หากมีเนื้องอกในมดลูกจะต้องเป็นเนื้อร้ายเสมอไหม แล้วอาการบ่งชี้เนื้องอกในมดลูกมีอะไรบ้าง อยากชวนสาว ๆ มาทำความรู้จักภาวะเนื้องอกมดลูกกันค่ะ
คำว่า "เนื้องอก" บอกชัดอยู่แล้วว่าไม่ใช่อวัยวะจำเป็น แถมยังเป็นติ่งที่ร่างกายไม่ควรจะมีอีกต่างหาก และเนื้องอกนี่ก็แปลกตรงที่ไปงอกได้หลายที่ ทั้งภายนอกร่างกายหรือแม้แต่ภายใน อย่างเนื้องอกมดลูกก็พบได้เช่นกัน แล้วอาการเนื้องอกมดลูกจะส่งผลกระทบอะไรกับสาว ๆ ได้บ้าง อันตรายไหม วันนี้เรามาหาคำตอบไปพร้อมกันเลย
เนื้องอกมดลูก คืออะไร
เนื้องอกมดลูก ภาษาอังกฤษเรียกว่า Uterine Fibroids โดยเนื้องอกในส่วนนี้เป็นเนื้องอกที่เกิดขึ้นในตัวมดลูก จัดเป็นเนื้องอกที่พบบ่อยในอวัยวะสืบพันธุ์สตรี และอาจพบเนื้องอกในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของตัวมดลูก ขนาดอาจจะแตกต่างกันไป หรือบ้างก็พบเนื้องอกมดลูกก้อนเดียว บ้างก็พบเนื้องอกมดลูกหลายก้อน ทั้งนี้เนื้องอกในมดลูกบางชนิดอาจโตเร็ว และบางชนิดอาจโตช้า ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดเนื้องอกในแต่ละบุคคล มักพบในผู้หญิงช่วงอายุ 30-45 ปี
เนื้องอกมดลูก เกิดจากอะไร
สาเหตุของการเกิดเนื้องอกมดลูกยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีการสันนิษฐานว่าเนื้องอกมดลูกเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์กล้ามเนื้อปกติของมดลูก ซึ่งอาจเกิดจากพันธุกรรม เพราะพบโรคนี้ได้บ่อยในผู้ที่ครอบครัวมีประวัติเป็นเนื้องอกมดลูก
นอกจากนี้ยังเชื่อว่าสาเหตุของเนื้องอกมดลูกอาจเกิดจากฮอร์โมนเพศทั้งเอสโตรเจนและโพรเจสเทอโรน
ที่อาจกระตุ้นการเจริญของเยื่อบุมดลูกระหว่างการมีประจำเดือนในทุก ๆ เดือน
ส่งเสริมให้เกิดการเจริญเติบโตของเนื้องอกมดลูกขึ้นได้
แต่เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน เนื้องอกมดลูกจะมีขนาดเล็กลง
ซึ่งนั่นก็สนับสนุนข้อสันนิษฐานที่ว่า
ฮอร์โมนเพศอาจเป็นสาเหตุของการเกิดเนื้องอกมดลูกได้นั่นเอง
เนื้องอกมดลูก ลักษณะเป็นอย่างไร
เนื้องอกมดลูกมักพบว่าเกิดหลายก้อนอยู่ภายในกล้ามเนื้อมดลูก ทำให้มดลูกโตไม่สม่ำเสมอ ผิวมดลูกไม่เรียบแต่เป็นลอนค่อนข้างแข็ง และเนื้องอกมดลูกอาจมีขนาดเล็ก-ใหญ่ ต่างกันมาก บางเคสเนื้องอกมดลูกอาจโตได้เท่ามดลูกของหญิงตั้งครรภ์ราว 6-7 เดือน เลยทีเดียว
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้เนื้องอกในมดลูกโตขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เพิ่มมากขึ้นในร่างกาย อาจเกิดจากการผลิตฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล หรือทานอาหารบางชนิดที่กระตุ้นให้เกิดฮอร์โมนเอสโตรเจนมากขึ้น เช่น อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารที่มีแคลอรีสูง รวมทั้งน้ำอัดลม เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง
เนื้องอกมดลูกอันตรายไหม
โดยส่วนใหญ่แล้วเนื้องอกมดลูกจะเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง และมีโอกาสเปลี่ยนเป็นเนื้อร้ายได้เพียงร้อยละ 0.25-1.08 เท่านั้น แต่หากเนื้องอกมดลูกโตเร็ว มีขนาดใหญ่มาก ร่วมกับมีอาการผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาและกำจัดเนื้องอกมดลูกโดยเร็ว
โดยส่วนมากแล้วเนื้องอกมดลูกที่มีขนาดเล็กจะไม่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติอันใด เว้นแต่เนื้องอกในมดลูกที่มีขนาดโตก็อาจมีอาการแสดงผิดปกติไปบ้าง ยกตัวอย่างเช่น
1. เลือดออกผิดปกติในช่องคลอด
หรืออาการประจำเดือนมามากผิดปกติ แต่บางรายก็มีเลือดออกกะปริดกะปรอยระหว่างมีประจำเดือน หรือหลังมีประจำเดือนนานเกิน 1 สัปดาห์ ทั้งนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการปวดประจำเดือนหน่วง ๆ ที่ท้องน้อย หรือมีอาการปวดหลังส่วนล่างอย่างหนักในช่วงมีประจำเดือนร่วมด้วย
2. ปัสสาวะบ่อย ปวดหัวหน่าว
หากเนื้องอกมดลูกมีขนาดโตและกดเบียดตัวมดลูก อาจทำให้เกิดอาการปวดหน่วง ๆ บริเวณหัวหน่าว ปัสสาวะถี่ขึ้น เพราะเนื้องอกไปกดทับท่อปัสสาวะ จึงทำให้จุได้น้อยลง เกิดการอักเสบได้ง่ายขึ้น
3. ท้องผูก
อาจมีอาการท้องผูกเรื้อรังเนื่องจากเนื้องอกมดลูกไปกดเบียดบริเวณทวารหนัก
4. คลำพบก้อนในช่องท้อง
ผู้ป่วยบางรายที่มีขนาดเนื้องอกก้อนใหญ่ อาจมีอาการท้องโตโดยไม่ทราบสาเหตุ ร่วมกับคลำพบก้อนในท้อง โดยไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย อาจรู้สึกแน่นท้อง ท้องบวม ท้องโตคล้ายคนท้อง
5. ปวดท้องน้อย
ในกรณีที่เกิดภาวะแทรกซ้อนในเนื้องอก เช่น เลือดออกภายในก้อนหรือก้อนเนื้องอกอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องน้อยมาก
อย่างไรก็ตาม โดยส่วนมากแล้วเนื้องอกมดลูกมักจะไม่แสดงอาการ เนื่องจากเนื้องอกในมดลูกมักจะมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยจะตรวจพบเนื้องอกในมดลูกโดยบังเอิญจากการตรวจภายใน หรือในคนที่มีภาวะแท้งบุตรง่าย มีบุตรยากแล้วไปตรวจหาสาเหตุ ก็อาจพบว่ามีเนื้องอกในมดลูกได้
เนื้องอกมดลูก รักษาอย่างไร
วิธีรักษาเนื้องอกในมดลูกสามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน โดยมีแนวทางรักษาเนื้องอกมดลูก ดังนี้
- รักษาด้วยยา
แพทย์อาจพิจารณาให้ยาลดปวดชนิดรับประทานกับผู้ป่วยในกรณีที่มีอาการปวด และเนื้องอกมีขนาดค่อนข้างเล็ก หรือหากไม่มีอาการผิดปกติอะไร แพทย์อาจเพียงแค่เฝ้าติดตามดูการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะ เพราะเนื้องอกขนาดเล็กมักจะโตช้าหรือคงที่ และฝ่อลงได้เองเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน
- การผ่าตัด
หากก้อนมีขนาดใหญ่มาก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องรุนแรง มีเลือดออกมาก แพทย์จะให้ยาเพื่อทำให้ก้อนเนื้อเล็กลงก่อนทำการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดเนื้องอกมดลูกจะมีอยู่ 2 แบบด้วยกัน คือ การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง และการผ่าตัดผ่านกล้อง โดยการผ่าตัดจะตัดเอาเฉพาะเนื้องอกออกหรือตัดมดลูกออกทั้งหมดก็ได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการมีบุตรของคนไข้ รวมไปถึงปัจจัยเรื่องขนาดก้อนเนื้องอก และอัตราเสี่ยงอื่น ๆ ด้วย
- ฉีดสารเข้าไปในมดลูก
ปัจจุบันมีวิวัฒนาการในการรักษาเนื้องอกมดลูกด้วยการสอดสายพลาสติกฉีดสารบางอย่างไปอุดหลอดเลือดที่เลี้ยงก้อนเนื้องอก
เพื่อให้ก้อนเนื้องอกที่มีอยู่ฝ่อตัวลงไป
ซึ่งวิธีนี้มักจะใช้ในรายที่มีเนื้องอกก้อนไม่ใหญ่นัก
ทั้งนี้การรักษาเนื้องอกมดลูกในแต่ละวิธีขึ้นอยู่กับขนาดเนื้องอกในมดลูกและปัจจัยด้านอายุ ความต้องการมีบุตรของผู้ป่วย รวมไปถึงสภาพร่างกายของผู้ป่วยเองด้วยนะคะ และก็แล้วแต่ดุลยพินิจของแพทย์เจ้าของไข้ด้วย
มีเนื้องอกมดลูก ตั้งครรภ์ได้ไหม
สาว ๆ ที่มีเนื้องอกในมดลูกอาจมีปัญหาการตั้งครรภ์ โดยอาจมีภาวะมีบุตรยากหรือมีภาวะแท้งบุตรได้ง่าย หรือหากตั้งครรภ์มาได้ก็อาจจะคลอดก่อนกำหนด รวมไปถึงอาจเสี่ยงต่อภาวะตกเลือดหลังการคลอดได้มาก เนื่องจากเนื้องอกในมดลูกอาจไปขัดขวางทางคลอด ทำให้เด็กอยู่ในท่าผิดปกติ ส่งผลให้คลอดบุตรยากและเสี่ยงต่อการตกเลือดค่อนข้างมากนั่นเอง
เนื้องอกมดลูก ป้องกันได้ไหม
แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดเนื้องอกในมดลูกแน่ชัด แต่เราก็พอมีวิธีป้องกันโอกาสเกิดเนื้องอกในมดลูก ดังวิธีต่อไปนี้
* หลีกหลี่ยงการใช้ยาคุมกำเนิดที่มีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง
* หมั่นออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน
* ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนหรือผอมจนเกินไป ซึ่งอาจส่งผลให้ฮอร์โมนทำงานผิดปกติได้
* รับประทานเนื้อสัตว์ให้น้อยลง เพราะอาจได้รับสารพิษตกค้าง ซึ่งหากสะสมไว้ในร่างกายนาน ๆ อาจเกิดเนื้องอกขึ้นมาได้
* พยายามงด หรือลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง แคลอรีสูง น้ำตาลสูง เช่น อาหารฟาตส์ฟู้ด น้ำอัดลม เพราะอาจกระตุ้นให้เนื้องอกโตขึ้นได้
* ควรสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตัวเองอยู่เสมอ โดยเฉพาะความผิดปกติของประจำเดือน
* ตรวจภายในและตรวจร่างกายอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
เนื้องอกในมดลูกอาจไม่ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพร้ายแรงมากนัก ทว่าสาว ๆ ที่ปวดประจำเดือนหนักมาก มีอาการผิดปกติที่สังเกตเห็นได้ชัดทุกเดือน เคสแบบนี้ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจนะคะ ทางที่ดีลองไปตรวจภายในเช็กระบบร่างกายกันหน่อย
***หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2561
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โรงพยาบาลพญาไท