื่อนลง ส่าวนมือที่วางอยู่บนหน้าอกจะเคลื่อนไหวน้อยมาก นี่คือการหายใจออกโดยกล้ามเนื้อกระบังลมและกล้ามเนื้อหน้าท้อง ควรหัดทำแบบนี้ซ้ำหลาย ๆ ครั้งจนแน่ใจว่าสามารถหายใจเข้าและออกโดยวิธีดังกล่าว ซึ่งการหายใจดังกล่าวนี้จะใช้ในทุกท่าของการบริหารที่จะทำต่อไป
ท่าที่ 2 ท่าหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อทรวงอกด้านข้าง

ช่วยเพิ่มความสามารถในการเคลื่อนไหวทรวงอกให้มากขึ้น และช่วยในการขับเสมหะ

วางฝ่ามือทั้ง 2 ข้างลงบนสีข้างของทรวงอกส่วนล่าง หายใจเข้าและหายใจออก โดยวิธีการดังกล่าว ให้บริเวณทรวงอกและชายโครงส่วนล่างโป่งออกในช่วงหายใจเข้าและยุบลงให้มากที่สุด ในช่วงหายใจออก เมื่อชำนาญแล้วใช้มือกดเบา ๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ออกแรงมากขึ้น ขณะหายใจเข้าและเพื่อให้ลมออกจากปอดส่วนล่างให้มากที่สุดในขณะหายใจออก
ท่าที่ 3 ท่าหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อทรวงอกส่วนบน

เพื่อให้ลมออกจากส่วนนี้ให้มากที่สุด และให้ทรวงอกส่วนบนแข็งแรงขึ้น
ท่านี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจตีบเรื้อรังจนมีหน้าอกโป่งพองออกมา เช่น ในพวกที่เป็นหืด หรือถุงลมโป่งพองเรื้อรังเป็นต้น

วางมือบนหน้าอกใต้กระดูกไหปลาร้า ใช้ปลายนิ้วมือกดเบา ๆ หายใจเข้าให้อกส่วนบนขยายตัวดันนิ้วมือขึ้น ไม่ควรเกร็งไหล่ ปล่อยให้ไหล่หย่อนตามปกติ หายใจเข้าแล้วกลั้นไว้ 1-2 วินาที แล้วจึงหายใจออก ขณะที่หายใจออกให้ทรวงอกส่วนนี้ยุบลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยใช้มือกดช่วย
เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.221 กุมภาพันธ์-มีนาคม 2555