บัวบก ศาสตร์แพทย์แผนจีน






บัวบก ศาสตร์แพทย์แผนจีน (หมอชาวบ้าน)

          มีคำกล่าวเกี่ยวกับสรรพคุณบัวบอกไว้มากมาย "คนอกหัก ต้องไปกินบัวบกแก้ช้ำใน"

          "บัวบก ภาษาจีน เรียก จิเสวี่ยเฉ่า หมายถึง หญ้าหรือสมุนไพร ที่เสมือนมีหิมะสะสมตัวอยู่ คือฤทธิ์เย็นมาก สามารถขับพิษร้อน การอักเสบทั้งหลาย"

          "บัวบก มีฤทธิ์กล่อมประสาท บำรุงสมอง ช่วยความจำ ลดความอ่อนล้าของสมอง"

          "คนที่มีภาวะเย็นพร่อง ร่างกายขี้หนาว ท้องอืด ไม่เหมาะกับบัวบก คนที่ขี้ร้อนหรือมีภาวะแกร่ง มีความร้อนชื้น เหมาะสำหรับการใช้ใบบัวบก อย่าดูแต่สรรพคุณของบัวบกเพียงอย่างเดียว ต้องพิจารณาสภาพพื้นฐานของร่างกายเป็นสำคัญ"

          ลองรู้จักบัวบกและสรรพคุณทางยาที่บันทึกในตำราแพทย์แผนจีนโบราณ เปรียบเทียบดูกับการศึกษาวิจัยสมัยใหม่ จะทำให้เข้าใจอะไร ๆ ได้มากขึ้น

บัวบก

          บัวบกมีแหล่งกำเนิดที่อินเดีย ญี่ปุ่น จีน อินโดนีเซีย ศรีลังกา อเมริกาใต้ และประเทศแถบตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นพืชสมุนไพรที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานหลายพันปี ด้วยคุณสมบัติในการรักษาบาดแผลเพิ่มสมรรถภาพการทำงานของสมอง รักษาโรคผิวหนัง เช่น โรคเรื้อนและโรคสะเก็ดเงิน จนมีเรื่องเล่าขานว่าแพทย์จีนโบราณท่านหนึ่งมีอายุยืนยาวถึง 200 ปี เพราะการกินสมุนไพรบัวบกเป็นประจำ

บัวบกจึงได้สมญานามว่า "ยาสุดยอดแห่งชีวิต"

          มีการเล่าขานเกี่ยวกับสรรพคุณการรักษาโรคของบัวบกมากมาย ในการรักษาการติดเชื้อของไวรัสตับอักเสบ กระเพาะอาหารเป็นแผล การอ่อนล้าของระบบประสาทส่วนกลาง โรคลมชัก ท้องเสีย ตัวร้อน และท้องอืด รวมทั้งโรคผิวหนัง และอาการปวดข้อรูมาตอยด์

บันทึก "บัวบก" ของตำราแพทย์แผนจีน

          บัวบกมีรสขม เผ็ด ฤทธิ์เย็น เข้าเส้นลมปราณ หัวใจ ปอด ม้าม ตับ ไต อวัยวะจั้ง (อวัยวะตัน) ทั้ง 5 ของร่างกาย

สรรพคุณบัวบก

1.ขับร้อน ขับชื้น

          เนื่องจากรสขม ฤทธิ์เย็น ขมสามารถสลายชื้น เย็นสามารถขับร้อนได้ ดังนั้น โรคที่มีสาเหตุจากความชื้นกับความร้อนร่วมกัน เกิดการอุดกั้น จึงสามารถใช้บัวบกรักษาได้

          ดีซ่าน ในทัศนะแพทย์แผนจีนเกิดจากภาวะร้อนขึ้น เมื่อความชื้นตกค้างในทางเดินอาหารไม่สามารถขับทิ้ง เกิดการอุดกั้นสะสมความร้อน จึงเกิดการรวมตัว เช่น เกิดนิ่วในถุงน้ำดี ถุงน้ำดีอักเสบ ฯลฯ หลักการรักษาดีซ่านใน จินคุ้ยเอี่ยวเลี้ย กล่าวไว้ว่า

          "โรคดีซ่านทั้งหลาย ให้ขับทางปัสสาวะ" ให้ขับไฟด้านบน ขับชื้นด้านล่าง (ปัสสาวะ) ทำให้เสียชี่ (สิ่งก่อโรค) ออกทางปัสสาวะ ถ้าร้อนชื้นหาย ดีซ่านก็จะหาย

          ท้องเสียในฤดูร้อน ฤดูร้อนมีอากาศร้อน มักมีความชื้นเข้าเกี่ยวข้องช่วงอากาศร้อนบริโภคของเย็นอาหารดิบมากเกินไป ทำให้เกิดความร้อนชื้น ปิดกั้นกระเพาะอาหารและลำไส้ เกิดอาการท้องเสีย ถ้าขจัดความร้อนชื้นออกไป ท้องเสียก็จะหยุด

          นิ่วทางเดินปัสสาวะ เกิดจากความร้อนชื้นของทางเดินปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะแสบขัด มีการอักเสบมีการสะสมตัวเป็นก้อนนิ่วเล็ก ๆ ได้ การใช้บัวบกจึงเหมาะในการขับความร้อนชื้นทางเดินปัสสาวะ

          โรคบิด อาการปวดเบ่งอุจจาระ หรือมีมูกมีเลือดปน เรียกว่ามีภาวะร้อนชื้นของลำไส้ บัวบกมีฤทธิ์เย็นรสขม เหมาะสำหรับการรักษาโรคบิด

2.ระบายร้อนขับไฟ

          ไฟและความร้อนเป็นพลังหยาง มีสาเหตุจากภายนอก (ความร้อนของอากาศ สิ่งแวดล้อม) และจากความร้อน (ไฟ) ที่เกิดภายในร่างกาย ความร้อนเหล่านี้ก่อให้เกิดอาการไข้ ตัวร้อน กระหายน้ำ เช่น การติดเชื้อทางเดินอาหารแล้วมีการอักเสบไข้สูง (แผนปัจจุบัน) ตาอักเสบบวมแดงรวมทั้งการอักเสบของผิวหนัง เช่น ไฟลามทุ่ง เป็นต้น

          อากาศร้อนในฤดูร้อน ทำให้เกิดไข้ อักเสบตัวร้อน กระหายน้ำเหงื่อออกมาก อ่อนเพลีย พิษร้อนสะสมภายใน คือเสียชี่ (สิ่งก่อโรค) เข้าสู่ระดับชี่ การใช้บัวบกที่มีฤทธิ์เย็นรสขม จึงช่วยระบายความร้อนการอักเสบในฤดูร้อนได้ดี

          ตาอักเสบบวมแดง เนื่องจากตับเปิดทวารที่ตา คือ โรคของตาอักเสบบวมแดง เกิดจากไฟตับขั้นสูงเบื้องบน ทำให้ระคายเคืองตา แพ้แสง คอขม คอแห้งปวดแน่นชายโครง ลิ้นแดง ปัสสาวะสีเข้ม ชีพจรเต้นเร็วการรักษาด้วยบัวบก จึงช่วยขับระบายไฟตับ

          ไฟลามทุ่ง ผิวหนังอักเสบ เนื่องจากความร้อนที่รุนแรงเข้าสู่ระดับเลือด มีการปิดกั้นของความร้อนที่ผิวหนังในหนังสือ ถังเปิ่นเฉ่า บันทึกไว้ว่า "เอาบัวบกตำ และพอกรักษาความร้อนบวมของไฟลามทุ่ง" การกินบัวบก และการพอกภายนอกจะระบายความร้อน ขับไฟทะลวงซานเจียว ด้านบนวิ่งไปปอด ตรงกลางวิ่งไปม้าม กระเพาะอาหาร ด้านล่างวิ่งไป ไต ทำให้เลือดเย็นลดบวม ทะลวงความร้อนออกภายนอก ไฟลามทุ่งจะหายไปเอง

3.ลดบวมขับพิษ

          เนื่องจากฤทธิ์เย็นและทำให้เลือดเย็น มีสรรพคุณขับไฟ ระบายความร้อน ระดับชี่ ระดับเลือด

          รักษาพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย ลดอาการอักเสบ บวม สลายก้อนทำให้เลือดเบา

          รักษาอาการเจ็บคอ กลืนลำบาก หรือคอเป็นหนอง ซึ่งแพทย์จีนหมายถึง ภาวะปอดร้อน บัวบกมีฤทธิ์เย็นสามารถขับความร้อนและพิษที่สะสมที่ปอดได้

          บาดเจ็บช้ำในจากการกระทบกระแทก ใช้บัวบกตำละเอียดเฉพาะที่และกิน จะสลายภาวะเลือดอุดกั้นคั่งค้างทำให้ลดบวม ระงับการอักเสบปวดบวม

4.ทำให้เลือดเย็นหยุดเลือด

          บัวบกมีสรรพคุณทำให้เลือดเย็นและสามารถหยุดเลือดได้ ทำให้เลือดเดินแต่เลือดไม่ออกจากเส้นเลือดทั้งทำให้เลือดเย็น หยุดเลือดและสลายเลือดทั้ง 2 ด้าน จึงนำมารักษาภาวะเลือดออก เช่น ไอเป็นเลือด เลือดกำเดาออก อาเจียนเป็นเลือด

          อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอาการเลือดออกดังกล่าว ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัดเสียก่อน

5.ขับลม ขับพิษ

          โรคผิวหนัง เช่น หัด หิด แพทย์จีนมองว่าเกี่ยวข้องกับลมความร้อนที่มากระทบ เกิดการอุดกั้นบริเวณผิวหนังทำให้เกิดผื่นคัน

          หัด หรือไข้ที่มีผื่นร่วมด้วย จัดเป็นพิษร้อนจากภายนอกที่มากระทบร่างกาย และปิดกั้นอยู่บริเวณผิวหนังการขับพิษ ขับร้อน กระจายลมร้อนบริเวณผิวหนัง และทำให้เลือดเย็น สามารถรักษาโรคที่มีผื่นการติดเชื้อเช่นโรคหัดได้

          หิด เป็นผิวหนังอักเสบ คัน มีตุ่มน้ำใส ๆ บางตำแหน่งหลังเกาแล้วจะเป็นแบบแห้ง จัดเป็นภาวะร้อนชื้นประเภทหนึ่ง ความขมของบัวบกจะสลายชื้น ฤทธิ์เย็นจะขับพิษ

6.ทำให้ก้อนนิ่มสลายการก่อตัวของก้อน

          ก้อนต่าง ๆ รวมทั้งต่อมน้ำเหลืองโต ก้างปลาติดคอสามารถใช้คุณสมบัติในการทำให้เลือดเดิน กระจายเลือดที่เกาะตัว ทำให้ก้อนนิ่มสลายก้อนได้

น้ำบัวบก

ปริมาณที่ใช้

          ใช้กิน : บัวบกแห้งปริมาณ 9-15 กรัม บัวบกสด ปริมาณ 20-50 กรัม

          ใช้ทาพอกภายนอก : ตำให้ละเอียด เอาน้ำหรือเนื้อบดละเอียดปิดบริเวณที่จะรักษา

ข้อความระวังการใช้บัวบก

          การกินบัวบกจะต้องพิจารณาพื้นฐานร่างกายด้วย อย่าพิจารณาแต่สรรพคุณของบัวบกเพียงอย่างเดียว
         
          คนที่มีภาวะร่างกายพร่องและเป็นคนที่ร่างกายขี้หนาว กลัวความเย็น ระบบย่อยอาหารไม่ดี กินอาหารที่มีฤทธิ์เย็น รสขม แล้วจะท้องอืด ท้องเสียง อาหารไม่ย่อย ไม่เหมาะกับบัวบกซึ่งมีฤทธิ์เย็น

          บัวบกเหมาะสมกับคนมีภาวะแกร่ง ร้อน และความชื้นสะสม

ตัวอย่างการนำมาใช้ทางคลินิกจากภูมิปัญญาชาวบ้าน

          1.รักษาดีซ่านจากภาวะร้อนชื้นบัวบก 30 กรัม น้ำตาลกรวด 30 กรัม ต้มน้ำกิน

          2.ท้องเสียจากความร้อน ความชื้นในฤดูร้อน เอาใบบัวบกมาม้วนเป็นชิ้นกลมๆ เคี้ยวละเอียดแล้ว กลืนกับน้ำ 1-2 ชิ้น

          3.นิ่วทางเดินปัสสาวะใช้บัวบก 50 กรัม ต้มกับน้ำชาวข้าว (ครั้งที่ 2) ดื่มกิน

          4.ฝีหนอง ระยะเริ่มแรก ใช้ใบบัวบกตำละเอียด นำไปพอกบริเวณฝีหนอง

          5.คออักเสบบวม ใช้ใบบัวบกสด 60 กรัม ล้างสะอาดบดละเอียดในชาม ชงละลายน้ำอุ่น อมกลั้วคอบ่อย ๆ

          6.ปัสสาวะติดขัด ใบบัวบกสด 50 กรัม ตำให้ละเอียดนำไปพอกบริเวณสะดือ เมื่อถ่ายปัสสาวะคล่องดีแล้วค่อยเอาออก

          7.ฟกช้ำ บากเจ็บจากการกระทบกระแทก

               - ใช้ใบบัวบก ๔๐-๕๐ กรัม ดื่มกับเหล้าแดง 250 ซีซี นาน 1 ชั่วโมง แล้วดื่มกิน

               - ภายนอกใช้ทุบให้ละเอียดโปะบริเวณฟกช้ำ

          8.ตาอักเสบแดงบวม เอาใบล้างสะอาด คั้นเอน้ำบัวบก หยดที่ตา 3-4 ครั้ง/วัน

          9.ก้างปลาติดคอ เอาบัวบกต้มน้ำ ค่อย ๆ กลืนน้ำบัวบกลงคอ

          10.เต้านมอักเสบเป็นหนองระยะแรก เอาบัวบกและเปลือกของลูกหมาก 1 ผล ต้มกับเหล้าดื่มกิน

          11.ไฟลามทุ่ง เอใบบัวบกล้างสะอาด ตำให้ละเอียดคั้นเอาน้ำ ใช้ผสมกับแป้งข้าวเหนียว ทำเป็นแป้งเหลว ใช้พอกบริเวณที่อักเสบ


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บัวบก ศาสตร์แพทย์แผนจีน อัปเดตล่าสุด 16 พฤศจิกายน 2566 เวลา 16:19:09 73,145 อ่าน
TOP
x close